กิจการเพื่อสังคม พัฒนาเด็กพิเศษบนหลังม้า


เพิ่มเพื่อน    

(มร.รูเพิร์ต ไอแส็กสัน ผู้คิดค้น “เทคนิค ฮอร์สบอย” จากประสบการณ์ตรงในการดูแลลูกชายชื่อ “โรเวน” ที่ป่วยโรคออทิสซึม)

      นับเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งในการดูแลกลุ่มเด็กพิเศษ สำหรับการบำบัดด้วย “เทคนิคฮอร์สบอย” หรือ Horse Boy Method ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นในปี 2550 โดย “มร.รูเพิร์ต ไอแส็กสัน” (Rupert Isaacson) แห่งมูลนิธิ “เดอะฮอร์ส บอย” (The Horse Boy Foundation) หรือการกระตุ้นพัฒนาเด็กกลุ่มดังกล่าวโดยการใช้ม้าบำบัด เนื่องจากเป็นสัตว์ที่กระตุ้นการเคลื่อนไหวของสะโพก ขณะที่เด็กๆ นั่งอยู่บนหลังม้า ซึ่งอวัยวะบริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่สร้างฮอร์โมนแห่งความสุข หรือ “ฮอร์โมนออกซิโทซิน” และจะทำให้เกิดการเรียนรู้ รวมถึงกระตุ้นการสื่อสาร ทำให้กลุ่มเด็กพิเศษอยากที่จะพูดคุยมากขึ้น

      ที่สำคัญ “เทคนิคฮอร์สบอย” ยังผสมผสานไปด้วยการพาเด็กขี่ม้าไปเยี่ยมชมธรรมชาติ ตลอดจนการเล่นเกมที่สร้างสรรค์ร่วมกับนักบำบัดที่มีความสามารถในการขี่ม้า ภายในระยะเวลา 90 นาที เพื่อกระตุ้นการพัฒนา ทั้งนี้คอร์สเสริมสร้างพัฒนากรของเด็กพิเศษก่อตั้งขึ้นภายใต้ชื่อ “สปาร์ค เซ็นเตอร์” (Spark Centre) เพื่อริเริ่มจุดประกายความเปลี่ยนแปลงในสังคม ผ่านการให้ความรู้ที่ถูกต้อง พร้อมเสนอกิจกรรมบำบัดทางเลือกให้กับครอบครัว ซึ่งตั้งอยู่ ณ คลอง 15 ถ.รังสิต-นครนายก โดยเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562

(เปรมฤดี พันธุ์รัตน์)

 

      คุณเก๋-เปรมฤดี พันธุ์รัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งสปาร์คเซ็นเตอร์ บอกให้ฟังว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้น เป็นกลุ่มเด็กที่มีพฤติกรรมและการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน พวกเขาจึงต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด และถูกต้องตามลักษณะเฉพาะบุคคล โดยเพิ่มเติมจากการเรียนรู้ตามธรรมชาติ เพื่อช่วยพัฒนาการในด้านต่างๆ ทั้งร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ให้เป็นไปในทางที่ดี ให้เขาพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนพัฒนาการเชิงบวกของเด็กๆ นั้น ก็คือกลุ่มคนที่มีความใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด คือ ผู้ปกครอง ที่ต้องมีความเข้าใจ ใส่ใจ พร้อมเรียนรู้วิธีการการดูแลเด็กๆ ได้อย่างเหมาะสม

      นี่จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “Spark Centre” (สปาร์ค เซ็นเตอร์) กลุ่ม Social Enterprise (กิจการเพื่อสังคม) ที่มีวิสัยทัศน์ในการจุดประกายแห่งความเปลี่ยนแปลงในสังคมเกี่ยวกับเรื่องเด็กที่มีความต้องการพิเศษในองค์รวม ทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายของภาวะทางความคิดและอารมณ์ที่แตกต่างกัน และการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ

      “ถ้าถามว่าศาสตร์ดูแลพัฒนาการกลุ่มเด็กพิเศษอย่าง “เทคนิคฮอร์สบอย” หรือ Horse Boy Method คืออะไร และแตกต่างจาก “อาชาบำบัด” อย่างไร ต้องเรียนว่า “เทคนิคฮอร์สบอย” เป็น 1 ในแขนงของ “อาชาบำบัด” ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายเทคนิค ส่วนความแตกต่างของ “เทคนิคฮอร์สบอย” กับการขี่ม้าบำบัดโดยมีนักบำบัดจูงม้าให้เด็กขี่ เพื่อกระตุ้นพัฒนากลุ่มเด็กพิเศษทั่วไป หรือที่เรียกกันว่า RDA นั้น ในส่วนของ “เทคนิคฮอร์สบอย” จะมีความพิเศษตรงที่จะมีนักบำบัดขี่ม้าไปกับเด็ก และเป็นผู้ที่คอยบังคับม้าให้เดินในจังหวะหรือท่วงท่าที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้สะโพกของเด็กเคลื่อนไหว ซึ่งบริเวณดังกล่าวนั้นจะเป็นจุดที่สร้างฮอร์โมนแห่งความสุข หรือโดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า “มูฟเมนต์ แมตตอด” ดังนั้นเมื่อเด็กมีความสุข ความเครียดก็จะน้อยลง เมื่อเครียดน้อย สมองก็จะเริ่มต้นในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ และที่สำคัญเลยจะทำให้เด็กพิเศษ อาทิ เด็กในกลุ่มของ “ออทิสซึม” ซึ่งจะเป็นกลุ่มเด็กสมาธิสั้นและไม่ค่อยพูด มีพัฒนาการที่ดีขึ้น รวมถึงเด็กพิเศษกลุ่มอื่นๆ เช่นกัน”

