สทนช.จัดงาน“วันน้ำโลก” 22 มีนา 62 จับมือทุกหน่วยงานเดินหน้าสร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ


เพิ่มเพื่อน    

“น้ำ” เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะสำหรับมนุษย์ที่ไม่เพียงแต่ต้องอาศัยสำหรับการอุปโภคบริโภคเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีความจำเป็นต้องนำไปใช้ในภาคการเกษตรและ อุตสาหกรรมซึ่งเป็นฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ทำให้เกิดความต้องการใช้น้ำมากขึ้นในทุกภาคส่วน ประกอบกับปัญหาภาวะ “โลกร้อน” ที่ส่งผลกระทบต่อวัฏจักรของน้ำบนโลก เช่น ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง พายุฝน และน้ำท่วมหนัก ซึ่งล้วนเป็นตัวการก่อให้เกิดวิกฤติความมั่นคงด้านน้ำ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดและน้ำดื่มของประชากรทั่วโลก

 

ด้วยเหตุดังกล่าว ในปี 2535 องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงประกาศให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันน้ำโลก” หรือ “World Day for Water” เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเกิดความตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ บำรุงรักษา รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งแต่ละปีทุกประเทศทั่วโลกจะร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

 

 

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้ สทนช. เป็นเจ้าภาพหลักจัดกิจกรรม “วันน้ำโลกและสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” ในวันที่ 22 มีนาคม 2562  ระหว่างเวลา 9.30- 15.00 น. ณ ห้องเวสต์เกตฮอลล์ ชั้น 4 ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลพลาซ่า เวสต์เกต จ.นนทบุรี ซึ่งในปีนี้องค์การสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์ในระดับโลก คือ Leaving no one behind” ขณะที่ประเทศไทยได้กำหนดแนวคิดเพิ่มเติมในการรณรงค์ระดับประเทศคือ “ทั่วถึง..เท่าเทียม.. เพียงพอ

 

โดยภายในงานดังกล่าว สทนช. ได้เชิญหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสถาบันการศึกษา รวมถึงหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติดูแลเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำต้นทุน การผลิตและการกระจายน้ำ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องรวม 18  หน่วยงานมาร่วมจัดนิทรรศการเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยเฉพาะแผนแม่บทด้านที่ 1 ที่เป็นเรื่องการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งประกอบไปด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ผลงานที่ผ่านมา แผนการดำเนินงานในอนาคต ตลอดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่หน่วยงานนำมาใช้ในการดำเนินงานให้สำเร็จวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย รวมทั้งมีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ความท้าทายของการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภค  มีหน่วยงานร่วมเสวนา 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมอนามัย ในประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการความท้าทายของการจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเขตเมืองและพื้นที่ห่างไกล การพัฒนาคุณภาพน้ำประปาให้ได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสมโดยเฉพาะประปาหมู่บ้าน การขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จภายใต้แผนแม่บทการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

 

เลขาธิการ สทนช.  กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นสำคัญที่ สทนช. เตรียมนำเสนอให้ประชาชนได้รับทราบในการจัดกิจกรรมวันน้ำโลก คือ ภาพรวมและผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (2558-2569) ที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนาเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561-2580) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จำนวน 6  ด้าน โดยมีเป้าประสงค์ ดังต่อไปนี้

1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ประชาชนทั้งในเมืองและชนบท มีน้ำอุปโภคและน้ำดื่มเพียงพอ ได้มาตรฐานสากลในราคาที่เหมาะสม มีการประหยัดน้ำทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน

2.การสร้างความมั่นคงด้านน้ำสำหรับภาคการผลิต สามารถจัดหาน้ำเพื่อการผลิต (เกษตร อุตสาหกรรม) ได้อย่างสมดุลระหว่างศักยภาพกับความต้องการ มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด ผลิตภาพสูงขึ้น รวมทั้ง สามารถจัดหาน้ำบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝนให้เพียงพอต่อการดำรงชีพและการทำการเกษตรในฤดูฝน เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ

3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย มีระบบป้องกันน้ำท่วมและอุทกภัยที่มีประสิทธิภาพ ทั้งโครงสร้างและการบริหารจัดการมีผังการระบายน้ำทุกระดับ การบริหารพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ชะลอน้ำ

4.การจัดการคุณภาพน้ำ และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน ชุมชนขนาดใหญ่ มีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อม มีการจัดการโดยการป้องกันและลดน้ำเสียที่ต้นทาง

5. การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของดิน ป่าต้นน้ำได้รับการฟื้นฟู สามารถชะลอการไหลบ่าของน้ำ มีการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ลาดชัน

6.การบริหารจัดการ มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีธรรมาภิบาล ทันสมัย มีกฎหมาย ระเบียบ เกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ มีโครงสร้างองค์กรเหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำทุกระดับ สามารถบริหารจัดการตามแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บท แผนปฏิบัติการ ระบบ และกลไกการจัดสรรน้ำ รวมทั้ง มีระบบฐานข้อมูล ทรัพยากรมนุษย์ และงานวิจัยเพียงพอในการตัดสินใจและบริหารจัดการ

 

การดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้ง 6 ด้านนั้น ต้องดำเนินการควบคู่กันไปในทุกด้าน โดยมีการดำเนินงานในแผนแม่บทด้านที่ 1 คือ การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นด้านที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด มีแนวทางการดำเนินการ 4 ประการ คือ 1.ต้องการให้ทุกครัวเรือนเข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภค โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2562 หมู่บ้านในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ 7,490 หมู่บ้าน จะมีน้ำกินน้ำครบทุกหมู่บ้าน  รวมทั้งปรับปรุงระบบประปาเดิมที่ชำรุดเพื่อให้ใช้งานได้ 2.มุ่งพัฒนาระบบประปาหมู่บ้านให้ได้มาตรฐาน โดยมุ่งยกระดับให้ถึงเกณฑ์การตรวจวัดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573  (SDGs) 3. พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพประปาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ 404 เมือง 4.2 ล้านครัวเรือน  รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ขาดแคลนแหล่งน้ำต้นทุน และ 4. การประหยัดน้ำทุกภาคส่วน โดยส่งเสริมการลดการใช้น้ำในทุกภาคส่วน รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภค เช่น การแก้ปัญหาความสูญเสียน้ำของระบบท่อ ซึ่งปัจจุบันนี้ ข้อจำกัดของการส่งน้ำด้วยระบบท่อของประเทศไทย ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำระหว่างทางไปไม่น้อยกว่า 30%  สทนช.จึงได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะลดความสูญเสียของน้ำจากระบบท่อให้เหลือเพียง 20% ให้ได้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถลดการหาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อทดแทนปริมาณน้ำที่สูญเสียด้วย”

 

เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้ คือ ภาพรวมการขับเคลื่อนงานด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ในแผนแม่บทด้านที่ 1  โดยมี สทนช. เป็นหน่วยงานกลางที่จะกำกับดูและขับเคลื่อนการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบายไปถึงระดับปฏิบัติ ซึ่งปัจจุบันมีถึงกว่า 40 หน่วยงาน ในการบูรณาการภารกิจในทุกด้านเพื่อสร้างความมั่นด้านน้ำให้กับประเทศ ทั้งนี้ การจัดงานวันน้ำโลกฯ ในวันที่ 22 มีนาคม 2562 นอกจากจะมีการนำเสนอผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบนิทรรศการแล้ว ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น  กิจกรรมเล่าเรื่อง “สายน้ำแห่งชีวิต”สร้างจิตสำนึกให้ทุกคนตระหนักเห็นคุณค่าของน้ำ ผ่านเพลงฉ่อย มรดกภูมิปัญญาไทย ที่ถ่ายทอดโดยศิลปินชั้นครู กิจกรรมบทเพลงสีสันสายน้ำนำเสนอบทเพลงที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทย  และกิจกรรมค่ายตามรอยสายน้ำ ตามหาน้ำสะอาด เป็นต้น โอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมชมงานในวันและเวลาดังกล่าว เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ  ตลอดจนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"