'อัลวิดา' ลาก่อนอินเดีย


เพิ่มเพื่อน    

ยามเช้าบนถนนจากสถานีรถไฟไปยังท่าน้ำอัศวเมธ ย่านเมืองเก่า กรุงพาราณสี

กำหนดกลับเมืองไทยคือวันที่ 12 ตุลาคมจากสนามบินโกลกาตา บัดนี้เป็นค่ำของวันที่ 9 ตุลาคม ผมยังอยู่ที่สถานีรถไฟเมืองโกรัคเปอร์ รัฐอุตรประเทศ ตามแผนในตอนแรกผมจะเดินทางไปยังเมืองปัฏนา (ปาฏลีบุตร) รัฐพิหาร แวะราชคฤห์และนาลันทา ก่อนจะนั่งรถไฟไปคยาแล้วจึงต่อไปโกลกาตา แต่ตรวจสอบแล้วไม่ง่ายอย่างนั้น รถไฟจากโกรัคเปอร์ไปปัฏนาต้องรอบ่ายพรุ่งนี้และไปถึงกลางดึก ตื่นมาก็เป็นวันที่ 11 จะไม่ทันการอะไรสักอย่าง จึงตัดสินใจนั่งรถไฟไปพาราณสี แล้วค่อยต่อไปโกลกาตา

หลังจากได้ตั๋วแบบ Journey Cum Reservation Ticket After Charting มาจากน้าอ้วน-เจ้าหน้าที่ออกตั๋วของสถานีโกรัคเปอร์แล้วผมก็ถามแกว่าจะจองตั๋วจากพาราณีสีไปโกลกาตาได้ที่ไหน น้าอ้วนอธิบายเส้นทางไปยังเคาน์เตอร์หมายเลข 811

ผมเดินไปทางด้านซ้ายมือขนานไปกับชานชาลารถไฟที่ยาวที่สุดในโลก 1,366 เมตร จนจะสุดทางก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเจอเคาน์เตอร์จองตั๋วล่วงหน้า กระเป๋าบนหลังก็หนักขึ้นตามกำลังกายที่ลดลง ขาเดินกลับมาได้สวนกับกลุ่มเจ้าหน้าที่การรถไฟพวกดูแลระบบที่เพิ่งออกมาจากออฟฟิศจึงลองสอบถาม หนึ่งในนั้นบอกให้ผมเดินออกจากสถานีไปบนถนนใหญ่ เดินอีก 100 หลา สำนักงานจองตั๋วล่วงหน้าจะอยู่ทางขวามือ แปลกดีที่คนหนุ่มอย่างเขายังใช้มาตรวัดระยะทางเป็นหลาตามแบบอังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคม

เข้าไปในสำนักงานจองตั๋วล่วงหน้าได้ผมก็พุ่งไปที่เคาน์เตอร์แรกทางซ้ายมือ ได้ความว่าตั๋วเต็มหมดแล้ว แต่เจ้าหน้าที่หลังเคาน์เตอร์บอกให้ไปถามที่ช่อง 811 จะชัวร์กว่า ผมลืมไปเลยว่าน้าอ้วนพูดถึงช่อง 811 ไว้ก่อนหน้านี้ ช่อง 811 เป็นช่องสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อยู่ทางด้านขวาสุด เจ้าหน้าที่แถลงไขว่ารถไฟจากพาราณสีไปโกลกาตาของวันพรุ่งนี้ว่างอยู่ขบวนเดียว ออก 8 โมงกว่าๆ ถึงสถานี Sealdah นครโกลกาตาเวลา 11 โมงของอีกวัน ระยะทางไม่ถึง 700 กิโลเมตรแต่ใช้เวลาวิ่งเกือบ 27 ชั่วโมง ผมจึงเดินคอตกกลับไปยังสถานีรถไฟ

เทศกาลบูชาพระแม่ทุรคาผู้มีหลายมือและทุกมือล้วนถืออาวุธ ปางหนึ่งของพระแม่อุมาเทวี กำลังจะเริ่มขึ้นพรุ่งนี้ และกินเวลาถึง 9 วัน นี่อาจจะเป็นสาเหตุให้รถไฟเต็มเกือบหมด

