'พลังประชารัฐ' นโยบายจับต้องได้ เพื่ออนาคตประเทศ-ประชาชน


เพิ่มเพื่อน    

       นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงถึงนโยบายของพรรคพลังประชารัฐในช่วงโค้งสุดท้ายที่เปิดออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ผู้ที่จบปริญญาตรีได้เงินเดือน 2 หมื่นบาท นักเรียนที่จบอาชีวะต้องได้เงินเดือน 1.8 หมื่นบาท พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้รับการยกเว้นภาษี 2 ปี ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท เป็นต้น

        นโยบายของพรรค ช่วงนี้เป็นช่วงโค้งสุดท้าย เน้นทั้งด้านความสงบสุข ความสุขของสังคม นโยบายปากท้อง เศรษฐกิจ โดยทั้ง 3 นโยบาย จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจฐานราก เราเน้นที่แรงงาน ซึ่งคนในพรรคก็ได้ให้รายละเอียดไปบ้างแล้ว แต่จากนโยบายที่เคยเปิดไปก่อนหน้านี้ ได้รับการตอบรับสูงมาก ไม่ว่าจะเป็น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พักหนี้กองทุน เรื่องที่ทำกิน เรื่องสวัสดิการมารดาประชารัฐ เป็นนโยบายที่พี่น้องต่างจังหวัดให้ความสนใจสูงมาก รวมไปถึงเรื่องของพี่น้องเกษตรกรด้วย เช่น เรื่องข้าว

       เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ระบุถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วยว่า มีคอนเซ็ปต์ชัดเจนคือ เพิ่มคนกับเพิ่มสิทธิ์ การเพิ่มคนหมายความว่า มิติที่ 1 การเพิ่มคน เมื่อเราเป็นรัฐบาล เราจะดูว่า มีผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่ได้ระบุไว้ แต่ทำไม่เป็น กรอกเอกสารไม่เป็น เลยไม่ได้รับการพิจารณา หรือแม้แต่ไม่ได้ไปยื่นด้วยซ้ำไป คนกลุ่มนี้ เราไปดูว่า ตกหล่นเท่าไหร่ ถ้าใครเข้าคุณสมบัติแล้วตกหล่นมีเท่าไหร่ ก็จะเพิ่มเข้าไป

        ในขณะที่ มิติที่ 2 ของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราไม่ได้มองแค่สิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว หรือเพียงให้คนเอาไปซื้อสินค้าแค่เท่านั้น แต่มองว่าจะต้องมองให้ครอบคลุมคนกลุ่มอื่น ให้เป็นบัตรสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ มารดาประชารัฐ ก็จะเข้ามาในกลุ่มนี้ ไปสอดรับกับการเพิ่มสิทธิ์

        "ที่เราให้บัตรสวัสดิการ จริงๆ แล้วเพราะว่าเราต้องการให้เขาพ้นจากรากเหง้าแห่งความยากจน ไม่ได้เอาเงินมาให้เขาใช้ แล้วยังอยู่อย่างนี้ ซึ่งพิสูจน์แล้ว เมื่อเขาได้เข้าสู่ระบบบัตรสวัสดิการ คนเหล่านี้จากเดิมอาจจะไม่ค่อยมีโอกาสในชีวิต เมื่อเราให้โอกาสชีวิต ส่งเสริมให้ประกอบวิชาชีพ ไม่ว่าถ้าเขาอยากจะขายกาแฟ ขายลูกชิ้นปิ้ง ขายน้ำดื่ม เราก็ส่งเสริมให้เขามีทุน เมื่อมีทุนแล้วก็จะมีโอกาสทำมาหากิน" เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐระบุ 

        เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐอธิบายต่อถึงนโยบายดังกล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา กลุ่มที่มีรายได้ที่เคยต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน เกิน 3 หมื่นบาทขึ้นมาเป็นล้านคน กลุ่มที่ต่ำกว่าแสน หลังจากเข้าสู่ระบบการไปพัฒนาอาชีพ แล้วมีโอกาสทางอาชีพ พ้นจากเส้นแสน มาหลายแสนคน เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะทำ บัตรสวัสดิการ เราให้สวัสดิการเบื้องต้น แต่เรารู้ใครลำบาก ไม่มีโอกาส รอบแรกคนเข้าโครงการ 11.4 ล้านคน มีคนมาอบรมร่วม 5 ล้านคน เราก็จะยกระดับคนเหล่านี้ขึ้นไป คนที่ยกระดับขึ้นได้ ก็มีโอกาสที่จะได้รับโอกาส พ้นจากความยากจน ในอนาคตรัฐจะได้ไม่ต้องดูแลอีกต่อไป

        ขณะเดียวกันยังมีคนกลุ่มที่ยังลำบาก ไม่มีโอกาสในการพัฒนาอาชีพหรือไปหาเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้น เช่น ผู้มีรายได้น้อยในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ เราก็ต้องมาดู หาวิธีในการดูแลเขา ก็จะเป็น 2 ส่วน ซึ่งก็จะมีทั้งสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส เราจะทำอย่างไร จะต้องมาดูในเรื่องนี้ บัตรสวัสดิการเป็นนโยบายหลักของพรรคพลังประชารัฐ เพราะเป็นเครื่องมือในการดูแลสวัสดิการ และยกระดับโอกาสพี่น้องประชาชนที่ยังยากลำบากอยู่ ให้พ้นจากความยากจน

        "นโยบายของเราไม่ใช่นโยบายสายเปย์ อย่างที่มีการพูดๆ กัน นโยบายแต่ละอัน ล้วนมองมาจากภาพใหญ่ เรื่องค่าแรงที่เป็นกระแสอยู่ ที่เราเสนอ 400-425 บาท ไม่ได้อยู่ดีๆ จะเปย์ แต่ได้มองว่า การขึ้นค่าแรงในอดีตขึ้นมาเพิ่มครั้งละ 5 บาท 10 บาท อย่างนี้ การขึ้นอย่างนี้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบแรงงาน กับทิศทางอุตสาหกรรมอนาคต การจ้างงานในอนาคตได้" นายสนธิรัตน์ระบุ

        นายสนธิรัตน์ระบุด้วยต่อว่า นโยบายที่เราเสนอคือ การเอานโยบายมาเปลี่ยนโครงสร้างแรงงาน เปลี่ยนโครงสร้างเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการ การที่บอกอย่างนี้ ไม่ได้ทำเหมือนในอดีตที่ทำกันมา ที่ทำอย่างนี้ ต้องไปทั้ง 2 ขา แรงงานที่ได้รับการยกระดับฝีมือแรงงาน หรือที่เราเรียกว่า Up skill หรือ re skill แรงงานกลุ่มนี้เมื่อยกระดับแล้ว จะเข้าข่ายการที่จะไปสู่การจ้างงานในระดับราคาที่เหมาะสมกับแรงงาน ตัวรัฐก็ต้องมีช่วย อัพสกิลกับรีสกิล โดยรัฐก็ต้องมีกองทุนในการอัพสกิล รีสกิล โดยรัฐจะต้องมาช่วยในการอัพสกิลและรีสกิล ตัวเอสเอ็มอี ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ เอสเอ็มอีก็ไม่พัฒนา เพราะเอสเอ็มอียังต้องการค่าแรงถูกๆ เมื่อต้องการค่าแรงถูกๆ ก็คือการดำเนินงานที่อนาคตจะไปไม่ได้ เพราะเราแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ ที่มีแรงงานถูกกว่าเรา

        ในส่วนของเอสเอ็มอี เมื่อจะอัพสกิลตัวแรงงาน จะจับมือกับรัฐ เขาได้อะไร ใครที่มา ภายใต้ยกระดับฝีมือแรงงาน ถ้ารัฐจ่ายเท่าไหร่ เขาจ่ายเท่าไหร่ ส่วนที่เขาจ่ายไป เราจะหักภาษีให้ 2 เท่า ซึ่งเราเคยทำมาแล้ว เมื่อจ่าย 2 เท่า คนที่พัฒนาแล้ว แรงงานที่พัฒนาแล้ว ตรงความต้องการธุรกิจของเขา

