มีอะไรซ่อนอยู่หลัง 'ธนาธร'?


เพิ่มเพื่อน    

เรื่องนี้อาจไม่เกี่ยวกับนักการเมืองจนๆ

แต่สัมพันธ์โดยตรงกับอภิมหาเศรษฐีที่ก้าวเข้าสู่วงการเมือง

เดิมที "ทักษิณ ชินวัตร" ได้สร้างปรากฏการณ์ซุกหุ้น ผ่องถ่ายทรัพย์สินไปยังคนขับรถ และสาวใช้ เพื่อหลบหลีกกฎหมาย

นำมาซึ่งวาทะอมตะ "บกพร่องโดยสุจริต"

นับแต่รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ กำหนดห้ามรัฐมนตรี ถือหุ้นสัมปทานรัฐ หรือบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐเข้าข่ายกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เจตนารมณ์ดังกล่าวได้สืบทอดมายังรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

จุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการคอร์รัปชันของนักการเมือง

ฉะนั้นเมื่อ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประกาศ โอนทรัพย์สิน ๕ พันล้านบาท ให้กองทุนเป็นผู้ดูแลแทน ในรูปแบบ Blind Trust ที่ตัวเองมองไม่เห็น และไม่มีอำนาจตัดสินใจ จึงเรียกเสียงฮือฮาจากฝ่ายที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่

ฟ้าของพ่อพากันครางฮือ! ยกย่องว่าคือการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองใหม่

ก็อย่างที่ทราบ สองสามวันที่ผ่านมา มีแต่คนพูดถึงประเด็นนี้

จะเรียกว่าลากไส้คงไม่ผิดนัก

เพราะแท้จริงแล้วเป็นการตลาดการเมืองที่ไม่ยอมศึกษาอดีตว่า เป็นเรื่องเก่าที่นักการเมืองไทยหลายคนทำกันมานานแล้ว

เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องปฏิบัติตามลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และหลายคนทำเกินรัฐธรรมนูญไปนิดหน่อย เพื่อความโปร่งใส

หากแต่เรื่องนี้สามารถอธิบายว่า คือการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าได้เข้าสู่การเมืองโดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ได้ครบถ้วนอย่างนั้นหรือ?

จากประสบการณ์ที่เจอจากนักการเมืองชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" สิ่งที่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ทำในวันนี้ แค่การตลาดเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งเท่านั้น

ยังไม่ตอบโจทย์ทุจริตเชิงนโยบาย หรือผลประโยชน์ทับซ้อนแต่อย่างใด

อีกประการ หากบริสุทธิ์ใจจริงน่าจะทำให้จบไปตั้งแต่วันที่ย่างขาเข้าสู่การเมือง

ไม่ใช่โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

ก่อนอื่น ทรัพย์สินของ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" มีเพียง ๕ พันล้านเท่านั้นหรือ

หรือว่าถูกกันมาให้เหลือแค่ ๕ พันล้าน

เพื่อมาโชว์ความโปร่งใส

บทความของสำนักข่าวอิศรา วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๑ พูดถึง "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ก่อนกระโดดเข้าสู่การเมืองว่า

"....ธนาธร หรือ 'เอก' เป็นลูกของนายพัฒนา (เสียชีวิต) นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกลุ่มไทยซัมมิท เป็นหลานนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

มีธุรกิจในเครือข่ายทั้งอดีตและปัจจุบันราว ๑๐๒ บริษัท เฉพาะนายธนาธรเป็นกรรมการ ประมาณ ๖๐ บริษัท ในจำนวนนี้เปิดดำเนินการประมาณ ๒๗ บริษัท ได้แก่

บริษัท คีย์ พ้อยท์ เอ็นเนอจี จำกัด, บริษัท กรีน ไลน์ เอ็นเนอจี จำกัด, บริษัท จึงพัฒนา โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท ทีที โซล่าร์ จำกัด, บริษัท ที เอส พาวเวอร์ เอ็นเนอจี จำกัด, บริษัท ที เอส ออโต้ เซลส์ จำกัด, บริษัท ไอคอน เอ็นเนอจี จำกัด

บริษัท ไทยซัมมิท คอมโพเน้นท์ จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท เชป คอร์ป จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท พีเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค บางปะกง จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค เอนจิเนียริง จำกัด,

บริษัท ไทยซัมมิท เมจิ ฟอร์จจิ้ง จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท ระยอง โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท วาย-เทค โอโตพาร์ท จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท เอนจิเนียริง จำกัด

บริษัท ไทยซัมมิท โอโต เพรส จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน), บริษัท พรีเมี่ยมสตีล โพรเซสซิ่ง จำกัด, บริษัท โอกิฮาร่า (ประเทศไทย) จำกัด