ผมเดินหาลุงเดลีผู้มีความกรุณาต่อผมระหว่างการเดินทางจากโสเนาลีมายังโกรัคเปอร์ หาอยู่จนกระทั่ง 2 ทุ่มกว่าๆ ก็ล้มเลิกเพราะก่อนนี้แกบอกไว้ว่ารถไฟไปนิวเดลีออกตอน 2 ทุ่ม และผมไม่รู้หมายเลขชานชาลาของแก จากนั้นจึงหาข้าวเย็นกิน ได้ข้าวบิยานีอบรสชาติคล้ายข้าวหมกไก่ในกล่องสำเร็จรูป ราคา 60 รูปี ไปนั่งกินในร้านที่มีโต๊ะอยู่หลายตัว กินเสร็จแล้วก็ออกไปนั่งหาข้อมูลวิธีเดินทางจากพาราณสีไปโกลกาตาในอินเตอร์เน็ตมือถือ เกือบจะตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบินของ Air India ที่ราคาถูกอย่างเหลือเชื่อ แต่คิดว่าไปให้ถึงพาราณสีก่อนจะดีกว่า

เด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง ตัวเล็กมาก หน้าตายิ้มแย้ม เดินถือลูกโป่งมา 4-5 ลูก เข้ามาถามผมว่า “คุณมาจากอังกฤษหรือเปล่า ?” ผมตอบว่า “ไทยแลนด์” แล้วหนุ่มน้อยก็เดินจากไป ผมแทบจะหากระจกมาส่องดูว่าหน้าตาได้กลายไปทางฝรั่งอั้งม้อเสียแล้วหรืออย่างไร

ถึงจะเดินสวนเลนแต่ไม่มีใครว่า

เวลาใกล้กำหนดขบวนรถไฟออก 22.45 น. ผมเดินขึ้นทางลาด ข้ามสะพานลอยไปยังชานชาลาที่ 3 ตามที่ตัวหนังสือบนจอ LED แจ้ง รถไฟจอดรออยู่แล้ว ตู้ชั้น 2 AC ของผมก็หาไม่ยาก ตั๋วระบุที่นั่ง 41 – SL หมายถึง Side bed / Lower berth เตียงล่าง ติดทางเดิน

ชายคนที่นอนเตียงบนเดินไป-มา หลายรอบ ผมบอกให้เขานั่งบนเตียงของผมก่อน อยากนอนเมื่อไหร่ค่อยขึ้นไป เขาจึงนั่งลงและเราเริ่มสนทนากัน

เขาน่าจะมีอายุ 40 กว่าๆ เป็นเซลส์แมนขายยาระดับหัวหน้า ต้องเดินทางบ่อยจึงเชี่ยวชาญเรื่องการจองตั๋วรถไฟและที่พัก แนะนำให้ผมโหลดแอป ชื่อ Train Man สำหรับจองตั๋วรถไฟในอินเดีย เขายืนยันว่าดีสุดและง่ายสุด นอกจากรู้ว่าขบวนไหนมีตั๋วว่างกี่ใบแล้วยังสามารถติดตามขบวนรถแบบ Real Time ได้ด้วย

พอรู้ว่าปลายทางผมอยู่ที่โกลกาตา พี่เซลส์ก็กดเข้าไปดูแล้วบอกว่า “มีขบวนจากโกรัคเปอร์ไปโกลกาตาโดยตรงด้วยนะ ออกไปแล้วเมื่อตอน 6 โมงครึ่ง” ผมอยากจะตบหน้าตัวเอง เพราะมาถึงสถานีรถไฟเวลา 5 โมงกว่าๆ แต่พี่เซลส์บอกว่าดูย้อนหลังไม่ได้ว่ามีตั๋วว่างหรือไม่ ผมจึงว่า “ดีแล้วที่ดูไม่ได้ เพราะถ้าพบความจริงว่ามีตั๋วว่างผมคงจะโทษตัวเองมากกว่านี้”

