หวังรัฐบาลใหม่ สานต่อนโยบาย หวั่นเสียงปริ่มนํ้า


เพิ่มเพื่อน    

     ภาคเอกชนเชื่อ “พลังประชารัฐ” จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพราะมีเสียง ส.ว. 250 เสียงหนุน เชื่อจะช่วยสานต่อนโยบายได้ “นักลงทุน-คลัง” รับน่าห่วงหากเสียงรัฐบาลปริ่มน้ำ ชี้หากรวมได้  280 ขึ้นไปต่างชาติพาเหรดลงทุนแน่
เมื่อวันจันทร์ ภาคเอกชนต่างแสดงความเห็นถึงผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)  เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พอใจกับผลการเลือกตั้งที่เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ซึ่งในอีก 1-2 วันจะทราบความชัดเจนเรื่องผลคะแนนมากขึ้น และภายใน 2-3 สัปดาห์จะทราบว่ารัฐบาลหน้าตาเป็นอย่างไร โดยอยากให้รัฐบาลเดินหน้าต่อเนื่องมีเสถียรภาพ ไม่มีเหตุขัดแย้ง เพราะความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ
     “นโยบายที่อยากให้ขับเคลื่อนคือโครงการใหญ่ๆ เช่น สนามบินอู่ตะเภา และนโยบายพัฒนาในภูมิภาค” นายกลินท์กล่าว
      ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะนอกจากคะแนนเสียงที่ได้มามากแล้ว  ยังมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่สนับสนุน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถสานต่อนโยบายต่างๆ และช่วยให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจในประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิม 
“เศรษฐกิจไทยในภาพรวมภายหลังการเลือกตั้งจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะการที่ไทยผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว นักลงทุนทั้งในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศจะยอมรับมากขึ้น ด้านโครงการลงทุนขนาดใหญ่และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะได้รับการสานต่อ เพราะเป็นโครงการที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยมั่นคงยั่งยืน” นายสุพันธุ์กล่าว
      นายสุพันธุ์ยอมรับว่า ในเรื่องตัวเลขจีดีพีประเทศและการส่งออกปีนี้เชื่อว่ายังไม่ดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกไม่ดี สงครามการค้ายังมีอยู่และเป็นอุปสรรคในการส่งออก ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยใหม่อีกครั้งสัปดาห์หน้า แต่จากที่คนไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรมากกว่าภาคส่งออก จึงเชื่อว่าบรรยากาศทางเศรษฐกิจภายในประเทศน่าจะดีขึ้น ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันคือ หาแนวทางเพิ่มรายได้ประชากรต่อหัวต่อปีมากขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้นและมีชนชั้นกลางมากขึ้น
    “สิ่งที่อยากได้จากรัฐบาลคือ การทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนเข้มข้นยิ่งขึ้นผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) ส่วนสิ่งที่น่าห่วงคือ การยอมรับผลการเลือกตั้ง ซึ่งหากไม่ถึงขึ้นออกมาทำลายทรัพย์สินหรือออกมาประท้วงก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง” นายสุพันธุ์กล่าว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งสะท้อนความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ต้องการการเมืองที่มีเสถียรภาพ โดยมีโอกาสสูงที่พรรค พปชร.จะรวบรวมเสียงสนับสนุนได้เกิน 250 เสียง เมื่อรวมกับเสียงของ ส.ว.อีก 250 เสียงจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะกำหนดนโยบายเศรษฐกิจใหม่ออกมาได้เร็ว  โดยไม่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เพราะจะเห็นว่าพื้นฐานนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้นั้นไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความพยายามทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี  การเพิ่มรายได้ การเพิ่มสวัสดิการสังคมหรือลดต้นทุนในการดำรงชีวิตด้านต่างๆ 
