กม.ร่วมทุนใหม่ วงเงิน5พันล้าน มีสิทธิเช่าล่อใจ


เพิ่มเพื่อน    


    กฎหมายร่วมทุนรัฐ-เอกชนฉบับลุงตู่ประกาศใช้แทนฉบับหนูไม่รู้แล้ว เพิ่มวงเงินก้าวกระโดดจากพันล้านเป็น 5,000 ล้านบาทถึงเข้าเกณฑ์  แต่คลอดเกณฑ์ยิบสารพัดโปรเจ็กต์ตั้งแต่ถนนจนถึงโรงพยาบาล พร้อมให้สิทธิจูงใจเอกชน โดยเฉพาะเรื่องเช่าอสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 50 ปี
    เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ที่ประกาศแล้วในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 29 ก โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ ซึ่งกฎหมายนี้มีทั้งสิ้น 70 มาตรา ที่จะมาแทนที่ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ที่มี 72 มาตรา ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2556 ในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
    สำหรับกฎหมายร่วมทุนฯ ฉบับนี้มีทั้งสิ้น 8  หมวด และบทเฉพาะกาล โดยหมวด 1 บททั่วไป ตั้งแต่มาตรา 6 ถึงมาตรา 11, หมวด 2 แผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน มาตรา 12, หมวด 3 คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน มาตรา 13 ถึงมาตรา 21, หมวด 4 การจัดทำและดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นส่วนที่ 1 การเสนอโครงการ มาตรา 22 ถึงมาตรา 31 ส่วนที่ 2 การคัดเลือกเอกชน มาตรา 32 ถึงมาตรา 42 ส่วนที่ 3 การกำกับดูแลโครงการร่วมลงทุน มาตรา 43 ถึงมาตรา 45 และส่วนที่ 4 การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนและการทำสัญญาใหม่ มาตรา 46 ถึงมาตรา 49, หมวด 5 การใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สาธารณะ มาตรา 50, หมวด 6 กองทุนส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน มาตรา 51 ถึงมาตรา 59, หมวด 7 บทเบ็ดเตล็ด ตั้งแต่มาตรา 60 ถึงมาตรา 62 และหมวด 8 บทกำหนดโทษ มาตรา 63 ส่วนบทเฉพาะกาลตั้งแต่มาตรา 64 ถึงมาตรา 70
    ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ระบุว่า โดยที่ พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 มีบทบัญญัติในเรื่องของขอบเขตของโครงการที่ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐอย่างกว้างขวาง อันส่งผลให้มีโครงการร่วมลงทุนที่ไม่ได้อยู่ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นภารกิจของรัฐที่ต้องจัดทำเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่รัฐประสงค์จะสนับสนุนให้เอกชนร่วมลงทุนต้องเข้ามาสู่กระบวนการตามกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้ กฎหมายยังไม่มีการสะท้อนถึงความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชนที่ร่วมลงทุนในโครงการของรัฐที่ชัดเจน ประกอบกับยังขาดมาตรการในการแก้ไขปัญหาระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ส่งผลให้การดำเนินโครงการล่าช้าและเอกชนไม่ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เพื่อให้มีการกำหนดนโยบายของรัฐที่ชัดเจน และแน่นอนในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ โดยมุ่งเน้นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน กำหนดกลไกในการแก้ไขปัญหา อุปสรรคหรือความล่าช้าในการจัดทำหรือดำเนินโครงการร่วมลงทุน และมีมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง โดยมุ่งเน้นการใช้ความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมของเอกชน รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวไปยังหน่วยงานและบุคลากรของภาครัฐ ในขณะเดียวกันหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนยังคงกระชับ โปร่งใส และตรวจสอบได้ 