บริษัท แอคทีฟ แมเนจเม้นท์ เอเชีย จำกัด, บริษัท ซัมมิท โชว่า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), บริษัท วัน โอ ซี คอร์โปเรชั่น จำกัด, บริษัท สาธรฮอนด้าคาร์ส์ จำกัด และบริษัท เอสเอ ออโตโมบิล จำกัด

นอกจากนี้เคยเป็นกรรมการ บมจ.เอ็มลิงค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (กลุ่มนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์) เคย ถือหุ้น บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป

ตัวเลขในงบดุลงบการเงิน กลุ่มไทยซัมมิท มีสินทรัพย์ รวมกว่า ๕ หมื่นล้านบาท

รายได้แต่ละปีรวมกันเกือบแสนล้านบาท

กำไรสุทธิปีละหลายพันล้านบาท (ร่วมหุ้นกับนักลงทุนญี่ปุ่น) อดถูกมองไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นถุงเงินของนายธนาธรในฐานะทายาท...."

ฉะนั้น คำถามคือการลาออกจากไทยซัมมิท ซึ่งเป็นบริษัทครอบครัว นั้นตัดขาดได้จริงหรือ?

เจ้าตัวพูดไว้วันที่ ๑๘ มีนาคมที่ผ่านมาว่า

"เรื่องของไทยซัมมิท กลุ่มบริษัทไทยซัมมิทอยู่ในกลุ่มที่เปิดเสรี ไม่ต้องขอใบอนุญาต คู่แข่งไทยซัมมิทแทบจะไม่มีคนไทยเลย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไทยซัมมิทไม่เคยเข้าไปเป็นคู่สัญญารายใหญ่กับรัฐเลย แทบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นของรายได้ มาจากบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ

ไม่เกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับการทำงานการเมืองของผม

ดังนั้นคือข้อเท็จจริง ตั้งแต่ผมลาออกเมื่อปีที่แล้ว ก็ไม่เคยเข้าไปแทรกแซงการทำงานของผู้บริหารชุดใหม่อีกเลย

หากในอนาคต ไทยซัมมิทจะเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ ก็อยากให้สื่อช่วยกันตรวจสอบ หากผมมีอำนาจในเวลานั้น ผมจะไม่เข้าไปตัดสินใจในเรื่องนั้นๆ ที่เข้ามาเสนอตัวเป็นคู่สัญญาประมูลอะไรก็ตาม

ซึ่งเราไม่มีความตั้งใจเช่นนั้น แต่ผมไม่ได้อยู่ไทยซัมมิทแล้ว คงพูดแทนไทยซัมมิทไม่ได้ อยากให้เข้าใจความมุ่งมั่น เพื่อประเทศไทยจะไม่ไปสู่จุดเดิม

การกระทำไม่ต้องไปเรียกร้องพรรคอื่น แต่เริ่มได้ที่พรรคของผม"

แล้ว "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ทิ้งไทยซัมมิทได้จริงหรือไม่ เพราะเขาเป็นผู้ปลุกปั้นให้ ไทยซัมมิท โกอินเตอร์

และความภาคภูมิใจนั้นยังปรากฏอยู่ใน หน้าเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit ที่โพสต์เอาไว้เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๐

"...พระเจ้าองค์เดียวที่จะช่วยเราได้ในอุตสาหกรรมระดับโลกคือพระเจ้าแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

บ้านเลขที่หนึ่ง ถนนไทยซัมมิท ในรัฐแคนตั้กกี้ คือที่ตั้งของโรงงานผลิตตัวถังรถยนต์แห่งใหม่ของกลุ่มไทยซัมมิท เทคโนโลยีการผลิตโครงสร้างรถยนต์น้ำหนักเบาของเราได้รับการยอมรับจาก Tesla รถยนต์ Tesla Model 3 ใช้ชิ้นส่วนโครงสร้างจากเทคโนโลยีของเรา และทำให้เราสร้างธุรกิจกับ Tesla ได้ปีละ ๑๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ

โครงสร้างที่เบาลงทำให้รถยนต์สามารถวิ่งได้ไกลขึ้นต่อหนึ่งหน่วยพลังงาน นั่นหมายถึงยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้นของโลกมนุษย์

ผู้ว่าการรัฐแคนตั้กกี้เห็นถึงความสำคัญของการจ้างงานคุณภาพและเทคโนโลยีสีเขียว จึงได้มอบถนนไทยซัมมิท หรือ 'Thai Summit Drive' พร้อมกับบ้านเลขที่ ๑ ของถนนเพื่อเป็นเกียรติให้กับเรา ในอนาคตใครมาตั้งสถานประกอบการในถนนนี้ก็ต้องใช้ชื่อของเรา

ไม่ต้องหมอบกราบพระเจ้าองค์ไหน หรือบริจาคเงินให้ผู้วิเศษองค์ใด อนาคตของความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยอยู่ที่ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี..."

