มหัศจรรย์...แสงแรกตะวันรุ่ง “amazing ไทยเท่"ปราสาทพนมรุ้ง


เพิ่มเพื่อน    

 งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน ถือเป็นงานที่มีความมหัศจรรย์ หาชมได้ยาก เป็นการอนุรักษ์ประเพณีอันงดงามและทรงคุณค่า อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างๆ ในเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นเมืองสองยุคให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

นายชัยวัฒน์ ตามไท ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานบุรีรัมย์ กล่าวว่า    ททท. สำนักงานบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ และอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทุกท่านร่วมค้นพบความอัศจรรย์แห่งมหาเทวาลัย ซึ่งตั้งตระหง่านบนภูเขาไฟพนมรุ้ง ภายในงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ระหว่างในวันที่ 5-7 เมษายน 2562 ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ที่จะสร้างความเป็นสิริมงคล และประสบการณ์สุดประทับใจในการท่องเที่ยวเมืองภูเขาไฟจังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้แนวคิด "amazing  ไทยเท่" 

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวจะได้พบปรากฏการณ์แสงพระอาทิตย์ส่องลอด 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง ประจำปี 2562 โดยปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้นเกิดขึ้นวันที่ 3-4-5 เมษายน และวันที่ 8-9-10 กันยายน  ส่วนพระอาทิตย์ตก เกิดไปแล้วเมื่อวันที่ 5-6-7 มีนาคมที่ผ่านมา และจะกลับมาอีกครั้งในช่วงวันที่ 5-6-7 ตุลาคมนี้

ภายในงานมีการแสดงแสง สี เสียง “มหัศจรรย์พนมรุ้ง” พิธีบวงสรวงพนมรุ้ง การสาธิตวาดภาพปราสาทพนมรุ้ง การประกวดรำอัปสรา ตลาดนัดโบราณ และสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ฯลฯ

“ปราสาทพนมรุ้ง เป็นเทวสถานอันงดงามในศิลปกรรมขอมที่ปรากฏสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ อันเป็นการผสมผสานภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรม ผ่านการก่อสร้างปราสาทให้แสงของดวงอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตู ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนไม่น้อยเฝ้ารอชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่หาชมได้ยาก ใน 1 ปี จะมีให้ชมเพียง 4 ครั้งเท่านั้น จึงถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรพลาด และควรมาชมให้ได้สักครั้งในชีวิต” ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานบุรีรัมย์  กล่าว

นอกจากชมความมหัศจรรย์ของพระอาทิตย์ขึ้นตรงกัน 15 ประตูดังกล่าวแล้ว นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสอารยธรรมเขมรโบราณผ่านอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โดยเฉพาะปราสาทเขาพนมรุ้ง หรือปราสาทหินทรายสีชมพู เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว และเป็นเครื่องสะท้อนภูมิปัญญาในการสร้างปราสาทหินที่สอดคล้องกับระบบสุริยะ

 ใกล้ๆ กันยังมี "ปราสาทเมืองต่ำ" อยู่ที่อำเภอประโคนชัย เป็นศาสนสถานศิลปะขอมแบบบาปวน ที่มีอายุมากกว่า 1,400 ปี เป็นปราสาทหินในอารยธรรมขอมที่มีขนาดใหญ่และมีความสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคอีสาน และเป็นสถานที่ถ่ายทำละครดังหลายเรื่อง

 ยังมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่เป็นไฮไลต์สำคัญคือ “วนอุทยานเขากระโดง” อยู่ห่างจากอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ถือเป็นภูเขาไฟ 1 ใน 6 ลูกในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่มอดดับสนิทมาแล้วนับแสนปี ประกอบด้วย ภูเขาไฟพนมรุ้ง, ภูเขาไฟอังคาร, ภูเขาไฟคอก, ภูเขาไฟหลุบ, ภูเขาไฟไปรบัด และภูเขาไฟกระโดง ซึ่งยังมีปากปล่องที่มองเห็นได้ชัดเจน บริเวณวนอุทยานภูเขาไฟกระโดง

บริเวณนั้นยังมีสิ่งน่าสนใจคือสะพานพิสูจน์ศรัทธาสาธุชน และพระสุภัทรบพิตรพระพุทธรูปคู่เมืองบุรีรัมย์ ภายในเศียรบรรจุพระธาตุ จากจุดที่ตั้งขององค์พระ สามารถมองเห็นทัศนียภาพของตัวเมืองบุรีรัมย์ได้ ช่วงวันหยุดจะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเที่ยวหลายพันคน

ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานบุรีรัมย์ กล่าวต่อว่า  เมืองบุรีรัมย์ยังมีเรื่องราวของแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่น่าสนใจ อาทิ "ผ้าภูอัคนี" ที่บ้านเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณภูเขาไฟเขาอังคาร ในผืนดินจึงอุดมไปด้วยแร่ธาตุลาวาจากภูเขาไฟที่เคยปะทุออกมาในอดีต ทำให้การเพาะปลูกในบริเวณนี้งอกงามแล้ว ชาวบ้านในชุมชนยังคิดค้นวิธีการนำดินภูเขาไฟซึ่งเป็นวัตถุดิบหาได้ง่ายๆ ใกล้ๆ บ้านมาประยุกต์ใช้ในการย้อมผ้าจนเกิดเป็นผืนผ้าที่มีโทนสีของเขาพนมรุ้ง ซึ่งมีความสวยงาม และมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน จนหมู่บ้านเจริญสุขได้รับรางวัลหมู่บ้าน OVC (OTOP Village Champion) ประเภทหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ด้วยการสะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นผ่านผืนผ้า "ภูอัคนี" กลายเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาอันน่าภาคภูมิใจ

