ย้ำแก๊งแม้วโกงที่วัด อุทธรณ์ยืนคุก2ปี'ยงยุทธ'แปลงธรณีสงฆ์ให้อัลไพน์


เพิ่มเพื่อน    


    ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตพิพากษายืนจำคุก "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" 2 ปี คดีแปลงที่ธรณีสงฆ์เป็นสนามกอล์ฟอัลไพน์ วาง 9 แสนได้ประกันตัว ศาลห้ามไปนอก เปิดคำวินิจฉัย ลากมาทั้งก๊วน "ทักษิณ-เสนาะ" ผลประโยชน์ต่างตอบแทน รับใช้กันตั้งแต่เป็นข้าราชการยันนักการเมือง 
    วันที่ 28 ก.พ. ที่ห้องพิจารณาคดี 4 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ หมายเลขดำ อท.38/2559 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ  อายุ 77 ปี อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 
    กรณีระหว่างที่นายยงยุทธ จำเลย ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ในการพิจารณาอุทธรณ์ และสั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน โดยมีเจตนาช่วยเหลือบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด, บริษัท กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด และผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในเวลาต่อมา ให้ได้รับประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ 
    ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลเห็นว่า เมื่อนางเนื่อม เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ที่ดินตามพินัยกรรมทั้งสองแปลงจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร ซึ่งเป็นทายาทตามพินัยกรรมทันที หรือยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดแต่จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้ได้ที่ดินดังกล่าวมาก่อน เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่แต่ละคนหรือคณะบุคคลอาจมีความเห็นแตกต่างกันได้ ในคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ยังมีความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย การที่จำเลยมีความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวไปในทางใด จะถือว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตหาได้ไม่ แต่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น เป็นความเห็นที่มีผลบังคับทางบริหารโดยมีมติของคณะรัฐมนตรีกำกับไว้ เจ้าหน้าที่รัฐคนใดไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. ย่อมเป็นความผิดทางวินัย
    จำเลยในฐานะรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้พิจารณาอุทธรณ์ย่อมต้องผูกพันปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา จำเลยจะอ้างว่ามีอำนาจทบทวนคำสั่งทางปกครองโดยไม่จำต้องยึดถือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาหาได้ไม่ การปฏิบัติราชการก็ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เสียหายแก่ราชการ จะเป็นการพิจารณาอุทธรณ์ตามอำเภอใจ และไม่ว่าคณะทำงานจะมีความเห็นไปในทางใด ผู้พิจารณาอุทธรณ์ย่อมต้องปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่จำเลยอ้างอุทธรณ์ว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นการตีความชี้ขาดข้อกฎหมายที่ขัดกัน เป็นความเห็นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่จำต้องปฏิบัติตาม เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่ยึดระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติราชการ ทั้งนี้ จำเลยสามารถขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนความเห็นดังกล่าวได้
    ต่อมาภายหลังเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือถึง รมว.มหาดไทย เรื่องการแก้ปัญหาที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร ให้ต้องปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา จำเลยในฐานะรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยก็มิได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไข จำเลยกลับโต้แย้งว่ากรมการศาสนาเป็นผู้หารือความเห็นทางกฎหมาย กระทรวงมหาดไทยมิได้เป็นผู้หารือปัญหาดังกล่าว ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงไม่มีผลผูกพันกับหน่วยงานอื่นที่ไม่ได้หารือด้วย การโต้แย้งของจำเลยไม่สมเหตุสมผล ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาหน่วยงานรัฐทุกหน่วยจำต้องผูกพันปฏิบัติตาม การอ้างเช่นนี้ย่อมผิดหลักการบริหารราชการ