ไม่มีใครตอบได้ว่า "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" จะล้างมือจากไทยซัมมิทได้หมดหรือไม่ นอกจากตัว "ธนาธร" เอง

หากทำได้ถือเป็นบุญของประเทศ

แต่มันไม่จบแค่นั้น!

นักการเมืองโอนทรัพย์ ให้คนกลางไปดูแล เป็นเพียงด่านแรก ในการสกัดโกง

โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เข้มงวดกว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐

เข้มขนาดไหน?

เข้มขนาดที่ว่า "สฤณี อาชวานันทกุล" นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการนี้ และพูดถึง "ธนาธร" ในด้านบวกมาตลอด ยังเผลอยอมรับว่า

"รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ วางเกณฑ์เข้มข้นกว่าเดิมอีก โดยมาตรา ๑๘๔ ​ห้าม​ไม่​ให้​ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ถือ​หุ้น​ใน​บริษัท​หรือ​กิจการ​ที่​ได้​รับ​สัมปทาน​จาก​ภาค​รัฐ​หรือ​เป็น​คู่สัญญา​กับ​รัฐ​ทั้ง​ทาง​ตรง​และ​ทาง​อ้อม"

แต่ในอดีตนักการเมืองพลิกแพลงได้มากกว่าที่ประชาชนเห็น

ฉะนั้นแม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะคุมเข้มมากกว่าเดิม นักการเมืองก็ปรับตัวได้แนบเนียนกว่าเดิมเช่นกัน

หากพรรคอนาคตใหม่ชนะถล่มทลาย "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะเกิดอะไรขึ้น

ถือไม่ถือหุ้น ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด

เพราะผลประโยชน์ทับซ้อนที่มาจากนโยบายการเมือง ประเทศไทยผ่านมาแล้ว

เช่นกรณีทักษิณ ปล่อยเงินกู้พม่า เพื่อย้อนกลับมาจัดซื้อจัดหาและพัฒนาระบบโทรคมนาคมจากบริษัทเครือชินคอร์ป

สิ่งที่ได้ยินจากปาก "ธนาธร" ในวันนี้ จะมองว่าเป็นนโยบายเพิ่มรายได้ให้ประเทศก็ได้

อีกมุมมองว่า ส่อผลประโยชน์ทับซ้อนด้านนโยบายก็ได้

นั่นคือการยกเลิก บีโอไอ อาจถูกมองว่าเตะตัดขาคู่แข่งตั้งแต่ยังไม่เป็นวุ้นได้

บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ๆ อาจเกิดยาก หากไม่มีบีโอไอ

"ไทยซัมมิท" ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ

วันนี้ยังไม่มีใครโกง

แต่อนาคตข้างหน้า ไม่มีใครตอบได้

สิ่งที่พึงระวัง การโกงจะพัฒนาไปมาก ชนิดที่คนรุ่นใหม่ไม่มีทางตามทัน หากไม่ศึกษาจากอดีต

ทั้งหมดทั้งมวลจากกรณี "Blind Trust" มีสิ่งหนึ่งที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งพึงตระหนัก

"Blind Trust" แค่เรื่องเล็กๆ ที่ถูกหยิบยกมาเป็นการตลาดทางการเมือง เพื่อโชว์ว่า โปร่งใสกว่าใคร เป็นทิศทางของนักการเมืองรุ่นใหม่

ถ่มถุยการเมืองรุ่นเก่า

สุดท้ายเนื้อในถูกถลกออกมาหมดแล้ว โปร่งใสจนมองไม่เห็น อาจสุ่มเสี่ยงตรวจสอบไม่ได้

และสิ่งที่ "ธนาธร" เอามาโฆษณาชวนเชื่อ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่

สาเหตุอาจเพราะ ไม่ลึกซึ้ง ประสบการณ์น้อย

ทีนี้มาดูสิ่งที่ "ธนาธร" จะทำหลังเลือกตั้ง

แก้ไขรัฐธรรมนูญ

รื้อโครงสร้างกองทัพ

๒ ประเด็นนี้ ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ ต้องศึกษามากกว่าการทำ "Blind Trust" ซึ่งเป็นการจัดการเรื่องส่วนตัว หลายล้านเท่าตัว

ถามว่า...รู้มากพอแล้วหรือยัง

ที่สำคัญได้เตรียมวิธีรับมือกับวิกฤติที่จะตามมาด้วยหรือไม่.

ผักกาดหอม

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"