คืบ80เปอร์เซ็นต์ งานพระราชพิธี กทม.จัดที่6โซน


เพิ่มเพื่อน    


    ครั้งแรกซ้อมเสมือนจริงรวมริ้วขบวนพยุหยาตราสถลมารคเสด็จเลียบพระนคร แก้อุปสรรคจุดคับขัน ผบ.ทบ.ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกำลังพล 17เม.ย.ซ้อมพื้นที่จริง กทม.เตรียมความพร้อมงานพระราชพิธีคืบหน้า 80% จัดพื้นที่ 6 โซนให้ประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จ
    ที่ลานอเนกประสงค์กองทัพภาคที่ 1 ภายในกรมทหารราบที่ 11 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม เวลา 08.30 น. คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราสถลมารค ภายใต้คณะกรรมการฝ่ายพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการฝึกริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศพยุหยาตราสถลมารคเสด็จเลียบพระนคร ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยเป็นการฝึกนัดรวมกันเป็นครั้งแรก 
    กำลังพลที่ร่วมฝึกริ้วขบวนที่ 3 ประกอบด้วย  หน่วยเฉพาะกิจกองพลที่ 1 รักษาพระองค์, หน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904, กรมสรรพาวุธทหารบก, กรมการขนส่งทหารบก, กรมพลาธิการทหารบก, หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ, นักเรียนเตรียมทหาร, ตำรวจม้า, กองทัพเรือ, ทหารกองเกียรติยศ และผู้แทนสำนักพระราชวัง เป็นต้น โดยมีจำนวนมากกว่า 1,000 นาย
    คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราสถลมารคให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฝึกซ้อมครั้งนี้ เป็นการจำลองพื้นที่ในการเดินริ้วขบวนที่ 3 ซึ่งเป็นริ้วขบวนที่ยาวที่สุด มีความยาวทั้งสิ้น 403.5 เมตร และเป็นริ้วที่มีพระราชยานพุดตานทอง ซึ่งในวันที่ 5 พ.ค.2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จขึ้นประทับบนพระราชยานดังกล่าว โดยเสด็จเลียบพระนครไป 3 วัด ได้แก่ วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตามลำดับ เพื่อทรงสักการะพระพุทธรูปสำคัญและทรงสักการะพระบรมอัฐิบูรพมหากษัตริย์ โดยเส้นทางเสด็จฯ ระยะทาง 7 กิโลเมตร ใช้เวลารวม 4 ชั่วโมงครึ่ง ขบวนเสด็จฯ จะเริ่มเวลา 16.30 น.
    โดยการจำลองพื้นที่ในการฝึกครั้งนี้ ได้จำลองพื้นที่สำคัญจากการสำรวจเส้นทางพื้นที่จริง ตั้งแต่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปวัดบวรนิเวศวิหาร ไปวัดราชบพิธฯ และวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งพบอุปสรรคบางจุดช่องทางแคบ เส้นทางเป็นเนิน ประกอบด้วยจุดคับขัน 7 จุด ได้แก่ เกยพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท, ประตูพิมานไชยศรี, ประตูวิเศษไชยศรี, ถนนตะนาว, วัดบวรนิเวศวิหาร, เกยวัดราชบพิธ และเกยวัดพระเชตุพนฯ
    นอกจากนี้ มีการจำลองพื้นที่โดยนำกรวยยางจราจร เพื่อบีบเส้นทางให้ได้ระยะจริง ขณะเดียวกันได้จำลองซุ้มประตูพิมานไชยศรี และจำลองซุ้มประตูวิเศษไชยศรีด้วยโครงเหล็กสีเขียว แต่ด้วยประตูมีความแคบทั้งสองประตู ฉะนั้นการเดินริ้วขบวนจะปรับจากเดินแถวตอนเรียง 12 เป็นแถวตอนเรียง 6 นาย เมื่อพ้นประตูวิเศษไชยศรีแล้วรวมแถว จังหวะนี้ต้องการซ้อมระยะทางในการเดิน และการรวมแถวเพื่อไม่ได้ขบวนด้านหลังติดขัด เป็นจุดคับขันจุดหนึ่ง โดยจำลองพื้นที่ฝึกซ้อมตลอดทั้งวันนี้ 
