"ประวัติศาสตร์คำวินิจฉัย"


เพิ่มเพื่อน    

    ก็....
    ยุบพรรค "ไทยรักษาชาติ"
    ตัดสิทธิ์เลือกตั้ง ๑๓ กก.บห. ๑๐ ปี!
    กรณีนำ "สมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์" เสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค 
    วันนี้ ขอนำคำวินิจฉัยเฉพาะตอน ว่าด้วยเหตุ "ยุบพรรค" มาให้อ่าน เพื่อซึมซับสู่ความเข้าใจกัน
    ต้องบอกว่า คำวินิจฉัยนี้ 
    ศาลท่านเขียนได้เหนือประมาณการและการหยั่งถึงจริงๆ ครอบคลุมทุกมิติ 
    จะเป็นบรรทัดฐานมาตรฐาน ด้าน "สถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมือง" ตลอดไป
    นี้คือ อัจฉริยะแห่งคำวินิจฉัยประเด็นยุบพรรค "บางส่วน"
    พิจารณาแล้วเห็นว่า........
    การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญในราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 
    และหมวด 1 พระมหากษัตริย์ มาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้บัญญัติว่า 
    "พระบรมวงศานุวงศ์" ตั้งแต่ชั้น "หม่อมเจ้า" ขึ้นไปโดยกำเนิด หรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ในฐานะเหนือการเมือง อันเป็นไปตามพระราชประสงค์ของ "พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว"
    ซึ่งมีพระราชหัตถเลขาที่ 1/60 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2475 ถึง "พระยามโนปกรณ์นิติธาดา" ผ่านกรรมการราษฎร ระหว่างที่กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 
    ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีความเห็นชอบด้วยทุกประการ 
    สาระสำคัญ ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยของไทย ระบุไว้ในความของ พระราชหัตถเลขา ที่ระบุว่า 
    ด้วยหลักการพระบรมวงศานุวงศ์ย่อมดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพเหนือความที่จะถูกติเตียน ไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นการงานที่จะนำมา ทั้งในทางพระเดชและพระคุณ ย่อมอยู่ในวงอันจะถูกติเตียน อีกเหตุหนึ่งจะนำมาซึ่งความขมขื่น ในเมื่อเวลาทำการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง อันเป็นเวลาที่ต่างฝ่ายต่างโจมตีให้ร้ายซึ่งกันและกัน 
    เพื่อความสงบเรียบร้อยอันสมัครสมานอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างเจ้านายกับราษฎร ควรถือเสียว่า พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ย่อมดำรงอยู่เหนือการเมืองทั้งหลาย 
    ส่วนการพิจารณาจะช่วยทำนุบำรุงประเทศบ้านเมือง ย่อมมีโอกาสบริบูรณ์ในทางตำแหน่งประจำ และในตำแหน่งอันเกี่ยวกับวิชาชีพเป็นพิเศษอยู่แล้ว 
    หลักการพื้นฐานดังกล่าว ถือว่าการพิจารณาร่วมของการสถาปนาระบอบการปกครองของไทยไว้ในรัฐธรรมนูญแต่เริ่มแรก อันเป็นฉันทามติ ที่ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรได้ให้การยอมรับ ปฏิบัติสืบต่อมา 
    ว่าพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ควรดำรงอยู่เหนือฐานะการเมือง 
    โดยเฉพาะในแง่การไม่เข้าไปมีบทบาทเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมือง  
    อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน และกระทบความสงบเรียบร้อยสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับราษฎร ที่เป็นหลักการพื้นฐานและประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
    ถึงแม้ในรัชกาลของ "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล" สภาผู้แทนราษฎรได้มีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ทั้งฉบับ อันนำมาสู่การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ซึ่งได้เว้นการบัญญัติจำกัดบทบาทของพระบรมวงศานุวงศ์ในทางการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ 
    แต่กระนั้นก็หาได้ทำให้หลักการพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญว่าด้วยฐานะของสมาชิกของพระบรมวงศานุวงศ์อันเป็นที่เคารพเหนือการถูกติเตียน และไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกลบล้าง อันปรากฏเป็นที่ประจักษ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2543 
    กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาว่า 
    พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อีกทั้งให้เลขาธิการพระราชวังมีหน้าที่แจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแทนพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป
    ต่อมา คณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มีปัญหาในทางปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีบุคคลใดบ้าง ที่ไม่อยู่ในข่าย หรือได้รับการยกเว้น มิต้องไปแจ้งเหตุอันควรที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ตามมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 
    ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ รวมทั้งพุทธศักราช 2540 มีหมวดว่าด้วยพระราชบัญญัติเป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามมติการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมืองและทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดมิได้ 
    อีกทั้งพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจประชาธิปไตย ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง 
    ประกอบกับที่ผ่านมา พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา ไม่เคยทรงใช้สิทธิเลือกตั้งแต่อย่างใด 
    หากกำหนดให้ พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ 
    ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อยู่เป็นนิจ ทรงมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 
    ย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งและไม่สอดคล้องกันกับหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ 
    เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 71 ศาลรัฐธรรมนูญ จึงวินิจฉัยว่า 
    บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ให้ใช้กับพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ ตามมาตรา 22 และมาตรา 23 
    หลักการพื้นฐาน ว่าด้วยการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามนัยของวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญข้างต้น สอดคล้องกับหลักการที่มีอยู่ว่า 
    พระมหากษัตริย์ "ทรงราชย์" แต่มิได้ "ทรงปกครอง" อันเป็นหลักการในรัฐธรรมนูญ อันเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่นานาอารยประเทศ ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ 
    กล่าวคือ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นบ่อเกิดแห่งความชอบธรรมของระบบการเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจคนในชาติ และธำรงความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ     พระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุขของรัฐ ทรงใช้อำนาจประชาธิปไตย โดยผ่านสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
    ของไทยมีความแตกต่างจากการปกครองของระบอบที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐลักษณะอื่น ซึ่งมีบทบาททางการเมืองโดยตรง 
    โดยการใช้อำนาจในการเมือง อันปรากฏในระบอบประชาธิปไตยอำนาจสมบูรณ์ หรือการปกครองระบอบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ และควบคุมการใช้อำนาจทางการเมือง โดยผ่านการแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหาร 
    ดังเช่น ระบอบราชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญของบางประเทศ ในปัจจุบัน
    ดังนั้น การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ ในการเสนอชื่อ "ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี" ในนามของพรรคการเมืองผู้แข่งขันกับพรรคการเมืองอื่นๆ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และในกระบวนการให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 
    จึงเป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นได้ว่า จะส่งผลให้ระบอบการเมือง การปกครองของประเทศไทยแปรเปลี่ยนไปสู่สภาพการอันเดียวกับระบอบการเมืองที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ และมีพระบรมวงศานุวงศ์ทำหน้าที่ใช้อำนาจทางการเมืองในการปกครองประเทศ 
    สภาพการณ์เช่นนี้ ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ที่ถือว่า "พระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครอง" ต้องถูกเซาะกร่อน ทำลาย บ่อนทำลาย ให้เสื่อมทรามไปโดยปริยาย
    ----------------------
    ดังนั้น แม้พรรคไทยรักษาชาติจะมีสิทธิและเสรีภาพการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้โดยสมบูรณ์ 
    แต่การใช้สิทธิและเสรีภาพในการกระทำการใดๆ ของพรรคการเมือง ย่อมต้องอยู่บนความตระหนักว่า 
    การกระทำนั้น จะไม่เป็นการอาศัยสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองที่ได้รับมาจากรัฐธรรมนูญ ให้มีผลกระทบย้อนกลับมาทำลายหลักการพื้นฐาน บรรทัดฐาน คุณค่า และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเสียเอง 
    เพราะประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามนิติราชประเพณีของไทยนั้น มั่นคงสถานะและเอกลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณว่า 
    พระองค์จะทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม 
    --------------------------
    ทั้งยังทรงต้องระมัดระวัง มิให้สถาบันกษัตริย์ของไทย ต้องถูกนำไปเป็นคู่แข่ง หรือฝักใฝ่ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดอย่างเคร่งครัด 
    เพราะหากถูกทำด้วยวิธีการใดๆ ให้เกิดผลเป็นไปเช่นนั้น สภาวะความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยย่อมสูญเสียไป 
    เมื่อเสียความเป็นกลางทางการเมือง ก็ย่อมไม่สามารถดำรงพระองค์และปกป้องสถาบันให้ทรงอยู่เหนือการเมืองได้ 
    ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ต้องจะไม่ทรงอยู่ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมของประชาชนชาวไทยอีกต่อไป 
    นั่นย่อมทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทย จะต้องเสื่อมโทรมลง 
    หรือต้องสูญสิ้นไป ซึ่งหาควรปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้นไม่ 
    สำหรับประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งจะต้องนำมาใช้บังคับแก่การกระทำหรือพฤติกรรมทางรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 5 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญนั้น 
    ถึงแม้จะไม่มีนิยามไว้เป็นกาลเฉพาะ แต่ก็พออนุมานความหมายเบื้องต้นได้ว่า มีองค์ประกอบ 4 ประการ (อ่านความเต็ม ที่หน้า ๔)     
    ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการจำเป็นที่พระมหากษัตริย์ไทยจะต้องทรงอยู่เหนือการเมือง 
    และต้องทรงเป็นกลางทางการเมือง ไม่เปิดช่อง เปิดโอกาสให้สถาบันกษัตริย์ไทย ต้องถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยฝักใฝ่ทางการเมือง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม 
    ถึงแม้จะไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญถึงสถานะที่ต้องทรงอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมืองไว้เป็นการเฉพาะ 
    ก็ต้องนำประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าวมาใช้บังคับด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5 วรรค 2 
    ไว้พรุ่งนี้ ค่อย "คุยหลังข่าว" กันนะครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"