       "ผมคิดว่าผู้ประกอบการจะจ้างแพงได้ เป็นที่มาของ 400-425 บาท เมื่อเป็นอย่างนั้น เอสเอ็มอีที่พัฒนาแบบนี้ จะมีฝีมือแรงงานที่ดี ไม่ใช่มีแต่คนที่มีฝีมือเหมือนกันหมด คนเก่งก็จะมาอยู่ที่คุณ แต่เอสเอ็มอีไหนที่ไม่มาแบบนี้ คุณจ้างแต่แรงงานถูกๆ ก็จะไม่มีคนเก่ง ที่ทำอย่างนี้ เพราะต้องมองไปอนาคต เพราะเป็นโลกของการใช้หุ่นยนต์ ใช้ระบบอัตโนมัติ ถ้าเขาให้เป็นแค่แรงงาน ก็ไม่ต่างอะไรจากแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน แต่คนเหล่านี้เมื่อถูกพัฒนาขึ้นมาก็ต้องมาคุมเครื่องจักร คุมการผลิต คนเหล่านี้ ที่ทำเพื่อต้องการยกระดับขึ้นมาให้แตกต่างจากแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ถึงจะสอดรับกับไทยแลนด์ 4.0 ประเทศต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เหมือนกับเอสเอ็มอีที่ต้องสอดรับกับนวัตกรรม โลกของเทคโนโลยี สอดรับกับอีคอมเมิร์ซที่วิ่งเข้ามา"

        ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็เหมือนกับเอาไป 5 บาท 10 บาทแล้วไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่เกิดการจูงใจ ทั้งตัวคนผู้ใช้แรงงานเอง หรือผู้ประกอบการ โรงงานที่จะเปลี่ยนตัวเองไปสู่ระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ มันไปไม่ได้ เลยเป็นวิธีคิดพรรคพลังประชารัฐ แต่ไม่ใช่เมื่อเปลี่ยนไป 400 กว่าบาทแล้ว ไม่ต้องมาดูสิ่งเหล่านี้ คือ วิธีที่ขับเคลื่อนของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่แค่จ่ายเงิน แต่มาจากการวิจัย เราต้องลงทุนกับคน เพราะคนเกิดใหม่คืออนาคตของประเทศ

        นโยบายมารดาประชารัฐ ก็คือการลงทุนกับทรัพยากรประเทศ เขาจะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ดังนั้นเขาต้องมีคุณภาพตั้งแต่อยู่ในท้อง ทั้งเรื่องอาหารการกินของแม่ แม่ต้องมีความสุขพอในการดูแลลูกและเลี้ยงลูก เมื่อตั้งท้องจนถึงคลอด

       "สิ่งเหล่านี้มาจากงานวิจัย คนเหล่านี้เมื่อเราลงทุนไป 1 บาท แต่เขาจะคืนกลับให้ประเทศ 7 บาท เราไม่ได้เอาเงินของรัฐมาทิ้ง แต่เรามองว่าจะเอามาลงกับอะไร สิ่งเหล่านี้ในอดีตก็ทำ แต่กระจัดกระจาย ซึ่งก็ใช้เงินอยู่แล้ว แต่เราเอามารวมกันซะแล้วทำให้เป็นแพ็กเกจ สิ่งเหล่านี้คือวิธีคิดนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่สายเปย์ หรือแค่อยากเปย์ อยากทำ" นายสนธิรัตน์ระบุ

        อย่างไรก็ตาม สำหรับความเป็นห่วงเรื่องค่าแรงกว่า 400 บาท ที่ห่วงจะทำให้เกิดเงินเฟ้อ สนธิรัตน์อธิบายว่า พอแรงงานที่ถูกยกระดับขึ้นมา จะเป็นแรงงานคุณภาพ ส่วนแรงงานไม่คุณภาพก็ต้องยกระดับ พัฒนาตัวเองขึ้นมา แต่เมื่อเป็นแรงงานคุณภาพ ต้นทุนผู้ประกอบการ ค่าแรงไม่ได้จะทำให้สินค้าราคาแพงเสมอไป คุณจ้างแรงงาน 2 คนโดยไม่มีคุณภาพ คนละ 350 บาท รวมเป็น 700 บาท แต่ถ้าคุณจ้างแรงงานที่มีคุณภาพ จ้างเพียง 400-425 บาท เพียงคนเดียว แปลว่า คุณกำลังลดต้นทุนการผลิต ไม่ได้แปลว่าเพิ่มต้นทุนการผลิต แต่ถ้าจ้างแบบเดิม 350 บาท โดยที่ไม่มีการยกระดับอะไรเลย เท่ากับคุณจะต้องจ้างแรงงานมา 3 คนหรือเปล่า การจะเอาเงินที่แตกต่างมาลงระบบ แล้วทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง แต่คุณภาพสูงขึ้น อันนี้เป็นวิธีคิดของเรา

