สสส.หนุนอปท.ขับเคลื่อนหยุดการละเมิดสิทธิผู้สูงวัย บิ๊กอนันตพรแห่งกระทรวงพม. สร้างงานชราเฮโย!สูงวัยอย่างสมาร์ท


เพิ่มเพื่อน    

 

สสส.ลดความรุนแรง ยกระดับคุณภาพชีวิต  หนุน อปท.ขับเคลื่อนกลไกเฝ้าระวังละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ประทับใจ ชราเฮโย! สูงวัยอย่างสมาร์ท สูงวัยแค่ไหนก็เฮด้วย เต้นบาสโลปเข้าสังคม เป็นห่วงผู้สูงวัยซึมเศร้า ฟันธงขาดคนพึ่งพิง ยกอุทาหรณ์ครอบครัวกาญจนรัตน์ ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา วันหนึ่งลูกๆ แต่งงานแยกเรือนออกไป พ่อแม่ใจหายอยู่โดดเดี่ยว ยิ่งแม่ลาลับโลกไปก่อน พ่อตรอมใจรู้สึกโดดเดี่ยว กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กำลังจัดทำศูนย์เรียนรู้ Senior Complex บางละมุง 600 ไร่แบบครบวงจร กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เร่งจัดทำศูนย์เรียนรู้ Senior Complex บางละมุง 600 ไร่แบบครบวงจร แพทย์หญิงลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการ มส.ผส. อุดช่องโหว่ของ กม.ให้มีผลทางปฏิบัติ ดึงภาคประชาสังคมมีบทบาทเข้มแข็ง อุ้มชูผู้สูงวัย

                แพทย์หญิงลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาของผู้สูงวัยที่ถูกละเมิดสิทธิเพิ่มมากขึ้น แต่กลไกทางสังคมและกฎหมายกลับมีช่องโหว่ในการคุ้มครองดูแล กม.ไม่ได้พิจารณาให้ความเสื่อมทางร่างกาย เป็นเหตุแห่งการสูญเสียสิทธิหรือเป็นเหตุที่ต้องให้ความคุ้มครองทาง กม. จากช่องว่างความคุ้มครองทาง กม. ทำให้ผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆ จำนวนมาก มส.ผส.เสนอว่าควรจะมีการพัฒนากลไกเฝ้าระวังผู้สูงอายุที่ถูกละเมิดสิทธิหรือกลุ่มเสี่ยงอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยจัดให้มีการลงทะเบียนผู้สูงอายุทุกคนที่ต้องการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิและผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือ และการสร้างระบบฐานข้อมูลผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง เพื่อสามารถจัดความช่วยเหลือได้ถูกต้อง 

                ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุหน้าที่ ภารกิจ การประเมินผลงานของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลืออย่างชัดเจน การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service สำหรับผู้สูงอายุ ส่วนภาคประชาสังคมจะสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคม รวมคนทุกช่วงวัย  ตลอดจนชมรมผู้สูงอายุ สร้างความเข้มแข็ง  พัฒนาศักยภาพ โดยมีระบบสนับสนุนที่เหมาะสม

 

 

                1.ขอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ที่ยังไม่ครอบคลุมถึงการป้องกัน การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ ทั้งยังขาดมาตรการลงโทษ ควรปรับปรุงให้มีบทบัญญัติในการกำกับดูแลผู้อนุบาลและผู้พิทักษ์ 2.แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 เป็นการเข้าไปช่วยเหลือยังทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากตัวผู้สูงอายุปฏิเสธความช่วยเหลือ เพราะต้องการปกป้องลูกหลานผู้กระทำผิด 3.ประมวล กม.แพ่งและพาณิชย์ให้ความคุ้มครองบุคคลที่ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ โดยต้องมีลูกหลานหรือบุคคลที่มีสิทธิ์ตาม กม.เป็นผู้ไปร้องขอต่อศาล และจัดหาเครื่องมือหรือมาตรการทางเลือกสำหรับบริหารจัดการทรัพย์สินให้ผู้สูงอายุสามารถตั้งทรัสต์และกำหนดเงื่อนไขในข้อสัญญา และต้องมีกลไกผู้ตรวจสอบ ควบคุมพฤติกรรมของทรัสต์ว่าดำเนินงานโปร่งใสดังเจตนารมณ์ผู้ก่อตั้งทรัสต์หรือไม่

                พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวปัจฉิมกถา “ยุทธศาสตร์ชาติกับการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ” ที่ห้องประชุมแมจิก3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ในงานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผุ้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) “ผมจำพิธีกรและบรรยากาศของงานนี้ครบรอบ 1 ปีก่อนได้ ผู้สูงอายุเป็นประเด็นสังคมที่มีการพูดกันมาก ผมอยู่กระทรวงลงพื้นที่มากกว่า 80% ของประเทศ ตอนนี้เหลือเพียงไม่กี่จังหวัดแล้ว คนที่มาต้อนรับส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงอายุ มีทั้งที่ได้พูดคุยกันอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ” ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุอยากได้เบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น บางคนอยากให้มีการพัฒนาโรงเรียนผู้สูงอายุให้มีอุปกรณ์ มีเครื่องดนตรี ประทับใจผู้สูงอายุที่มีความ Active มาแสดงการเต้นบาสโลป (เป็นการเต้นของชาว สปป.ลาว เป็นต้นแบบการออกกำลังกาย ส่วนใหญ่จะใช้เต้นรำในงานมงคล) เป็นเป้าหมายให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมกับสังคม แต่ก็ยังมีผู้สูงอายุบางกลุ่มไม่สนใจที่จะเข้าร่วมกลุ่ม ไม่มีอารมณ์จะเข้ามาร่วมกิจกรรม เมื่ออ้อมเข้าไปดูภายในชุมชน ผู้สูงอายุบางคนก็มีอาการซึมเศร้า

                ดังนั้นต้องมีการวิเคราะห์ผู้สูงอายุ บางส่วนขาดคนพึ่งพิง จากเดิมที่เคยอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตากันในครอบครัว วันหนึ่งลูกหลานหายไป ขาดคนพึ่งพิง เกิดอาการวูบ ใจหาย บางครั้งผู้สูงอายุป่วยติดเตียงมีความเสี่ยง “ผมเกิดมาทันเห็นย่ายาย ยายผมเสียตอนผมอายุ 20 ปี พ่อแม่ผมเสียชีวิตเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ผมเห็นพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของพ่อแม่ ในช่วงที่ผมทำงานผมได้รับโทรศัพท์บ่อยๆ จากแม่ บอกว่าให้เข้ามารับหน่อย ถูกพ่อว่าอีกแล้ว  ก็คงจะมีเรื่องทะเลาะกันประสาคนสูงอายุแล้ว ฟังกันไม่รู้เรื่อง เพราะต่างฝ่ายต่างก็อายุมาก หูตึง ผมก็กลับบ้านมาเคลียร์ปัญหาให้ อ้าวบางครั้งพ่อก็โทร.มาหาผมบอกว่าให้ผมมารับแม่ออกไปหน่อย อันที่จริงถึงผมไม่ไป เขาก็เคลียร์กันเองได้ เพราะเป็นสังคมที่เขาอยู่ร่วมกัน คุณแม่ผมเสียชีวิตวัย 85 ปี คุณพ่อมีอาการเปลี่ยนแปลงไปคิดถึงคุณแม่ ทุกวันจะบ่นหาคุณแม่ บางครั้งก็มีอาการงอน เคยครั้งหนึ่งขนาดกินยาฆ่าตัวตาย หวังจะตามคุณแม่ไป ต้องพาคุณพ่อไปหาหมอล้างท้องถึงได้รอดกลับมาได้”

