ปรับตัวในยุคดิสรัปชั่น


เพิ่มเพื่อน    


    คำว่าดิสรัปชั่นคงเป็นที่คุ้นหูของคนไทยกันมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว เพราะตอนนี้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากการที่ดิจิตอลได้เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย ความเป็นอยู่ และไลฟ์สไตล์ รวมถึงชีวิตของความเป็นเมืองไม่ได้ถูกจำกัดเพียงเฉพาะที่อีกต่อไป แต่ยังได้กระจายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ทำให้มีผลต่อวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะในวงการค้าปลีกที่ถูกพูดถึงกันมาหลายปี ว่าจะอยู่ยากกว่าในอดีต หากไม่มีการปรับตัว และอาจล้มหายตายจากไปได้
    แต่กระนั้นก็ยังคงเห็นผู้ประกอบการค้าปลีกหลายรายยังคงเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง ดูเหมือนแตกต่างจากความคิดใครหลายคนว่าตอนนี้ใครๆ ก็หันมาช็อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้พัฒนาโครงการศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า จะต้องวางหมากอย่างไรในยามนี้
    อย่างในส่วนแผนของกลุ่มเดอะมอลล์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ได้เตรียมเงินลงทุนไว้กว่า 8 หมื่น-1 แสนล้านบาทในการลงทุนหลายโครงการ แต่ในขณะเดียวกันจากความท้าทายในวงการค้าปลีกในขณะนี้ก็ทำให้เดอะมอลล์ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ในรอบ 38 ปีเช่นกัน เพราะการเข้ามาของอีคอมเมิร์ซหรือค้าปลีกออนไลน์ มีผลต่อธุรกิจค้าปลีกหลายรายต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์กันมากขึ้น และต้องมีความเข้าใจในพฤติกรรมของลูกค้าที่ซับซ้อนขึ้น การวางกลยุทธ์การตลาดจึงจำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ต้องมีบิ๊กดาต้าที่ถูกต้องและแม่นยำ
    พอมีข้อมูลขนาดใหญ่แล้วก็ต้องสื่อสารกับลูกค้าผ่านทุกช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เดอะมอลล์จึงมีการปรับกลยุทธ์โดยการนำการค้าการขายแบบออฟไลน์มาหลอมรวมให้เป็นเนื้อเดียวกับการค้าการขายแบบออนไลน์ในรูปแบบที่ไร้รอยต่อ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นด้านความสะดวกสบายในการจับจ่ายสินค้า และมีสินค้าจริงให้ได้สัมผัส ทดลอง ตอบโจทย์ทุกความต้องการและทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้านั่นเอง
    ตอนนี้เดอะมอลล์ก็อยู่ในช่วงการปรับปรุงสาขาหลายแห่ง ยกตัวอย่างเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ที่จะพลิกโฉมใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการคนในพื้นที่มากขึ้น มีพื้นที่ขายมากขึ้น หรือสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอื่นที่ได้จากการสำรวจความต้องการ เรียกว่าเดอะมอลล์แต่ละแห่งจะสร้างมาเพื่อคนในพื้นที่นั้นๆ มากขึ้น ส่วนเรื่องของการบริหารก็มีทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง เรียกได้ว่าปรับกระบวนยุทธ์ทั้งในส่วนของงานดิจิตอล และทัพใหม่ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันเป้าหมายแสนล้านในอนาคต!
    ด้านสยามพิวรรธน์ก็มีแผนงานในช่วง 5 ปีจากนี้เช่นกัน งบประมาณที่วางๆ ไว้ก็สัก 7 หมื่นล้านบาทในการลงทุน แน่นอนว่ามีโครงการใหม่เข้ามาก็ย่อมมาสร้างรายได้ให้มากขึ้น เป้าหมายคือ 1-1.5 เท่าตัวในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเติบโตมาจากส่วนไหนบ้างมาลงรายละเอียดกันสักหน่อย
    โครงการใหม่ๆ จะมีขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ศูนย์การค้า แต่หากยังครอบคลุมไปถึงการมีที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอื่นๆ เข้ามารวมไว้ด้วยกัน ทำให้เกิดความเป็นเมืองขึ้นในโครงการ ถามว่าแล้วจะใหญ่ขนาดไหน....  ที่ดินอย่างน้อยก็ต้อง 50 ไร่ขึ้นไป แต่ที่เจรจาอยู่ตอนนี้เล็กสุดก็ประมาณ 100 ไร่! รวมถึงสนใจธุรกิจใหม่ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจของสยามพิวรรธน์ เช่น การซื้ออาคารสำนักงาน โลจิสติกส์ รวมไปถึงธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ 
    นี่ยังไม่รวมถึงการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ที่จะเริ่มจริงจังแล้วในปีนี้ มีทั้งไปร่วมลงทุนกับพาร์ตเนอร์ และรับเป็นที่ปรึกษาหรือบริหาร ซึ่งที่ผ่านมาก็เนื้อหอมไม่เบา มีหลายประเทศมาจีบให้เข้าไปเปิดศูนย์การค้าอยู่หลายแห่ง ส่วนเรื่องของเทคโนโลยีเพื่อให้ตอบรับกับยุคนี้ก็จัดหนักไม่แพ้กัน โดยจะเปิดตัวระบบสารสนเทศทางการตลาดที่ได้พัฒนามานานกว่า 5 ปีด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท ใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่จาก 4 ศูนย์การค้าที่เป็นเจ้าของ มาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อให้ตอบรับความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
    คงจะมีโครงการขนาดใหญ่ของทั้งสองค่ายให้เห็นกันอีกอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ากระแสของดิจิตอลจะทำให้หลายธุรกิจต้องปรับบทบาทของตัวเอง แต่การจะอยู่ในยุคดิสรัปชั่นให้เข้มแข็งได้นั้น ต้องปรับตัวให้ทันต่อเกมเทคโนโลยีจริงๆ วันนี้เป็นแบบนี้ ไม่นานก็จะมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาอีก หลายคนบอกว่าค้าปลีกเมืองไทยไม่เหมือนกับประเทศอื่น ยังไงศูนย์การค้าจะยังเป็นที่ต้องการ เพียงแต่ต้องปรับสูตรให้เข้ากับสถานการณ์ ต้องอยู่ในยุคดิสรัปชั่นแบบไม่ให้ตัวเองถูกดิสรัปชั่น!.

รุ่งนภา สารพิน 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"