        เราคิดแบบนี้ มองว่าต้นทุนการผลิตจะลดลง แต่ขณะเดียวกันแรงงานจะมีรายได้สูงขึ้น ที่จะมาจับจ่ายใช้สอย จะหมุนเศรษฐกิจ ต้องทำให้เห็นทั้งระบบ ไม่ใช่ เมื่อแรงงานขึ้น ต้นทุนผู้ประกอบการขึ้น แล้วเงินเฟ้อตามมา อันนั้นคิดแบบเก่า เราไม่ได้คิดแบบนั้น

       ขณะที่นโยบายสำคัญอีกประเด็นอย่าง เว้นภาษีออนไลน์ 2 ปีสำหรับพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ เพื่อต้องการให้คนไทยเข้าสู่การค้าเชิงออนไลน์ ซึ่งเป็นทิศทางของประเทศนั้น นายสนธิรัตน์อธิบายว่า การที่เราเว้นภาษี 2 ปี คือการที่จูงใจให้เขาเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ เมื่อเข้าสู่ธุรกิจนี้แล้ว เราก็ต้องการให้เขาเข้มแข็งด้วยในระยะต้น เมื่อไม่มีแรงจูงใจในระยะต้น เขาอาจไม่เข้ามา ถ้าเข้ามาแล้วต้องโดนค่าใช้จ่ายสูง เขาคงไม่มา

        นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ซึ่งในระยะ 2 ปี คือระยะเปลี่ยนผ่านการค้าไปสู่การค้ายุคใหม่ และในช่วงการเปลี่ยนผ่านแบบนี้ คนไทยที่เข้าสู่ธุรกิจ เราต้องให้โอกาสเขา ที่มีโอกาสในการต่อสู้ เพื่อให้เกิดเว็บไซต์ ให้เกิดอะไรต่างๆ ให้เขาขับเคลื่อนธุรกิจออนไลน์ ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ เป็นนโยบายที่เราต้องเปลี่ยนประเทศไปสู่ธุรกิจออนไลน์ ผมเป็น รมว.พาณิชย์ มักบอกเสมอว่า กระทรงพาณิชย์ยุคหน้าต้องเป็นกระทรวงการค้าแบบออนไลน์ การบริหารงานต้องมองเป็นมิติการค้า

       "ออนไลน์ ซึ่งคืออนาคตที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่มองการค้าแบบเดิม การค้าแบบดั้งเดิม ซึ่งไม่ทันการเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้ต้องไปด้วยกัน เราปฏิเสธการค้าออนไลน์ไม่ได้ เราต้องเร่งคนของเราให้เข้าสู่การค้าออนไลน์ ขณะเดียวกันก็ต้องมีแรงจูงใจให้คนเข้าสู่การค้าออนไลน์ด้วย สำหรับเรื่องขั้นตอนที่ยังยุ่งยาก เราก็ยกระดับไปสู่ one stop service หรือแม้แต่การทำบนออนไลน์ มีคิวอาร์โค้ดอะไรต่างๆ สิ่งเหล่านี้ จะเกิด โดยไม่ได้ทำแบบเดิม วันนี้ก็จดทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้แล้ว เป็น e-government ที่เราทำให้เกิดขึ้น" นายสนธิรัตน์ระบุ

