พรบ.ไซเบอร์ 'เป็นการเมืองไปแล้ว'


เพิ่มเพื่อน    

    ไปนั่งผิงลมริมน้ำนครชัยศรีเมื่อวันอาทิตย์
    เจอคนรู้จัก เขาถาม.........
    "ใครจะได้เป็นนายกฯ?"
    ผมไม่ใช่คนตั้งนายกฯ จึงตอบไม่ได้ ย้อนถามเขากลับ
    "เคยอิจฉาขอทานมั้ย?"
    เขาบอกไม่เคย!
    ถามเขาต่อ ถ้าอิจฉา คนประเภทไหนล่ะ ที่จะอิจฉา?
    เขาทำท่านึกๆ เหมือนไม่แน่ใจว่าผมจะเล่นไม้ไหนกับเขา ตอบทีเล่น-ทีจริง
    "คนถูกรางวัลที่ ๑ มั้ง หรือไม่ก็คนที่เขาเจ๋งกว่าน่ะ"
    ผมจึงตอบเขาไปว่า...........
    ถ้าอย่างนั้น นายกฯ หลังเลือกตั้ง ๒๔ มีนา ชื่อ "พลเอกประยุทธ์"
    เพราะคนชื่อนี้ ถูกรุมอิจฉามากที่สุด!
    แฉลบคุยเรื่อง "พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์" ดีกว่า 
    ผ่าน สนช.วาระ ๒-๓ ไปแล้ว เมื่อ ๒๘ ก.พ.๖๒ เตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมาย
    มีคน "กระจุกหนึ่ง" ออกมาโจมตี.........
    เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ นางเอกพรรคเพื่อไทย และนายจาตุรนต์ ไทยรักษาชาติ
    ไม่ทราบว่า ได้อ่านร่างกฎหมายก่อนหรือยัง น่าจะยังมากกว่า
    แต่นางเอกเพื่อไทยทวีตแสดงวิสัยทัศน์ "แคนดิเดตนายกฯ" ตระกูลเพื่อ ทันทีว่า
    "พ.ร.บ.ไซเบอร์ เป็นกฎหมายที่ตีความได้กว้างขวาง ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการขอข้อมูล ยึด ค้น  เจาะ ทำสำเนา และสอดส่องข้อมูลได้ โดยไม่ต้องมีหมายศาล ผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ให้ความร่วมมือ จะมีโทษทั้งจำและปรับ!!
    พ.ร.บ.ไซเบอร์นี้ ยังทำลายบรรยากาศทางธุรกิจ ทั่วโลกจะไม่กล้ามาลงทุนในไทย เพราะกลัวถูกเจาะเอาความลับทางธุรกิจไป 
    หากพรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาล พ.ร.บ.ไซเบอร์ฉบับนี้ จะต้องถูกแก้ไขเป็นลำดับแรก 
    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ"
    อื้อฮือ.....
    ถ้าเป็นเรื่อง "เจ้เป๋าตุง-ลุงเป๋าแฟบ" ก็เชิญตามสบาย แต่นี่..ด้วยความไม่รู้ใน "สาระสำคัญ" แล้วใช้ทัศนคติปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล คสช.ทวีตอย่างนี้
    ถ้าเป็นนายกฯ ไม่พาประเทศเข้าป่า-ลงเหวหมดหรือ?
    ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) บอกไว้ชัด 
    พ.ร.บ.ไซเบอร์ เป็นกลไกเฝ้าระวัง ป้องกัน รับมือ ลดความเสี่ยงจากการคุกคาม ทั้งระดับพื้นที่และความมั่นคงของรัฐ
    มุ่งไปที่ความปลอดภัยด้านการเงิน-การธนาคาร, ระบบขนส่ง, พลังงาน, สาธารณูปโภค, สาธารณสุข, โทรคมนาคม, การบริการภาครัฐ และความมั่นคง เป็นหลัก
    เรื่องไซเบอร์นี้ ต้องคุยกันเต็มๆ ซักวัน จะพูดว่าไงดีล่ะ ถึงภัยประเทศในสังคมโลกยุค Digital  Economy ปัจจุบัน เชื่อมต่อยุค Data Economy ใน ๒-๓ ปีข้างหน้า!