ตอนเจ้าหน้าที่เดินมาตรวจตั๋ว ชื่อของพี่เซลส์ไปอยู่ที่ชั้น 1 AC เพราะแกได้กรอกแบบฟอร์มโดยติ๊กในช่องอัพเกรดตั๋วไว้ นั่นคือหากตั๋วชั้นที่ดีกว่ามีที่ว่าง ระบบก็จะอัพเกรดให้ ผมไม่เคยติ๊กช่องนี้เลยเพราะไม่ค่อยเข้าใจ พี่เซลส์ลุกไปได้สักพักผมก็ล้มตัวลงนอน แต่กว่าจะหลับก็ปาเข้าไปเกือบตี 2

ตื่นมาตี 4 ครึ่งตามเสียงนาฬิกาปลุกจากโทรศัพท์มือถือ เห็นเจ้าหน้าที่หนวดเฟิ้มเดินมาก็ถามว่าสถานีหน้าใช่ Varanasi Junction หรือเปล่า แกตอบว่าใช่ รถจอดเวลา 04.35 น. ตรงตามกำหนดเป๊ะจนเกือบเก็บกระเป๋าไม่ทัน เจ้าหน้าที่หนวดเฟิ้มคนเดิมเดินมาบอกอีกทีว่าถึงแล้ว

ผู้โดยสารที่รออยู่ด้านล่างพยายามจะขึ้นมาก่อนคนลง พวกเขาซื้อตั๋วแบบไม่มีที่นั่งจึงเร่งรีบแย่งที่กัน ผมต้องพูดเสียงดังว่า “ได้โปรดเถอะ ขอลงก่อน” ไม่อย่างนั้นคงได้เดินทางต่อไปอีก 1 สถานีเป็นอย่างน้อย

ไม่สนคนถีบสามล้อและคนขับตุ๊กตุ๊กที่เข้ามาเจรจา ผมเดินตรงไปที่เคาน์เตอร์ Current Reservation ได้คำตอบที่แย่กว่าเดิม รถไฟไปโกลกาตาเต็มหมดทุกขบวน ก่อนนี้มีคนเตือนว่าอย่าไปรถบัสเพราะใช้เวลานานกว่ารถไฟและถนนหนทางไม่ค่อยดี อาจจะปวดเนื้อปวดตัวไปหลายวัน ตอนนี้จึงเหลืออยู่ทางเลือกเดียว คือนั่งเครื่องบิน

ผมติดต่อเครือข่ายโทรศัพท์ที่เมืองไทยผ่านช่องทาง Chat โดยใช้อินเตอร์เน็ต 4G ของซิมการ์ดอินเดีย ขอเปิดใช้งานในต่างประเทศเพื่อรับรหัส OTP ของธนาคารผ่าน SMS สำหรับจ่ายเงินซื้อตั๋วเครื่องบินทางอินเตอร์เน็ตด้วยบัตรเดบิต ทั้งที่เคยลงทะเบียนโรมมิ่งไว้แล้ว ผมรออยู่นานมากกว่าจะได้คุยกับเจ้าหน้าที่และเปิดใช้งานซิมไทยได้สำเร็จ

ค่าตั๋วสายการบิน Air India ซื้อผ่านเว็บไซต์ Cheapticket จากพาราณสีไปโกลกาตาเวลา 12.15 น. วันพรุ่งนี้แค่ 1,460 บาทเท่านั้น ได้น้ำหนักกระเป๋า 25 กิโลกรัม ค่าประกันเครื่องดีเลย์ 200 บาท ค่าเปิดโรมมิ่งสัญญาณโทรศัพท์เบอร์ไทยอีก 350 บาท รวมแล้วประมาณ 2 พันบาทก็ยังถือว่าไม่แพง