        เขาระบุด้วยว่า นโยบายไม่ใช่แค่การหาเสียง แต่ต้องเป็นการตอบโจทย์ความต้องการพี่น้องประชาชน นโยบายที่พรรคพลังประชารัฐคิด เราคิดจากการตอบโจทย์ แต่ตอบโจทย์อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องเพิ่มศักยภาพประเทศควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่นโยบายแถมแหลก แจกสะบัด ต้องอยู่บนหลักการไปเพิ่มศักยภาพของประเทศ หรือศักยภาพในการประกอบการ หรือความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน เรื่องที่เราเคยบอกไป บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มารดาประชารัฐ อยู่บนหลักการเดียวกัน

        พรรคมั่นใจว่า เราเป็นพรรคที่มีนโยบายจับต้องได้ ตอบความต้องการประชาชน และไม่ใช่นโยบายทำลายประเทศ หรือแม้แต่ทำให้เกิดการคอร์รัปชัน อย่างเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เรากล้าพูดเลย เป็นนโยบายที่โกงไม่ได้แม้แต่บาทเดียว เงินนั้นส่งคืนเข้ารัฐ บัตรนั้นพี่น้องประชาชนเอาไปซื้อสินค้า สินค้านั้นก็เพื่อปากท้องพี่น้องประชาชน ไม่มีระบบหัวคิว นโยบายที่ทำมา ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ที่ไม่เกิดการโกงแม้แต่บาทเดียว 

        บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เมื่อคนมาทำบัตร ก็จะมีการขึ้นทะเบียน เมื่อขึ้นทะเบียน ผู้รับก็รับตรง ใส่เงินตรงไปในบัตร บัตรนี้ตอนที่ทำ บัตรนี้ไม่ให้เป็นเงินสด ไม่เช่นนั้นเจ้าหนี้ของเจ้าของบัตรจะมายึดบัตรไปกดเงิน บัตรนี้เลยบังคับให้มารูดซื้อสินค้า หลายคนก็มาโจมตีผม ทำให้เกิดความลำบาก แต่บัตรนี้เป็นบัตรให้พี่น้องประชาชนเอาไปรูดซื้อสินค้า และได้ของไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีใครเอาของใช้ไปได้ ผลที่ตามมา เราสามารถกอบกู้ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย ร้านโชห่วยกว่า 7 หมื่นแห่ง ที่ทำต่อไป ยังจะเป็น ร้านก๋วยเตี๋ยว แผงขายผัก แผงขายหมู เราจะยกระดับได้ 3-4 แสนแห่งแน่นอน คนถือบัตร จะไปกินก๋วยเตี๋ยว ซื้อผัก ซื้อหมูในตลาดก็ได้ สิ่งสำคัญที่สุด เงินในบัตรไม่ได้ไปตกที่ห้างใหญ่ๆ แม้แต่ห้างเดียว แต่ถ้าให้เงินสดก็จะกลับไปห้างโมเดิร์นเทรด ห้างสะดวกซื้อ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ไม่มีการหักหัวคิว ไม่มีคนมาเซ็นรับเงินแทน มาทำชื่อปลอม

        เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐยังบอกอีกว่า หนึ่งในเรื่องที่เราต้องทำ และต้องทำให้ได้คือ การก้าวข้ามความขัดแย้ง เพราะตั้งแต่ตั้งพรรคพลังประชารัฐ เราบอกว่าต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง ในความคิดนี้คือจุดยืนของพรรค ถ้าเกิดการเลือกตั้ง อยู่ในองค์ประกอบการเมืองแบบเดิม ก็มีแนวโน้มสูงที่มันจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม ที่พูดอย่างนี้ เพราะเรามีประสบการณ์เลือกตั้ง 2-3 ครั้งที่ผ่านมา แล้วก็นำพาประเทศไปสู่จุดเดิม เพราะโครงสร้างสังคม เรื่องการแบ่งกลุ่มการเมืองต่างๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป พรรคพลังประชารัฐเกิดขึ้นมา เพื่อต้องการให้เป็นทางออกของการเมืองไทย เป็นทางออกของประเทศ

