ปิดเทอมชีวิตไม่ปิดฉาก รู้ทักษะเอาตัวรอด..จมน้ำ


เพิ่มเพื่อน    

      “มีนาคม เมษายน และพฤษภาคม” ถือเป็น 3 เดือนอันตรายที่เด็กไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำมากที่สุด โดยเฉพาะเดือนเมษายนของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่
      จากการศึกษาวิจัยและติดตามการเสียชีวิตของเด็กที่เริ่มขึ้นในปี 2543 ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา พบว่าเด็กเสียชีวิตสูงที่สุดในช่วงระหว่างวันที่ 12-23 เมษายน (เฉลี่ยเดือนละ 350 ราย) และคิดรวมตลอดทั้ง 3 เดือนอันตราย มีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำอยู่ที่ประมาณ 1,000 รายตลอดทั้งปี แม้ว่าตลอดระยะเวลา 19 ปีในการดำเนินงานของสถาบันฯ ได้พบว่าอัตราของเด็กที่เสียชีวิตนั้นมีแนวโน้มลดลงจาก 3,600 คน เหลือเพียง 2,300 คนต่อปี และคาดว่าภายใน 4-5 ปี จำนวนเด็กที่เสียชีวิตจากภัยทางน้ำควรจะลดลงให้เหลือไม่เกินปีละ 250 คน

      ในงานกิจกรรม “ค่ายเล่นรอบเมือง สร้างพลังการเรียนรู้” ที่จัดขึ้นโดย นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และหน่วยงานภาคี ทั้งนี้เพื่อสร้างพื้นที่จำลองภาพของการปิดเทอมของเด็กที่อายุ 6-12 ปี ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับทักษะ 5 ประการ เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ เพื่อป้องกันเด็กไทยในช่วงวัยดังกล่าวเสียชีวิตในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน โดยกิจกรรมมีนักเรียนเข้าร่วมทั้งสิ้น 60 คน

      นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ เปิดเผยว่า ช่วงอายุของเด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำมักจะต่ำกว่า 12 ปี โดยอายุ 6 ปีมักจะเสียชีวิตในละแวกบ้าน โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมที่ผู้ปกครองมักให้เด็กโตดูแลเด็กเล็ก ส่วนเด็กอายุระหว่าง 7-9 ปี มีแนวโน้มว่าจะเสียชีวิตจากการจมน้ำที่ลดลง แต่ก็มักจะเสียชีวิตจากการจมน้ำใกล้บ้าน แต่ก็ยังเป็นแหล่งน้ำในชุมชน เพราะเด็กเริ่มโตและเป็นวัยที่พ่อแม่ได้ดูแลใกล้ชิด เพราะเริ่มออกมาวิ่งเล่นนอกบ้านกับเพื่อน อีกทั้งผู้ดูแลมักจะคิดว่าเด็กวัยนี้มีความรู้และสามารถหลีกเลี่ยงภัยได้เอง ซึ่งอันที่จริงการป้องกันเด็กจมน้ำที่ดีที่สุดให้กับเด็กอายุระหว่าง 6-12 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เสี่ยงชีวิตทางน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หรือที่เรียกกันว่า “ทักษะ 5 ประการ” ซึ่งเป็นความปลอดภัยทางน้ำที่น้องๆ หนูๆ ควรจะต้องรู้เบื้องต้น

      สำหรับทักษะทั้ง 5 ประการ เพื่อป้องกันการจมน้ำที่เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป (ป.1) ควรรู้ ได้แก่

        1.รู้จักและหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้จุดเสี่ยง (พยายามเดินห่างแหล่งน้ำมากที่สุด, เดินตรงกลางของถนนหากมีแม่น้ำลำคลองอยู่ทั้ง 2 ด้าน, ไม่หยอกล้อขณะเดิน เพราะอาจจะทำเด็กตกน้ำได้)

      2.เด็กสามารถลอยตัวในน้ำได้ 3 นาที

      3.ว่ายน้ำท่าอะไรก็ได้ซึ่งอย่างน้อยต้องว่ายให้ได้ 15 เมตร เพื่อตะกายเข้าฝั่ง

      4.ช่วยเพื่อนที่กำลังจะจมน้ำ โดยการตะโกนเสียงดังในการขอความช่วยเหลือ และโยนห่วงยาง หรือยื่นไม้ที่มีความยาว เพื่อให้เพื่อนจับและลากเข้าฝั่ง

      5.ต้องใส่ชูชีพเสมอเมื่อต้องเดินทางทางน้ำ หรือทำกิจกรรมใกล้แหล่งน้ำเสี่ยง

      ที่ผ่านมานั้นทักษะทั้ง 5 ประการดังกล่าวมักจะสอนกันในเด็กที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป หรือเด็ก ป.4 ทำให้เกิดความล่าช้า ซึ่งส่งผลให้เด็กได้รับอุบัติเหตุจากการจมน้ำโดยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมไปถึงการที่ในชุมชนช่วยสร้างพื้นที่เล่นให้ปลอดภัย โดยให้ใกล้จากแหล่งก็เป็นส่งที่เหมาะสมมาก”