    ยุคก่อน อยากทำลายล้างกัน จะทำสงครามด้วยกำลังทหารและอาวุธ
    แต่ยุคไอทีครองโลก การทำลายล้างกัน เขาใช้ "มัลแวร์"
    คือโปรแกรมโจมตีระบบ ทำให้ระบบล่ม โจรกรรมข้อมูล ด้วยรูปแบบไวรัส เป็นต้น
    เรื่องนี้เป็นของใหม่ ไม่เข้าไปรู้มัน มันก็จะเข้ามารู้เรา จับเรากิน "ทั้งตัว-ทั้งประเทศ"
    ขอบอกว่า ที่ "คุณหญิงสุดารัตน์ทวีต" นั้น เป็นความไม่รู้ ไม่เข้าใจ อันตรายมาก
    เพื่อความเข้าใจที่ตรงทิศ-ตรงทาง อยากให้ยึด "อาจารย์ปริญญา หอมเอนก" ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ไว้เป็นทิศทาง จะดีที่สุด
    อาจารย์ปริญญาให้สัมภาษณ์ "คุณจีรชาตา เอี่ยมรัศมี" ผู้ประกาศข่าวคุณภาพของไทยพีบีเอสไว้ เมื่อ ๒๘ ก.พ.จะถอดบางความมาให้อ่าน
    จีรชาตา-ส่วนไหนไปกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนบ้าง?
    ปริญญา-ในร่างเก่า ก่อนจะเข้า สนช.วาระ ๑ ผมเป็นหนึ่งในผู้ต่อต้าน ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีโอกาสกระทบประชาชนได้ ที่ไม่มีหมายศาล 
    แต่พอร่างฯ นี้ เขาเชิญผมเป็นกรรมาธิการ ผมก็ขอใช้เสียงแก้เนื้อหาในร่าง ว่าทุกอย่างที่คุณว่ามา มัลแวร์ ไวรัส คอมพ์ใครก็มีไวรัส มีโอกาสติดมัลแวร์กันตลอดเวลา คุณจะมายึดคอมพ์โดยไม่มีหมายศาลไม่ได้หรอก
    ฉะนั้น เขาจึงยอมปรับ แก้ว่า ภัยทั่วไป ภัยระดับร้ายแรง ยังไงก็ต้องขอศาลก่อน
    ผมต้องการให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่เกี่ยวกับคอนเทนต์ ฉะนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงไม่มีบรรทัดไหนเลย ที่จะขอดูข้อมูลประชาชน ละเมิดสิทธิไม่มีเลย
    ถ้าจะขอดูข้อมูล เป็นข้อมูลเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ ไซเบอร์แอตแทกเท่านั้น ไม่ใช่ข้อมูลแบบผมไปเที่ยวญี่ปุ่น โพสต์กับเพื่อนอย่างนี้ทำไม่ได้ ทำปุ๊บผิดกฎหมายเลย 
    ท้ายที่สุดมันมีศาล ถ้าระดับวิกฤติต้องขอศาลก่อน คือไประงับภัยก่อนขอศาลทีหลัง อันนี้เขียนไว้ชัดเจนในมาตรา ๕๙ (๓) เลยว่า 
    คำว่าวิกฤติ จะให้เจ้าหน้าที่มามโนเอาไม่ได้ ต้องเขียนไว้เลยว่า วิกฤติต้องมีคนล้มตาย มีการโจมตีจนระบบของรัฐล่มเป็นวงกว้าง เขาจะต้องขอไประงับภัย โดยยังไม่ต้องขอศาล แล้วเมื่อระงับเรียบร้อยแล้ว จึงต้องไปแจ้งศาลอีกที ยังไงศาลก็ต้องเกี่ยวอยู่ดี
    จีรชาตา-ภัยทั่วไป ภัยร้ายแรง?
