ปลุกสส.สกัดสว.ตั้งรัฐบาล มาร์คชี้ตกลงให้จบในสภา


เพิ่มเพื่อน    


    เวทีสัญญาประชาคมถกทางออกไม่ให้ซ้ำรอยพฤษภา 35 เพื่อไทยจ้องออก พ.ร.บ.ป้องกันรัฐประหาร หวั่นเสียงข้างน้อยซื้อ ส.ว. "มาร์ค" แนะตกลงกันให้จบภายใน ส.ส. 500 คน ใครรวบรวมเสียงได้เกินครึ่ง ส.ว. 250 ต้องสนับสนุน "ปริญญา" เสนอหากฝั่งไม่เอา "ประยุทธ์" ชนะถล่มทลายต้องกดดันไม่ให้ ส.ว.ยอมรับรัฐบาล 126 เสียง "อนุทิน" ปลุกศักดิ์ศรี ส.ส.เป็นเอกภาพเลือกนายกฯ ม้วนเดียวจบ  ขณะที่ พปชร.วอนคนไทยอย่าเลือก 2 ก๊ก "ตระกูลเพื่อ-ปชป." หวั่นนำสู่ความขัดแย้ง
    ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน วันที่ 18 มีนาคม คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเวทีสัญญาประชาคม หัวข้อ "ทำอย่างไรประชาธิปไตยไทยจะไม่ล้มเหลวอีก"  โดยเชิญผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี 5 พรรคการเมืองใหญ่มาร่วมเสวนา แต่ส่งตัวแทนมา 3 พรรค ซึ่งทั้ง 3 คนเห็นพ้องกันว่าการจะไม่ทำให้บ้านเมืองย้อนรอยสู่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นั้น จะต้องประกอบด้วย 2 ปัจจัย กับ 3 ข้อตกลงร่วม ได้แก่ 1.การเลือกตั้งต้องสุจริตตรงตามเจตนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิ์ 2.เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นผู้กำหนดการจัดตั้งรัฐบาล 3.เห็นพ้องต้องกันสนับสนุนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน 4.เห็นพ้องต้องกันในการปฏิรูปการศึกษาการพัฒนาบุคคล ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน และ 5.ใช้เวทีสภาในการแก้ปัญหาความขัดแย้งแทนการชุมนุมบนท้องถนน
    นายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ตอบคำถามแรกว่าด้วยการผลักดันการเมืองให้เดินไปข้างหน้า และไม่ซ้ำรอยเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 โดยบอกว่า เราจะแก้รัฐธรรมนูญมีมาตราที่ไปแทนที่ ที่บอกว่าการทำรัฐประหาร ล้มล้างประชาธิปไตย ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำไม่ได้ ห้ามศาลวินิจฉัยว่าการนิรโทษกรรมชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือหลักนิติธรรม และให้สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นประเพณีปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญและยึดมั่นในระบอบยุติธรรม แม้เขาอาจจะฉีกรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเขียนเป็นประเพณีจะยังอยู่ต่อไป 
    "นอกจากนั้นยังมีมาตรการลงโทษศาล หากพบการวินิจฉัยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ศาลต้องรับโทษ ทั้งนี้พรรคเตรียมพระราชบัญญัติป้องกันรัฐประหาร ที่กำหนดให้ไม่มีอายุความและดำเนินคดีได้ตลอดไป พร้อมกับลงโทษให้หนัก" นายโภคินกล่าว
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้ความเห็นต่อคำถามของญาติวีรชน ต่อแนวทางป้องกันการเมืองที่จะไม่นำไปสู่สถานการณ์สร้างความสูญเสียของประชาชนเหมือนประวัติศาสตร์บางช่วงว่า ต้องระวังใน 2 เงื่อนไข คือ 1.การเลือกตั้งต้องเป็นที่ยอมรับ ตนยอมรับว่าสถานการณ์ตอนนี้เหมือนไต่เส้น ที่ กกต.บอกว่าทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งตามกติกา แต่พรรคการเมืองกลับมองว่าการแข่งขันไม่เป็นธรรม แต่ไม่รุนแรงถึงขึ้นเกิดปฏิกิริยา ขอเรียกร้องอย่าคิดแค่ชัยชนะ แต่ต้องช่วยรักษาความเชื่อมั่นในกระบวนการเลือกตั้ง