      นพ.อดิศักดิ์ บอกอีกว่า จากการสำรวจที่ผ่านมานั้นพบว่าเด็ก ป.1 หรืออายุ 6 ปี มีทักษะในการลอยตัวในน้ำได้ค่อนข้างต่ำ หรือคิดเป็นประมาณกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ และมีความรู้เกี่ยวกับ 5 ทักษะป้องกันการจมน้ำค่อนต่ำเช่นกัน นอกจากนี้เด็กอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป ควรเรียนว่ายน้ำ และต้องสอนเกี่ยวกับจุดเสี่ยงที่เด็กควรหลีกเลี่ยงเพื่อป้องกันการจมน้ำควบคู่กันไป เนื่องสมองของเด็กวัยนี้สามารถรับรู้คำสอนจากผู้ปกครองได้แล้ว เช่น น้ำที่ไหลลึก หรือน้ำที่เด็กไม่รู้จักพื้นผิว ไม่ควรไปเล่น หรือแม้แต่อายุ 4 ปี ที่ว่ายน้ำได้แล้ว ผู้ปกครองก็ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นน้ำเพียงลำพัง แต่หากเป็นการให้ข้อมูลดังกล่าวกับเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ก็จะเป็นในลักษณะของการที่ผู้ปกครองห้ามมากกว่า หรือเด็กจะมีการรับรู้ที่ค่อนข้างน้อย

      “สำหรับชุมชนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสระว่ายน้ำที่ปลอดภัยให้เด็กเล่น กรณีที่อนุญาตให้เด็กเล่นน้ำช่วงปิดเทอม ต้องเป็นสระน้ำที่ไม่มีความลึก และมีผู้ดูแล นอกจากนี้สระว่ายน้ำในหมู่บ้านต้องมีไลฟ์การ์ดดูแล เพราะอันที่จริงแล้วเด็กอนุบาลสามารถเสียชีวิตจากการว่ายน้ำในสระเด็กในหมู่บ้านเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเวลาที่เด็กว่ายน้ำ และพลิกตัวไม่เป็น หรือแม้แต่บ่อน้ำรอบๆ บ้านก็ควรจะต้องทำฝาปิดเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กตกลงไปจมน้ำ ทั้งนี้ หากชุมชนไหนที่มีสระน้ำธรรมชาติ ที่ถือว่าเป็นจุดเสี่ยงทำให้เด็กเสียชีวิตนั้น ซึ่งผู้ปกครองยิ่งต้องหมั่นเฝ้าระวังเด็กๆ

      ที่ผ่านมามีบางชุมชนที่เป็นตัวอย่างสำคัญ ยกตัวอย่างการที่สถาบันฯ ของเราได้ไปสำรวจดูงานที่ จ.สุรินทร์ พบว่าเขาสามารถนำคนทั้งจังหวัด โดยการสนับสนุนของหน่วยงานอย่าง อบจ. ที่สร้างสระประกอบให้กับโรงเรียนในจังหวัด ซึ่งงบประมาณในการสร้างสระประกอบดังกล่าวมีราคาต่อสระอยู่ที่ 3 หมื่นบาท โดยสร้างสระว่ายน้ำทั่วทั้งจังหวัดรวม 100 สระ และโรงเรียนก็นำเด็กที่ได้รับการอบรมเรื่องลอยตัวในน้ำและว่ายน้ำ ตลอดจน 5 ทักษะความปลอดภัยในน้ำ เพื่อป้องกันการจมน้ำ มาสาธิตให้เด็กๆ ด้วยกันดู และครูอาจารย์ที่สอน 5 ทักษะความปลอดภัยให้กับเด็ก ก็ได้รับการอบรม และมีอุปกรณ์สอนให้เด็กรู้จุดเสี่ยง เพื่อให้ครูที่ผ่านการอบรมแล้วสามารถสอน 5 ทักษะให้ตรงตามสูตรความปลอดภัยทางน้ำ โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์จัดให้มีการอบรมครู ที่มาจากทั้งครูหน่วยฉุกเฉินและชุมชนส่งคนมา ซึ่งเป็นผู้ที่มีทักษะสอนได้ โดยอบรมไปแล้วกว่า 500-600 คน คนเหล่านี้ไปสอนเด็กได้เลย ตรงนี้เป็นตัวอย่างการสร้างทักษะความปลอดภัยทางน้ำ 5 ประการ ให้กับเด็กได้มีความรู้”

