คลัง-เอกชนห่วง รัฐบาลใหม่มาช้า กระทบการลงทุน


เพิ่มเพื่อน    


    “คลัง” รับรัฐบาลใหม่ยืดเยื้อกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ แต่ไม่กระทบงานภายในประเทศ เพราะ “รัฐนาวาลุงตู่” มีอำนาจเต็ม “โบรกเกอร์” เสียงแตก ฝ่ายหนึ่งคาดหน้าใหม่บริหารประเทศจะดึงเงินต่างชาติ ส่วนอีกค่ายมองคนเดิมสานต่อเมกะโปรเจ็กต์ได้ดี
    เมื่อวันที่ 28 มี.ค. นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังไม่กังวลกรณีการตั้งรัฐบาลใหม่จะยืดเยื้อ เพราะรัฐบาลปัจจุบันยังมีอำนาจเต็มในการบริหารราชการ ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ก็ไม่มีปัญหา เนื่องจากรับหลักการไปแล้ว และเตรียมเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ส่วนการทำงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ค่อยมาว่ากันใหม่ แม้ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรก็ยังมีกฎหมายรองรับให้ใช้งบประมาณปีก่อนไปพลางๆ ได้ ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีงบประมาณมาดูแลประเทศ
    “สศค.อยู่ระหว่างติดตามผลการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยอยากให้มีความชัดเจนโดยเร็ว เพราะหากยืดเยื้อก็จะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงตลาดเงินตลาดทุนอยู่บ้าง แต่ก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหามา เพราะรัฐบาลปัจจุบันยังมีอำนาจเต็มในการดูแลเศรษฐกิจ” นายวโรทัยกล่าวและว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ได้มอบหมายให้ สศค.ทำการประเมินและจัดเตรียมแผนรองรับเศรษฐกิจไว้ล่วงหน้าแล้ว 
    ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า ขณะนี้การเมืองในประเทศไทยถือเป็นประเด็นที่ตลาดหุ้นไทยให้น้ำหนัก แม้อาจมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ภาพรวมยังมีมุมมองเป็นบวก เพราะมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง โดยประเมินว่าทิศทางตลาดหุ้นไทย ไตรมาส 2 ปี 2562 จะปรับตัวดีขึ้น หากมีการรับรองผลการเลือกตั้งตามกรอบเวลาภายในวันที่ 9 พ.ค. และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จะช่วยสนับสนุนกระแสเงินทุนต่างชาติและตลาดหุ้นไทย
    นายเทิดศักดิ์กล่าวว่า ช่วงเดือน พ.ค.ยังต้องติดตาม หลังจากรวบรวมรัฐบาลได้จะมีเปิดประชุมรัฐสภาภายในวันที่ 24 พ.ค. เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี โดยประเมินว่ากรณีดีที่สุดคือคะแนนเสียงรัฐบาลใกล้เคียงหรือมากกว่า 300 คะแนน จะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ กรณีระดับกลางคะแนนเสียงไม่ขาดหรือประมาณ 250 ต่อ 260 จะทำให้การเมืองอาจไม่มีเสถียรภาพ เพราะต้องถกกันเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ และกรณีเลวร้ายสุดคือไม่สามารถเปลี่ยนผ่านรัฐบาลทหารมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้ ซึ่งจะสร้างความกังวลแก่ตลาดอีกครั้ง
    "พ.ค.นี้ต้องรู้แล้วว่าหลายพรรคที่ยังกั๊กอยู่จะอยู่กับใคร และกระแสเงินทุนต่างชาติคงเริ่มเห็นการไหลเข้าได้หากภาพการเมืองชัด แต่หากไม่จบคงกดดันหนักเช่นกัน โดยผลการเลือกตั้งตามระบบจัดสรรปันส่วนผสม ส่งผลให้ ส.ส.กระจายตัวค่อนข้างมาก ทำให้เกิดขั้วทางการเมืองที่มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น จึงเกิดปรากฏการณ์แย่งกันจัดตั้งรัฐบาล ทำให้รัฐบาลรอบนี้มีอุปสรรคมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา" นายเทิดศักดิ์กล่าว
    น.ส.ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยหลังการเลือกตั้งน่าจะยังเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ จนกว่าจะทราบผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พ.ค. และการจัดตั้งรัฐบาลจะยังไม่ได้ข้อสรุปจนถึงปลายเดือน พ.ค.ถึงต้นเดือน มิ.ย.ทำให้ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งหากเป็นรัฐบาลชุดเดิมก็จะมีความต่อเนื่องในการสานต่อนโยบายเดิม โดยเฉพาะโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้ตลาดตอบรับในเชิงบวกได้ แต่หากตรงกันข้าม ตลาดน่าจะผันผวนในระยะสั้น เนื่องจากความกังวลในความต่อเนื่องของนโยบายหรือมีความล่าช้าในการดำเนินการ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"