      คุณเก๋บอกอีกว่า สำหรับ “เทคนิคฮอร์สบอย” ที่คิดค้นโดย “มร.รูเพิร์ต ไอแส็กสัน” (Rupert Isaacson) นั้น อันที่จริงแล้วเป็นศาสตร์ของการบำบัดที่เริ่มจากการดูแลลูกชายของเขาที่มีชื่อว่า โรเวน (Rowan) ลูกชายของเขาที่มีสภาวะออทิสซึม กระทั่งได้ผล โดยหลังจากนั้นเขาได้ไปขอคำปรึกษาจากศาสตราจารย์แมรี เทมเปิล แกรนเดน (Mary Temple Grandin, Ph.D.) ศาสตราจารย์ด้านสัตววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านออทิสติก กระทั่งได้ผลการวิจัยดังกล่าว หรือ “เทคนิคฮอร์สบอย” ขึ้นมานั่นเอง ซึ่งมีจุดเด่นอย่างการเคลื่อนไหวที่บริเวณสะโพก ซึ่งเป็นการกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุข จึงถือได้ว่าเป็นการเปิดจุดการเรียนรู้ให้กับเด็ก

      “ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ “เทคนิคฮอร์สบอย” ที่คิดค้นโดย “มร.รูเพิร์ต ไอแส็กสัน” นั้นคือการที่พาเด็กขี่ม้าออกไปชมธรรมชาติ เนื่องจากสปาร์ค เซ็นเตอร์” (Spark Centre) ที่ตั้งอยู่ ณ คลอง 15 ถนนรังสิต นครนายก ค่อนข้างจะมีพื้นที่กว้าง เพื่อให้เด็กได้สัมผัสกับธรรมชาติ และเมื่อเด็กได้เห็นสิ่งแวดล้อม เขาก็จะได้เรียนรู้สิ่งที่เขาไม่เคยได้เห็น และนั่นจะกระตุ้นให้เด็กอยากที่เรียนรู้ และอยากที่จะพูด หรือถามในสิ่งที่เขาอยากรู้และสนใจ เพราะเด็กที่มาบางคนไม่ยอมพูดเลย

      เห็นได้จากน้องๆ จาก “ศูนย์ศึกษาพิเศษ มหาจักรีสิรินธร ประจำจังหวัดนครนายก” ที่จะมาฝึกกับเราทุกวันพุธ ซึ่งมาจากภาวะออทิสซึมหรือไม่ยอมพูด แต่จากการได้ขี่ม้าร่วมกับครูฝึก เด็กยอมที่จะออกเสียง เลียนแบบสำเนียง นักบำบัดที่เป็นชาวต่างชาติว่า “โอ โน” ก็ถือเป็นพัฒนาการที่เริ่มเห็นได้ตั้งแต่ครั้งแรก เพราะเด็กที่ป่วยในกลุ่มดังกล่าว เรื่องของการสื่อสารนั้นจะถูกบล็อกเอาไว้ แต่ทั้งนี้คอร์สบำบัด “เทคนิคฮอร์สบอย” ในเด็กแต่ละคนจะได้ผลช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนด้วย แต่โดยรวมแล้วเด็กจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ สำหรับผู้ปกครองที่ดูแลบุตรหลานซึ่งเป็นกลุ่มเด็กพิเศษ โดยการให้อยู่ที่เดิมๆ หรือเล่นอยู่ในห้องแคบๆ หรือที่พักอาศัยแวดล้อมไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม อาจยิ่งกระตุ้นให้เด็กเกิดภาวะเครียด และพัฒนาการของโรคอาจแย่ลง”