                สิ่งที่เราต้องเข้าใจเรื่องของจิตใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด คนเราเคยอยู่ด้วยกัน วันหนึ่งลูกหายไป ย้ายไปอยู่กันคนละบ้าน จิตใจก็ย่ำแย่  สมัยก่อนลูกๆ ก็อยู่กับพ่อกับแม่ แต่เมื่อวันหนึ่งแต่งงานแล้วย้ายออกไปจากบ้าน เพื่อไปอยู่บ้านของตัวเอง “ผมก็เคยชวนพ่อแม่ให้มาอยู่ด้วย แต่พ่อแม่ไม่ยอมมา เพราะติดบ้านและติดสิ่งแวดล้อมสังคมที่อยู่ในแวดวงนั้นๆ มีคนเดินผ่านหน้าบ้านทักทายกัน บางคนก็หิ้วปาท่องโก๋มาฝาก พ่อก็ไม่ยอมย้ายออกจากบ้านนั้นแม้จะต้องอยู่เพียงคนเดียว ถึงจะอุ้มออกมาก็ไม่ยอมย้าย เขาคิดถึงสังคมตรงนั้น มีอยู่วันหนึ่งพ่อหกล้มในหมู่บ้านก็มีคนโทรศัพท์มาบอก ก็ถือโอกาสตอนนั้นย้ายพ่อให้มาอยู่บ้านพี่สาว” ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีความผูกพันกับชุมชน คนในครอบครัวใกล้ชิดกัน เพื่อนบ้านก็จะคอยพูดว่าทำไมปล่อยให้พ่อแม่อยู่กันเอง ไม่เข้ามาดูแล พ่อแม่อยู่ด้วยกันทะเลาะกันบ้าง แต่เขาก็มีความรัก ความผูกพันกัน แต่เมื่อแม่เสียชีวิต พ่อก็มีอาการอย่างที่เรียกว่าตรอมใจ นอนซม  ไม่รับประทานข้าว ถึงแม้ว่าลูกๆ จะเข้ามารับประทานอาหารด้วยกันก็ไม่สามารถทดแทนความรู้สึกได้

 

 

                ในต่างจังหวัดผู้สูงอายุมีความตั้งใจดีต่อลูกหลาน ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าลูกหลานเมื่อพูดด้วยแล้วเขายังมีภาระของงานที่รัดตัว บางครั้งพ่อแม่โทรศัพท์มาให้ไปรับที่บ้าน ผมก็ไม่ได้ไปรับในทันที เพราะเราก็คิดเองว่าคงจะไม่มีอะไร แต่ในบางครั้งก็เป็นเรื่องที่คาดการผิดเหมือนกัน ผู้สูงอายุอยู่ชนบท  ปู่ย่าตายายอยู่กับหลานๆ ในขณะที่ลูกหลานเข้าไปทำงานในเขตเมืองอยู่ห่างกันเป็นร้อย กม. เวลาเขาโทรศัพท์มาหา บางครั้งก็ไม่สามารถออกไปได้ในทันที เวลาปู่ย่าตายายเจ็บป่วยหลานก็ต้องหยุดเรียนไปด้วย ในขณะที่ลูกๆ ก็ต้องดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วย

                ขณะนี้มีตัวเลขผู้สูงอายุ 11-13 ล้านคน ผู้สูงอายุเติบโตเป็นปกติ ในขณะที่จำนวนประชากร 65.5 ล้านคน อีก 10 ปีก็จะเพิ่มขึ้น 66+ หรือ -1 ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ตัวหารคงที่ ตัวเศษมากขึ้น ตัวส่วนลดลง 20% ปี 21-23 โตเร็วขึ้น ปีนี้จำนวนเด็กและเยาวชนพอๆ กับผู้สูงอายุ เป็นความเสี่ยงยิ่งเยาวชนลดลง ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น วัยทำงานลดลงเป็นความเสี่ยง หมายความว่าเด็กต้องดูแลผู้สูงวัยมากขึ้น ดังนั้นเราจะใช้มาตรการทางกฎหมายให้คนเกษียณอายุในวัย 63-65 ปี เราส่งเสริมให้ภาคเอกชนจ้างงานผู้สูงอายุทำงานด้วย ทุกครั้งที่ออกไปตรวจราชการ มีความสุขในการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ ทุกวันนี้เรามีเบี้ยผู้สูงอายุ 500 บาท 600 บาท 700 บาท 1,000 บาท บางคนได้รับเบี้ยพิการ มีบัตรสวัสดิการของรัฐดำรงชีพอยู่ได้ การรับเงินบางครั้งก็เป็นการโอนเงินเข้าสมุดบัญชีธนาคารแล้วกดบัตร ATM บางครั้งผู้สูงอายุขอมารับเงินสดด้วยตัวเองก็ต้องมี การสอนผู้สูงอายุให้ใช้บัตร ATM กดเงินด้วยตัวเอง

 

 

