‘ณัฏฐพล’เฉ่ง ‘ก๊วนด่ากกต.’ มั่วผลเลือกตั้ง


เพิ่มเพื่อน    

  "ณัฏฐพล" ตอกก๊วนเอาแต่ด่า กกต. ชี้คะแนนที่เพิ่มขึ้น 4 ล้านใบ เพิ่มทุกพรรค ยันพลังประชารัฐได้น้อยกว่าเพื่อไทย อนาคตใหม่ ขณะที่แก๊งเดิมออกล่าชื่อถอดถอน กกต. อ้างใช้อำนาจขีดกฎหมาย ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง

    นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้ความเห็นกรณีการประกาศผลการนับคะแนนล่าสุดของ กกต.ว่า โดยปกติพรรคการเมืองใหญ่แทบทุกพรรค และ ส.ส.ที่ลงสมัครในเขตนั้นๆ ลงทุนลงแรงมากในการหาเสียงแต่ละครั้ง ดังนั้น ทุกครั้งหลังการลงคะแนนเสียง ปิดหีบ ก็จะมีการส่งคนหรือตัวแทนไปเฝ้าดูการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งทุกหน่วยแบบไม่กะพริบตา เฝ้าจดคะแนน และแทบจะเป็นคะแนนที่ส่งเข้าพรรคในทันที 
    "จะแพ้ หรือชนะ น่าจะทราบและเห็นผลกันชัดเจนในระดับหน่วยเลือกตั้งย่อยนั้นๆ โดยข้อมูลทั่วไป ก็จะมีใครได้คะแนนเท่าไหร่ มีคนมาใช้สิทธิ์ บัตรดี บัตรเสีย นี่คือคะแนนดิบระดับหน่วยเลือกตั้ง ที่คนจากทางแต่ละพรรคกับ กกต.เขตตรงกัน หรือคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงเห็นว่าทุกพรรคการเมืองก็จะมีคะแนนที่ใกล้เคียงกับ กกต.อย่างไม่ต้องสงสัย ยกเว้นเขตที่คะแนนพรรคที่ส่งเข้ามามีชนะกลายเป็นแพ้ ทาง ส.ส.ผู้สมัครและพรรคนั้นๆ ก็จะร้องเรียนทันทีเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง"
    รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐระบุว่า หลังปิดหีบลงคะแนน 24 มี.ค.ที่ผ่านมา กกต.แถลงผลการลงคะแนน 95% ว่ามีผู้มาใช้สิทธิ 65.96% รวมจำนวน 33,775,230 คน และเมื่อวันที่ 28 มี.ค. กกต.แถลงผลการลงคะแนน 100% โดยผู้มาใช้สิทธิเพิ่มขึ้นเป็น 74.69% จำนวนเพิ่มเป็น 38,268,375 คน 4 วัน มีบัตรเพิ่มเติมเข้ามา 4,493,145 ใบ โดยมีสัดส่วนคะแนนแต่ละพรรคดังนี้
    พรรคพลังประชารัฐจาก 7.94 เป็น 8.43 เพิ่ม 6.23%, พรรคเพื่อไทย จาก 7.4 เป็น 7.9 เพิ่ม 6.71%,   พรรคอนาคตใหม่ จาก 5.87 เป็น 6.27 เพิ่ม 6.74% และพรรคประชาธิปัตย์ จาก 3.7 เป็น 3.95 เพิ่ม 6.57% ซึ่งสัดส่วนคะแนนก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก ทุกพรรคก็เฉลี่ยเพิ่มคะแนนกันอย่างความน่าจะเป็น 
    นายณัฏฐพลระบุว่า ขออย่าพยายามใช้ประเด็น การเพิ่มขึ้นมาของคะแนนนั้นเป็นประเด็นการเมือง เพราะสัดส่วนคะแนนที่เพิ่มของพรรคพลังประชารัฐได้น้อยกว่าทั้งพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ 
    นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า เหตุผลที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยต้องดำเนินการตั้งโต๊ะเพื่อขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ร่วมกันเข้าชื่อเพื่อดำเนินการถอดถอน 7 กกต. ให้ออกจากตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 234 (1) บัญญัติ ในข้อหา “จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย” นั้น มีประเด็นข้อกล่าวหา กกต. ทั้งหมด 9 ประเด็น ดังนี้
 9 ข้อถอดถอน กกต.
