พรบ.ไซเบอร์ฉลุย เหตุคุกคามวิกฤติ ลุยค้นไม่ขอศาล!


เพิ่มเพื่อน    


    สนช.ผ่านฉลุยร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ไร้เสียงท้วงติง เปิดทางรัฐคุมความมั่นคงไซเบอร์เบ็ดเสร็จ ตัดอำนาจศาลหากมีเหตุจำเป็นภัยคุกคามระดับวิกฤติ  แต่ให้แจ้งรายละเอียดภายหลัง กมธ.ปัดรวบอำนาจรัฐคุกคามสิทธิเสรีภาพ ปชช. ยันเน้นควบคุมภัยคุกคามประเทศหรือกลุ่มคนที่เจตนาไม่ดี
    ที่รัฐสภา วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ที่มีนางเสาวณี สุวรรณชีพ เป็นประธานเสนอ ด้วยคะแนน 133 เสียง งดออกเสียง 16 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป 
    สำหรับบรรยากาศในที่ประชุมนั้น ไม่มี กมธ.หรือสมาชิก สนช.ติดใจสงวนคำแปรญัตติ ขณะที่การอภิปรายของสมาชิกเป็นเพียงการตั้งคำถามเพื่อให้อธิบายในรายละเอียด โดยไม่มีข้อเสนอให้แก้ไขหรือปรับปรุงตามบทบัญญัติที่ กมธ.เสนอแต่อย่างใด โดยการอภิปรายและลงมติเป็นรายมาตราทั้งร่างจำนวน 81 มาตรา ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 20 นาทีเท่านั้น 
    สำหรับสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ คือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบายให้หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และยังให้คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) ที่มี รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธานกรรมการ สามารถออกคำสั่งให้สำนักงาน กมช.ดำเนินการได้หลายประการตาม มาตรา 60 กำหนด เช่น รวบรวมข้อมูลหรือพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และประเมินผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เป็นต้น ในกรณีที่ปรากฏแก่ กกม.ว่าเกิดหรือคาดว่าจะเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรงด้วย 
    อีกทั้งมาตรา 61 ยังให้อำนาจเลขาธิการ กมช. สั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ หรือ สถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง หรือคาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ของบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้นด้วย 
    สำหรับในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนและเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤติ มาตรา 67 ให้ กมช.มอบหมายให้เลขาธิการมีอำนาจดำเนินการได้ทันทีเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันและเยียวยาความเสียหายก่อนล้วงหน้าได้ โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล แต่หลังจากการดำเนินการดังกล่าว ให้แจ้งรายละเอียดการดำเนินการดังกล่าวต่อศาลที่มีเขตอำนาจทราบโดยเร็ว
    และในกรณีร้ายแรงหรือวิกฤติเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและลดความเสี่ยง ให้เลขาธิการโดยความเห็นชอบของให้ กมช.หรือ กกม. มีอำนาจขอข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและต่อเนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยผู้นั้นต้องให้ความร่วมมือและให้ความสะดวกแก่ กมช. หรือ กกม.โดยเร็ว 
    อย่างไรก็ตาม กมธ.ได้มีข้อสังเกตแนบท้ายไปถึงรัฐบาล โดยให้หน่วยงานที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อให้การทำงานด้านดังกล่าว ซึ่งถือเป็นของใหม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ขณะที่การทำงานของสำนักงาน กมช. ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับการทำงานระหว่างประเทศ ควรทำเป็นข้อตกลงระหว่างหน่วยงานแทนความตกลงที่มีผลผูกผันระหว่างรัฐ รวมถึงการทำข้อตกลงต้องอยู่ในภายใต้อำนาจและหน้าที่ของสำนักงานฯ เท่านั้น 
     ด้านนางเสาวณี สุวรรณชีพ ประธาน กมธ.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แถลงว่า ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ของกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจเพื่อสังคม และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.แล้ว ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาแสดงความคิดเห็นและนำมาปรับแก้ไว้ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
     "สำหรับ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ยืนยันว่าไม่มีการรวบอำนาจรัฐ เพราะกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมภัยคุกคามไม่ให้มีผลกระทบต่อประเทศ อีกทั้งมีการกำหนดประเภทของภัยคุกคามไว้ชัดเจน ระบบการบริหารระงับยับยั้งต้องอาศัยการบริหารงานโดยคณะกรรมการนโยบายที่ดูแลสถานการณ์ เพื่อให้เกิดระบบงานที่เป็นมาตรฐาน"
    ส่วนข้อกล่าวหาว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐเกินไปหรือไม่ นางเสาวณีชี้แจงว่า ไม่มีส่วนใดของกฎหมายจะไปใช้อำนาจรัฐในการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะเน้นการป้องกันกลุ่มคนที่มีเจตนาไม่ดีเท่านั้น นอกจากนี้ การดำเนินการต้องมีการกำหนดตัวเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อแก้ไขปัญหาระดับต่างๆ โดยการตรวจค้นจะต้องมีคำสั่งศาลเข้าไปก่อน
     พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ กมธ. กล่าวว่า กฎหมายไม่ได้มอบหมายให้ภาครัฐไปดำเนินการในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงอยากขอให้ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง ส่วนประเด็นที่เป็นห่วงว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปยึดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ยืนยันว่าจะกระทำโดยพลการไม่ได้ โดยต้องขออำนาจจากศาลก่อน เพราะที่มีการกล่าวหากันก่อนหน้านี้เป็นข้อมูลเก่า แต่ สนช.ได้ปรับแก้ไขกฎหมายแล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"