ผู้สมัครตายกาบัตรให้พรรค โพลกทม.30เขตปชป.นำพท.


เพิ่มเพื่อน    


    "กกต." แจงแนวทางกฎระเบียบเลือกตั้ง  ย้ำ ขรก.วางตัวเป็นกลาง หลังพบโดนร้องเรียนแล้วกว่า 200 เรื่อง ห่วงใช้สิทธิล่วงหน้า 17 มี.ค.วุ่น เหตุ ปชช.ยื่นลงทะเบียนกว่า 2 ล้านคน ระบุกาบัตรให้ผู้สมัครเสียชีวิตไม่เป็นบัตรเสีย นำคะแนนรวมปาร์ตี้ลิสต์ ตั้งเป้าออกใช้สิทธิ์ทั่วประเทศไว้ 80% สะพัด! โพล กทม. 30 เขต "ปชป." กวาด 19 เขต แบ่ง "พท." 11 เขต "เหลิม" ยิ้มได้ "ลูกวัน" นำแชมป์เก่าประชาธิปัตย์ปลายจมูก "เสี่ยไก่-น้องเจี๊ยบ" ส่อแห้วคะแนนตามหลัง จับตา 2 เขต "ม้ามืด" ส่อเบียดโค้งท้าย 
    เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต., นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. และนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย กรรมการ กกต. ประชุมชี้แจงแนวทางและกฎระเบียบต่างๆ ในการจัดการเลือกตั้งให้กับผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 1,399 คน
    นายอิทธิพรกล่าวว่า บทบาทหน้าที่ข้าราชการต่อการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งถือเป็นวันที่มีความสำคัญต่อบ้านเมือง เพราะเป็นประตูก้าวแรกไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปี และครั้งแรกของรัฐธรรมนูญปี 60 เงื่อนไขสำคัญของความสำเร็จคือ การมีบทบาทสำคัญและแข็งขันของข้าราชการทุกคน ในฐานะข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมือง และหน้าที่ในสิทธิพลเมืองไทย
    "ในฐานะข้าราชการ มีตำแหน่งหน้าที่เป็นตัวกำกับ จึงต้องระมัดระวังให้เป็นกลางทางการเมือง  โดยกฎหมายห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบกระทำการเป็นคุณหรือเป็นโทษให้กับผู้สมัครและพรรคการเมือง จึงเน้นย้ำให้ระมัดระวังรักษาความเป็นกลาง เพราะการเลือกตั้งมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น หลังการประกาศชื่อผู้สมัคร มีข้อร้องเรียนเข้ามายัง กกต.มากกว่า 200 กว่าคดีแล้ว ข้าราชการจึงต้องระวังไม่ให้ถูกร้องเรียนเรื่องความเป็นกลาง และขอให้ทำงานภายใต้หลักการ รอบรู้ คืออ่านและทำความเข้าใจกฎหมายให้มาก ริเริ่ม คือเตรียมแผนรับมือปัญหาในหลายรูปแบบ และรวดเร็ว คือเมื่อพบการกระทำผิดใดๆ ขอให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว" ประธาน กกต.กล่าว
    ด้านนายณัฏฐ์กล่าวว่า กกต.เป็นห่วงการใช้สิทธิลงคะแนนล่วงหน้าในวัน 17 มี.ค. ซึ่งเดิมตั้งเป้าว่าจะมีผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 2 ล้านคน แต่วันสุดท้ายวันเดียวยอดผู้ลงทะเบียนเพิ่มขึ้น 8 แสนคน โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ มีผู้ลงทะเบียนจากต่างเขตเลือกตั้งนับหมื่นคน จึงแนะนำให้วางแผนรองรับตั้งแต่การจราจรไม่ให้ติดขัด และต้องจัดคนเข้าร่องตามภาคและจังหวัดให้ได้ โดยให้ใช้เกณฑ์จัดแบ่งผู้มีสิทธิออกเป็นห้องละ 800 คน และต้องปิดประกาศป้ายผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ครบ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ หมายเลขผู้สมัครมีเป็นจำนวนมากและไม่ซ้ำกันเลย จึงขอเชิญชวนเน้นให้ประชาชนดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสมาร์ทโหวตในโทรศัพท์มือถือ ตรวจสอบข้อมูลว่าในเขตเลือกตั้งของท่านมีผู้สมัครกี่คน
