อึดอัดจัดรัฐบาลส่อยืดเยื้อ เอกชนแช่แข็งลงทุนถึงพค.


เพิ่มเพื่อน    

    ส.อ.ท.หวั่นความไม่ชัดเจนทางการเมืองจุดชนวนความขัดแย้ง รับแช่แข็งการลงทุนไปอีก 2เดือน รอความชัดเจนจัดตั้งรัฐบาล พ.ค.นี้ เผยอยากได้รัฐบาลโปร่งใส ไม่คอร์รัปชัน "แบงก์ชาติ" ชี้ใครเป็นรัฐบาลก็ได้ แต่อย่าเกิดความวุ่นวายบนถนน อาจฉุดเศรษฐกิจไทยดิ่ง 
    เมื่อวันพฤหัสบดี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศในขณะนี้ที่ยังไม่มีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลว่า เบื้องต้นส่งผลกระทบในแง่จิตวิทยา ทำให้คนหงุดหงิด ไม่สบายใจชัดเจนมากขึ้น เพราะมีพรรคการเมืองที่เชียร์กันไว้อยู่ในใจ เป็นชนวนปัญหาที่ทำให้เรามีโอกาสจะทะเลาะกันได้ง่าย ซึ่งภาคเอกชนไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะประเทศไทยเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาแล้ว
    สำหรับผลกระทบที่มีต่อภาพรวมการลงทุนนั้น ขณะนี้ทุกอย่างยังไม่ได้หยุดชะงัก และยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เพราะไม่เกิดเหตุการณ์ออกมาประท้วงหรือเกิดความวุ่นวายจนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน เช่น ออกจากบ้านไม่ได้ ทำธุรกิจไม่ได้ แต่ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนที่ชะลอออกไป 2 เดือน โดยเฉพาะการลงทุนใหม่ที่ยังมีความหวัง จะได้เห็นการจัดตั้งรัฐบาลไทยมีความชัดเจนภายในเดือน พ.ค.2562
    “หากปล่อยให้สถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อไปนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ยอมรับว่าจะทำให้ภาคเอกชนและคนในสังคมรู้สึกอึดอัด การดำเนินนโยบายจากภาครัฐขาดความต่อเนื่องในบางโครงการ ยกเว้นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีการเปิดประมูลให้ภาคเอกชนดำเนินการไปแล้ว การจับจ่ายใช้สอยก็มีโอกาสที่จะชะลอตัวตามไปด้วย” นายสุพันธุ์กล่าว
    ประธาน ส.อ.ท.กล่าวอีกว่า ภาคเอกชนมองว่าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้แล้วก็คงมีเวลาเข้ามาทำงานได้ไม่นาน เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่อง ส.ส.ที่เป็นตัวแปรสำคัญทำให้การทำงานของรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งเชื่อว่าในช่วงเวลาที่มีโอกาสเข้ามาทำงานเพียงเวลาน้อยนิด รัฐบาลก็น่าจะเร่งสร้างผลงานให้ได้มากที่สุด และทำงานด้วยความโปร่งใส เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับรัฐบาลเองได้รับความไว้วางใจ ได้กลับมาบริหารประเทศอีกครั้งในโอกาสต่อไป
    นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้น สะท้อนการเมืองที่มีเสถียรภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ มีส่วนที่ทำให้เศรษฐกิจที่เคยชะลอตัวปรับตัวดีขึ้น ภาคเอกชนสามารถแข่งขันได้ ถ้าไม่มีปัญหาการเมืองหรือปัจจัยเสี่ยงเข้ามาส่งผลกระทบ ภาคธุรกิจ ก็สามารถเดินหน้าไปได้ต่อเนื่อง จึงอยากได้พรรคการเมืองที่โปร่งใสเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ปราศจากคอร์รัปชัน มีนโยบายชัดเจน ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม พร้อมกับลดขนาดของหน่วยงานราชการ เพื่อให้ข้าราชการมีรายได้สูงขึ้น และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    “ถ้าประเทศไทยไม่มีปัญหาคอร์รัปชัน เชื่อว่าบ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองได้ เพราะนโยบายแต่ละพรรคการเมืองเป็นนโยบายที่ดี ตัวอย่างรัฐบาลในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ที่มีนโยบายที่ดี ทำงานได้รวดเร็วเหมือนภาคเอกชน แต่ตายเพราะคอร์รัปชัน สิ่งสำคัญคือ ถ้าขั้วใหม่ที่เข้ามาเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้เข้ามีเปลี่ยนแปลงหลักการดำเนินนโยบายหลัก ก็ไม่ได้ส่งกระทบต่อภาพรวมการลงทุน แต่หากเป็นมีการดำเนินนโยบายประชานิยม ก็ต้องหารือกระทรวงการคลังว่าจะมีงบประมาณที่เพียงพอ คุ้มค่าต่อการดำเนินนโยบายหรือไม่" นายสุพันธุ์กล่าว
    ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คงต้องติดตามเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง แม้ยังไม่มีความชัดเจนทางการเมือง แต่มองว่ารัฐบาลใหม่มาจากพรรคการเมืองใดก็ได้ เนื่องจากมีนโยบายการบริหารประเทศที่ไม่แตกต่างกัน เช่น การดูแลผู้มีรายได้น้อย หรือโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ยังลงทุนต่อ หากรัฐบาลใหม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องที่ระดับ 3.8-4% ก็มีโอกาสสูงที่ประเทศไทยจะได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิตเรตติ้ง) เพิ่มขึ้น
    "คงเร็วไปที่จะประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร เพราะครั้งนี้รัฐบาลใหม่จะเป็นพรรคผสม แม้เกิดการถกเถียงเรื่องนโยบายกันก็ยังเกิดขึ้นในสภา ที่เป็นประชาธิปไตยอยู่ แต่หากปัญหาการเมืองเกิดขึ้นนอกสภา และมีความวุ่นวายบนท้องถนนเหมือนที่ผ่านๆ มา ก็อาจเป็นความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย”
    ทั้งนี้ บริษัท สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ยังคงติดตามเศรษฐกิจไทย หากรัฐบาลใหม่มีนโยบายต่อเนื่อง ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังมีมุมมองการเติบโตที่ดี สำหรับ ธปท.ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี แม้ปีนี้ได้ปรับลดจีดีพีลงเหลือ 3.8% ก็ตาม แต่ยังคงขยายตัวอยู่ในระดับที่เหมาะสม เศรษฐกิจไทยปีนี้ เชื่อว่าจะมาจากการลงทุนภาครัฐและเอกชน รวมถึงการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้เบื้องต้นประเมินว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะแล้วเสร็จช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.62 ก็ตาม แต่รัฐบาลปัจจุบันยังมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศอยู่ ทำให้เศรษฐกิจไทยยังขับเคลื่อนได้
    นายศิริ การเจริญดี ประธานคณะกรรมการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการมี 3 ส่วน ได้แก่ การเมืองต้องมีความชัดเจนและบริหารประเทศให้ลงตัว, ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง ผ่านมาตรการของรัฐที่นำมาใช้ต้องมีเหตุและผลที่คำนึงถึงการขยายตัวของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ที่ต้องเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามแผนงานที่กำหนดไว้ รวมถึงการใช้งบประมาณให้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทุกสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้ความสนใจ 
    “ทุกสถาบันเครดิตเรตติ้งไม่สนใจว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล แต่ให้ความสำคัญของความสามารถบริหารเศรษฐกิจที่ดีมากกว่า หากทำได้ดีก็จะส่งผลดีต่อการจัดเครดิตเรตติ้งของประเทศปรับเพิ่มขึ้น ช่วยดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศ และจากการพูดคุยกับเอสแอนด์พี ยังคงมั่นใจในประเทศไทย และเชื่อว่าทุกปัญหามีทางออก แต่ยังติดตามปัญหาทางการเมืองอย่างใกล้ชิด” นายศิริกล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"