          1) วินิจฉัยบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากนิวซีแลนด์ไม่ถูกต้องตาม ม.114 พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.2561 ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย “ทุกสิทธิทุกเสียงมีคุณค่า” เป็นการลิดรอนสิทธิการเลือกตั้งของคนไทยทั้งในและต่างแดนโดยชัดแจ้ง
          2) มีการเลื่อนและประวิงเวลาการนับและประกาศผลคะแนนไม่เป็นไปตาม ม.117 พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.2561 แถมมีคะแนนเพิ่มขึ้นมาอีก 4.4 ล้านใบโดยไม่สมเหตุสมผล
          3) กล่าวอ้างว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงกับยอดบัตรที่ใช้นั้นอาจเกิดจาก “บัตรเขย่ง” ซึ่งไม่มีปรากฏในกฎหมายใดๆ
         4) ไม่ดำเนินการเอาผิดผู้ที่ทำให้บัตรเลือกตั้งจากนอกราชอาณาจักรมาล่าช้า และไม่ได้เอาผิดผู้ที่ทำให้ยอดบัตรไม่ตรงกับผู้มาใช้สิทธิ เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตาม ป.อาญา ม.157 
          5) ไม่สั่งการตาม ม.57 วรรคสอง พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ให้พรรคการเมืองหาเสียงโดยต้องแจ้งที่มาของเงินที่ต้องใช้ตามนโยบาย, ความคุ้มค่าและประโยชน์, ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียง
          6) ไม่ดำเนินการเอาผิดผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคน-ทุกพรรคการเมือง ฐานแจ้งความเท็จ ตาม ป.อาญา ม.137 กรณีที่ยื่นใบสมัครเป็น ส.ส. ทั้งๆ ที่รู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม
          7) ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนในการจัดการเลือกตั้งไปหลายพันล้านบาท แต่ผลที่ได้กลับไม่คุ้มค่าและไม่มีประสิทธิผล ขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ถูกสังคมตำหนิว่า จัดการเลือกตั้งผิดพลาด ล้มเหลว และไม่แสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก
          8) จัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ก่อให้เกิดการผิดพลาด บัตรเลือกตั้งถูกส่งไปสลับหน่วย สลับเขต ทำให้ตรวจสอบไม่ได้ ไม่โปร่งใส
          9) ใช้เวลาและภาษีของประชาชนไปต่างประเทศกว่า 12 ล้านบาท โดยอ้างว่าไปตรวจการเลือกตั้ง แต่ไปไม่ครบ 67 ประเทศที่ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เข้าข่าย “เลือกปฏิบัติ”  ซึ่งถูกสังคมตำหนิว่าเลือกไปตรวจแต่เฉพาะประเทศที่คนนิยมไปท่องเที่ยว เช่น สวิส เยอรมนี อังกฤษ อเมริกา
          "ทั้งนี้ ประชาชนหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนทั้งที่อยู่ในและต่างประเทศ สามารถร่วมเข้าชื่อถอดถอน 7 กกต.ได้ โดยสมาคมจะเริ่มตั้งโต๊ะให้ประชาชนมาร่วมเข้าชื่อกันในวันอาทิตย์ที่ 31 มี.ค.2562 เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ณ ร้านชาศรีสุวรรณ บริเวณประตู 3 ตลาดยิ่งเจริญ สะพานใหม่ โดยขอให้ทุกท่านนำบัตรประชาชนติดตัวมาด้วย" นายศรีสุวรรณกล่าว