      “แม้เป็นรัฐบาลผสมแต่เชื่อว่าจะจับมือร่วมกันได้ เพราะนโยบายแต่ละพรรคการเมืองมุ่งเน้นไปที่เพิ่มรายได้ให้ประชาชน ดูแลเกษตรกร ให้โอกาสคนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยภายใน 2 เดือนนี้จะเห็นความชัดเจนของรัฐบาลและนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน“ นายธนวรรธน์กล่าว
    สำหรับภาวะตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 25 มี.ค.นั้นเคลื่อนไหวในแดนลบเป็นหลัก โดยปิดที่ระดับ  1,625.91 จุด ลดลง 20.38 จุด หรือเปลี่ยนแปลง 1.24% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 47,064.83 ล้านบาท  แตะจุดสูงสุดที่ 1,636.93 จุด และจุดต่ำสุดที่ 1,617.89 จุด โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,642.45  ล้านบาท กองทุนขายสุทธิ 856.76 ล้านบาท บริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1,188.68 ล้านบาท และรายย่อยซื้อสุทธิ 3,687.90 ล้านบาท
    นายประกิต สิริวัฒนเกตุ นักวิเคราะห์อิสระ กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงตลอดวัน โดยปัจจัยในประเทศมาจากผลของการเลือกตั้ง แต่คาดว่าหลังจากรู้ว่ารัฐบาลชุดใหม่และแนวทางการดำเนินนโยบายเป็นอย่างไร จะส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงกังวลกับปัจจัยภายนอกประเทศในเรื่องของเศรษฐกิจชะลอตัว 
    นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า นักลงทุนในตลาดทุนและตลาดเงินยังคงติดตามการประกาศผลการเลือกตั้งทางการอยู่ว่าแต่ละพรรคมีเสียงเป็นอย่างไร  และใครเป็นเสียงข้างมากที่ได้จัดตั้งรัฐบาล โดยประเด็นที่สำคัญสุดคือจำนวน ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลจะออกมาเป็นอย่างไร หากเกิน 250 เสียงเล็กน้อยก็จะยังสร้างความกังวลต่อนักลงทุนว่าจะบริหารประเทศ ขับเคลื่อนนโยบาย ทำให้เกิดความมั่นคงทางการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งจำเป็นต้องเร่งออก เนื่องจากการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกน่าจะโตได้ต่ำกว่า  4%
“นักลงทุนมองกันว่าหากรัฐบาลมีฐานเก้าอี้ ส.ส.เกิน 280 เสียงจึงจะถือว่ามีเสถียรภาพระดับหนึ่ง  แต่ถ้าเกิน 300 เสียงก็ถือว่ายิ่งดีและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนได้ แต่ถ้าน้อยกว่านั้น 260-270 เสียง ก็อาจเกิดความกังวล เพราะต้องไม่ลืมว่าในการพิจารณาในรัฐสภาจะมีบางตำแหน่งไม่สามารถลงคะแนนโหวตได้ หรือบางที ส.ส.มาไม่ได้ก็จะมีปัญหาต่อการโหวตผ่านการบริหารบ้านเมืองทันที” นายเชาว์กล่าว
     รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง (กค.) แจ้งว่า กค.ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  (สศค.) เร่งประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งเพื่อจัดทำแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงจัดทำเป็นข้อเสนอรายงานเศรษฐกิจให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณา หลังพบว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 จะเติบโตแบบชะลอตัวไม่ถึง 4% 
     “เบื้องต้นประเมินว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมาโดยมีคะแนนใกล้เคียงกัน ไม่ได้ส่งผลทางบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมุมมองความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อการจัดตั้งรัฐบาล เพราะแม้มีพรรคการเมืองได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่ก็ไม่มากพอที่จะสร้างเสถียรภาพในการขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจหรือการออกกฎหมายต่างๆ ออกมา ซึ่งเดิมทีได้ประเมินว่าถ้าการเลือกตั้งจบและมีพรรคใดพรรคหนึ่งมีคะแนนนำ หรือเป็นคนจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากชัดเจน จะทำให้ภาคการลงทุนทั้งในและต่างประเทศกลับมาเชื่อมั่นและมีการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังได้ แต่ในวันนี้ถ้าคนจัดตั้งรัฐบาลมีเสียงเกินไม่มากพอก็ยังจะมีความกังวลต่อเศรษฐกิจโดยรวมสูงอยู่” รายงานข่าวระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"