    "กรณีผู้สมัคร จ.ชุมพร เขต 2 และ จ.ร้อยเอ็ด เขต 4 เสียชีวิตไปแล้ว 2 คน รอบนี้สามารถกาบัตรลงคะแนนให้ได้ ไม่ถือเป็นบัตรเสีย เพราะในบัตรมีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์แฝงอยู่ คะแนนของคนตายจะถูกส่งต่อให้พรรค แต่ถ้าผู้เสียชีวิตชนะการเลือกตั้ง กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ยกเว้นเฉพาะผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธิ์เท่านั้นที่จะเป็นบัตรเสีย ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้จำนวนบัตรเสียจะน้อย บัตรเสียจะมีเพียงเขียนข้อความหรือจดหมายฝากลงไปในบัตร หลังการประกาศชื่อผู้สมัคร ล่าสุดมีคดีที่ศาลฎีกา 241 คดี แนวโน้มจะได้รับสิทธิสมัครกลับเข้ามาครึ่งๆ ดังนั้นการประชาสัมพันธ์ 2 สัปดาห์สุดท้าย จะเน้นย้ำถึงการกาเบอร์ผู้สมัครที่ไม่ได้รับการประกาศชื่อจะเป็นบัตรเสีย ซึ่งโอกาสมีไม่ถึง 50 เขตเลือกตั้ง" นายณัฏฐ์กล่าว 
ย้ำ กกต.ต้องเป็นกลาง
    รองเลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ในส่วนการรายงานผลแบบไม่เป็นทางการ กรรมการประจำหน่วยฯต้องกรอกผลคะแนนแบบไม่เป็นทางการในแอปพลิเคชันแรบบิทรีพอร์ต และกรอกเป็นเอกสารหลักฐานเพื่อตรวจทานเปรียบเทียบ ป้องกันเหตุผิดพลาด หากกรอกตัวเลขในแรบบิทรีพอร์ตผิด ก็ไม่ต้องรับผิด  กรณีกรรมการประจำหน่วยฯ มาปฏิบัติงานไม่ครบอำเภอต้องส่งกรรมการสำรองมาให้ครบก่อนการนับคะแนน ส่วนข้อกังวลเรื่องบัตรพลัดหลง กรณีบัตรเลือกตั้งจะมี 4 สี ใช้ภาคละสี บัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตและนอกราชอาณาจักร จะมีตำหนิไม่เหมือนกับบัตรที่ใช้ในวันที่ 24 มี.ค. จึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีบัตรพลัดหลง โดยในวันที่ 6-7 มี.ค.นี้ จะมีการติวเข้มการเลือกตั้งล่วงหน้า 
    ส่วนนายธวัชชัยกล่าวว่า ขอให้เร่งประชาสัมพันธ์ เพื่อให้คนออกมาใช้สิทธิ์ เพราะ กกต.ตั้งเป้าให้มีผู้มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และบัตรเสียไม่เกินร้อยละ 2 สิ่งที่ห่วงคือการทำความเข้าใจถึงกฎระเบียบต่างๆ และการกาบัตรลงคะแนน โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ เขตเลือกตั้งลดลงจาก 375 เขต เหลือ 350 เขต  ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน  
    "บุคลากรที่มาเป็นกรรมการการเลือกตั้งประจำเขต ขอให้เลือกเฟ้นคนที่เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่การเมือง  มีประสบการณ์ ไม่ใช่คนที่ต้องมาเรียนรู้งานใหม่ และเพื่อลดข้อกังวลในการปฏิบัติงาน กกต.จึงได้ออกระเบียบให้ถือว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้ง เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา  หากกระทำการโดยสุจริต จะได้รับความคุ้มครองทั้งทางแพ่งและอาญาในการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้ทำความเข้าใจกฎหมายและระเบียบต่างๆ ในการจัดการเลือกตั้งให้ดี" กรรมการ กกต.ระบุ
    ที่ศาลยุติธรรม นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้รับข้อมูลรายงานจำนวนคดีที่มีผู้ร้องยื่นให้วินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิสมัคร ส.ส.ตั้งแต่วันที่ 16-20 ก.พ.2562 มีจำนวนผู้ยื่นวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิการเลือกตั้ง ส.ส.จำนวน 241 เรื่อง แบ่งเป็นแบบบัญชีรายชื่อ 20 เรื่อง แบบแบ่งเขต 221 เรื่อง
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคการเมืองต่างๆ ยังคงลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างคึกคัก โดยที่ จ.ชัยนาท พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเวทีปราศรัยในอำเภอเมืองฯ มีนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พร้อมด้วยนายอนุชา นาคาศัย ประธานยุทธศาสตร์ภาคกลาง และผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 จังหวัดชัยนาท พบประชาชน 