อยากเลือกตั้งจำแลง
    ที่สกายวอล์ก บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว แกนนำแนวร่วมประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เป็นธรรม และนายธนวัฒน์ วงศ์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์ฯ  เดินทางมาตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเพื่อถอดถอน 7 กกต.  พร้อมอ่านแถลงการณ์ของกลุ่มแนวร่วม เชิญชวนให้ประชาชนที่สนใจร่วมกันลงชื่อเป็นผู้ร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ถอดถอน กกต. ว่าจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ พร้อมฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พร้อมเปิดโต๊ะรับลงชื่อถอดถอนเพื่อประชาสัมพันธ์กับประชาชนที่ใช้บริการบีทีเอส ซึ่งขณะนี้มีแนวร่วมนักศึกษาจาก 18 มหาวิทยาลัย 
    นายสิรวิชญ์เชิญชวนประชาชนลงชื่อในแบบรณรงค์เว็บไซต์ Change.org ในแคมเปญ "ร่วมกันลงชื่อถอดถอน กกต." ซึ่งขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 8 แสนคน โดยแนวร่วมฯ ตั้งเป้าให้ได้ถึง 1 ล้านคนภายในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดของเขตระยะเวลาล่ารายชื่อถอดถอน กกต. จนถึงวันศุกร์ที่ 5 เม.ย.นี้ ส่วนประชาชนต่างจังหวัดที่สนใจก็สามารถกรอกแบบฟอร์มพร้อมเเนบสำเนาบัตรประชาชนยื่นถอดถอนได้ทางไปรษณีย์ และส่งกลับมาภายในวันที่ 4 เม.ย.นี้ ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นหรือมีหลักฐานที่ชี้ถึงการกระทำอันส่อไปในทางทุจริต หรือไม่ชอบมาพากล ขอให้ส่งมาที่ช่องทางของแนวร่วมฯ
    รายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างการแถลงการณ์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบีทีเอสได้เข้ามาเจรจาให้ยุติ เนื่องจากมีการใช้พื้นที่ของบีทีเอส ซึ่งไม่สามารถที่จะตั้งโต๊ะกีดขวางการเดินทางของผู้โดยสารได้ แต่ก็ไม่ได้มีการยกเลิกแต่อย่างใด ท่ามการประชาชนที่ให้ความสนใจกรอกแบบยื่นชื่อถอดถอนเป็นจำนวนมาก ขณะที่บรรยากาศการรักษาความปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบ คอยดูแลความสงบเรียบร้อยภายในพื้นที่ 
    พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีที่การชุมนุมเพื่อรวบรวมรายชื่อเพื่อปลด กกต. และสนับสนุนพรรคที่ชนะเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาล วันที่ 31 มี.ค.นี้ บริเวณแยกราชประสงค์และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ว่า ช่วงหลังจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา เชื่อว่าประชาชนอยากเดินหน้าประเทศร่วมกันภายใต้บรรยากาศที่สงบเรียบร้อย โดยในภาพรวมยังไม่เห็นความจำเป็นใดที่จะต้องมีการชุมนุมหรือแสดงออกในลักษณะดังกล่าว เพราะอาจจะทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยได้ว่าเป็นการสร้างความวุ่นวายให้กระทบต่อบรรยากาศที่ประชาชนส่วนใหญ่ปรารถนาหรือไม่    
