“หอการค้า”แจงโชห่วยแบกหนี้ ถูกโมเดิร์นเทรด-ค้าออนไลน์เบียด


เพิ่มเพื่อน    

 

27 มี.ค. 2562 นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพผู้ประกอบการร้านโชห่วย ว่า ข้อมูลจากสำนักส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ร้านค้าปลีกดั้งเดิม หรือร้านโชห่วย มีจำนวน 3.95 แสนราย กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ประสบปัญหาคล้ายกัน คือ มีคู่แข่งใหม่ ทั้งร้านค้าปลีกขนาดเล็ก-ใหญ่ ค้าขายออนไลน์ และโมเดิร์นเทรด ต้องเผชิญกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ขาดประสิทธิภาพด้านการตลาด บัญชี การบริหารจัดการพื้นที่ขายสินค้า ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น และรายได้ลดน้อยลง

ทั้งนี้ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการร้านโชห่วย 1,246 ราย พบว่า จากกลุ่มตัวอย่าง 61.7% ระบุว่า มีรายได้จากการขายสินค้าในร้านเท่านั้น ส่วน 38.3% มีรายได้เสริมจากบริการอื่นๆ ด้วย เช่น ตู้หยอดเหรียญ เติมเงินมือถือ รับชำระบิล ถ่ายเอกสาร/รับ-ส่งแฟกซ์ และอื่นๆ เป็นต้น ด้านการออมนั้น เฉลี่ย 7.28 พันบาทต่อเดือน ซึ่ง 59.16% ออมทุกเดือน และผลสำรวจความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจโชห่วยกับคู่แข่งในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แข่งขันได้น้อย  เมื่อเทียบกับการขายออนไลน์  ร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ และโมเดิร์นเทรด ทั้งในเรื่องราคาสินค้า บริการ สภาพสินค้า เป็นต้น

“แม้จะแข่งขันได้น้อย แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการร้านโชห่วย 24.48% ไม่มีการปรับตัวใดๆ เลย เพราะคิดว่า ไม่มีความจำเป็น และมีทุนจำกัด  และอีก 39.77% มีปรับตัวน้อย เพราะบอกว่ามีลูกค้าเก่าอยู่แล้วกับไม่มีทุนจะพัฒนา ส่วน 22.62% ปรับตัวระดับปานกลาง พัฒนาสินค้าและบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า ขณะที่ มีเพียง 13.12% ปรับตัวอย่างมากเพื่อจะยกระดับธุรกิจ ปรับเปลี่ยนร้านให้ทันสมัย สร้างความประทับใจแก่ลูกค้า  เช่น ปรับปรุงร้านใหม่  เพิ่มโปรโมชั่นหรือบริการเสริมต่างๆ  มีการระบุราคาที่ชัดเจน และมีสินค้าหลากหลาย ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเสมอ” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า กลุ่มตัวอย่าง 23.97% มีการค้าขายออนไลน์เสริม เพราะเห็นถึงพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป ส่วน  76.03% ยังไม่มีการขายออนไลน์เสริม จากเหตุผล เช่น มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ยอดขายดีอยู่แล้ว ไม่รู้ทำอย่างไร  คิดว่าสินค้าที่ขายไม่โดดเด่น และกลัวถูกโกง เป็นต้น ด้านสถานภาพธุรกิจร้านโชห่วยในปัจจุบันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่บอกว่า ยอดขายเท่าเดิม และคิดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้ายังเท่าเดิม  เมื่อถามถึงสาเหตุที่ธุรกิจได้การตอบรับดีจากลูกค้า ได้แก่ สินค้าได้มาตรฐาน พนักงานบริการดี สินค้าราคาเหมาะสม สินค้าหลากหลาย และหาง่าย ตามลำดับ

สำหรับต้นทุนในการทำธุรกิจร้านโชห่วยนั้น มาจากค่าสินค้า ค่าเช่า ค่าบริหารจัดการ ค่าแรง ค่าขนส่ง รวมเฉลี่ยที่ 2.17 หมื่นบาทต่อเดือน  โดย 53.13% มีภาระหนี้สิน เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 4.62 แสนบาท อัตราผ่อนชำระเฉลี่ย 1.16 หมื่นบาทต่อเดือน  แยกเป็นหนี้ในระบบจากสถาบันการเงิน 2.18 แสนบาท ผ่อนชำระต่อเดือน 3.75หมื่นบาท และเป็นหนี้นอกระบบจากการกู้ยืมนายทุน ญาติ พี่น้อง หรือแชร์ 3.47 แสนบาท ผ่อนชำระต่อเดือน  5.75 พันบาท  โดย ภาระหนี้ทั้งในและนอกระบบเพิ่มขึ้นจากเหตุผล เช่น นำไปขยายธุรกิจ ใช้เป็นทุนหมุนเวียน ซื้อสินค้า ชำระเงินกู้ ลงทุนเริ่มธุรกิจใหม่  เป็นต้น   ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่บอกว่า ภาระหนี้ดังกล่าวส่งผลกระทบด้านลบต่อการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ ในส่วนของความต้องการสินเชื่อ และการเข้าถึงสินเชื่อ ผู้ประกอบการร้านโชห่วย 38.13% ประเมินศักยภาพเข้าถึงได้มาก ซึ่งภายใน 1 ปีนี้ จำนวน 47.99% มีความต้องการสินเชื่อ และแทบทั้งหมดต้องการสินเชื่อในระบบ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ และชำระหนี้ วงเงินเฉลี่ยที่ต้องการ คือ 1.82 แสนบาท โดย 57.06% บอกว่าสามารถกู้ในระบบได้ แต่ 42.94% คิดว่าไม่สามารถจะกู้เงินในระบบได้ เพราะหลักประกันไม่พอ  ไม่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางบัญชี  โครงการไม่เป็นที่สนใจของธนาคาร เป็นกิจการใหม่ และไม่ผ่านการอนุมัติจากธนาคาร เป็นต้น

ด้านความต้องการให้สถาบันการเงินปรับปรุงเกี่ยวกับสินเชื่อ คือ ปรับลดดอกเบี้ย ขั้นตอนเงื่อนไขในการกู้  ระยะในการอนุมัติ หลักทรัพย์ค้ำประกัน  ส่วนสิ่งที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ได้แก่ 1.กระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจรวมไปถึงความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น   2.การลดต้นทุน การตั้งราคา และการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าหรือวัตถุดิบ 3.การพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรให้มีความสามารถและทันสมัย และ 4.ด้านการเกษตร เช่น แหล่งน้ำ คลองชลประทาน ราคาสินค้าเกษตร  ส่วนข้อเสนอแนะ และสิ่งที่ต้องการได้รับจาก ธพว. ได้แก่ ลดขั้นตอนในการทำธุรกรรม เช่น 1.การยื่นเอกสาร ข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ  2.ลดอัตราดอกเบี้ยในการปล่อยกู้ 3.ปล่อยเงินกู้ระยะยาว สนับสนุนเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการและอาชีพต่างๆ และ 4.มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ความรู้ความเข้าใจ และบุคลากรในองค์กร


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"