'เมื่อนักวิชาการตกธรรมาสน์'    


เพิ่มเพื่อน    

    "ปิยบุตร"........
    เป็น "คนรุ่นใหม่" ไฟแรง!
    เขาจำแต่คำพูด "หลุยส์ อ็องตวนฯ" คนรุ่นใหม่ที่เป็นแกนนำเรียกร้องให้ประหารชีวิต "พระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๖" เมื่อ ๒๒๗ ปีที่แล้ว 
    แล้วนำมาพูดกรอกหูคนไทย.....
    โน้มน้าวให้เห็นงามในการรณรงค์ ล้ม "มาตรา ๑๑๒"
    ใช้คราบนักวิชาการวิจารณ์กษัตริย์ เหยียดหยามศาลรัฐธรรมนูญ ต่างๆ นานา ต่อเนื่องมานาน จนเพลินน้ำลาย
    พอคุณ "อุ๊ หฤทัย" เธอทนไม่ไหว ออกมาไล่จับไก่กลางตลาดเท่านั้นแหละ
    ตอนนี้ ปิยบุตร "คนรุ่นใหม่" ดูจะหายใจขัด ด้วยภาวะโรค "ลิ้นพันคอ" ตัวเอง!
    นี่ถ้า "คนรุ่นใหม่" รู้จักจำคำพูด "คนรุ่นเก่า" ที่เป็นคนไทยไว้บ้าง เช่นคำพูด "อดีตนายกฯ ชาติชาย" ภาวะโรค "ลิ้นพันคอ" ก็จะไม่เกิด
    คำที่ "พลเอกชาติชาย" พูดไว้ ปิยบุตรน่าบอกภรรยาชาวฝรั่งเศส ให้แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสไปให้คนฝรั่งเศสได้จำบ้าง
    "อมตวาจา" ของ "พลเอกชาติชาย" คือ......
    "เมื่อเรายังไม่พูด..เราเป็นนายคำพูด..แต่เมื่อพูดไปแล้ว..คำพูดเป็นนายเรา"
    คุณปิยบุตรว่าจริงมั้ย "คำพูดเป็นนายเรา"?
    ฉะนั้น ที่อาจารย์ต้องแถลง ต้องโพสต์เฟซ เมื่อวาน (๑ เม.ย.) จะเรียกว่าชี้แจงหรือแก้ตัว สุดแล้วแต่
    เคลียร์-ไม่เคลียร์ ก็อยู่ตรง "คำที่พูดไว้" เป็นนายนั่นแหละ
    เมื่ออ้าง คลิปต่างๆ เป็นการตัดต่อ เป็นงานทางวิชาการ ไม่ได้พูดถึงสถาบันกษัตริย์ในราชอาณาจักรไทย
    เอาละ...ผมเชื่ออาจารย์ แต่คนอื่นๆ ผมไม่รู้ ฉะนั้น ทางที่ดีที่สุด 
    ทางที่ ๑ อาจารย์ว่าถูกตัดต่อ 
    ฉะนั้น เอาคลิปที่ไม่ตัดต่อ โพสต์ลงเฟซให้ดูกันเลย
    ทางที่ ๒ ขึ้นเวทีดีเบตเลย 
    คุณอุ๊ หฤทัยหรือ "หฤทัย ม่วงบุญศรี" เธอโพสต์เฟซตอนนี้ว่า
    "ปิยบุตร...อยู่ไหน?...ขอท้า..ออกมาพูดกับกู
    ...จะได้รู้ว่านรกมีจริงในการดีเบต"
    เรื่องพูด อาจารย์หนึ่งในตองอู โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ฉบับ "หลุยส์ อ็องตวนฯ" อยู่ในสายเลือด
    ดังนั้น การดีเบต "หฤทัย ปุจฉา - ปิยบุตร วิสัชนา"
    จะเป็นการสังคายนา "จริง-ไม่จริง" ตาม ๖ ข้อ ที่อาจารย์แจกแจงเมื่อวาน ฟังแจ้งกันตลาดแตก
    เอาล่ะ กลับไปถึงเรื่อง เลือกตั้ง 2562: 
    "อาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่ใครๆ คิดว่าแสนจะอนุรักษนิยม คุยกับนิสิตรัฐศาสตร์ ที่ใครๆ บอกว่าลิเบอรัลตัวพ่อตัวแม่"
    ของ Tan Thanyaporn Chankrajang ต่อจากที่ผมค้างไว้เมื่อวานดีกว่า
    เป็นตอน "สรุปประเด็น" อาจารย์เขียนบอก
    "ได้ขออนุญาตนิสิต นำเรื่องราวเหล่านี้มาแชร์ในเฟสบุคแล้ว"
    Tan Thanyaporn Chankrajang 
    1.จุดมุ่งหมายคืออะไร: ระบอบการปกครองที่คิดว่าใช่ หรือความกินดีอยู่ดีของประชาชน
    เหตุผลในการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ของแต่ละคนคงแตกต่างกันออกไป 