                “รัฐบาลเห็นความสำคัญจึงได้ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติสังคมผู้สูงอายุ โดยกำหนดยุทธศาสตร์การรองรับสังคมสูงอายุอย่างมีคุณภาพ ส่งเสริมให้เกิดการเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ การคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุถือเป็นประเด็นสำคัญยิ่ง ให้กระทรวง พม.เป็นหน่วยงานหลักที่ให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับความเดือดร้อน และได้รับอันตรายจากการถูกกระทำรุนแรงหรือถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือถูกทอดทิ้ง การให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาครอบครัว เก็บรวบรวมสถิติปัญหาการกระทำรุนแรงในครอบครัว”

                ขณะนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กำลังจัดทำศูนย์เรียนรู้ Senior Complex บางละมุง 600 ไร่แบบครบวงจร หรือ Happiness Complex Happiness Center Club House ฟังแล้วใครๆ ก็อยากจะมาอยู่ ที่นี่เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ทำให้ผู้สูงอายุเข้ามาอยู่ด้วยกันท่ามกลางบรรยากาศของ Housing Nursing Hospice มีการจัดพื้นที่เป็นโซนๆ  คนไข้ติดเตียง คนไข้แข็งแรง ช่วยตัวเองได้  กลุ่มผู้สูงอายุก็มีกลุ่มของเขา ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “ในฐานะที่กระทรวง พม.มีหน้าที่ดูแลคุ้มครองสวัสดิการ คนที่เหลื่อมล้ำในสังคม งานที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิ คนไทยถูกสอนให้เชื่อว่าให้ช่วยกันดูแล”

                ระบบข้าราชการไทยให้รัฐดูแลระบบสวัสดิการ ขณะนี้มีการลดจำนวนข้าราชการลงด้วยระบบจ้างแบบ Outsource แนวคิดต้องเปลี่ยนรัฐทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ ดูแล ประเมินผลให้ภาคเอกชนเป็นผู้ปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพ กระจายอำนาจให้เงินอุดหนุนสนับสนุนงบประมาณให้ตั้งตัวได้ เปลี่ยนการทำ CSR ให้เป็นเศรษฐกิจความยั่งยืน Social Enterprize รัฐออก กม.ยุทธศาสตร์เอื้อต่อภาคเอกชน ให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ทำสภาชุมชน กำหนดความต้องการของชุมชนเอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.สภาองค์กรชุมชน มีโต๊ะกลมหาข้อยุติบูรณาการ ความซ้ำซ้อนออกแบบแผนงานโครงการ ภาครัฐดูแลจัดสรรงบประมาณให้เป็นการแก้ไขปัญหาตรงจุด สร้างความยั่งยืน ผู้สูงอายุเป็นคนส่วนใหญ่ในชุมชน นำความรู้ประสบการณ์ของผู้สูงอายุมาใช้ประโยชน์ Think Tank เราต้องสร้างคน 3 วัยให้สังคมบูรณาการไปด้วยกัน พึ่งพาซึ่งกันและกัน ทำให้การทำงานเห็นพ้องต้องกันได้ รับฉันทมติจากคน 3 วัยในชุมชนเข้าด้วยกัน

                ขณะนี้รัฐบาลช่วยเหลือเงินทองเป็นหลัก ทำให้ครองชีพ ให้เงินเป็นสวัสดิการก้าวหน้า ผู้รับ ผู้ใหญ่ ฝึกอาชีพ การพัฒนาตนเองจะเกิดการพัฒนาชีวิตมากยิ่งขึ้นด้วย ให้เงินยืมเพื่อไปลงทุน เพื่อพัฒนาชีวิตและสังคมให้เกิดความมั่นคงด้วย เวลานี้คนอยากจนจะเข้ามาขอรับบัตรสวัสดิการภาครัฐก็มี ขณะนี้อธิบดีกำลังรวบรวมข้อเสนอแนะคุ้มครองสิทธิ เพื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมให้ผู้สูงอายุรู้เรื่องสิทธิของตัวเองด้วย

