ธาริตโดนอีกคดี ฎีกาสั่งจำคุก1ปี เด้ง'ปิยะวัฒก์'


เพิ่มเพื่อน    


     "ธาริต" อ่วมอีกคดี ศาลฎีกาพิพากษาแก้ จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ชี้ปฏิบัติหน้าที่มิชอบโยกย้าย "พ.อ.ปิยะวัฒก์-อดีต ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินฯ" ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม เหตุจากความเห็นขัดแย้งกันเรื่องสำนวนคดีใช้อำนาจกลั่นแกล้งส่วนตัว นับเป็นเรื่องร้ายแรง ยกฟ้อง "ชาญเชาวน์" ระบุไม่มีเจตนาทำผิด
     เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.3873/2555 ที่ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อดีต ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นโจทก์ฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ และนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รักษาราชการปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมกันเป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
    กรณีระหว่างวันที่ 30 มี.ค.2555-8 ต.ค.2555 ต่อเนื่องกัน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ จำเลยที่ 1 ขณะนั้น ในฐานะอธิบดีดีเอสไอ และจำเลยที่ 2 ในฐานะรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการทำหนังสือโยกย้ายโจทก์ ซึ่งขณะนั้นเป็น ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ ดีเอสไอ ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะคดี ซึ่งมีระดับต่ำกว่าตำแหน่งเดิม อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
    โดยคดีนี้ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีไม่มีมูลให้ยกฟ้อง แต่ภายหลังโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ประทับฟ้อง
    ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ให้จำคุก 2 ปี และให้ยกฟ้องนายชาญเชาวน์ จำเลยที่ 2 ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองรับราชการมาหลายปี เคยทำคุณงามความดีต่อบ้านเมือง ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี
    วันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวนายธาริต ซึ่งถูกจำคุก 1 ปี ในคดีหมิ่นประมาทนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ กรณีโครงการจัดซื้อจัดจ้างโรงพัก 396 แห่ง ส่วนนายชาญเชาวน์เดินทางมาศาล
    โดยศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2555 นายธาริต จำเลยที่ 1 ทำบันทึกถึงปลัดกระทรวงยุติธรรมขอให้ย้ายโจทก์กับข้าราชการอื่นอีก 4 คน โดยขอให้ย้ายโจทก์จากตำแหน่ง ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ไปดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โจทก์จึงยื่นคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) จน ก.พ.ค.มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2555 ว่าการย้ายโจทก์เป็นการย้ายที่ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าเดิม ไม่ใช่การย้ายประจำปี
     ส่วนกรณีที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ถูกตั้งกรรมการสอบส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. หาได้เป็นเหตุให้คู่กรณีมีอำนาจย้ายโจทก์ให้ไปดำรงตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิมโดยไม่ยินยอม ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์อยู่ระหว่างดำเนินการทางวินัย หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญา จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คู่กรณียกเลิกคำสั่งดังกล่าว ต่อมาเมื่อนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้รับทราบคำสั่ง จึงมีคำสั่งยกเลิกย้ายโจทก์
    คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องแก้ไขคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพนั้น จำเลยที่ 1 มิอาจกระทำได้ เพราะการแก้ไขคำให้การต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิอาญา มาตรา 163 วรรคสอง แต่อย่างไรก็ดี เมื่อจำเลยยื่นคำร้องดังกล่าว ถือว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่ากระทำผิดตามฟ้อง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องจึงฟังไม่ขึ้น
    ปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 นายชาญเชาวน์ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าก่อนที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมเดินทางไปราชการ ได้มีหนังสือให้จำเลยที่ 1 แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการขอย้ายข้าราชการ จำเลยที่ 1 ทำหนังสือชี้แจงเหตุผลประกอบการพิจารณาวันที่ 20 เม.ย.2555 จำเลยที่ 2 ในฐานะรักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรมได้ลงนามคำสั่งย้ายโจทก์ ซึ่งได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 เป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมที่อาวุโสลำดับ 1 แต่มิได้รับผิดชอบดูแลงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษโดยตรง เพราะมีนางสุรีย์ประภา ตรัยเวช รองปลัดกระทรวงอีกคนดูแล ดังนั้นเมื่อปลัดกระทรวงยุติธรรมไม่อยู่ และไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รักษาการแทน 
    การที่จำเลยได้ลงนามในคำสั่งย้ายนั้น เป็นคำสั่งย้ายโจทก์กับข้าราชการอื่นอีก 4 รายมิใช่เป็นการย้ายโจทก์คนเดียว โดยก่อนลงนามได้มีการเรียก น.ส.ฉวีวรรณ แสนทวี นักทรัพยากรบุคคลชำนาญงานพิเศษ รักษาการแทน ผอ.กองการเจ้าหน้าที่ ซึ่งทำหนังสือขอย้ายเข้าไปสอบถาม และได้รับการชี้แจงยืนยันว่าสามารถทำได้ไม่ขัดต่อกฎหมายระเบียบข้อบังคับที่ใช้อยู่ ซึ่ง น.ส.ฉวีวรรณก็ได้มาเบิกความต่อศาลทำนองเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ใช้ความระมัดระวังในการลงนามคำสั่งย้ายดังกล่าวแล้ว ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
    ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองโดยไม่รอการลงโทษเมื่อฟังได้ว่า จำเลย 2 ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องตามที่วินิจฉัยมาแล้ว จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่เท่านั้น เห็นว่าแม้การออกคำสั่งย้ายข้าราชการจะเป็นเรื่องภายในหน่วยราชการ เป็นดุลพินิจของผู้มีอำนาจตามกฎหมายกำหนด แต่การใช้ดุลพินิจต้องเป็นไปตามหลักการที่กำหนดโดยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยต้องยึดเหตุผลความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของราชการและพัฒนาข้าราชการเป็นหลัก การใช้อำนาจต้องไม่เป็นตามอำเภอใจหรือมีลักษณะกลั่นแกล้ง ลำเอียง มีอคติ เพราะนอกจากไม่เป็นประโยชน์แก่ทางราชการแล้ว ยังอาจก่อเกิดความเสียหายแก่ข้าราชการนั้นๆ ได้ 
    การที่จำเลยที่ 1 เสนอขอย้ายโจทก์ด้วยสาเหตุความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องสำนวนคดี โดยไม่ดำเนินการไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเสนอย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งที่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม อันเห็นได้ว่าเป็นการใช้อำนาจไปในทางกลั่นแกล้งโจทก์ด้วยสาเหตุส่วนตัวมากกว่าที่จะคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการ พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้ ที่ศาลอุทธรณ์รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนดโทษ 2 ปี เป็นโทษที่หนักไป เห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการกระทำผิด
    พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษ และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"