ท่อง “Clubhouse” แพลตฟอร์มใหม่แชร์ความคิด


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     บนโลกโซเชียลมีแอปพลิเคชันใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่แอปพลิเคชันที่อยู่ในกระแสนิยมขณะนี้คงหนีไม่พ้น Clubhouse (คลับเฮาส์) ทั้งนักธุรกิจ นักคิดทางสังคม อินฟลูเอนเซอร์ นักการเมือง ศิลปินดารา จนกระทั่งคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้ามาร่วมในแอปนี้
    Clubhouse เกิดขึ้นจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์บริษัท แอลฟา เอ็กซ์โพลเรชัน (Alpha Exploration Co.) เปิดตัวตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2563 ถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่วนในไทยบูมมากตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีคนโหลดแอปนี้มากกว่าล้านคน
    จุดเด่นของ Clubhouse เป็นแอปที่สื่อสารด้วยเสียงแบบเรียลไทม์ ผู้พูดสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟังในห้องสนทนาได้ เปรียบเสมือนกับวงเสวนาขนาดใหญ่และเล็ก เพราะห้องของ Clubhouse สามารถรองรับสมาชิกได้ถึง 8,000 คนต่อห้อง

 


    หากสมัครเป็นสมาชิกคลับเฮาส์แล้วสามารถสร้างห้องเพื่อดึงดูดคนสนใจในเรื่องเดียวกัน เข้ามาร่วมพูดคุยบอกเล่าถึงแนวคิดประสบการณ์ที่มี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ การเมือง ความรัก ข่าวสารธุรกิจ การดำรงชีวิต หรือแม้แต่การเปิดห้องเพื่อให้สมาชิกที่เข้าร่วมได้ทำความรู้จักกัน
    แต่คนที่จะเล่นคลับเฮาส์ได้นั้น ขณะนี้ Clubhouse เปิดให้ดาวน์โหลดใน App Store ยังคงรองรับเพียงระบบ iOS และต้องเป็น iOS 13 หรือใหม่กว่าเท่านั้น ใครที่ใช้มือถือระบบ Android รออีกนิด เพราะกำลังพัฒนาแอปพลิเคชันให้รองรับได้ในอนาคต
    เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาแล้วมีขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อสมัครบัญชี ซึ่งข้อมูลที่ผู้สมัครจะต้องกรอกคือ เบอร์โทรศัพท์ ชื่อ-นามสกุล และ Usename ที่จะต้องไม่ซ้ำกับสมาชิกคนอื่น กรอกข้อมูลครบถ้วนแล้วหากเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ในการสมัครได้รับคำเชิญจากเพื่อนที่เป็นสมาชิก Clubhouse อยู่ก่อนแล้วจะสามารถใช้งานได้ทันที โดยสมาชิกแต่ละคนจะมีโควตาเชิญเพื่อนเข้าร่วมเป็นสมาชิกคลับเฮาส์ได้เพียง 2 รายชื่อเท่านั้น
    ใครที่สมัครแล้วแต่ไม่ได้รับการเชิญจากเพื่อนที่เป็นสมาชิกอยู่ก่อน แอปจะแจ้งให้ทราบว่า สมัครเสร็จ แต่ยังไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกได้ทันที เพราะต้องรอให้เพื่อนที่อยู่ก่อนแล้วกด Let them in! ให้สมาชิกใหม่ ถึงจะเข้าแอปพลิเคชันได้ บอกได้เลย จะเป็นสมาชิกใน Clubhouse จะต้องมีเพื่อนเป็นสมาชิกก่อนจึงท่องโลกคลับเฮาส์ได้