  ยังมี "บ้านสนวนนอก" เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นชุมชนโบราณที่ดำรงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ใช้ภาษาพื้นถิ่นเขมรและสืบสานการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ้าไหมลายดั้งเดิมที่ตกทอดกันมาแต่โบราณคือ ผ้าไหมหางกระรอก ซึ่งถือเป็นลายเอกลักษณ์ของผ้าไหมบ้านสนวนนอก

ในหมู่บ้านนี้ นักท่องเที่ยวจะได้ชมและร่วมกิจกรรมโดยมีมัคคุเทศก์ของหมู่บ้านพาชมกระบวนการต่างๆ ที่กว่าจะมาเป็นผ้าไหมหางกระรอกได้ นับตั้งแต่ปลูกชำต้นหม่อน การเก็บใบหม่อน การเลี้ยงไหม ให้อาหารตัวไหม สาวไหมจากดักแด้ ฟอกกาวไหมออกจากเส้นไหม การเตรียมเส้นไหมเพื่อมัดหมี่ การย้อมสีธรรมชาติ เรียนรู้การมัดหมี่ การทอผ้าไหม กระทั่งถึงการสร้างสรรค์ลวดลายต่างๆ บนผืนผ้าไหม รวมทั้งมีเมนูอาหารพื้นบ้าน รสแซ่บ เช่น แกงกล้วย บวดบุก ส้มตำดักแด้ ขนมจีนน้ำยา ชาใบหม่อนเครื่องดื่มสูตรรสเลิศเฉพาะของบ้านสนวนนอก หากสนใจพักค้างคืนในหมู่บ้าน ก็มีที่พักให้เลือกทั้งแบบรีสอร์ตทันสมัยและแบบโฮมสเตย์แบบเรียบง่ายได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวสนวนนอก

  ถัดมาคือ "บ้านโคกเมือง" อยู่ที่อำเภอประโคนชัย แหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมที่สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมผ่านงานศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ของชุมชน อาทิ ผ้าไหมทอลายผักกูด หัตถกรรมชั้นดีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ และเป็นเอกลักษณ์ของบ้านโคกเมือง, เสื่อกกยกลายที่มีลวดลายสวยงามไม่แพ้ใครจากฝีมือการทอของกลุ่มคนพิการ พร้อมกับมีบริการโฮมสเตย์ที่รับประกันว่าอบอุ่นดุจญาติมิตร

ต่อมาคือ ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านนาโพธิ์ "ผ้าซิ่นตีนแดง" อำเภอพุทไธสง ผ้าไหมมัดหมี่ของที่นี่ถือเป็นผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อที่ได้รับการกล่าวขาน โดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ตีนแดง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ผ้าซิ่นตีนแดง" หรือ "ซิ่นหมี่รวด" ถือเป็นผ้าเอกลักษณ์พื้นถิ่นของชาวนาโพธิ์ โดยหัวซิ่นและตีนซิ่นจะย้อมเป็นสีแดง ตรงกลางดำ มัดหมี่เหลือง แดง ขาว ปนสีเขียวบ้าง และการมัดหมี่ซิ่นตีนแดงนี้ถือว่ามีความซับซ้อนยุ่งยากกว่าการทำมัดหมี่ชนิดอื่น จึงไม่ค่อยมีคนทำ

ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานบุรีรัมย์ กล่าวว่า มาเมืองปราสาทสองยุคนี้ ต้องไม่พลาดสิ่งมหัศจรรย์ยุคใหม่ คือ  "สนามช้างอารีนา" ซึ่งเป็นสนามฟุตบอลของทีมลูกหนังชื่อดัง "บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด" หรือทีมปราสาทสายฟ้า ด้วยการก่อสร้างและออกแบบการันตีมาตรฐานฟีฟ่าระดับสากล มีความสวยงามและทันสมัยที่สุดในเมืองไทย นอกจากมาชมการแข่งขันฟุตบอลแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทุกคนที่เดินทางมาต้องมาชมและถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก

ถัดมาคือสนามแข่งรถ "Chang international Circuit" สนามมอเตอร์สปอร์ตมาตรฐานโลก สร้างอยู่บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ มีระยะห่างต่อรอบยาวกว่า 4 กิโลเมตร จำนวน 12 โค้ง และเป็นสนามเดียวในประเทศไทยที่ได้การรับรองมาตรฐานระดับโลก เป็นสนามเดียวในโลกที่ผู้ชมบนแกรนด์สแตนด์สามารถเห็นภาพการแข่งขันได้ทุกโค้งสนาม นักท่องเที่ยวต่างๆ นิยมมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกอีกเช่นกัน

"นี่คือจุดเด่นของเมืองบุรีรัมย์ ที่ครบถ้วนไปด้วย กิจกรรมประเพณี วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมชุมชนที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวยุคเก่าและยุคใหม่ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว ที่ทุกคนต้องไปเยือนให้ได้" ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานบุรีรัมย์ กล่าวเชิญชวนปิดท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานบุรีรัมย์ โทร. 0-4463-4722-3 เฟซบุ๊ก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานบุรีรัมย์ และอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทร. 0-4466-6251-2

สรณะ รายงาน

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"