จี้เลขากกอ.เร่งขับเคลื่อนมหา'ลัยปรับตัว4ด้าน "หมออุดม"เผยเป็นทิศทางในอนาคต มิติใหม่เปิดทางนศ.เรียนข้ามสถาบันได้


เพิ่มเพื่อน    

18มี.ค.62-หมออุดม มอบ เลขาฯ กกอ.คนใหม่ เร่งขับเคลื่อนการปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษา 4 ด้าน เปิดหลักสูตรระยะสั้นมากขึ้น ให้นักศึกษาเรียนหลักสูตรข้ามมหาวิทยาลัยได้ เปิดการเรียนออนไลน์มากขึ้นและดูแลอาจารย์ที่ทำงานวิจัยกับภาคเอกชน ชี้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาของประเทศ  

 

นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้มอบนโยบายการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้แก่รักษาเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) คนใหม่ ให้เร่งดำเนินงานใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนแบบแยกส่วน คือ มหาวิทยาลัยสามารถบูรณาการการเรียนในรายวิชาต่างๆ ได้ และยังต้องเปิดช่องให้มีจัดการอบรมหลักสูตรระยะสั้นเพิ่มมากขึ้น 2.การเตรียมการเรื่องเครดิตแบงค์และเทียบหน่วยกิตความรู้ ให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในรายวิชาที่สนใจของมหาวิทยาลัยใดก็ได้ เช่น เลือกเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเงินของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งหากทำได้จะเป็นการเปิดโอกาสให้มีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย และจะทำให้ผู้ที่มีความสนใจเข้ามาศึกษาต่อเพื่อพัฒนาตนเอง มีโอกาสในการเลือก และเมื่อจบการศึกษาก็จะนำแต่ละรายวิชามาวิเคราะห์ว่ามีการเรียนในกลุ่มวิชาใด และเรียนของมหาวิทยาลัยไหนมากที่สุด ก็จะได้ชื่อปริญญาในสาขาของมหาวิทยาลัยนั้น

 

นพ.อุดม กล่าวต่อว่า 3.ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนในระบบออนไลน์มากขึ้น และ 4.สกอ.จะต้องไปช่วยดูเรื่องของการประเมินภาระงานการเรียนการสอนของอาจารย์ ที่ไปทำงานร่วมกับภาคเอกชน เช่น โครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เป็นต้น ซึ่ง สกอ. จะต้องมีตีค่างานให้อาจารย์กลุ่มนี้ด้วย ว่า ไปทำหน้าที่ด้านการเรียนการสอนจริง เพราะการที่มีการไปร่วมทำงานกับภาคเอกชน เท่ากับว่าอาจารย์กลุ่มนี้มีภาระงานเพิ่มขึ้น ซึ่ง สกอ.จะต้องไปคิดว่าจะมีการประเมินในเรื่องนี้อย่างไร และหากว่าภาระงานเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ปฏิบัติอยู่เดิมก็อาจจะต้องมีสิ่งกระตุ้นให้กับอาจารย์กลุ่มนี้ด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 เรื่องนี้ เป็นอำนาจของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ซึ่งเลขาฯ กกอ.จะต้องเป็นผู้เสนอ และตนคิดว่าควรจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อนที่จะมีกระทรวงใหม่ ดังนั้นทั้ง สกอ.และ กกอ.เองจะต้องเร่งขับเคลื่อนงานในส่วนนี้เพื่อที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาของประเทศ ไม่ใช่ทำแต่งานประจำ

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการเปิดให้ผู้เรียนสามารถที่จะเรียนในรายวิชาของมหาวิทยาลัยใดก็ได้จะส่งผลกระทบต่อสภาวิชาชีพต่างๆ หรือไม่ นพ.อุดม กล่าวว่า สภาวิชาชีพถือเป็นส่วนที่สำคัญของการจัดการศึกษา แต่ตนคิดว่าสภาวิชาชีพควรที่จะดูคุณภาพมาตรฐานในช่วงปลายน้ำ เพราะตนเชื่อว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องการเตรียมคนที่ดีที่สุด เนื่องจากหากจบการศึกษาแล้วนักศึกษาไม่สามารถผ่านการวัดคุณภาพของสภาวิชาชีพได้ ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นเสียชื่อ ซึ่งตนคิดว่าเราควรที่จะทำความเข้าใจในเรื่องนี้ อีกทั้งหน้าที่สำคัญของมหาวิทยาลัย คือ การสร้างคนให้มีความรู้ความสามารถตามความต้องการของตลาดแรงงาน และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอนาคตข้างหน้า


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"