    เช่น นิสิตบอกว่าเป็นเพราะ "ประชาธิปไตย"
    ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ไม่มีเหตุผลและจุดหมายอะไรที่สำคัญไปกว่าความกินดีอยู่ดีของประชาชน 
    รูปแบบของประชาธิปไตยไม่ใช่จุดหมาย แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อนำไปสู่จุดหมายนั้น 
    ฉะนั้น ในสถานการณ์ที่ต่างกัน ในบริบทแวดล้อมที่ต่างกัน จุดหมายยังคงเดิม แต่เครื่องมือสามารถปรับเปลี่ยนได้
    ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา (development economist)
    ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลงมือทำนโยบายที่ดีต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่มีรายได้และโอกาสน้อยอย่างจริงจัง หลายเรื่อง 
    เป็นเรื่องที่เราศึกษาและทำวิจัยโดยตรง จึงทำให้ทราบว่า รัฐบาลเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง มีการศึกษางานวิชาการและนำมาประยุกต์และปฏิบัติจริง 
    อย่างเช่นการขยายสิทธิชุมชนในป่า การให้เอกสารสิทธิในที่ดินทำกินเกษตรกรรมในรูปแบบต่างๆ มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึง แม่แจ่มโมเดล เป็นต้น 
    และมีนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความรู้ ความสามารถเข้าไปร่วมงานด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล 
    นอกจากนี้ พรรคที่เป็นพันธมิตรกันก็มี หม่อมเต่า อดีตผู้ว่าการแบงค์ชาติ ที่นำแบงค์ชาติผ่านวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งมาได้ 
    นอกจากนี้ ผลการวิจัยก็ไม่ได้ชี้ว่า ประชาธิปไตยเป็นสาเหตุของความเจริญของประเทศทางเศรษฐกิจ เช่น ความสำเร็จของจีนและสิงคโปร์ เป็นต้น 
    2.ประชาธิปไตยในรูปแบบไหน
    บางพรรคการเมืองได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของประชาธิปไตย แต่เราไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนั้น 
    เราชัดเจนมาตลอดว่าสนับสนุนประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 
    ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของเหตุผล 
    สำหรับเรา สองส่วนนี้มิได้ขัดกัน การเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมมีต้นทุนเสมอ นอกจากคำนึงถึงต้นทุนที่เป็นตัวเงินแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ยังคำนึงถึงต้นทุนที่เราเรียกว่า "ค่าเสียโอกาส" อีกด้วย 
    หากประโยชน์ที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่เสียไป เรียกง่ายๆ ก็คือ "ได้ไม่คุ้มเสีย" นักเศรษฐศาสตร์ถือว่า การเปลี่ยนแปลงนั้น จะไม่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดได้ 
    หากจุดมุ่งหมายคือ ความกินดีอยู่ดีของประชาชน เมื่อไตร่ตรองตามเหตุและผล ประโยชน์และต้นทุนแล้ว เราไม่เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของประชาธิปไตย ตามที่บางพรรคการเมืองเรียกร้องและนำมาเป็นประเด็นในการหาเสียง จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นแต่อย่างไร
