ธปท.รับศก.ปี62โตชะลอลง ห่วงหนี้ครัวเรือนวัยเกษียณ


เพิ่มเพื่อน    


    ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติรับเศรษฐกิจปีนี้อาจโตชะลอลง จากปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศ เชื่อ กนง.ทบทวนคาดการณ์ มี.ค.นี้ ห่วงหนี้ครัวเรือนลามคนวัยเกษียณ คลังบี้ ธปท.พยุง ศก.ขาลง โพลชี้คนไทยโอดปากท้องแย่
    เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจจะเติบโตชะลอลงจากปีก่อน เนื่องจากปัจจัยต่างประเทศมีเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท.ได้ประเมินไว้บ้างแล้ว โดยในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไปในเดือน มี.ค.62 จะนำปัจจัยต่างๆ มาพิจารณาทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้อีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ กนง.จะประเมินสถานการณ์เป็นระยะ
    "เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่อาจชะลอลงจากปีก่อนบ้าง แต่ประเด็นสำคัญคือ มีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศมากขึ้น เป็นปัจจัยที่เราไม่ได้คาดคิด เช่น กรณีของอินเดีย-ปากีสถาน ด้วยความที่เศรษฐกิจมีการเชื่อมโยงกัน ก็อาจจะส่งผลกระทบมาสู่เราได้ เพราะฉะนั้นการบริหารความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่าชะล่าใจว่าในประเทศไม่มีอะไร แต่มีสถานการณ์ภายนอกที่อาจเข้ามากระทบได้" นายวิรไทกล่าว และว่า ในการดำเนินนโยบายการเงินนั้นจะยังคงยึดหลัก Data Dependent เป็นสำคัญ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ รอบตัวมีความผันผวนอยู่ตลอด จึงจำเป็นต้องมีการประเมินสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาอย่างใกล้ชิด
    ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ที่ถือว่าน่าเป็นห่วงคือปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจากการวิจัยเก็บข้อมูลของสถาบันเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วมาก และมีมูลค่ามาก กระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มอายุ 30-35 ปีมากที่สุด สัดส่วน 68% และในจำนวนนี้ มีสัดส่วนหนี้เสียถึง 20% ซึ่งหนี้เหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการลงทุน นำไปซื้อสินทรัพย์ เช่น บ้าน หรือเป็นหนี้ที่เป็นการก่อร่างสร้างตัว แต่เป็นหนี้ที่เกิดจากการอุปโภคบริโภค เช่น นำเงินไปท่องเที่ยว ซื้อข้าวของต่างๆ โดยเฉพาะภาคเกษตร เห็นได้ชัดว่าเป็นหนี้มากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวไม่เติบโตเท่าที่ควร 
    "แม้จะมีการมองเศรษฐกิจไทย คนมีรายได้ดีขึ้น แต่ทำไมคนไม่ค่อยจับจ่ายใช้สอย ส่วนหนึ่งก็เพราะต้องนำเงินไปชำระหนี้ อย่างภาคเกษตร คนอายุ 40-50 ปี อายุสูงขึ้น แทนที่จะไม่มีหนี้ กลับมีหนี้มากขึ้น เป็นหนี้ จากการไปซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ ซื้อโทรศัพท์มือถือ กระทบการออมของประเทศ และการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ที่ไม่ควรมีหนี้สินแล้ว" นายวิรไทระบุ
    ทั้งนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นโจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจประเทศในขณะนี้ ซึ่งไม่สามารถแก้ด้วยวิธีมหภาคได้ ต้องแก้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนไทย สำหรับแนวทางแก้ปัญหา คือ 1.การออกกฎเกณฑ์ เรื่องการทำหน้าที่ของสถาบันการเเงิน การปล่อยสินเชื่อ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เพื่อไม่ให้อัตราดอกเบี้ยไม่สูงเกินไป และไม่เกิดความเป็นธรรม ที่ซ้ำเติมประชาชน 2.การเปิดระบบคลินิกแก้หนี้ เพื่อให้คนที่เป็นหนี้ออกจากวงจรหนี้ และ 3.การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการเงิน ตรงนี้เป็นช่องโหว่ของประเทศไทยมานาน 
    ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องในทุกหมวดการใช้จ่าย เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้จากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายการลงทุน ขณะที่การส่งออกยังหดตัวต่อเนื่องที่ 4.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ธปท.คาดการณ์ส่งออกไทยขยายตัวที่ 3.8%