สวัสติกะ ในความหมายที่ดี

จากประสบการณ์ครั้งนี้ ผมขอแนะนำว่าท่านที่เดินทางไปประเทศที่ระบบอินเตอร์เน็ตสาธารณะยังไม่ดีควรพกโทรศัพท์ไป 2 เครื่อง เครื่องหนึ่งใส่ซิมท้องถิ่นสำหรับใช้อินเตอร์เน็ตส่งสารไปบอกผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือว่าขอเปิดโรมมิ่งเบอร์ไทย และอีกเครื่องอาจจะราคาถูกหน่อยใส่ซิมไทยไว้รับรหัส OTP ผ่านทาง SMS เพราะการรับข้อความอย่างเดียวนั้นเขาไม่คิดเงิน โดยใช้อินเตอร์เน็ตจากซิมท้องถิ่นในการซื้อตั๋วออนไลน์ นอกจากนี้โทรศัพท์ที่ใส่ได้ 2 ซิมก็น่าจะพอแก้ปัญหานี้ได้

เมื่อซื้อตั๋วไปโกลกาตาได้แล้วก็ต้องเลื่อนตั๋วจากโกลกาตากลับกรุงเทพฯ ให้ร่นเข้ามา 1 วัน เพราะไม่อยากเข้าไปผจญกับบรรดายอดเซียนแท็กซี่และความสกปรกในตัวเมืองโกลกาตาอีกแล้ว บินถึงสนามบินโกลกาตาตอนบ่ายก็นั่งรอ เดินเล่นในสนามบิน ขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพฯ ตอนค่ำวันเดียวกัน 

สายการบิน Indigo ของอินเดีย ราคาเป็นมิตรแถมยังใจดีให้เลื่อนตั๋วได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งหากว่าท่านซื้อประเภท Flexible ไว้ ซึ่งแพงกว่าแบบปกติไม่กี่ร้อยบาท และเป็นสายการบินเดียวที่ผมรู้จักที่บางครั้งราคาตั๋วจะถูกลงเมื่อใกล้วันเดินทาง (คงเพราะต้องการให้ที่นั่งเต็ม) และเขาจะคืนส่วนต่างของราคาตั๋วให้หากว่าตั๋วใบใหม่ถูกกว่าใบเก่า ในกรณีของผมเมื่อกลับถึงเมืองไทยได้สอง-สามวันสายการบินก็โอนเงินเข้าบัญชีให้ 200 กว่าบาท

ฟ้าสว่างจ้าแล้วตอนที่เดินออกไปนอกสถานีรถไฟ เลือกเดินไปเจรจากับลุงถีบสามล้อคนหนึ่งเพราะดูแล้วลุงอายุมาก ไม่น่ามีพิษภัย ลุงเรียกราคา 100 รูปี หรือราว 50 บาท สำหรับการปั่นประมาณ 3 กิโลเมตร ผมต่อเหลือ 60 รูปี เพื่อนของลุงดึงกลับไปที่ 80 รูปี ผมตอบตกลง เมื่อถึงปากซอยเข้าถนนบังกาลีโตลาอันเล็กแคบลุงก็จอด ผมยื่นให้ 100 รูปี บอกว่าไม่ต้องทอน ลุงเอาธนบัตรไปเจิมที่หน้าผาก แล้วเอียงคอขอบใจ

เวลาเช้าๆ อย่างนี้พวกต้มตุ๋นยังไม่ตื่นมาประกอบกิจ ผมจึงเดินไปยัง Baba Guesthouse อย่างสบายใจ เข้าพักในห้องรวม 4 เตียง คืนละ300 รูปี เพราะเงินเหลือน้อยและไม่อยากกดจากตู้เอทีเอ็มอีกแล้ว ในห้องมีชายชาวอเมริกันพักอยู่ 1 คน รูปร่างอ้วนเผละและตัวเหม็นสาบ มีเวลาท่องเที่ยวถึง 4 เดือนเต็ม พอทราบว่าผมเพิ่งมาจากเนปาลก็ให้ผมเล่าเสียยาวยืด แต่เขาแค่เอาข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจว่าจะเดินทางด้วยวิธีใดที่ถูกและดี

