'มาร์ค'ตัวสำรองประยุทธ์ ธนาธรเต็งหากชัชชาติวืด


เพิ่มเพื่อน    


    โพลชี้คนบอกมียุบพรรคก่อน 24 มี.ค. ก็ยังไม่มีพรรคสำรองในใจเลือกใครแทน พบประชาชนมีหลายตัวเลือก อยากให้เป็นนายกฯ หากไม่ใช่บิ๊กตู่ อันดับสองคือมาร์ค ส่วนขั้วตรงข้ามถ้าชัชชาติวืดก็เอาธนาธร 
    เหลืออีกไม่ถึง 3 สัปดาห์การเลือกตั้ง 24 มีนาคม ก็จะมาถึงแล้ว ทำให้หลายสำนักโพลออกสำรวจเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น เพื่อวัดกระแสความสนใจของประชาชน 
    โดยเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,028 คน ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์-2 มีนาคม 2562 สรุปผลได้ ดังนี้
    เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าความขัดแย้งทางการเมือง ณ วันนี้ เกิดจากสาเหตุใด ประชาชนส่วนใหญ่ตอบว่า การแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์    59.22%, อันดับ 2 แบ่งพรรคแบ่งพวก อยู่คนละขั้ว    49.02%, อันดับ 3 ไม่เป็นประชาธิปไตย สองมาตรฐาน 42.35%, อันดับ 4 ทัศนคติ แนวความคิดแตกต่างกัน 18.43%, อันดับ 5 ขาดจิตสำนึก คุณธรรม จริยธรรม 10.59%     
    ต่อข้อถามที่ว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างก่อนที่จะมีการประกาศเลือกตั้ง กับหลังจากที่มีการประกาศเลือกตั้งแล้ว ประชาชนคิดว่าความขัดแย้งเป็นอย่างไร   ประชาชนส่วนใหญ่ตอบว่า ขัดแย้งพอๆ กัน 61.48%,       อันดับ 2 หลังจากที่มีการประกาศเลือกตั้ง มีความขัดแย้งมากกว่า 22.57%, อันดับ 3 ก่อนการประกาศเลือกตั้ง มีความขัดแย้งมากกว่า 15.95% และเมื่อถามย้ำว่า ถ้าไม่มีการป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง  ประชาชนคิดว่าบ้านเมืองจะมีโอกาสวุ่นวายเหมือนกับช่วงก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศหรือไม่ ส่วนใหญ่ตอบว่า มีโอกาสวุ่นวาย 68.09%       เพราะอาจเกิดความขัดแย้ง มีการเคลื่อนไหว ชุมนุม เรียกร้อง การเลือกตั้งร้อนแรง คนไม่เคารพกฎกติกา  ฯลฯ, อันดับ 2 ไม่แน่ใจ 26.85% เพราะมีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและต่อต้าน ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของนายกรัฐมนตรี อาจมีมือที่สามเข้ามาแทรกแซง ฯลฯ,       อันดับ 3 ไม่มีโอกาส 5.06% เพราะ รัฐบาล คสช. มีอำนาจเด็ดขาด มีมาตรา 44 ไว้คอยควบคุมดูแลบ้านเมือง มีบทเรียนจากที่ผ่านมา ฯลฯ      
    ด้านสำนักวิจัยซูเปอร์โพล โดยนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ถ้าคนไทยหลายใจ ใครเหมาะนายกฯ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 2,330 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์-2 มีนาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา 
    โดยเมื่อถามว่า ถ้าพรรคการเมืองที่จะเลือกถูกยุบ มีใครในใจ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.4 ระบุยังไม่มีพรรคใดในใจ ในขณะที่ร้อยละ 41.6 ระบุมีพรรคสำรองแล้ว เช่น เพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ เสรีรวมไทย อนาคตใหม่ เป็นต้น
    อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี และสามารถเลือกคนอื่น ๆ ที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีอีกได้เช่นกัน จากการวิเคราะห์โมเดลความหลายใจในการเลือกของประชาชน พบว่า ในกลุ่มคนที่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ยังเห็นด้วยว่ามีบุคคลอื่นที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน ได้แก่ ร้อยละ 77.6 ระบุนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะเป็นนักการเมือง อดีตผู้บริหารประเทศ มีหลักการ เคยแก้ปัญหามากมาย รองลงมาคือ ร้อยละ 75.5 ระบุ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เพราะเป็นนักธุรกิจ เคยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ค่อยโปรโมตตัวเอง ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร และร้อยละ 73.7 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เพราะเป็นอดีตนายตำรวจระดับสูง มีผลงานมากมาย
    ที่น่าพิจารณาคือ ในกลุ่มคนที่เห็นว่า นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ยังเห็นด้วยว่า มีบุคคลอื่นที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน ได้แก่ ร้อยละ 82.1 ระบุนาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพราะเป็นนักธุรกิจ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง รองลงมาคือ ร้อยละ 76.9 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เพราะเป็นอดีตนายตำรวจระดับสูง มีผลงานมากมาย และร้อยละ 74.6 ระบุนายอนุทิน ชาญวีรกูล เพราะเป็นนักธุรกิจ เคยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ค่อยโปรโมตตัวเอง ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร
    นอกจากนี้ ในกลุ่มคนที่เห็นว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ยังเห็นด้วยว่ามีบุคคลอื่นที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน ได้แก่ ร้อยละ 85.6 ระบุนายอนุทิน ชาญวีรกูล เพราะเป็นนักธุรกิจ เคยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ค่อยโปรโมตตัวเอง ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร รองลงมาคือ ร้อยละ 81.9 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เพราะเป็นอดีตนายตำรวจระดับสูง มีผลงานมากมาย และร้อยละ 80.9 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นอดีตทหารระดับสูง ผู้บริหารประเทศ และแก้ปัญหามากมาย
    สำหรับในกลุ่มคนที่เห็นว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ยังเห็นด้วยว่ามีบุคคลอื่นที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน ได้แก่ ร้อยละ 81.9 ระบุนายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ เพราะเป็นอดีตผู้บริหารประเทศ เด่นด้านคมนาคม และอื่นๆ รองลงมาคือ ร้อยละ 75.3 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เพราะเป็นอดีตนายตำรวจระดับสูง มีผลงานมากมาย และร้อยละ 73.6 ระบุนายอนุทิน ชาญวีรกูล เพราะเป็นนักธุรกิจ เคยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ค่อยโปรโมตตัวเอง ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร
    ที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มคนที่เห็นว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ยังเห็นด้วยว่ามีบุคคลอื่นที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน ได้แก่ ร้อยละ 84.0 ระบุนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะเป็นนักการเมือง อดีตผู้บริหารประเทศ มีหลักการ เคยแก้ปัญหามากมาย รองลงมาคือ ร้อยละ 80.4 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เพราะเป็นอดีตนายตำรวจระดับสูง มีผลงานมากมาย และร้อยละ 78.8 ระบุนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพราะเป็นอดีตผู้บริหารประเทศ เด่นด้านคมนาคม และอื่นๆ
    นายนพดลกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในกลุ่มคนที่เห็นว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ยังเห็นด้วยว่ามีบุคคลอื่นที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน ได้แก่ ร้อยละ 80.8 ระบุ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รองลงมาคือ ร้อยละ 80.4 ระบุ นายอนุทิน ชาญวีรกูล และร้อยละ 80.3 ระบุนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตามลำดับ
    ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ผลสำรวจและการวิเคราะห์จับคู่ในใจของประชาชน บุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อประชาชนกลุ่มหนึ่งตัดสินใจไม่ถูกไม่รู้จะเลือกใครดีหรือมีหลายคนอยู่ในใจที่เห็นว่าเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี 
    "ผลการวิเคราะห์นี้ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงการยอมรับได้ของประชาชนต่อกลุ่มบุคคลที่กำลังแข่งขันเลือกตั้งในเวลานี้ได้ว่า เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาไม่มีพรรคการเมืองใดชนะขาดจนทำให้เกิดรัฐบาลผสม ผลที่ตามมาคือ การจัดตั้งรัฐบาลผสมให้ถูกใจประชาชน ผลวิเคราะห์ครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าถ้าใครเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เป็นนายกรัฐมนตรีขึ้นมาจริงๆ ควรมีใครบ้างที่น่าจะนำมาเข้าร่วม เพราะถูกอกถูกใจประชาชนและบ้านเมืองน่าจะไปรอด เดินหน้าต่อไปได้" นายนพดลกล่าว 
    ด้าน พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจเรื่องต้นแบบนายกรัฐมนตรี โดยสำนักวิจัยซูเปอร์โพล พบว่าสเปกหรือลักษณะของนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนต้องการ ร้อยละ 40.7 เป็นผู้ชายอายุ 50 ปีต้นๆ และเป็นอดีตผู้บริหารธุรกิจระดับสูง ตรงนี้ทำให้เห็นว่าประชาชนจำนวนมากเกิดอาการเบื่อคนเดิมๆ และต้องการคนใหม่ๆ เข้ามาบริหารประเทศ ต้องการนักธุรกิจที่มีผลงาน ประสบความสำเร็จ เพราะเชื่อว่าจะเข้ามาแก้วิกฤติเศรษฐกิจได้ โดยนายอนุทิน ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค เป็นนักธุรกิจที่เก่งและประสบความสำเร็จในการบริหารบริษัท ซิโน-ไทยฯ มาแล้ว แม้ตอนนี้จะถอยฉากจากการบริหารธุรกิจมาแล้ว แต่นายอนุทินต้องล้มลุกคลุกคลานกว่าจะมาถึงจุดนี้ ที่ประสบความสำเร็จ สามารถบริหารธุรกิจในระดับหมื่นล้านแสนล้าน ทั้งหมดไม่ใช่เพราะโชคช่วย แต่เป็นเพราะความสามารถ โดยพรรคภูมิใจไทยยังยืนยันนโยบายไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร แต่จะแสวงหาความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"