ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เที่ยวแพร่แห่ตุงหลวงปี2562


เพิ่มเพื่อน    

    จังหวัดแพร่ แม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีผู้คนเดินทางมาเยือนตลอดทั้งปี ด้วยเป็นบ้านเมืองที่มีความเก่าแก่ มีผู้คนน่ารัก เป็นมิตร โดดเด่นไปด้วยวัดวาอาราม แหล่งท่องเที่ยวชุมชน อาหารถิ่น และวัฒนธรรมประเพณีที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว แถมยังได้สัมผัสกลิ่นอายความเป็นอดีตหัวเมืองของอาณาจักรล้านนาตะวันออกที่น่าประทับใจ สอดคล้องกับแนวคิด “amazing ไทยเท่” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
    ล่าสุด นางสิรินาถ ฉัตรศุภกุล ผู้อานวยการ ททท. สำนักงานแพร่ (รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดแพร่และอุตรดิตถ์) กล่าวว่า ททท. สำนักงานแพร่ ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวและผู้สนใจเที่ยวงาน “ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ประจำปี 2562” ในระหว่างวันที่ 14-20 มีนาคม 2562 ณ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดต่อเนื่องสืบทอดกันมายาวนาน แสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนชาวแพร่ที่มีต่อบวรพระพุทธศาสนา ตลอดจนยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่

(พระธาตุช่อแฮ)

    สำหรับ องค์พระธาตุช่อแฮ เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ บรรจุพระบรมเกศาธาตุและเป็นโบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองแพร่ มีอายุมากกว่า 1,000 ปี เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล ในทุกๆ ปี เมื่อเริ่มวันขึ้น 9 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ใต้ เดือน 6 เหนือ พุทธศาสนิกชนจากทุกสารทิศจะเดินทางมานมัสการพระธาตุช่อแฮเป็นจำนวนมาก ด้วยความเชื่อว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว พระบรมสารีริกธาตุจะแสดงปาฏิหาริย์ แผ่บารมีที่เป็นสิริมงคลยิ่งแก่ผู้มาสักการะ จึงมีการทำพิธีสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนเป็นงานประเพณีประจำปีของจังหวัดแพร่
    สำหรับไฮไลต์ของงานในวันที่ 14 มีนาคม 2562 เวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นวันแรกของการจัดงาน พบกับขบวนแห่เครื่องสักการะเพื่อบูชาองค์พระธาตุอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา ประกอบด้วย ขบวนช้างเจ้าหลวงเมืองแพร่ ขบวนแห่ตุงหลวง และขบวนเครื่องสักการะจากทั้ง 8 อำเภอในจังหวัดแพร่ ขบวนแห่พระธาตุ 1,000 ปี ขบวนแห่ผ้าแพรห่มองค์พระธาตุประจำวันเกิด และการแสดงพระธรรมเทศนามหาชาติมหาเวสสันดรชาดก บริเวณพระอุโบสถ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง การแสดงศิลปวัฒนธรรมและมหรสพอื่นๆ อีกมากมายตลอดทั้ง 7 วัน 7 คืน พร้อมชมการแข่งขันตีกลองปูจา จาก 8 อำเภอ จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ ตั้งแต่เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง โทรศัพท์ 0-5459-9209

(พระไตรปิฎก วัดสูงเม่น)

    ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานแพร่ กล่าวต่อว่า นอกจากมาร่วมงานประเพณีที่เป็นมงคลดังกล่าวแล้ว นักท่องเที่ยวควรหาเวลาไปเที่ยวเมืองแพร่ในแง่มุมอื่นๆ เช่น หากยังติดใจบรรยากาศวัด ซึ่งนอกจากได้ทำบุญกุศลแล้วยังได้ชมวัตถุโบราณและศิลปะต่างๆ ขอแนะนำให้ไป “วัดสูงเม่น” ห่างจากตัวเมืองแพร่ 10 กิโลเมตร อยู่ติดริมถนนใหญ่ ภายในวัดมีโบราณวัตถุล้ำค่าที่น่าสนใจ ทั้งพระพุทธรูปแกะสลักด้วยไม้ พระพุทธรูปถอดชิ้นส่วนได้ เจดีย์วัดสูงเม่น พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยและภาษาบาลี คัมภีร์ใบลานที่สมบูรณ์มากที่สุดในประเทศไทย


    ภายในวัดสูงเม่นประกอบด้วยศาสนสถานหลายแห่ง ทั้งพระอุโบสถอันเก่าแก่ศิลปะแบบล้านนา สันนิษฐานว่ามีอายุไม่น้อยกว่า 200 ปี โครงสร้างเป็นแบบทรงล้านนาพื้นเมือง ส่วนลวดลายเป็นลักษณะล้านนาพื้นเมืองปนศิลปะพม่า มีเสาจำนวน 16 ต้น ลงรักสีดำ เขียว วาดลวดลายเถาวัลย์สีทอง เสาแต่ละต้นมีลวดลายที่แตกต่างกัน เพดานงดงามด้วยลวดลายแบบพม่า พระประธานในพระอุโบสถคือ หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย

(คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่)