    ขณะเดียวกัน ทำการฝึกเกยเทียบหยุดและออกเดิน เพื่อให้ขั้นตอนประสานสอดคล้องกันในการสั่งแถว อย่างไรก็ตาม ทุกที่หมายที่เสด็จฯ จะมีทหารกองเกียรติยศยืนตั้งแถวรอรับเสด็จ ซึ่งจะมีการถวายความเคารพและบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ฉะนั้นจึงต้องการซ้อมเพื่อไม่ให้เกิดการลักลั่นในการสั่งแถวของทหารกองเกียรติยศและทหารในริ้วขบวนที่ 3 สำหรับช่วงบ่ายจะมีการฝึกเปลี่ยนพลแบกหาม ทั้งแบบอยู่กับที่และเดินระยะสั้น โดยจะเปลี่ยนพลแบกหามทุกระยะ 500 เมตร นอกจากนี้มีฝึกรูปขบวน 1 รอบสนาม
    ในการเดินซ้อมริ้วขบวนกำหนดจังหวะการเดิน 85 ก้าวต่อนาที ก้าวละ 40 เซนติเมตร ให้สอดคล้องกับเพลงจากวงดุริยางค์ ซึ่งจะบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จำนวน 6 บทเพลง 
    สำหรับกำหนดการฝึกซ้อมครั้งต่อไป จะมีขึ้นในวันที่ 26 มี.ค. เป็นการซ้อมรวมริ้วขบวนที่ 1 ริ้วขบวนอัญเชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ และพระราชลัญจกร และริ้วขบวนที่ 2 ริ้วขบวนราบใหญ่, วันที่ 28 มี.ค. ฝึกซ้อมทบทวนริ้วขบวนที่ 3 อีกครั้ง จากนั้นในวันที่ 17 เม.ย. จะเป็นการฝึกซ้อมริ้วขบวนที่ 3 แบบเสมือนจริงในพื้นที่จริงครั้งแรก แล้วทำการฝึกซ้อมอีกครั้งในวันที่ 21 เม.ย. และวันที่ 28 เม.ย. จะเป็นการซ้อมใหญ่ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ช่วงเวลางานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
    ต่อมาเวลา 14.17 น. พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เดินทางมาตรวจเยี่ยมการฝึกซ้อมริ้วขบวนที่ 3 พร้อมให้กำลังใจกำลังพลที่ร่วมทำการฝึกซ้อมครั้งนี้ โดยใช้เวลาตรวจเยี่ยมนานกว่า 40 นาที
    ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กทม. ครั้งที่ 1/2562  ว่า ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 4-6 พ.ค.62 รวมถึงการทำพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ในวันที่ 12 เม.ย.ด้วย ซึ่ง กทม.ได้เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ คืบหน้าไปมากกว่า 80% แล้ว ทั้งการปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านกายภาพ อาทิ การปรับพื้นผิวถนน รวมถึงการประดับซุ้มเฉลิมพระเกียรติ การประดับตกแต่งสะพาน ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. และในช่วงปลายเดือนเม.ย.ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ สำรวจความเรียบร้อยก่อนงานพระราชพิธีใหญ่อีกครั้ง
     สำหรับเส้นทางเสด็จฯ มีระยะทาง 7,200 เมตร ได้จัดเตรียมพื้นที่ให้ประชาชนที่จะมาเฝ้าฯ รับเสด็จ แบ่งเป็น 6 โซน รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานไปยังโรงเรียนและวัดใกล้เคียงเพื่อเป็นที่พักสำหรับประชาชนด้วย นอกจากนี้ได้ติดตั้งจอแอลอีดีตามเส้นทางเสด็จเลียบพระนคร เพื่อฉายพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี ตั้งแต่วันที่ 1-7 พ.ค.62 จำนวน 25 จอ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"