    สำหรับเนื้อหาที่น่าสนใจ เริ่มตั้งแต่มาตรา 7 ที่ระบุว่าหน่วยงานเจ้าของโครงการที่จะจัดทำโครงการร่วมลงทุนในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะดังต่อไปนี้ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ คือ 1.ถนน ทางหลวง ทางพิเศษ การขนส่งทางถนน 2.รถไฟ รถไฟฟ้า การขนส่งทางราง 3.ท่าอากาศยาน การขนส่งทางอากาศ 4. ท่าเรือ การขนส่งทางน้ำ 5.การจัดการน้ำ การชลประทาน การประปา การบำบัดน้ำเสีย 6.การพลังงาน 7.การโทรคมนาคม การสื่อสาร 8.โรงพยาบาล การสาธารณสุข 9.โรงเรียน การศึกษา 10.ที่อยู่อาศัยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลาง ผู้สูงวัย ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้พิการ 11.ศูนย์นิทรรศการและศูนย์การประชุม 12.กิจการอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
    มาตรา 8 โครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือมูลค่าที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยกฎกระทรวง ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.นี้ ซึ่งในกฎหมายเดิมกำหนดมูลค่าเพียง 1,000 ล้านบาท ในขณะที่มาตรา 13 การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งจะมีนายกฯ เป็นประธานกรรมการ, รมว.การคลัง เป็นรองประธาน , ปลัดกระทรวงการคลัง, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา,  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการ, คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, อัยการสูงสุด, ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง ครม.แต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 5 คน เป็นกรรมการ ซึ่งกฎหมายเดิมจะมีกรรมการคุณวุฒิจำนวน 7 คน 
    ที่น่าสนใจคือ ในส่วนของมาตรการเสนอโครงการ ตั้งแต่มาตรา 22 ที่ระบุว่า ในการเสนอโครงการต้องประกอบด้วย 1.ความเป็นมาของโครงการ 2.สาระสำคัญของโครงการ 3.ความพร้อมในการจัดทำและดำเนินโครงการที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อความสำเร็จ 4.ความเป็นไปได้ของโครงการในด้านเทคนิค ด้านเทคโนโลยี ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านกฎหมาย ด้านการเงิน หรือด้านเศรษฐศาสตร์ 5.ความเสี่ยงของโครงการ 6.ทางเลือกและรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 7.ความพร้อมของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและดำเนินโครงการ และ 8.ผลการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
ส่วนมาตรา 23 ระบุอีกว่า กรณีหน่วยงานเจ้าของโครงการเห็นว่าจำเป็นต้องกำหนดมาตรการสนับสนุนเพื่อให้โครงการร่วมลงทุนบรรลุวัตถุประสงค์ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการระบุรายละเอียดพร้อมทั้งเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งมาตรการสนับสนุนมีทั้ง 1.สิทธิและประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน 2.สิทธิการเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในโครงการร่วมลงทุนที่มีระยะเวลาการเช่าไม่เกิน 50 ปี โดยมิให้นำความในมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ 3.มาตรการสนับสนุนทางการเงินและไม่ใช่ทางการเงินอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนนั้น
    วันเดียวกัน น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวถึงโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่ม หลังเงินในกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ที่มีจะใช้หมดภายในเดือน มี.ค.ว่า ภายในเดือน มี.ค.นี้ สำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีกกว่า 3 หมื่นล้านบาทเข้าในกองทุนฯ ซึ่งจะทำให้มีงบใช้ได้จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2562 หรือเดือน ก.ย.2562 เพียงพอดูแลผู้ถือบัตรทั้ง 14.5 ล้านคน
    “การจัดสรรงบครั้งนี้ส่งผลให้ตั้งแต่เริ่มโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมีการตั้งกองทุนประชารัฐฯ ตลอดเวลา 2 ปีได้ใช้เงินไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาทในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น 14.5 ล้านคน และในจำนวนนี้ก็มีหลายล้านคนที่พ้นเส้นความยากจน นอกจากนี้ในปีงบประมาณหน้า กรมยังได้เสนอขอจัดทำงบประมาณปี 2563 วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในอนาคตอีกด้วย” น.ส.สุทธิรัตน์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"