                อนึ่งในงานนี้ ดร.อภิชัย จันทรเสน รองประธานอนุกรรมการติดตามสิทธิผู้สูงอายุ  ปฏิบัติหน้าที่แทน ศ.นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานอนุกรรมการติดตามสิทธิผู้สูงอายุ มาร่วมงานนี้ เนื่องจาก ศ.นพ.บรรลุป่วย แสดงความเห็นว่าเป็นเรื่องน่าดีใจที่ชมรมผู้สูงอายุในต่างจังหวัด โดยเฉพาะนครราชสีมา สมุทรสาคร และที่เขตวัฒนา รวมตัวกันเป็นสภาผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมสัมนาบ่อยครั้ง มีอาสาสมัคร นิสิตพยาบาลจากจุฬาฯ เตรียมความพร้อมให้กับประชาชนก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ พลเอกธนา วิทยวิโรจน์ เลขานุการรมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ อุบล หลิมสกุลตัวแทนมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย มาร่วมงานเสวนา ทั้งนี้ บริเวณทางเข้างานกระทรวงสาธารณสุข 100 ปี การสาธารณสุขไทย นำพจนานุกรมการสาธารณสุขไทย พ.ศ.2561 ฉบับ 100 ปี การสาธารณสุขไทย และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.)  มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) นำไดอารี่ง 2019 เล่าได้ไม่รู้จบ แผ่นปลิวเมื่อผู้สูงอายุหกล้ม กันล้ม และทำอย่างไรให้ห่างไกลจากภาวะสมองเสื่อม กันลืมมาแจกให้ผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้ด้วย.

 

การขับเคลื่อนระบบคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุไทย สร้างความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ

                1.ปัญหาและความสำคัญ

                ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในอีกไม่นานนี้ กอปรกับตัวผู้สูงอายุเองที่มีความเปราะบางทางธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ผู้สูงอายุต้องพึ่งพาผู้อื่นในบั้นปลายชีวิต เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิในทุกๆ ด้าน มากกว่าประชากรวัยอื่น โครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ พบว่าปัญหาสถานการณ์ที่ผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิมีหลายรูปแบบ และมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับน้อยไปถึงขั้นเสียชีวิต สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิด้านจิตใจสูงที่สุด รองลงมาคือการเอาประโยชน์ด้านทรัพย์สิน ถัดมาคือการทำร้ายร่างกาย ทอดทิ้ง รวมถึงละเมิดทางเพศ กลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว ไม่มีลูกหลาน หรือไม่มีครอบครัว มีความเจ็บป่วย ต้องการพึ่งพาผู้อื่น ช่วยเหลือตัวเองได้ไม่เต็มที่

                อีกทั้งในทางกฎหมายไม่ได้พิจารณาให้ความเสื่อมทางร่างกายเป็นเหตุแห่งการสูญเสียสิทธิ หรือเป็นเหตุที่ต้องให้ความคุ้มครองทางกฎหมาย จากช่องว่างความคุ้มครองทางกฎหมายนี้ ทำให้ที่ผ่านมาผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิ์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

                งานวิจัยของจงจิตต์ ฤทธ์รงค์ และคณะ (2560) ได้สรุปปัญหาและความเสี่ยงของการถูกละเมิดสิทธิ์ไว้ 5 ประการ 1.ปัญหาด้านสิทธิส่วนบุคคล 2.ปัญหาด้านการเงินและทรัพย์สิน 3.ปัญหาด้านการรักษาพยาบาล 4.ปัญหาด้านกฎหมายหรือจริยธรรม 5.ปัญหาด้านความเสี่ยงจากภาวะสมองเสื่อม

                แนวโน้มการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุนั้น สถิติคดีอาญาโดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อมูลคดีอาญาตั้งปี พ.ศ.2544-2558 พบว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนและร้อยละของคดีอาญาเรื่องฉ้อโกงทรัพย์สิน ลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 มีจำนวนผู้เสียหาย 73 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 243 รายในปี พ.ศ.2549 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ.2558 มีผู้เสียหายจำนวน 703 ราย

                สาเหตุมีหลายปัจจัยล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ผู้กระทำการละเมิดสิทธิผู้สุงอายุมีภาวะอารมณ์รุนแรง เครียด หรือติดสารเสพติด สาเหตุด้านเศรษฐกิจ คือความยากจน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาชญากรรมขึ้นในสังคม หรือสาเหตุจากตัวผู้สูงอยู่ที่ความสามารถในด้านต่างๆ ลดลง มีอาการเจ็บป่วย  สมองเสื่อม พบว่าผู้กระทำการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุนั้นมักเป็นคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัวผู้สูงอายุ