      ส่วนการป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำ และได้รับภัยทางน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ นพ.อดิศักดิ์ ให้คำแนะนำว่า 1.มีทักษะความปลอดภัยทางน้ำทั้ง 5 ประการ 2.ต้องจัดพื้นที่เล่นให้เด็ก เพราะในช่วงสงกรานต์นั้นเป็นวันเล่น และผู้ปกครองก็เอาเด็กไปเล่นภายใต้วัฒนธรรมของเรา เพราะที่ผ่านมานั้น การเล่นน้ำจะเกิดขึ้นในรูปแบบที่ไม่จัดพื้นที่ เช่น ปล่อยให้เด็กนั่งรถสาดน้ำกันบนรถ หรือการที่เด็กยืนริมถนน นำไปสู่การเสียชีวิต 3.ควรควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ใหญ่ที่สามารถทำให้เด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ หรือได้รับอุบัติภัยทางน้ำ ซึ่งทำให้เกิดความเผลอเลอในการดูแลบุตรหลาน 4.การป้องกันโดยไม่ให้เด็กลงไปเล่นในน้ำ โดยไม่มีไลฟ์การ์ด หรือคนดูแล ไม่มีคำเตือน ไม่มีคนเฝ้าระวัง ซึ่งนำไปสู่เด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำได้ ดังนั้นการจัดพื้นที่เล่นให้ปลอดภัยเป็นสำคัญ เช่น ทำให้เด็กและผู้ปกครองรู้ว่าตรงนี้เป็นจุดเล่นน้ำ รวมถึงต้องมีคนคอยดูแลและบอกเด็กว่า ถ้าเป็นเด็กเล็กตักน้ำตรงไหน และเด็กโตตักน้ำตรงไหน ซึ่งมีความจำเป็นมาก เพื่อป้องกันเด็กลงไปตักน้ำในบริเวณที่ลึกมาเล่นและตกน้ำเสียชีวิต และหากมีปาร์ตี้โฟมและต้องใช้ไฟก็ต้องเช็กให้ดี เพื่อป้องกันเด็กโดนไฟดูดเสียชีวิตเช่นกัน”

      แม้ปัจจุบันสถานการณ์เด็กจมน้ำจะอยู่หลักพันคนต่อปี แต่คงจะดีไม่น้อยหากว่าจะไม่เด็กเสียชีวิตแม้แต่คนเดียวในช่วงปิดเทอม ซึ่งเป็น 3 เดือนอันตราย ดังนั้นการเช็กทักษะความพร้อมของเด็กก่อนออกจากบ้านโดยการใส่หมวกนิรภัย เพื่อป้องกันอุบัติจากการสาดน้ำหรือภัยทางน้ำ และการปลูกฝังเรื่องมีทักษะ 5 ประการ เพื่อป้องกันการจมน้ำ ตลอดจนการสร้างพื้นที่เล่นอย่างปลอดภัยและสนุกสนานให้กับเด็ก ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นนโยบายในการดูแลและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กที่สำคัญ ซึ่งผู้ใหญ่ควรให้ความตระหนัก...จริงไหมค่ะ.

 

 

        ข้อแนะนำ "กันไว้ก่อน" แม้แต่ในบ้าน

      1.ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิดแม้เพียงชั่วขณะ เช่น คุยโทรศัพท์ และเปิด-ปิดประตูบ้าน

      2.ไม่ปล่อยให้เด็กเล็กเล่นตามลำพัง

      3.ตระหนักอยู่เสมอว่าหากในบ้านมีถังใส่น้ำเพียง 1-2 นิ้ว ก็สามารถทำให้เด็กเล็กเสียชีวิตได้

      4.ผู้ปกครองต้องปิดฝาภาชนะ เช่น โอ่งน้ำให้สนิท และต้องปิดประตูห้องน้ำให้สนิทหลังใช้งาน

      5.อ่างหรือตู้ปลาในบ้านต้องมีฝาปิดสนิทเช่นกัน

      6.ไม่ทิ้งเด็กเล็กไว้ใกล้ตุ่ม หรือกะละมังใส่น้ำ

ข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยของเด็กโตจากแหล่งน้ำรอบๆ บ้าน

      1.ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดขณะที่เด็กกำลังเล่นน้ำ

      2.ปิดฝาโอ่งน้ำให้สนิท และหาตาข่ายมาปิดด้านบนของบ่อเลี้ยงปลาสวยงามขนาดเล็ก

      3.ทิ้งน้ำออกจากภาชนะที่ใช้งานแล้ว เช่น อ่างน้ำพลาสติกที่เด็กเล่นแล้ว

      4.ให้ความรู้เด็กโดยการไม่ไปวิ่งเล่น หรือเดิน กระทั่งยื่นมือลงไปในแหล่งน้ำ

      5.สร้างรั้วที่มีความสูงเพื่อล้อมบ่อเลี้ยงปลาภายในบริเวณบ้าน เพื่อป้องกันเด็กตกลงไปในบ่อ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"