    จำเลยอุทธรณ์อีกว่า นางเนื่อมมิได้ยกที่ดินให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร แต่ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลเห็นว่าตามพินัยกรรมระบุไว้ชัดเจนว่า เจ้ามรดกยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร เงื่อนไขข้อ 4 ให้เจ้าอาวาสวัดธรรมิการามวรวิหาร มอบที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดธรรมิการามวรวิหารแก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย จัดทำประโยชน์เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนา หาใช่เจ้ามรดกยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่มูลนิธิฯ ตามที่จำเลยอุทธรณ์
    ข้ออ้างต่างๆ ของจำเลยที่อ้างว่าไม่จำต้องปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวล้วนฟังไม่ขึ้น เมื่อเรื่องนี้เคยมีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาไว้ชัดเจนแล้วว่า ที่ดินทั้งสองแปลงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดธรรมิการามวรวิหารแล้ว โดยไม่จำต้องทำการรับมรดกหรือเข้าครอบครองที่ดินทั้งสองแปลง แต่หากรัฐมนตรีไม่อนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว วัดจะถือกรรมสิทธิ์ต่อไปไม่ได้ ไม่เป็นเงื่อนไขของการได้มาซึ่งที่ดินของวัดแต่อย่างใด แต่เป็นเงื่อนไขในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่อไปเท่านั้น
    ปัญหาว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้กระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ศาลเห็นว่า จำเลยซึ่งเคยเป็นอธิบดีกรมที่ดินปี 2543-มี.ค.2545 จำเลยย่อมทราบข่าวสารมาโดยตลอดว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท อัลไพน์ฯ มีนายเสนาะ เทียนทอง เป็นเจ้าของโดยพฤตินัย ซึ่งภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) ได้ซื้อสนามกอล์ฟอัลไพน์จากนายเสนาะก่อนปี 2542 จำเลยให้การต่อโจทก์ในการไต่สวนว่าขณะจำเลยเป็นอธิบดีกรมที่ดิน เมื่อทราบว่ามีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วพร้อมจะปฏิบัติตาม แต่ภายหลังเมื่อดำรงตำแหน่งรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย จำเลยกลับไม่ปฏิบัติตาม เชื่อว่าย่อมมีเหตุจูงใจที่จะทำให้ความคิดในการปฏิบัติงานของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป
    เห็นได้ว่าขณะจำเลยเป็นอธิบดีกรมที่ดิน พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ซื้อสนามกอล์ฟอัลไพน์จากนายเสนาะยังมิได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ขณะที่จำเลยเป็นรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ แล้ว เชื่อว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ เพื่อหวังให้ พ.ต.ท.ทักษิณแต่งตั้งให้จำเลยดำรงตำแหน่งต่างๆ ในภายหลัง ซึ่งปรากฏต่อมาว่าจำเลยได้ดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยจนเกษียณอายุ จากนั้นก็มีตำแหน่งทางการเมือง และยังเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้สำหรับบริษัทอัลไพน์ฯ ผู้ซื้อที่ดินจากวัดธรรมิการามวรวิหาร และผู้ซื้อที่ดินต่อมา รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณด้วย โดยไม่ต้องถูกเพิกถอนการจดทะเบียนโอน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน จำคุกจำเลย 2 ปี ไม่รอลงอาญา
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว นายยงยุทธมีสีหน้าเรียบเฉย โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวไปยังห้องควบคุมไว้ระหว่างรอจำเลยจะยื่นประกันตัวเพื่อจะสู้คดีในชั้นฎีกาต่อ ขณะกลุ่มคนที่ซื้อที่ดินอัลไพน์ที่เป็นผู้เสียหายได้เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาในวันนี้ด้วย 2-3 คน
    ต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายยงยุทธ จำเลยระหว่างฎีกา โดยตีราคาประกัน 9 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ก่อนที่นายยงยุทธจะเดินทางออกจากศาลไปทันที 
    ด้านแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ที่มาร่วมฟังการพิจารณาคดีเปิดเผยว่า หลังจากนี้ก็จะนำคำพิพากษาไปเพื่อประชุมปรึกษาหารือกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่เบื้องต้นส่วนตัวคิดว่าทาง ป.ป.ช.ไม่น่าจะยื่นฎีกา เนื่องจากคดีนี้ศาลมีคำพิพากษายืน 2 ศาล เป็นคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษาลงโทษจำเลย 2 ปีแล้ว
    นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาบังคับ ซึ่งมาตรา 42 กำหนดว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่สุด หากคู่ความประสงค์จะฎีกาต้องปฏิบัติตามมาตรา 44 ที่กำหนดให้การฎีกา ผู้ฎีกาต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณาพร้อมกับคำฟ้องฎีกาด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"