      คุณเก๋ บอกอีกว่า นอกจากเด็กปกติที่สามารถเสริมสร้างการเรียนรู้ด้วย “เทคนิคฮอร์สบอย” แล้ว ในส่วนของกลุ่มเด็กพิเศษ 4 กลุ่ม อาทิ 1.เด็กออทิสซึม ซึ่งมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น และไม่ยอมพูด 2.เด็กดาวน์ซินโดรม 3.เด็กกลุ่ม “ADHD” ที่ภาวะไฮเปอร์อยู่ไม่นิ่ง 4.กลุ่มของเด็กที่ผ่านเหตุการณ์รุนแรง อาทิ การประสบอุบัติเหตุร้ายจนทำให้จิตตกจากภาวะช็อก และทำให้เป็นโรคซึมเศร้า ก็สามารถรับการบำบัดด้วยเทคนิคดังกล่าวได้เช่นกัน และไม่จำกัดอายุ สามารถมาได้ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงเด็กโต ทั้งนี้ ระยะการดูแลสุขภาพด้วยคอรส์ “เทคนิคฮอร์สบอย” นั้นจะอยู่ที่ 90 นาที โดยเด็กจะขี่ม้าชมธรรมชาติร่วมกับนักบำบัดประมาณ 20-30 นาที จากนั้นจะตามด้วยการเล่นเกม เช่น เกมทายคำศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยการให้เด็กบอกชื่อผลไม้ ขณะที่เด็กนั่งอยู่บนม้า และนักบำบัดอยู่ด้านล่าง เพื่อเป็นการกระตุ้นพัฒนาการเด็กนั่นเอง

      สนนราคาในการรับบริการ คุณเก๋ อธิบายว่าเนื่องจาก “Spark Centre” (สปาร์ค เซ็นเตอร์) เป็นกิจการที่ทำงานเพื่อสังคม ดังนั้นค่าบริการของการบำบัดด้วย “เทคนิคฮอร์สบอย” จะอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทต่อ 1 ครั้ง (ในระยะเวลา 90 นาที) ซึ่งเป็นระดับราคาที่ใกล้เคียง กับการเริ่มเรียนขี่ม้าปกติ และใน 1 สัปดาห์ ควรได้รับบำบัดอย่างน้อย 1 ครั้ง

      “สำหรับเรตราคาหลัก 1,000 บาท ค่อนข้างใกล้เคียงกับการเรียนขี่ม้าของเด็กทั่วไปที่เริ่มต้นหลัก 1,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สมเหตุสมผล และที่ผ่านมาก็มีกลุ่มเด็กพิเศษจาก “ศูนย์ศึกษาพิเศษ มหาจักรีสิรินธร ประจำจังหวัดนครนายก” ที่รับบริการฟรี ดังนั้นจึงอยากเรียนว่า เนื่องจากเราเป็นกิจการเพื่อสังคม จึงมีทั้งบริการฟรีในกลุ่มของเด็กพิเศษที่อยู่ในภายใต้การดูแลของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องดำเนินธุรกิจต่อไปได้เช่นกัน หากผู้ปกครองสามารถจ่ายได้เราก็ยินดี เพราะอย่างน้อยๆ เด็กในกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการบำบัดอาทิตย์ละ 1 ครั้ง หรือใช้เวลา 90 นาที แต่หากผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นเด็กพิเศษในกลุ่มดังกล่าว และไม่สามารถจ่ายในราคานี้ได้ ก็สามารถเข้ามาพูดคุยตกลงกันได้ค่ะ ทุกคนจึงเข้ามาใช้บริการได้หมดค่ะ

      ทั้งนี้ กลุ่มผู้ปกครองที่ต้องดูแลกลุ่มเด็กพิเศษก็สามารถส่งเสริมพัฒนาลูกน้อยด้วยวิธีง่ายๆ โดยการส่งเสริมให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณสะโพก เช่น พาลูกไปนั่งเล่นชิงช้า, เต้นอยู่บนแทมมาริน (โดยมีพ่อแม่ดูแลอย่างใกล้ชิด) หรือให้ลูกขี่คอคุณพ่อและพาเด็กเดินเล่นในสวนสาธารณะ หรือพาเด็กๆ ไปเที่ยวสวนสัตว์ และเยี่ยมชมธรรมชาติ เป็นต้น เพราะการให้เด็กอยู่ที่ในแคบๆ เช่น ในบ้าน หรือสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ก็จะยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กพิเศษนั่นเอง”.

(เก็จมณี วรรธนะสิน)

“เทคนิคฮอร์สบอย” กับผู้มีประสบการณ์ออกกำลังกายด้วยการขี่ม้า

      คุณเก็จมณี วรรธนะสิน นักแสดงและอาสาสมัครผู้มาร่วมศึกษาเกี่ยวกับการบำบัดโดยใช้ “เทคนิคฮอร์สบอย” กล่าวว่า “ม้าเป็นสัตว์ที่มีความอ่อนโยน และสามารถเชื่อมโยงกับผู้ขี่ได้ทั้งด้านการเคลื่อนไหวและจิตใจ จึงเป็นสื่อกลางในการบำบัดที่ดีมาก และ “เทคนิคฮอร์สบอย” เป็นกิจกรรมบำบัดที่เชื่อมการเคลื่อนไหวของม้าเข้าสู่การทำงานของกล้ามเนื้อ และระบบประสาทของผู้ถูกบำบัด จึงช่วยด้านพัฒนาการของผู้ที่มีภาวะความต้องการพิเศษได้อย่างเห็นผล การที่สปาร์ค เซ็นเตอร์นำเทคนิคการบำบัดนี้เข้ามาแนะนำในประเทศไทยนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะจะเป็นทางเลือกดีๆ ให้กับครอบครัวที่มีความต้องการ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"