    โดยนายอุตตมปราศรัยว่า อีก 31 วันจะเข้าคูหากาเบอร์เลือกตั้ง เป็นการเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย การเข้าคูหากาเบอร์เหมือนกับชี้ชะตาประเทศ และกำหนดอนาคตของประชาชนว่าจะเดินหน้าไปทางไหน วันนี้ถ้าเดินหน้าต่อต้องมีผู้นำในรัฐบาลต่อไป ที่จะสามารถรักษาความสงบสุขให้กับพวกเราได้ นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. วันนี้ เดี๋ยวนี้ ไม่มีใครเหมาะสมกว่า
    นายสมศักดิ์กล่าวว่า ทำไมเราต้องสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ เพราะพรรคเรามีโอกาสที่จะเป็นรัฐบาลสูงมาก เราต้องเป็นรัฐบาล พรรคเดินทางสายกลาง ในพรรคการเมืองอื่นมีแนวโน้มที่จะไม่ใช่ทางสายกลาง เราสามารถรวมกับพรรคอื่นได้ ไม่ได้รังเกียจพรรคการเมืองอื่นใด 
    พรรคเพื่อไทย (พท.) มีการจัดเสวนา "เศรษฐกิจด้วยวิธีคิดแบบคนรุ่นใหม่" โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคร่วมเสวนา โดยมีนักศึกษาและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเสวนา ระบุว่าพรรคเพื่อไทยจะมุ่งส่งเสริมคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม โดยใช้เทคโนโลยีมาเสริมประสิทธิภาพในการผลิต และเอื้ออำนวยโอกาสใหม่ๆ ให้กับประชาชน 
    วันเดียวกัน มีรายงานว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ จำนวนหนึ่ง ได้ส่งข้อความทางไลน์ส่วนตัวหากัน เผยแพร่โพล กทม. เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ซึ่งเป็นเอกสารสรุปตัวเลขออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์คะแนน คาดการณ์ผู้ที่น่าจะได้รับเลือกตั้ง เป็น ส.ส.กทม. โดยโพลนี้สำรวจเฉพาะพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคอื่นไม่ได้ระบุชื่อพรรคเอาไว้ มีเพียงเปอร์เซ็นต์ที่คาดว่าจะได้คะแนนออกมาเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้สมัครของ 3 พรรคหลัก ยังมีการจัดเกรดผู้สมัครของตัวเต็งที่เมื่อประกบคู่กันแบ่งออกเป็น เอ บี ซี ดี
โพล กทม.'ปชป.-พท.'วิน
    ผลโพล กทม.สรุปออกมาว่า พรรคประชาธิปัตย์จะได้รับชัยชนะมากถึง 19 เขต พรรคเพื่อไทยชนะ 11เขต พรรคไทยรักษาชาติ ไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่เขตเดียว เอกสารดังกล่าวแม้จะเป็นการสรุปประเมินตัวเลขจากพรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งขันหลักในสนามกทม. แต่ปรากฏว่ามีถึง 2 เขตเลือกตั้ง เปอร์เซ็นต์คะแนนของพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้สอดแทรกมาในเปอร์เซ็นต์ที่สูงอย่างน่าจับตา
    เขตเลือกตั้งที่ 1 นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ พรรคประชาธิปัตย์ ถูกจัดชั้นอยู่ในเกรดเอ ได้เปอร์เซ็นต์คะแนนสูงถึง 52.53 เอาชนะ น.ส.ลีลาวดี วัชโรบล ผู้สมัครส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ผู้ใหญ่ของพรรคโยกให้มาลงในเขตที่ไม่ใช่พื้นที่เดิม ทำให้แพ้ไปอย่างขาดลอย ได้คะแนนตามมาแค่ 30.05 และถูกจัดอยู่ในชั้นเกรดซีลบเท่านั้น, เขต 2 น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนสูงถึง 50.32 ถูกจัดในชั้นเกรดเอ จะชนะ ม.ล.ณัฏฐพล เทวกุล พรรคไทยรักษาชาติ ที่ได้คะแนนเพียง 37.24 และถูกจัดอยู่ในเกรดซีลบ 