    “ในขณะนี้เรายังอยู่ในระหว่างการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจอยู่ ซึ่งจะนำทุกปัจจัยประเมิน ซึ่งจะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งในวันที่ 20 มี.ค.นี้ โดยที่เราประเมินเบื้องต้นคือ ด้านการส่งออกที่ประเมินว่าในไตรมาสแรกมีโอกาสที่ส่งออกจะหดตัวลงตามเทรนของตลาดโลกที่ชะลอลง แต่ปัจจุบัน ธปท.ยังประเมินส่งออกไทยขยายตัวได้ 3.8% ลดลงจากปีที่แล้วเกือบครึ่ง ซึ่งยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตาม” นายดอนระบุ
    ขณะที่การนำเข้าสินค้าของไทย กลับมาขยายตัวได้ 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนดุลการชำระเงินในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาเกินดุล 2.3 พันล้านดอลลาร์ ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,285 ล้านดอลลาร์ ดุลการค้าเกินดุล 63 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าที่กลับมาขยายตัวได้เป็นสำคัญ ส่วนการท่องเที่ยวขยายตัวได้ 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 0.27% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 0.36% ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จึงคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
    อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ความรุนแรงที่ปากีสถานนั้น ยังเร็วไปที่จะประเมิน โดยหลังจากนี้จะต้องติดตามพัฒนาการต่างๆ ว่าจะรุนแรงและยืดเยื้อหรือไม่
    นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจต้นปี 2562 ขยายตัวชะลอลงเป็นเรื่องที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว เพราะก่อนมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจจำนวนมากเพื่อช่วยกระตุ้นและพยุงเศรษฐกิจ เพราะเห็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในไตรมาส 1 ของปี 2562 เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยทรุดต่ำลงไป แต่เมื่อมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งออกมาแล้ว รัฐบาลจะไม่มีการออกมาตรการทางการคลังออกมากระตุ้นหรือพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพราะจะมีปัญหาว่าเป็นการหาเสียง 
    "หน่วยงานอื่นนอกจากกระทรวงการคลังที่สามารถเข้าไปช่วยดูแลเศรษฐกิจได้ ก็ควรเข้าไปดูแล หน่วยงานที่เป็นกลางทางการเมืองอย่างเช่น ธปท. ที่ดูแลเรื่องนโยบายการเงิน ก็ต้องเข้ามาช่วยดูแลการขยายตัวเศรษฐกิจ" รมว.การคลังกล่าว และว่า สำหรับปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศอินเดียและประเทศปากีสถาน ที่มีการยิงตอบโต้กันจนปิดน่านฟ้า กระทบกับการบินของประเทศไทยด้วย เชื่อว่ามีผลกระทบระยะสั้น 1-2 วันเท่านั้น เพราะทางสายการบินจะปรับเส้นทางการบินเพื่อให้การบินเดินทางได้ตามปกติ จึงไม่กระทบกับการท่องเที่ยวของไทย 
    อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นต้องออกมาตรการทางการคลังเพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงมาก คลังอาจจะต้องออกมาตรการทางการคลังมาพยุงเศรษฐกิจ จะปล่อยให้เศรษฐกิจแย่ลงไปมากเรื่อยๆ ไม่ได้
    ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) เผยผลสำรวจเรื่อง "ปากท้องคนไทยและเศรษฐกิจประเทศหลังการเลือกตั้ง 2562" ระหว่างวันที่ 21-23 ก.พ.2562 รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,005 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 65.84% เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่ลง ขณะที่ประชาชนอีก 27.13% ระบุว่าเศรษฐกิจไทยเหมือนเดิม และมีเพียง 7.03% ระบุว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้น
    ส่วนความคิดเห็นที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง 2562 และได้รัฐบาลใหม่แล้ว พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 63.64% เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ขณะที่ประชาชนอีก 32.27% ระบุว่าเศรษฐกิจไทยจะเหมือนเดิม และมีเพียง 4.09% ระบุว่าเศรษฐกิจไทยจะแย่ลง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"