    "สังคมส่วนใหญ่เชื่อว่าการดำเนินกิจกรรมเช่น การชุมนุมนั้น คงไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยต่างๆ ต่อ กกต.ได้ เพราะมีวิธีการอื่นที่ตรงจุดตอบโจทย์ได้มากกว่า แต่เมื่อมีบางกลุ่มประกาศเชิญชวนให้มาชุมนุมในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ในส่วนเจ้าหน้าที่ก็คงจะดำเนินการ ดูแลภาพรวมให้เกิดความสงบเรียบร้อย ตามอำนาจหน้าที่เหมือนที่เคยปฏิบัติมาอยู่แล้ว" 
ชี้นำ กกต.ไม่ได้
       โฆษก คสช.กล่าวว่า การจัดการเลือกตั้งโดย กกต. ได้ดำเนินการมาตามขั้นตอนอย่างมีเอกภาพ เปิดเผย ตั้งแต่ขั้นการรับสมัคร จนถึงการลงคะแนน ส่วนขั้นการประมวลผลจนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ คงเป็นไปตามลำดับขั้นตอนตามกรอบการทำหน้าที่ขององค์กร  
        นอกจากนี้ พ.อ.วินธัยระบุว่า จากข้อเท็จจริงมั่นใจว่าไม่มีส่วนใดหรือมีอำนาจใดๆ สามารถไปชี้นำการดำเนินการของ กกต.ได้ และเชื่อว่าในช่วงนี้ กกต. แบกรับความคาดหวังของสังคม จึงอยากขอให้ทุกฝ่ายให้เวลากับ กกต.ด้วย
    อย่างไรก็ตาม หากมีความสงสัยใดๆ นั้น ก็สามารถสงสัยได้อย่างมีเหตุมีผล หรือหากพบสิ่งผิดปกติไม่มั่นใจอะไร ทุกคนสามารถดำเนินการได้ตามช่องทางของกฎหมายที่มี ซึ่งน่าจะตรงจุดและสามารถตอบโจทย์ได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งเป็นการช่วยกันการรักษาบรรยากาศและสถานการณ์ที่เรียบร้อยให้กับบ้านเมืองได้ดีกว่า
    ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง “ความผิดพลาดที่แท้จริง และแก้ไขได้ของ กกต.” ผ่านเว็บไซต์ thaipost โดยมีเนื้อหาดังนี้
         ความไม่เชื่อมั่นในผลการเลือกตั้งจาก กกต. กำลังลุกลามและจะกัดเซาะเสถียรภาพการเมืองไทยหลังเลือกตั้งแรงขึ้นเรื่อยๆ ได้ฟังท่านประธาน กกต.ยอมรับว่ามีความผิดพลาดในการทำงานอยู่จริง ก็ขอมีส่วนชี้แนะแนวทางแก้ไขตามควร ดังนี้
    1.ปัญหาการรายงานคะแนนที่ปรากฏในคืนวันที่ 24 มีนาคม ผมเชื่อมั่นว่าความตะกุกตะกักทั้งปวง เกิดจากแนวทางใหม่ที่ต้องทำ ตามระเบียบ กกต.ที่เขียนขึ้นใหม่ในข้อนี้
    “ข้อ 169 เมื่อสำนักงานได้รับรายงานผลการเลือกตั้งตามข้อ 159 แล้ว ให้จัดให้มีการแสดงผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการต่อสาธารณะ โดยให้แสดงผลไม่เกินร้อยละเก้าสิบห้าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด”
    ข้อกำหนดให้กั๊กคะแนนไว้ 95% นี้ นอกจากจะไม่สมเหตุผลและ กกต.ยอมโยนทิ้งยอมประกาศคะแนนไป 100% แล้วก็ตาม แต่ก็ทิ้งความเสียหายไว้แล้ว ดังนี้
     ปัญหาหน้างานในคืนวันที่ 4 นั้น ขณะที่คะแนนเทเข้ามาที่ กกต.ทุกทิศทุกทาง หน้างานก็สับสนกันหนักว่าจะหัก 5% กันอย่างไรดี ขณะที่คะแนนดิบเต็มจำนวนของแต่ละหน่วยก็ไหลสดออกสื่อทีวีไปทุกเวลา แล้วอย่างนี้จะหักลดกันอย่างไร
    ทั้งหมดนี้นี่เองที่ทำให้เกิดการหยุดรายงานเป็นระยะ แล้วโผล่มาเย็นวันรุ่งขึ้น เมื่อได้คะแนนรวมแล้วจึงได้หักลด 95% ตรงคะแนนรวม ประกาศเสร็จเรียบร้อยออกมาในที่สุดนั่นเอง