    ถัดมาคือ “คุ้มเจ้าหลวง” เมืองแพร่ เป็นอาคารโอ่โถง มีประตูหน้าต่างทั้งหมด 72 บาน งดงามด้วยลวดลายฉลุไม้อยู่ด้านบนปั้นลมและชายคาน้ำ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคต้น ซึ่งมีรูปทรงเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป หรือทรงขนมปังขิง ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น คุ้มเจ้าหลวงแห่งนี้เคยใช้เป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เมื่อคราวที่เสด็จฯ มาทรงเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดแพร่ ระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม พ.ศ.2501 และได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภท อาคารสถาบันและสาธารณะ

(อาหารถิ่นในชุมชนบ้านถิ่น)

วิถีชีวิตในชุมชนบ้านถิ่น การโพกศีรษะแต่งกายไทลื้อ    ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานแพร่ กล่าวต่อว่า เมืองแพร่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่รวบรวมวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั่นคือ “ชุมชนบ้านถิ่น” อำเภอเมือง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองแพร่ประมาณ 7 กิโลเมตร มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือ วัดพระธาตุถิ่นแถนหลวง, พิพิธภัณฑ์ไทลื้อบ้านถิ่น, สวนแก้วมังกรขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศ พร้อมชวนชิมอาหารถิ่นเมนูสำรับไทลื้อที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ได้แก่ เมนูไข่ป่ามสมุนไพร, น้ำพริกหน่อโอ่, ถั่วเน่าแผ่น, แกงแค และแอบปลา

(วิถีชีวิตในชุมชนบ้านถิ่น การโพกศีรษะแต่งกายไทลื้อ)

    ผู้สนใจด้านเครื่องแต่งกาย การแต่งกายของผู้หญิงไทลื้อมีความสวยงามและน่าสนใจ เป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่ผ้าโพกศีรษะ เสื้อผ่าอกสีดำหรือสีกรมท่าแขนยาวที่สวมใส่ ตกแต่งกระดุมด้วยเครื่องเงินหรือลูกปัดสีเงิน นุ่งซิ่นลายขวางที่เรียกว่า "ซิ่นตาซิว" สะพายย่าม มีถุงหมากประจำตัว และเครื่องประดับเงินเข้ากับชุด ซึ่งเป็นสิ่งพบเห็นได้ทั่วไปในชุมชนแห่งนี้ และสำหรับคนที่ชื่นชอบเรื่องเครื่องเงินยังหาซื้อได้ที่ชุมชนบ้านโป่งศรี ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน
    อีกชุมชนที่มีความโดดเด่นในเรื่องผ้าคือ “ชุมชนบ้านทุ่งโฮ้ง” มีชื่อเสียงจากการผลิตและจำหน่าย "ผ้าหม้อห้อม" จะมีการจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวทำผ้ามัดย้อมด้วยสีห้อมที่บ้านป้าๆ เจ้าของผลิตภัณฑ์ทั้งหลาย เช่น ที่บ้านป้าเหงี่ยม, ป้ายุพิน, ป้าเหลือง ฯลฯ เป็นต้น

(พระเจ้าพร้าโต้ วัดพระธาตุศรีดอนคำ)

    ถัดออกจากตัวเมืองไปอีกนิด ที่อำเภอลอง ซึ่งเป็นเมืองเก่าต้นกำเนิดของผ้าซิ่นตีนจกและขนมจีนน้ำย้อยเลื่องชื่อ มีชุมชนบ้านดอนทราย และชุมชนบ้านห้วยอ้อ มีตลาดและย่านการค้าอยู่ใจกลางหมู่บ้านให้ชมกัน และยังมีร่องรอยประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวีให้เห็น แหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นได้แก่ วัดพระธาตุศรีดอนคำ สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะพม่าที่ทำจากไม้ เรียกว่า "พระเจ้าพร้าโต้" และพระเจ้าไม้ 1,000 องค์ มีพิพิธภัณฑ์ห้องภาพฉลองศิลป์ตลาด 100 ปี พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ แสดงผ้าเก่า ผ้าสะสมที่หาชมได้ยาก

(เครื่องดนตรีล้านนา)

    ต่อด้วยบ้านศิลปินแห่งชาติแม่ประนอม ทาแปง ผู้ทอผ้าซิ่นตีนจกได้งดงามเป็นที่หนึ่ง และ “โฮงซึงหลวง” แหล่งผลิตเครื่องดนตรีล้านนา สะล้อ, ซอ, ซึง, พิณเปี๊ยะ ซึ่งเจ้าของร้านยังสอนเล่นดนตรีง่ายๆ ให้ด้วย ใครไม่ถนัดเล่น อยากฟังอย่างเดียวก็ได้เช่นกัน
    ผู้สนใจสอบถามข้อมูลการเดินทางและการท่องเที่ยวจังหวัดแพร่และอุตรดิตถ์ได้ที่ ททท. สำนักงานแพร่ (รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดแพร่และอุตรดิตถ์) โทรศัพท์ 0-5452-1127 โทรสาร 0-5452-1119, E-mail: [email protected], [email protected], Line@: tatphrae, fb: tatphrae.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"