    เราถามนิสิตว่า
    "นิสิตคิดว่า ถ้าทำสำเร็จ จะทำให้คนที่นิสิตกำลังเรียกร้องความเท่าเทียมให้แก่เขา คนที่ยากจนกว่าเรา อยู่ดีกินดีหรือมีความสุขขึ้นหรือคะ ประเทศจะเจริญขึ้นด้วยสิ่งนั้นหรือ"  
    เด็กๆ อึ้งไป เหมือนเป็นสิ่งที่ไม่เคยคำนึงถึงมาก่อน แต่ก็มิได้โต้แย้ง 
    เราหวังว่า ตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ที่เด็กๆ เคยเรียนมาแล้วในวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาค จะถูกนำมาใช้ในการไตร่ตรองและช่วยการตัดสินใจในชีวิตประจำวันต่อไป
    3.ความเหลื่อมล้ำ:จะแก้ปัญหาด้วยทัศนคติที่ติดลบ หรือทัศนคติที่เป็นบวก
    นอกจากความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เป็นความเหลื่อมล้ำแนวดิ่ง (vertical inequality) นักเศรษฐศาสตร์ยังสนใจ ความเหลื่อมล้ำแนวราบ (horizontal inequality)
    อย่างเช่น ความเหลื่อมล้ำทางเพศ ศาสนา และชาติพันธุ์ อีกด้วย
    เพื่อความเท่าเทียมกันทางศาสนา บางพรรคมีนโยบายที่จะไม่ให้ความสนับสนุนต่อศาสนาใดๆ เลย ... 
    อันที่จริง สังคมไทยตระหนักถึงเรื่องความเท่าเทียมและเสรีภาพในการนับถือศาสนาอยู่แล้วมาช้านาน แต่ใช้วิธีแก้ปัญหาที่ตรงกันข้าม 
    กล่าวคือ เพื่อให้เท่าเทียมกัน รัฐได้ให้การสนับสนุนแก่ทุกศาสนา พระมหากษัตริย์เองก็ทรงทำให้ประชาชนเห็นเป็นตัวอย่าง โดยทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
    (ซึ่งอันนี้ถูกต้องตามหลักตรรกะ เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ศาสนาที่คนนับถือน้อยในประเทศก็อาจถูกเบียดเบียนจากคนส่วนใหญ่) 
    ถึงตอนนี้ มีนิสิตบอกขึ้นมาว่า "มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เลยครับอาจารย์"
    เราจึงเน้นย้ำกับนิสิตว่า
    "เห็นไหมว่าปัญหาอย่างเดียวกัน เจอเหมือนกัน อีกคนมองบวก ก็แก้ปัญหาอย่างบวก อีกคนมองลบ ก็แก้ปัญหาอย่างลบ จะเลือกเป็นคนแบบไหน เราสามารถเรียนรู้จากตัวอย่างนี้ได้" 
    เหตุผลหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์สนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะในเรื่องของรายได้ เพราะความเหลื่อมล้ำมักถูกนำมาเป็นชนวนให้เกิดความไม่สงบทางการเมืองและสังคม 
    ประวัติศาสตร์จากประเทศต่างๆ หรือแม้กระทั่งจากประเทศไทยเอง ได้แสดงให้เห็นถึงการนำความไม่เท่าเทียมมาเป็นข้ออ้าง ข้อยุยง ให้คนแตกแยก เกลียดชังกัน 
    ไม่ต่างอะไรกับความพยายามจากบางพรรค บางสื่อ และกลุ่มการเมืองในขณะนี้
    ถ้าแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมด้วยทัศนคติที่ติดลบ ก็อาจนำไปสู่การเบียดเบียนกัน การล้มล้าง ห้ำหั่น จนถึงขั้นล้มตายได้ 
    แต่ถ้าแก้ปัญหาด้วยทัศนคติที่เป็นบวก ด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ เช่น ด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคม ก็จะนำความเจริญมาสู่ทุกฝ่าย 