    2.ปัญหาความไม่เชื่อถือในคะแนนที่รายงาน ความตะกุกตะกักข้างต้น ได้ขยายผลเป็นความไม่เชื่อถือในหลายจุด จะใช้วาจาชี้แจงอย่างไรก็แก้ไขไม่ได้จนปัจจุบัน แต่ก็มีแนวทางแก้ไขที่ กกต.น่าจะใช้ได้โดยพลัน ดังนี้
สร้างระบบตรวจสอบ
    2.1.ให้สื่อมวลชนและพรรคการเมืองแต่ละสายประชุมร่วมกันเสนอผู้แทนที่พวกตนเชื่อถือมาร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบ ไม่เกิน 5 คน โดย 5 คนนี้ไม่จำต้องเป็นสื่อหรือนักการเมือง
    2.2 ให้สร้างกระบวนการตรวจสอบที่เปิดเผยติดตามได้ตลอด ดังนี้
    2.2.1) ทำบัญชีคะแนน นับให้เห็นชัดเจนทั้งคะแนนตามหน่วย และตามเขต ทั้ง 350 เขต จนครบถ้วน แล้วตรวจทานตัวเลขให้ชัดแจ้ง จากนั้นก็แจกจ่ายให้สื่อและพรรคการเมืองนำไปตรวจสอบทั่วประเทศ แล้วผู้สมัครหรือสื่อรายใด ก็รายงานหน่วยที่เห็นว่าไม่น่าเชื่อถือ ขอให้นับใหม่ พร้อมเหตุผลที่สงสัยที่มีน้ำหนักเพียงพอต่อกรรมการใน 7 วัน
    2.2.2) คณะกรรมการพิจารณาแล้วเสนอ คำร้องให้นับใหม่ เฉพาะที่เห็นว่าสมเหตุผลต่อ กกต.เพื่อพิจารณาใน 5 วัน แล้ว กกต.ก็สั่งการนับใหม่ในหน่วยที่เห็นควรใน 5 วัน
    แนวทางนี้มุ่งเฉพาะความถูกต้องของคะแนนจากหีบเท่านั้น หากทำได้ใน 1 เดือน ปัญหาเรื่องคะแนนไม่น่าเชื่อก็จะหมดไป เหลือแต่เรื่องการตรวจสอบความประพฤติไม่สุจริตผิดกฎหมายทั้งปวงของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ที่ กกต.ต้องรับผิดชอบสะสาง ให้ใบเหลืองใบแดงเองต่อไปตามปรกติเท่านั้น 
    ทั้งสองเรื่องนี้หากทำได้ดี ปัญหาความไม่น่าเชื่อถือในผลการเลือกตั้งทั้งปวงก็จะหมดไปได้ในที่สุด
    นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.แพร่ พรรคไทยรักษาชาติ ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กว่าจะถึงวันที่ 9 พ.ค. กกต.อาจสร้างอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ มีการสอย ส.ส. มีการแจกใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ก็อาจจะเป็นไปได้ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคการเมืองอื่นๆ ต่อการรวบรวมเสียงข้างมากนั้น ความเห็นส่วนตัว ยังมองว่า ยังมีโอกาสเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูต่อไปอีกว่ากกต.หรือผู้มีอำนาจเหนือ กกต. จะสั่งการมายัง กกต.ให้ใช้อำนาจโดยมิชอบอีกหรือไม่ 
    “สถานการณ์เวลานี้ผมเป็นห่วง กกต.จริงๆ ว่าอาจจะติดคุกเหมือน กกต.ในอดีต ก็อยากฝากไปถึงกกต. ถึงเวลานั้นจริงๆ อาจไม่มีใครช่วยพวกท่านได้ และยิ่งถ้าท่านยังทำอะไรที่ไม่โปร่งใสต่อไป ในขณะนี้มีคนวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน กกต.เป็นจำนวนมาก ไม่เพียงเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น ยังรวมไปถึงประชาชน นักศึกษาหลายสถาบัน ที่มีการรวบรวมรายชื่อขอให้ถอดถอน กกต. ซึ่งถือว่าเขาเหล่านั้นเป็นพลังบริสุทธิ์ การออกมาเคลื่อนไหวของนักศึกษาบางสถาบันกลับถูกขัดขวางอีก ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วง”นพ.ทศพรกล่าว.
  
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"