    ปริญญา-มุ่งเน้นดูแลความปลอดภัยระบบ ไม่ได้ออกแบบมาใช้กับประชาชน 
    ออกแบบมาสำหรับใช้กับหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หรือทั่วโลกเรียกคริติคอล อินฟอร์เมชัน อินฟราสตรักเจอร์
    ยกตัวอย่างที่เห็นภาพ สนามบินสุวรรณภูมิ, รถไฟฟ้า, เชลโก, เอไอเอส, ทรู, ดีแทค, ไฟฟ้า, ประปา ทุกวันนี้ ทุกระบบสาธารณูปโภคที่ใช้ เบื้องหลังใช้คอมพิวเตอร์ทั้งนั้นเลย 
    ถ้าหากคอมพิวเตอร์เหล่านั้น "โดนยึด" หรือ "โดนโจมตี" รถไฟฟ้าเดินไม่ได้ โทรศัพท์ก็โทร.ไม่ได้  ธนาคารก็โอนเงินไม่ได้ 
    ที่ผ่านมา ยังไม่มีมาตรฐานในการดูแล กฎหมายฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ออกแบบมาเพื่อสิ่งนี้ 
    และที่ขอเข้าค้น ขอเอาระบบเครื่องมาเนี่ย เขาไม่ได้ยึด เพียงเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ว่า "มีมัลแวร์มั้ย" ถ้าไม่มีต้องคืนภายใน ๓๐ วัน 
    คือจะทำสิ่งเหล่านี้ก็ต่อเมื่อมันได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง มันร้ายแรง มีผู้เสียหาย ไม่ใช่แค่สงสัยคนนี้ก็ถีบประตูเข้าไปยึดเครื่องเลย ทำไม่ได้ ไม่สามารถทำได้
    จีรชาตา-ทำไมโลกออนไลน์ถึงมีความกังวลเรื่องตรวจค้น ตรวจยึด หรือแทรกแซงข้อมูล?
     ปริญญา-ผมเห็นร่างเก่าไม่มีหมายศาลเลย ผมถามหน่อย ตอนร่างเก่า ทำไม NGO ไม่ออกมาร้องเลยล่ะ ทุกข้อไม่มีหมายศาลเลย เข้ามายึดได้เลย ทำไมไม่ร้องล่ะ ตอนนั้นน่ะ?
    แต่พอมันดีขึ้น มีหมายศาล มีอะไรเรียบร้อย ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย ทำไมถึงมาร้องล่ะ? 
    เพราะเขาเข้าใจว่า มันไม่มีหมายศาลเหมือนเดิม เพิ่งรับทราบ เป็นไปได้มั้ยว่า เขาเข้าใจผิด คิดว่าเป็นตัวเก่า
    เขากลัวไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเขา เขาอยากจะโพสต์ด่าว่าใคร กฎหมายฉบับนี้ ไม่เกี่ยวที่ใครจะไปโพสต์ด่าใคร มันมี พ.ร.บ. มีวิ.อาญาหมิ่นประมาทอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวเลย 
    ฉะนั้น คุณจะใส่คอนเทนต์อะไรลงไป เรื่องของคุณ ไม่ต้องกังวล พ.ร.บ.นี้ ใช้กับเดต้าที่เป็นไซเบอร์แอตแทก ที่เป็นการโจมตีของแฮกเกอร์ 
    ที่เขาบอก กลัวข้อมูลเรื่องเวลาจริงที่เป็นเรียลไทม์ เวลาจริง เราแก้แล้ว ขอเป็นข้อมูลล่าสุดที่เป็นปัจจุบันแล้วกัน และขอข้อมูลต่อเนื่อง
    ใน พ.ร.บ.เขียนเลยว่า "ขอข้อมูล" เราไปตั้งป้อมเขียนข้อมูลสลิปเปอร์ไปดักข้อมูลไม่ได้ ถ้าดักข้อมูลผิดกฎหมายทันที นี้ขอข้อมูลจากเจ้าของว่า....