        "พรรคต้องการเป็นทางเลือกที่สาม ที่จะประสานให้ 2 แกนใหญ่ของการเมืองไทยมีทางออก และพรรคเองเกิดมาไม่ได้มีนโยบายที่จะเพิ่มความขัดแย้ง หรือเข้าเป็นคู่ขัดแย้งให้กับการเมืองในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ คือเป้าหมายใหญ่ในการก่อให้เกิดพรรคพลังประชารัฐ เราทำงานการเมืองเชิงปรองดอง จะสังเกตพรรคนี้ไม่ค่อยได้ตอบโต้อะไรใคร มีแต่พรรคจะโดนฝ่ายอื่นโจมตี พรรคก็ทำหน้าที่ของพรรค ในการที่จะสมานฉันท์ อยากเห็นการเปลี่ยนผ่านประเทศเปลี่ยนไปได้ ไม่ให้ติดกับดักการเมืองของประเทศไทยอย่างที่เป็นอยู่ คือเป้าหมาย จุดยืนของพรรค" นายสนธิรัตน์ระบุ

        เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐระบุด้วยว่า สำหรับทิศทางการร่วมรัฐบาล จะไปจับมือกับพรรคใดบ้างนั้น คงอยู่ที่การร่วมรัฐบาล อยู่ที่หลักการพี่น้องประชาชนอยากเห็นประเทศไปทางไหน เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา จะนำไปสู่การตั้งรัฐบาล

        วันนี้พรรคพลังประชารัฐรอการตัดสินใจของพี่น้องประชาชน เมื่อพี่น้องประชาชนตัดสินใจมาแล้ว ในวันนั้นเป็นวันที่เราจะพูดกันว่า หน้าตารัฐบาลต้องเป็นอย่างไร แต่เมื่อจุดยืนเราคือ การหาทางออกให้ประเทศ พรรคพลังประชารัฐ เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาจะร่วมหาทางออกให้ประเทศ ไม่ทำให้ประเทศติดล็อกกับดักทางการเมือง กรณีคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องนี้ก็เป็นแนวคิดของคุณอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นสิ่งที่พรรคพลังประชารัฐก็ต้องเร่งทำงานหนักให้พี่น้องประชาชนตัดสินใจ เพื่อให้เห็นว่า ประเทศจะมีกับดักไม่ได้ ประเทศต้องออกจากกับดัก อะไรที่เป็นกับดัก ประชาชนต้องทราบและต้องรู้ พรรคพลังประชารัฐมีหน้าที่อย่างเดียวคือต้องทำงานให้หนัก เพื่อให้ประเทศพ้นจากกับดักให้ได้

        หนึ่งในแกนนำพรรคพลังประชารัฐเน้นย้ำอีกว่า ในช่วงเวลาที่เหลือก่อนการเลือกตั้ง แคมเปญจะเห็นอะไรออกมาเป็นระลอกๆ แน่นอน อย่างในวันนี้ก็เห็นไปทีละเรื่องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายโค้งสุดท้าย แนวทางหาเสียง เรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ก็ต้องติดตามกันดู ในส่วนของนโยบายคงเกือบหมดแล้ว แต่แคมเปญยังมีความเข้มข้นที่จะออกมา ซึ่งเป็นการเดินตามแผนยุทธศาสตร์ของพรรคที่วางเอาไว้

        สำหรับกรณีโอกาส พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเวทีปราศรัยพรรคพลังประชารัฐ ขณะนี้ยังไม่ได้ไปถึงแผนตรงนั้น ไม่ได้คุยในสิ่งเหล่านั้น นายสนธิรัตน์ชี้แจงว่า เรามีแผนแต่เดิมที่ทำอยู่ นายกฯ จะเผยแพร่คลิปบนเวทีปราศรัยที่ จ.สุโขทัย สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอีกวิธีการทำงานของเรา แต่ไม่ว่าอย่างไร จากกระแสตอบรับจากประชาชน พรรคประเมินกระแสทำงานในพื้นที่อย่างหนักในหลายเดือน พรรคมีโพลของพรรค มีวิธีประเมินกระแสพี่น้องประชาชนของพรรค ซึ่งเรามั่นใจว่าพรรคจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