                2.เมื่อไรที่ผู้สูงอายุควรได้รับการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิ

                การพิทักษ์สิทธิเชิงกฎหมายหรือจริยธรรมไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุทุกคน การให้ความช่วยเหลือหรือการพิทักษ์สิทธินั้นขึ้นกับสถานการณ์ชีวิตของผู้สูงอายุ และบริบทแวดล้อมของผู้สูงอายุ ได้แก่ ภาวะสุขภาพ เศรษฐฐานะ การมี/ไม่มีผู้ดูแลที่เป็นญาติหรือคนรู้จัก สมรรถนะในการดูแลตนเองในกิจกรรมประจำวัน ความสามารถในการบริหารจัดการทรัพย์สิน และสิทธิที่ผู้สูงอายุพึงมีเพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ

                รายงานการวิจัยระบุจุดเปลี่ยนของชีวิตคือ 1) การสูญเสียสมาชิกในครอบครัวที่เป็นที่พึ่งพิงของผู้สูงอายุอาจเกิดขึ้นจากการเสียชีวิต การหย่าหรือแยกกันอยู่ จนเป็นผลให้ผู้สูงอายุขาดที่พึ่งพิง การเสียชีวิตของสามีหรือภรรยาทั้งก่อนหรือหลังจากเป็นผู้สูงอายุ  เป็นการสูญเสียที่ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นอยู่ นอกจากการเกื้อกูลกันในกิจกรรมประจำวันแล้ว สามี/ภรรยายังเป็นผู้มีสิทธิในทรัพย์สินของผู้ที่เสียชีวิต หากไม่ได้เตรียมการหรือไม่มีญาติพี่น้อง หรือไม่สามารถหาตัวแทนเพื่อบริหารจัดการ อาจทำให้ผู้สูงอายุถูกเอารัดเอาเปรียบได้ การสูญเสียสมาชิกในครอบครัวส่งผลต่อภาวะจิตใจของผู้สูงอายุที่ทำให้สภาพร่างกายเสื่อมถอยลงเพราะความโศกเศร้า อาจเป็นเหตุให้ตัดสินใจผิดพลาดในการดำเนินการทำธุรกรรม

                2) การเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ด้วยตนเอง การเจ็บป่วยเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ พิการหรือทุพพลภาพ หรือที่เรียกว่า ผู้สูงอายุติดบ้าน และผู้สูงอายุติดเตียง ผู้สูงอายุที่เคยทำงานหรือทำกิจกรรมประจำวันได้ด้วยตนเอง เมื่อสภาพร่างกายเสื่อมถอยทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ด้วยตนเอง เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิ ผู้สูงอายุไม่สามารถดำเนินการธุรกรรมได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นให้จัดหาสิ่งของ และบริหารจัดการทรัพย์สินแทน การให้ผู้อื่นช่วยดำเนินการให้โดยที่ไม่สามารถตรวจสอบการจัดหาหรือการบริหารจัดการได้ ทำให้ผู้สูงอายุถูกเอารัดเอาเปรียบ

                3) การมีภาวะสมองเสื่อม สาเหตุจากโรคหรือความพิการ สมองเสื่อมตรวจพบได้ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ก่อนที่จะแสดงอาการหรือสามารถตรวจพบได้ในระยะเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อม อาการนี้ชะลอได้ด้วยการดูแล เมื่อแพทย์ตรวจพบภาวะสมองเสื่อมแล้ว ผู้ป่วยสามารถวางแผนเพื่อการรักษาและการบริหารจัดการทรัพย์สินเพื่อดูแลตนเองและครอบครัวได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยและญาติส่วนมากไม่สามารถยอมรับอาการป่วยได้ ทำให้ไม่ได้วางแผนเพื่อบริหารจัดการทรัพย์สิน จนเกิดความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมจะถูกละเมิดสิทธิ โดยการหลอกให้ผู้สูงอายุหลงเชื่อและดำเนินธุรกรรม ดังนั้นผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมจึงต้องการผู้พิทักษ์ดูแลสิทธิ