    ประวัติศาสตร์จากประเทศกัมพูชาและประเทศไทยในช่วงสงครามเย็น แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในกระบวนการการแก้ปัญหา 
    และผลลัพธ์ต่อการพัฒนาประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้เป็นอย่างดี 
    4.ส.ว. 250 คน
    "ผมอยากถามอาจารย์เรื่องที่ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์ด้วยได้ไหมครับ ถ้าเป็นเรื่องการปกครอง เรื่อง ส.ว. 250 คนที่เลือกเข้ามา แล้วก็เลือกคนที่รู้จักกัน ซึ่งมีผลต่อการเลือกนายกฯ และการบริหารประเทศต่อไปน่ะครับ อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรครับ" นิสิตคนหนึ่งถามขึ้น
    การที่ ส.ว.มีส่วนในการเลือกนายกฯ เรายอมรับว่าอาจเป็นการไม่ยุติธรรม 
    แต่ในการบริหารประเทศ การผ่านร่างกฎหมายต่างๆ ก็ยังคงต้องผ่านสภาล่างก่อน แล้วจึงค่อยไปสภาสูง 
    เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งก็ยังมีผลเต็มที่ต่อการผ่านร่างกฎหมายในสภาและการบริหารประเทศผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ
    เราเล่าให้เด็กๆ ฟังว่า 
    สมัยเราเด็กๆ ส.ว.ก็มาจากการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาชีพต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณากฎหมาย 
    ในอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศแม่แบบของประชาธิปไตย สภาสูงก็มาจากการแต่งตั้งเช่นกัน 
    เพราะฉะนั้น การที่ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกในระบอบประชาธิปไตย
    ส่วนเรื่องการแต่งตั้งคนรู้จักกัน สามารถมองได้ว่าเป็นการเข้าพวกพ้อง 
    แต่อีกมุมหนึ่ง เราสามารถใช้หลักเศรษฐศาสตร์เรื่อง imperfect information อธิบายเหตุผลบางส่วนได้ 
    ในความเป็นจริง คนเรามีข้อมูลเกี่ยวกับคนที่เรารู้จักเป็นการส่วนตัวมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่รู้จักกัน 
    เช่น งานที่เขาทำมีคุณภาพดีจริงไหม เขาเป็นคนสุจริตจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้น อาจมีคนที่ดีและเก่ง แต่เราไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว ไม่ได้รับเลือกมาทำงาน ไม่ใช่เพราะเราเห็นแก่พวกพ้อง แต่เพราะเราไม่มีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเขามาร่วมประกอบการตัดสินใจ
    ในหลายวิชาชีพจึงมีการใช้เครื่องมือและมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลที่ทุกคนเข้าถึงได้ และเพื่อลดการตัดสินใจที่ต้องใช้ข้อมูลส่วนตัว ซึ่งอาจนำไปสู่การเข้าพวกพ้อง 
    เช่น วงการวิชาการ ใช้อันดับของวารสารที่ตีพิมพ์ เพื่อช่วยบ่งชี้ถึงคุณภาพของงานวิจัยและตัวนักวิจัย เป็นต้น
    ครับ...จบ "ตอนที่ ๑"
    ประเด็นค่าแรงขั้นต่ำและที่พูดกัน "ค้าขายไม่ดี" มันคืออะไร?
    ฟัง Tan Thanyaporn Chankrajang สนทนากับนิสิตในชั้นเรียน "ตอนที่ ๒" พรุ่งนี้ 
    แล้วทุกคนจะเป็น "อิกคิวซัง" 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"