        ส่วนข้อห่วงใยการที่บางพรรคพยายามปลุกกระแสสร้างความเกลียดชังมายังพรรคพลังประชารัฐนั้น สนธิรัตน์มองว่า เป็นสิ่งที่เป็นกับดักของประเทศ การใช้กระแสความเกลียดชังแบ่งแยกพี่น้องประชาชน แบ่งแยกภาค คือกับดักสำคัญของประเทศไทยที่ติดมานาน

         เราเรียกร้องมาตลอดว่า การเข้าสู่ประชาธิปไตย ต้องมองให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไ ด้ ไม่ได้มองชัยชนะการเมือง แล้วเอาประเทศไปสู่ซอยตันอีกครั้ง เดินหน้าไม่ได้ ถอยหลังไม่ได้ พรรคไม่เห็นด้วยกับการปลุกกระแสความเกลียดชัง การปลุกกระแสการใช้การเมืองเพียงอย่างเดียวในการเข้าสู่ประชาธิปไตย แต่ต้องใช้นโยบาย ใช้ผลงาน ใช้บุคลากรที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนนโยบาย หลายพรรคใช้แต่วาทกรรมการเมือง การจับต้องนโยบาย การขับเคลื่อน มองให้ดีนั้นยังไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจน

        พรรคพลังประชารัฐเน้นการขับเคลื่อน การจับต้องนโยบายไปสู่พี่น้องประชาชน เราให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชน กับการเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่ให้ประเทศกลับไปสู่จุดเดิม ให้ประเทศเดินหน้าต่อไป พรรคไม่ได้มองประเด็นการเมือง ไม่ได้เอามาเป็นตัวตั้งในการขับเคลื่อน

       นายสนธิรัตน์กล่าวถึงความคาดหวังจำนวน ส.ส. หลังการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.ที่จะถึงนี้ว่า คงบอกไม่ได้ แต่สำหรับพรรคมีการสำรวจภายใน เรามั่นใจเราจะเป็นแกนนำ แต่คงบอกไม่ได้ว่าจำนวนเท่าไหร่ พรรคมีกระบวนการทำงาน มีเป้าหมายพรรคตลอดเวลา พรรคมั่นใจในวันที่ 24 มี.ค. จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ผู้สมัครของพรรคมั่นใจว่าเราจะสามารถเข้าไปได้ตามเป้าหมาย

         สำหรับการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ถือเป็นวันสำคัญของประเทศไทยอีกครั้ง เป็นวันเลือกตั้งที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ไม่ใช่เพียงเลือกตั้ง 24 มี.ค.แล้วจะผ่านไป เพราะเป็นวันตัดสินใจอนาคตประเทศไทย เรามีประสบการณ์ เรามีบทเรียนการเมือง การเลือกตั้ง 10กว่าปีที่ผ่านมา เราย่ำเท้าอยู่กับที่ ตามมาด้วยการแก้ปัญหาหลังจากการเลือกตั้ง ครั้งนี้พี่น้องประชาชนต้องออกมา ออกมาออกเสียงเลือกตั้งให้มากที่สุด เพราะเป็นการกำหนดอนาคตประเทศไทย กำหนดชีวิต อนาคตพี่น้องประชาชนเอง การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องตัดสินใจให้ดี เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นทั้งการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และต้องเลือกนโยบาย ทิศทางประเทศ ที่ต้องเดินต่อไปวันข้างหน้าได้ มองไปอนาคต ไม่ให้ประเทศติดกับดัก

       "การตัดสินใจครั้งนี้ ไม่เพียงจะรู้ว่าใครจะได้เป็นผู้แทนราษฎร แต่ต้องหลุดพ้นจากกับดักของประเทศ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ประชาชนต้องตัดสินใจ ใครจะเป็นผู้นำประเทศ ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี การลงคะแนน การกากบาทหนึ่งครั้ง เท่ากับการตัดสินใจใน 3 เรื่องพร้อมกัน ต้องพิจารณาให้ดี ก่อนตัดสินใจลงคะแนนให้ใคร พี่น้องประชาชนเท่านั้นที่จะตัดสินใจว่า ประเทศจะเดินไปทางไหน ขอฝากพี่น้องประชาชนตัดสินใจให้รอบคอบสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้" นายสนธิรัตน์ระบุทิ้งท้าย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"