    "กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งโดยตรง หากถูกมองว่าวินิจฉัยหรือตัดสินเรื่องต่างๆ ทำให้เงื่อนไขเลือกตั้งไม่เสรีหรือไม่เป็นธรรม หรือเกิดกรณีใช้อำนาจมาตรา 44 เข้ามาเกี่ยวข้อง สุ่มเสี่ยงจะเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงได้ ดังนั้นพรรคการเมือง, กกต.และ คสช.ต้องไม่ทำอะไรที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดการไม่ยอมรับการเลือกตั้ง" 
    นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า 2.เงื่อนไขของการตั้งรัฐบาล ตนเสนอให้พรรคการเมืองพิจารณากันให้จบ ภายในจำนวน 500 คนที่ผ่านการเลือกตั้งของประชาชน เมื่อใครรวบรวมเสียงได้เกินครึ่ง ส.ว.ทั้ง 250 คนต้องสนับสนุน
    ขณะที่นายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวตอบคำถามเรื่องการสร้างกระบวนการเลือกตั้งให้เป็นที่ยอมรับว่า การเลือกตั้งอยู่ที่ความเชื่อถือและความเชื่อมั่น แต่ความผิดพลาดของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง เช่นบัตรเลือกตั้งผิดเขต ทำให้การสร้างความน่าเชื่อถือของ กกต.ที่อาจจะกลายเป็นการฟ้องร้องให้ กกต.ต้องรับผิดชอบด้วยการติดคุกเหมือนอดีตที่เคยผ่านมาได้ 
     ต่อจากนั้น ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ม.ธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามด้วยว่า ส.ส.จะทำอย่างไรให้ชนะเสียงของ ส.ว. 250 คนในรัฐสภา นายชำนาญตอบว่า ตนไม่ทราบว่าพรรคไหนจะได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง แต่โดยธรรมเนียมที่พรรคอันดับหนึ่งจะได้ตำแหน่งประธานรัฐสภา เพื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอชื่อนายกฯ ในรัฐสภา หากการเลือกตั้งเสียงออกมาทางฝั่งไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกฯ และหัวหน้า คสช.แบบถล่มทลาย ต้องสร้างแรงกดดันให้ ส.ว.ไม่ยอมรับการสนับสนุนรัฐบาลที่ได้เสียงเพียง 126 เสียง
    ขณะที่นายโภคินกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นตัวแทนของระบบเผด็จการ แต่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หากไม่เอาเผด็จการต้องไม่เอาทั้งพรรคและ พล.อ.ประยุทธ์ หากยังเอาพรรคอาจมีคนอื่นที่มาแทน พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ ที่ผ่านมาการจัดตั้งรัฐบาลมีความแน่นอนว่าใครที่มาเป็นลำดับหนึ่งให้จัดตั้งรัฐบาล หากจัดตั้งไม่ได้ต้องให้ลำดับสอง เห็นด้วยกับนายอภิสิทธิ์ที่ระบุว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่ ส.ว.ไม่ควรยุ่งเกี่ยว ทั้งนี้ ส.ว.ไม่มีมติพรรคเข้าควบคุมเพราะออกเสียงได้อย่างอิสระ เมื่อคนเสียงข้างน้อยอยากเป็นรัฐบาลสามารถซื้อเสียง ส.ว.ได้ทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่ต้องป้องกันตั้งแต่แรกคือ การยืนหยัดในศักดิ์ศรีและยืนหยัดในระบอบประชาธิปไตย
    ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นเรื่องศักดิ์ศรีของ ส.ส.ในฐานะผู้แทนประชาชนต้องแสดงความเป็นเอกภาพ เลือกนายกฯ แบบม้วนเดียวจบ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้นายกฯ ท่านนั้นบริหารประเทศ จำนวนเสียงโหวตในกลุ่ม ส.ส.จะต้องได้ถึง 376 เสียง  แล้วฝ่ายไหนก็ทำอะไรเราไม่ได้ สำหรับ ภท.ถ้านายกฯ มาจากเสียง ส.ส. 376 ท่าน เราจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ได้ 
    นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการ ภท.กล่าวว่า การเลือกนายกฯ ต้องดูที่การเลือกประธานสภาที่จะมีแต่ ส.ส.โหวต ถามว่าพรรคการเมืองที่มีเสียง ส.ส.แค่ 126 คนจะเลือกประธานสภาได้หรือ ก็ต้องแพ้ 300 กว่าเสียง แค่นี้เราก็เห็นอยู่แล้วใครจะเป็นนายกฯ พรรคไหนเป็นแกนนำ ถ้าประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันมากๆ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ใครก็มาล้มล้างมติของประชาชนไม่ได้ ทุกคนก็ต้องยอมรับ 
     นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า บทบาทของ ส.ว. 250 เสียงที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่ามีความสำคัญ เชื่อว่าจะถูกลดบทบาทไป เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเพียงการร่วมโหวตนายกฯ เท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือการได้รัฐบาลที่เป็นเสียงข้างมากบริหารประเทศ
    นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลหลังเลือกตั้งควรจะมีเสียงเกิน 300 เสียงเพื่อให้มีความสมดุลระหว่าง 2 ส่วน คือ เสถียรภาพในการบริหารประเทศ และการถ่วงดุลตรวจสอบจากฝ่ายค้านในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะถ้าเสียงน้อยไปเสถียรภาพการบริหารย่อมลำบาก แต่หากเสียงมากเกินไปฝ่ายค้านที่เป็นฝ่ายถ่วงดุลตรวจสอบอาจทำงานไม่เต็มที่ 
    นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค.กล่าวว่า จุดยืนของพรรคยังเหมือนเดิมคือ หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. นำประเทศไทยสู่ประชาธิปไตย แก้รัฐธรรมนูญ 2560 ล้มล้างผลพวงรัฐประหาร ใครยอมรับข้อเสนอนี้พร้อมทำงานด้วย ยกเว้นพรรคเดียวคือ พปชร.ที่ตั้งมาเฉพาะกิจเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของ คสช.ด้วย 
    ที่สนามฟุตบอลโรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พรรค พปชร.เปิดเวทีปราศรัยใหญ่  โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคขึ้นปราศรัยว่า วันนี้ยังไม่เลือกตั้งประเทศไทยแบ่งเป็น 3  ก๊กแล้ว ก๊กแรกคือพรรคตระกูลเพื่อที่พี่น้องเคยไว้วางใจ ถ้าก๊กนี้กลับมาเป็นรัฐบาล เป็นห่วงว่าบ้านเมืองจะทะเลาะกันอีก ก๊กที่สองคือ ปชป.ที่บอกว่าไม่เอา พปชร. สองก๊กนี้ต่อสู้กันมาสิบกว่าปี ผลัดกันเป็นใหญ่แต่บ้านเมืองไม่สงบ 
    "วันนี้ถ้าผลเลือกตั้งออกมาแล้ว 2 พรรคนี้ยังเป็นใหญ่ ผมกลัวว่าบ้านเมืองจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศ คนอีสาน คนร้อยเอ็ด ด้วยหัวใจอยากเห็นประเทศไทยมีทางออก ดังนั้น พปชร.อาสามาเป็นทางออก เพราะเราไม่ทะเลาะกับใคร ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร เป็นคนกลาง เป็นคนพาประเทศไม่ให้ถอยกลับไปที่เดิม" นายสนธิรัตน์กล่าว.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"