    มองไปที่แอปยอดฮิต ทุกคนสามารถใส่ภาพตัวเองเพื่อระบุตัวตนได้ในโปรไฟล์ ระบุ Bio เพื่ออธิบายความเป็นตัวตน สิ่งที่เราสนใจให้คนอื่นๆ สามารถเข้าถึงและติดต่อกันได้ นอกจากนี้ยังมีช่องทางเชื่อมต่อร่วมกับทวิตเตอร์และอินสตาแกรมได้ถ้าผู้เล่น Clubhouse มีบัญชีของทั้ง 2 แอปพลิเคชัน
    เมื่อเข้าไปในห้องคลับเฮาส์ จะแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.Moderator/Speaker สำหรับ Moderator คือ ผู้ที่สร้างห้องสนทนา จะมีสัญลักษณ์ดอกจันสีเขียวอยู่ที่หน้าชื่อ ถือเป็นผู้ควบคุมห้อง จะเชิญใครเข้าร่วมภายในห้องให้ขึ้นมาร่วมพูดหรือปิดไมค์สมาชิกในห้องสนทนา แล้วยังมีกลุ่มผู้ฟังทั่วไปที่เข้ามา ถ้าต้องการจะร่วมสนทนาสามารถกดไอคอนรูปมือด้านล่างขวาเพื่อที่จะแสดงให้เจ้าของห้องเห็นและดึงขึ้นไปอยู่ในส่วนผู้พูด
    ส่วนไอคอนรูปเครื่องหมายบวกที่เห็นคือ Ping someone into the room ใช้ชวนเพื่อนให้เข้ามาร่วมฟังในห้องที่เรากำลังฟังอยู่ หากฟังแล้วไม่สนใจเรื่องราวในห้องที่เข้าไป ก็สามารถออกจากห้องโดยกดไอคอนรูปมือชูสองนิ้ว หรือ Leave quietly ก็ออกจากห้องนั้นได้
    รูปแบบของ Clubhouse เป็นการเปิดห้องเพื่อพูดคุย โดยไม่มีการบันทึก ไม่มีการฟังซ้ำได้เมื่อรายการจบ ห้องของ Clubhouse จะมีทั้งกลุ่มที่เปิดห้องคุยเรื่องเดิมเวลาเดิมเป็นประจำ หรือบางห้องสร้างตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

 


    นอกจากนี้ ยังมีห้องที่เกิดจากความพึงพอใจของผู้สร้างห้องเอง ซึ่งความนิยมจะขึ้นอยู่กับชื่อห้อง เรื่องที่สนทนากัน และผู้ที่เข้าร่วมสนทนา เนื่องจาก Clubhouse มีระบบให้สมาชิกสามารถติดตามบุคคลที่สมาชิกสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเซเลบ ดารา นักการเมือง นักวิชาการ แพทย์ ถ้าบุคคลนั้นเข้าร่วมพูดคุยห้องไหนจะแจ้งเตือน ทำให้สมาชิกไม่พลาดเข้าไปร่วมฟัง ได้เปิดพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนความเห็น แม้อยู่คนละที่กัน เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือ
    แต่ถ้าเป็นคนที่มีผู้ติดตามจำนวนมากและเป็นที่สนใจของคนในสังคม เหล่าสมาชิก Clubhouse จะต้องอาศัยความไวช่วงชิงจับจองที่ในการรับฟังห้องนั้น ถ้าห้องเต็มจะไม่สามารถเข้าได้

      พูดถึงการสร้างห้อง ต้องยอมรับว่าแอปพลิเคชัน Clubhouse มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก จะใช้คำว่า ห้องสนทนาทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะมีการสร้างห้องที่ไม่มีการพูดคุย เช่น ชื่อห้อง “นั่งทำงานกันเงียบๆ หรือจะไม่เงียบก็ได้” หรือห้อง “เข้ามานอนเงียบๆ” เป็นต้น คนเข้าร่วมเป็นหลักร้อย
    ส่วนห้องที่เป็นการสนทนามีทั้งแนววิชาการ การเมือง สุขภาพ การฝึกทักษะภาษาอังกฤษ การดำรงชีวิต ดูดวง หาคู่รัก หรือแม้แต่เรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ชื่อห้อง “กินอะไรดีตอนเที่ยง” หรือ “แนะนำอาหารเด็ดเย็นนี้” เป็นต้น คนเล่นสามารถเลือกสรรเข้าร่วมห้องตามความสนใจของตัวเองได้เลยทั้งหมด ทำให้คลับเฮาส์บูมมากในโลกโซเชียล

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

 


    คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นักการเมืองที่สร้างห้องในคลับเฮาส์และเข้าไปพูดคุยตามห้องต่างๆ ได้ให้มุมมองว่า คลับเฮาส์ตอบสนองการใช้ชีวิต เพราะช่วงโควิดต้องงดเดินทาง การจัดงาน การสัมมนามีข้อจำกัด ซึ่งคลับเฮาส์เปิดห้องมากมาย มีหัวข้อสัมมนาดีๆ ที่เราอยากฟังคนมีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญเข้ามาพูดในห้อง แรกๆ ตนเข้าร่วมฟังและพูดคุยเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง หลังๆ เข้าห้องที่มีหัวข้อหลากหลายมากขึ้น ทั้งห้องแม่ลูก ห้องศาสตร์สมาธิ ห้องแนะนำวิธีลดความอ้วน เคล็ดลับสุขภาพ
    “ เราจะเห็นความสนใจของสังคม เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่คุยอะไรกัน อย่างเรื่องวัคซีนโควิดก็มาแชร์ความคิด ค้นหาข้อมูลจากทั่วโลกมาพูดคุยแบ่งปันกัน แล้วก็มีอีกหลายห้องคุยในเรื่องที่เราไม่มีความรู้มาก่อน ซึ่งทำให้เราอยากเข้าไปฟัง ทั้งสนุก ได้รับความรู้ ได้มีโอกาสฟังคนมากขึ้น คลับเฮาส์เป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน เพื่อนใหม่จากคลับเฮาส์ก็เชื่อมต่อนัดทำกิจกรรมแบบออฟไลน์ ต่อยอดชีวิตให้ดีขึ้น” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
    เหตุที่ทำให้คลับเฮาส์ฮิต คุณหญิงสุดารัตน์บอกว่า แพลตฟอร์มนี้ทำให้เราได้สื่อสารแล้วก็เปิดโลกกว้าง เหมาะกับคนที่ชอบพัฒนาตัวเอง กว่า 90% เป็นเรื่องการทำธุรกิจ การพัฒนาศักยภาพ พัฒนาความคิด แต่ก็จะมีที่เห็นดึกๆ ตั้งห้องเซ็กซ์บ้าง ตนไม่ได้เข้าฟัง ไม่รู้พูดเรื่องอะไร แต่ก็ยังมองภาพรวมมีประโยชน์มากกว่าผลเสีย

 

ฝายวารี ประภาสะวัต

 

    สัมมนา อบรม ทอล์กโชว์ หลากหลายเรื่องหลายภาษาอยู่ในแพลตฟอร์มน้องใหม่นี้ ในทัศนะของ ฝายวารี ประภาสะวัต ผู้อำนวยการด้านหลักสูตรและการสอนโรงเรียนคู่ขนาน จ.นนทบุรี เห็นว่า รู้จักแอปพลิเคชัน clubhouses จากคนรอบตัวที่โพสต์ถึงประโยชน์ของการได้เข้าไปฟังห้องต่างๆ ในแอป พอลองไปเสิร์ชดูข้อมูลว่าเป็นอะไร มีการใช้งานอย่างไร มีความน่าสนใจ เพราะเราเป็น Educator อยากลองเล่น แต่โทรศัพท์ที่ใช้งานอยู่เป็นระบบแอนดรอยด์ ทางทีมที่โรงเรียนอยากให้เราเป็นผู้บรรยายใน clubhouses จึงใช้อุปกรณ์ไอแพดของทางโรงเรียนเล่น เป็นครั้งแรกที่ได้เริ่มใช้งานจริงจัง
    “ เราได้ประสบการณ์ใหม่ ปกติจะเป็นผู้บรรยายให้กับผู้ปกครองฟังในรูปแบบออฟไลน์และไลฟ์ทางเฟซบุ๊ก ซึ่งไลฟ์รู้สึกเหมือนพูดคนเดียว แต่ในคลับเฮาส์ได้บรรยายมีผู้เข้าฟังประมาณ 400 คน หัวข้อเป็นเรื่องของเด็ก คนเข้าฟังมีทั้งผู้ปกครองและวัยรุ่นเข้าร่วมแชร์ประสบการณ์จริงต่างๆ กัน เวลาใครสนใจพูดคุยด้วยก็กดยกมือ ทำให้ทุกคนที่ร่วมสนทนา ถึงแม้ว่าจะไม่เห็นหน้าแบบการวิดีโอคอล แต่เสียงก็ชัดเจน” นักการศึกษาบอกถึงข้อดีคลับเฮาส์

    อีกมุมหนึ่ง clubhouses ฝายวารีมองว่า เหมือนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ หากผู้ใช้หรือเยาวชนใช้ไม่ถูกทางก็มีความน่าเป็นห่วง ดังนั้นผู้ปกครองอาจจะต้องให้ความรู้หรือมีส่วนร่วม ทำให้ได้ประโยชน์ในการใช้งาน ปัจจุบันแอปนี้ได้รับความนิยม ส่วนอนาคต clubhouses จะเป็นเพียงแค่เทรนด์หรือมีระยะยาวนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานที่จะทำให้ประโยชน์จากการใช้งานหรือผู้พัฒนาแอปพลิเคชันมีฟีเจอร์ใหม่ๆ ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น
    ปัจจุบันคลับเฮาส์ยังใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและไม่มีโฆษณาใดๆ แทรกในระบบ ทำให้ผู้เล่นคลับเฮาส์ใช้กันอย่างสนุกสนานและมีอิสระทำ นาทีนี้แอปยังเติบโตไม่หยุด แต่อนาคตบนโลกดิจิทัลก็ต้องติดตาม เพราะการแข่งขันเข้มข้น.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"