    เขต 3 ม.ล.อภิมงคล โสณกุล พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนสูงถึง 51.41, นายพงษ์พิสุทธิ์ จินตโสภณ พรรคไทยรักษาชาติ ตามมา 38.32 ส่วนเขต 4-6 ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย แพ้ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์อย่างขาดลอย ในเขต 7 พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ต่างส่งผู้สมัครหน้าใหม่ นายคณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ หรือหมอเอ้ก จากพรรคประชาธิปัตย์ แพ้ ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ เพียงเล็กน้อยที่ 42.59 ต่อ 44.61, เขต 8 เป็นพื้นที่เดิมของพรรคประชาธิปัตย์ ผลสำรวจรอบนี้ยังชนะผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยที่ตัดสินใจส่ง ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเข้าแข่งขัน 
    เขต 9-12 พื้นที่ทรงอิทธิพลของพรรคเพื่อไทย และได้แรงสนับสนุนจากแนวร่วม นปช. นายสุรชาติ เทียนทอง, นายการุณ โหสกุล, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ, นายอนุสรณ์ ปั้นทอง ต่างเอาชนะคู่แข่งขันจากพรรคประชาธิปัตย์แบบทิ้งห่างมากกว่า 59 เปอร์เซ็นต์  โดยเฉพาะเขตของ น.อ.อนุดิษฐ์ ผลสำรวจออกมาได้เปอร์เซ็นต์มากเป็นอันดับหนึ่งใน กทม. สูงถึง 70.1  
    ที่น่าสนใจเขต 13 ของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือน้องไอติม จากพรรคประชาธิปัตย์ นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส พรรคเพื่อไทย ถือเป็นคนรุ่นใหม่ทางการเมืองทั้งคู่ ปรากฏว่าผลโพลแพ้ชนะออกมาไม่ต่างกันนัก น้องไอติมชนะไปด้วยเปอร์เซ็นต์ 34.48 นายตรีรัตน์ ตามมา 29.83 แต่คะแนนที่สูงถึง 35.69 กลับถูกกระจายไปให้ยังผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่น ส่วนเขต 14-18 พื้นที่ กทม.ตะวันออก ทั้งนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ, นายวิชาญ มีนชัยนันท์, นายจิรายุ ห่วงทรัพย์, นายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์, น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ต่างจัดอยู่ในเกรดเอทั้งสิ้น จะชนะคู่แข่งอย่างขาดลอยด้วยเปอร์เซ็นต์มากถึง 50.41, 52.09, 54.46, 51.73 และ 50.71 ตามลำดับ
    เขต 19-24 ปชป.เอาคืน ไม่แบ่ง พท.และ ทษช. เขต 19-24  ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ยังแข็งแกร่งเหนียวแน่น จะชนะอย่างขาดลอยต่อผู้สมัครพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ ที่ส่วนใหญ่ส่งผู้สมัครหน้าใหม่ทางการเมืองลงเข้าแข่งขัน พรรคประชาธิปัตย์ได้ผลคะแนนออกมาในเปอร์เซ็นต์ที่สูง ประกอบด้วย 51.83, 52.77, 48.29, 37.63, 39.24 และ 47.83  
    ในเขต 25-30 พบหลายเขตแข่งขันกันอย่างสูสี อาทิ เขต 26 พ.ต.อ.สามารถ ม่วงศริ พรรคประชาธิปัตย์ เจอกับนายวัน อยู่บำรุง ที่รอบนี้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายชัชชาติ แกนนำหลักของพรรคต่างหมุนเวียนลงพื้นที่ช่วยปราศรัยหาเสียงตั้งเป้าล้มแชมป์เก่าให้ได้ ทำให้คะแนนของนายวันพลิกกลับมานำคู่แข่งขันเล็กน้อยที่ 41.27 ต่อ 40.08 ส่วนเขตที่เหลือ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ โพลยังระบุชัดยังรักษาพื้นที่เดิมไว้ได้เขตเลือกตั้ง 28 นางอรอนงค์ คล้ายนก พรรคประชาธิปัตย์ ผลสำรวจออกมาชนะไปที่ 32.81 คู่แข่งขันอย่างนายวัฒนา เมืองสุข ตามมาที่ 30.93 แต่คะแนนอีก 36.26 กลับกระจายไปยังผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่น ทำให้มีการประเมินว่าเขตดังกล่าว ผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่นมีสิทธิ์พลิกกลับมาชนะ เนื่องจากบุคลากรเดิมที่มีฐานเสียงแข็งแกร่งจากพรรคเก่าแก่ได้ตัดสินใจไปช่วยงานเบื้องหลังให้พรรคการเมืองอื่นแล้ว.      


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"