ระหว่างนั่งสามล้อถีบมาจากสถานีรถไฟ ผมได้ถ่ายรูปข้อความโฆษณาของบริษัท Sarat Travel ที่ติดอยู่หลังตุ๊กตุ๊กคันหนึ่ง เขียนว่า “แท็กซี่ไปสนามบิน 600 รูปี” พร้อมเบอร์โทร ถูกกว่าราคาทั่วไปประมาณ 100 - 200 รูปี ตอนเย็นผมก็โทรจองได้สำเร็จ ทางบริษัทส่งข้อความมาบอกยี่ห้อและหมายเลขทะเบียนรถ พร้อมชื่อคนขับ “รามู”

กลับมาพาราณสีรอบนี้ สภาพอากาศแย่ลงไปมาก ฝุ่นควันหนาแน่นเป็นหมอกสีหม่นคลุมเมือง และด้วยร่างกายที่อ่อนเพลีย ผมก็รับมันไว้เต็มจมูกเลยลงไปถึงลำคอ เริ่มไอและต้องลุกไปขากเสมหะในห้องน้ำเกือบทั้งคืน อาการทรุดลงต่อเนื่องจนกลับมาป่วยอย่างสมบูรณ์แบบที่เมืองไทยอยู่ 3 วัน ส่วนเสมหะในคอต้องใช้เวลาเกือบ 2 สัปดาห์กว่าจะหายไปหมดสิ้น

สายวันรุ่งขึ้น ผมเช็กเอาต์เดินแบกกระเป๋าออกไปตามนัดที่หน้าวิทยาลัยบังกาลีโตลา โชเฟอร์แท็กซี่เข้ามารุมถามว่าจะไปไหน ผมตอบ “รามู” พวกเขาก็รู้ว่าคนขับชื่อรามูจอดรอผมอยู่ไม่ไกลกัน ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ใช้เวลา 45 นาทีถึงสนามบิน ผมให้ทิปรามู 50 รูปี เขาขอบคุณเป็นการใหญ่

ขณะเช็กอิน เจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์สายการบินแอร์อินเดียเสนอว่าหากจ่ายเพิ่มอีก 6,000 รูปี ถ้าได้ยินไม่ผิดเขาบอกว่าเป็นครึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมชั้นธุรกิจ เขาก็จะอัพเกรดให้ผมได้นั่งชั้นธุรกิจ ข้อเสนอนี้มอบแด่ผู้โดยสารชาวต่างชาติเท่านั้น ผมขอบคุณและตอบเขาว่าไม่จำเป็น เพราะเดินทางแค่ชั่วโมงเดียว เขาออกบอร์ดดิงพาสชั้นประหยัดให้ผมแต่ก็ไม่ละความพยายาม “แม้จะออกบอร์ดดิงพาสไปแล้วแต่ข้อเสนอยังอยู่นะนายจ๋า กลับมาเปลี่ยนเมื่อไหร่ก็ได้”

ผ่านระบบตรวจความปลอดภัยที่ดูเข้มงวดไปได้ ผมวางกระเป๋าใบใหญ่บนเก้าอี้นั่งรอขึ้นเครื่องแล้วเดินไปเข้าห้องน้ำ ชายคนหนึ่ง คงจะเป็นพนักงานแผนกหนึ่งแผนกใดของสนามบินแต่ไม่ใช่แผนกทำความสะอาด เดินตามเข้ามาเปิดก๊อกน้ำรอขณะผมยืนปัสสาวะ ผายมือเชื้อเชิญให้เข้าไปล้างมือในก๊อกของเขา ผมก็ทำตามอย่างว่าง่าย ตอนผมล้างมือเขาก็เดินไปดึงกระดาษทิชชู่ออกมาจากที่วาง ผมก็เดินไปหยิบมาเช็ดมือเหมือนต้องมนต์ แล้วล้วงเจอแบงก์ 20 รูปียื่นให้เพื่อแลกกับบริการประทับใจ

ขอเพียงมีไหวพริบและรู้จักพลิกแพลง คุณก็จะหาอาชีพเสริมได้เสมอในอินเดีย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"