                3.การพิทักษ์คุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ

                การพิทักษ์คุ้มครองคือกระบวนการทางกฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้บุคคลหรือองค์กรทำหน้าที่ในการตัดสินใจเพื่อประโยชนของบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองการพิทักษ์คุ้มครองแบ่งเป็น 2 รูปแบบ 1) การพิทักษ์คุ้มครองแบบจำกัดหรือบางส่วน เมื่อศาลพิจารณาเห็นว่า บุคคลไม่มีความสามารถหรือไม่มีสมรรถนะในการตัดสินใจเฉพาะเรื่อง และไม่มีวิธีการหรือทางเลือกอื่นๆ 2) การพิทักษ์คุ้มครองเต็มรูปแบบ เมื่อศาลตัดสินว่าบุคคลไม่มีความสามารถในการตัดสินใจเชิงกฎหมายได้ ต้องมีกระบวนการและขั้นตอนในการประเมินว่าบุคคลนั้นไม่มีความสามารถในการตัดสินใจใดๆ ผู้พิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุอาจมีเพียงกรณีที่ผู้สูงอายุตกอยู่ในอันตราย หรืออาจมีความสูญเสียและไม่มีญาติหรือเพื่อน หรือผู้ให้คำปรึกษา หรือหุ้นส่วนธุรกิจ เพื่อเสนอทางแก้ปัญหา

                4.บทบาทของหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ

                กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 โทรศัพท์ติดต่อในเวลาราชการ ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงผู้สูงอายุที่ถูกกระทำรุนแรง ถูกทอดทิ้ง ศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม เก็บรวบรวมสถิติข้อมูลและรายงานปัญหาสังคม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรทั่วประเทศ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ (สท.) อาสาสมัคร 40,000 คน ได้รับความรู้ในเรื่องการพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ

                กระทรวงสาธารณสุขดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ ศูนย์พึ่งได้ รับเรื่องราวร้องทุกข์และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว มีศูนย์รับแจ้งปัญหาทุกโรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมให้บริการแจ้งเหตุสายด่วนหมายเลข 1169 ตลอดม24 ชั่วโมง สายด่วนกรมสุขภาพจิต ฮอตไลน์คลายเครียดให้บริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง สายด่วนหมายเลข 1667

                กระทรวงมหาดไทยมีหน่วยงานศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกองบัญชาการตำรวจนครบาล (ศทส.บช.น.) เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุด่วน ปัญหาชีวิตและครอบครัว การกระทำรุนแรง หรือทารุณกรรมผู้สูงอายุ ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เยาวชนและสตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน และถูกคุกคามจากมิจฉาชีพและผู้ไม่หวังดี สายด่วนหมายเลข 1192 ยังมีกระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม.

 

                ความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุไทยปี 2545 อยู่ลำพังคนเดียวร้อยละ 6 อยู่ลำพังกับคู่สมรสร้อยละ 16 ปี 2557 อยู่ลำพังคนเดียวร้อยละ 9 อยู่ลำพังกับคู่สมรสร้อยละ 19 สถานะทางเศรษกิจของผู้สูงอายุไทย รายได้หลักจากบุตรปี 2550 จำนวน 52% ปี 2557 จำนวน 37% เส้นความยากจนมี 2545 จำนวน 46.5% ปี 2554 จำนวน 33.8% ปี 2557 จำนวน 34.3% ปี 2557 ผู้สูงอายุมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนถึงร้อยละ 34 (ต่ำกว่า 2,647 บาท/คน/เดือน) ปี 2558 มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพ 7.8 ล้านคน คิดเป็นเงิน 61,577 ล้านบาท

                สังคมรับมือผู้สูงวัย สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปรับปรุงสิ่งก่อสร้างทั้งในบ้านและนอกบ้านให้เอื้อต่อการใช้ชีวิต ปรับเปลี่ยนพื้นที่ในห้องน้ำให้เหมาะสม สนับสนุนให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี ให้กลุ่ม/ชมรมผู้สูงอายุมีบทบาทและความเข้มแข็ง เสริมสร้างสุขภาพอนามัย จัดระบบบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมกับการให้บริการผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ให้กองทุนการออมแห่งชาติมีความเข้มแข็งและมีการบริหารจัดการที่ดี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"