    คุณช่วยเอาข้อมูลปัจจุบันมาให้หน่อย เราจะวิเคราะห์ว่า คุณโดนดีดอตมาจากไหน การโจมตีมาจากรัสเซียหรือเปล่า ต้องขอหมด ถ้าเขาไม่ให้ ก็ต้องมีหมายศาล
    จีรชาตา-ขอข้อมูลปัจจุบัน หมายถึงข้อมูลมีมาอยู่ในเครื่องก่อนแล้ว ไม่ใช่ข้อมูล ณ ขณะทำลังทำ?
    ปริญญา-ข้อมูลการโจมตีของแฮกเกอร์มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ใช่ข้อมูลแชตกับภรรยาเขาว่า หรือว่าไปเที่ยวต่างประเทศกับเพื่อน ไม่ใช่อย่างนั้น 
    ข้อมูลเกี่ยวกับไซเบอร์แอตแทกซึ่งมีเหตุจำเป็นต้องขอข้อมูลนั้น ถ้าเขาไม่ให้ มีหมายศาลไปถึงตัวเขา เขาสามารถอุทธรณ์ต่อศาลได้ 
    จีรชาตา-ทำไมมีกระแสต่อต้านคัดค้านในทันทีที่ สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์?
    เพราะคนไทยทุกวันนี้ ความเร็วของสื่อมันเร็วมาก จะให้คนทุกคนไปอ่านกฎหมายคอมพ์ทุกคน ขี้เกียจอ่าน ถึงอยากจะอ่านก็ไม่รู้จะไปโหลดตรงไหน กฎหมายยังไม่เป็นทางการ 
    แต่คนที่เข้าถึงร่างฯ เขาสรุปเป็นอินโฟกราฟิกได้ดีมาก จากอินโฟกราฟิก มันมีคำบางอย่าง เช่นคำว่า เจาะ, ล้วง คุณไปอ่านกฎหมายแล้วบอกผมซักคำว่า เจาะ, ล้วง อยู่ตรงไหน?
    เจาะ ล้วง คือการละเมิด มันไม่มี พอเขาใช้คำพวกนี้ก็เข้าใจว่า มันต้องมาล้วง มาเจาะฉันแน่เลย  ซึ่งมันไม่ใช่เลย คนทำเขาก็อาจกังวลไปว่าจะถูกเจาะ ถูกล้วง เพราะเขายังไม่ได้อ่านกฎหมายอย่างละเอียด 
    คือเขายังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ ว่ากรรมาธิการหรือคนเขียนกฎหมายเขามีความตั้งใจอย่างไร คนอีกกลุ่มหนึ่ง ตรงนี้ ผมเข้าใจเองนะ ว่าเขาต้องการให้เป็นประเด็นการเมือง เพราะจะโจมตีท่านนายกฯ หรือรัฐบาล คสช.ว่าจะมาครอบงำ เพราะเขาไม่ใช่พรรครัฐบาล เราจะไปห้ามจิตใจเขาไม่ได้ 
    ตั้งแต่ผมทำมาเป็นปี จนถึงวันนี้นะ ผมไม่เคยเจอท่านรองนายกฯ ท่านนายกฯ หรือมีผู้หลักผู้ใหญ่โทร.มาสั่ง ถ้ามาสั่ง ก็สั่งผมไม่ได้ ผมเป็นประชาชน เรื่องอะไรจะยอมให้มาล้วงตับผม ผมเป็นเอกชน เป็นไพรเวตเซกเตอร์
    เพราะฉะนั้น ผมขอยืนยันตรงนี้ว่า ไม่เคยมีผู้ใหญ่มาครอบงำ ให้มาเขียน มาทำอะไรตรงนี้ 
    เพราะฉะนั้น เขาอาจจะเข้าใจว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีคนอยู่เบื้องหลังแล้วก็ให้เร่งออกมา เพราะตอนนี้มีเร่งหลายตัว เขาอาจเข้าใจเป็นอย่างนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้ มันกลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปแล้ว 
    ยาวและยากอ่าน อดทนอ่านหน่อยละกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"