มงคลกาล 'บรมราชาภิเษก'


เพิ่มเพื่อน    

 

            วันนี้ "วันจักรี"

                ย้อนกลับไป ๒๓๗ ปี ประเทศไทยเรา ยังใช้ชื่อ "สยาม"

                วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕

                "สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก" ปราบดาภิเษกเป็น "ปฐมกษัตริย์" แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระนามว่า

                "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" รัชกาลที่ ๑

                ทรงย้าย "กรุงธนบุรีราชธานี" จากฝั่งตะวันตก ข้ามมาฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา

                ทรงสร้าง "พระราชวังหลวง"

                อัญเชิญ "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" มาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

                จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนคร ๓ วัน

                พระราชทานนามพระนครแห่งนี้ ให้ต้องกับนาม "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" ว่า

                 "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์"

                เรียกสังเขปว่า "กรุงเทพมหานคร"

                เป็น "เมืองหลวง" ของสยามประเทศหรือประเทศไทยตราบนิรันดร์ไป

                กาลสืบต่อมาปี พ.ศ.๒๔๑๖

                "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูป "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ๔ พระองค์ คือ

                พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

                และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมรูปไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

                ด้วยพระราชประสงค์ เพื่อพระมหากษัตริย์องค์ต่อๆ มา และพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ตลอดถึงประชาชน

                จะได้ถวายบังคม ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

                เป็นธรรมเนียม ปีละครั้ง

                พระบรมรูปได้ย้ายไปสถานที่อื่นบ้าง เช่น พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นต้น

                ตราบถึงรัชกาลที่ ๖ "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว"

                โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาไว้ ณ "ปราสาทพระเทพบิดร" ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

                พร้อมพระบรมรูป "รัชกาลที่ ๕" พระบรมชนกนาถแห่งพระองค์

                ถึงเดือน เมษายน พ.ศ.๒๔๖๑

                มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธี "ถวายบังคมพระบรมรูป" ในวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๖๑

                และโปรดเกล้าฯ ให้เรียกวันที่ ๖ เมษายน ว่า "วันจักรี"

                เริ่มแต่วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๒ เรื่อยมาและตลอดไป

                ครับ.......

                ไม้ใหญ่ ย่อมมีรากหยั่งลึก

                ไทยประเทศก็เช่นนั้น พวกเราคนไทยทุกคน เป็นชาวชนผู้มีรากหยั่งยึดยืนมายาวนาน

                เมื่อถึงวันจักรี เราทั้งหลายคือ หน่อ-แขนง ที่แทงยอดสืบสายเผ่าพันธุ์ไทย

                ผมจึงเก็บความตามที่ผู้รู้ทั้งหลายบันทึกไว้มาเพื่อรำลึกกันในความเป็นเผ่าพันธุ์ไทยที่ไม่มีวันสาบสูญ

                เพราะเผ่าพันธุ์ไทย เป็นสายเลือดกตัญญู ผู้กตัญญูต่อชาติ ต่อแผ่นดิน ต่อพระมหากษัตริย์

                จะไม่มีวันสิ้นสูญ มีแต่เพิ่มพูน ไพบูลย์ทวี!

                จากวันนี้ไป เข้าสู่ "รัชสมัยใหม่"

                อภิมหามงคลแผ่นดินจะบังเกิด ประชาชน-ประชาชาติ ตลอดถึงผู้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จะสืบศานติตลอดไป

                ณ วันจักรี ๖ เมษายน ๒๕๖๒ นี้

                เข้าสู่ขั้นตอนพระราชพิธี "บรมราชาภิเษก" พระมหากษัตริย์ไทย สืบสายพระบรมราชวงศ์จักรี "รัชกาล ที่ ๑๐"

                เริ่มจากการ "เตรียมน้ำอภิเษก"

                วันนี้ เป็นพิธี "พลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์" เพื่อถวายเป็นน้ำอภิเษกและการสวม "พระมหาพิชัยมงกุฎ" ในวันพระราชพิธี ๔-๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒

                ร้อยปีจะมีสักครั้ง.......

                ควรที่เราทั้งหลายจะศึกษา-จดจำ เพราะไม่เพียงเป็นเอกลักษณ์ชาติ

                ยังบ่งบอกความเป็นชาติถึงพร้อมอารยวัฒนธรรมเป็นรากหยั่งและยั่งยืน ธำรงไทยในสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ปรากฏสืบไปในอนาคตกาล

                พิธี "พลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์" คือ.......

                พิธีกรรมในคติศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพื่อขออนุญาตเทวดาที่ปกปักรักษาแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์แต่ละแห่ง

                นำมาทำน้ำอภิเษกและน้ำสรงมุรธาภิเษก ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

                "มุรธาภิเษก" แปลว่า การรดน้ำที่พระเศียร

                น้ำที่รด เรียกว่า "สรงมุรธาภิเษก"

                หมายถึง "การยกให้" หรือ "แต่งตั้ง" ด้วยการทำพิธีรดน้ำ

                เป็นคติความเชื่อของพราหมณ์ ซึ่งถือว่า.......

                การยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่ทรงสิทธิ์อำนาจ นั้น จะต้องทำด้วย "พิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์" ก่อนเท่านั้น

                พิธีพลีกรรม "ตักน้ำอภิเษก" วันนี้

                มาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ๑๐๗ แหล่งน้ำ ใน ๗๖ จังหวัด

                ในกรุงเทพฯ จะพลีกรรมจาก "หอศาสตราคม" ในพระบรมมหาราชวัง

                ก็มาทำความเข้าใจถึงที่มา "น้ำสรงมุรธาภิเษก" กัน

                น้ำสรงมุรธาภิเษก พลีกรรมจาก ๙ แหล่งน้ำ ได้แก่

                "สระศักดิ์สิทธิ์" ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ๔ สระ คือ สระแก้ว, สระคา, สระยมนา และ สระเกษ

                น้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ๕ สาย คือ

                -แม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก

                -แม่น้ำป่าสัก ตักที่บริเวณบ้านท่าราบ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

                -แม่น้ำเจ้าพระยา ตักบริเวณปากคลองบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง

                -แม่น้ำราชบุรี ตักบริเวณสามแยกคลองหน้าวัดดาวดึงษ์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

                -แม่น้ำเพชรบุรี ตักบริเวณท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

                ภาชนะและอุปกรณ์สำคัญ ที่ใช้ในพิธีตักน้ำ ก็มี

                ๑.ขันน้ำสาคร

                เป็นภาชนะใช้บรรจุ โดยตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ปริมาณร้อยละ ๘๐ ของขันน้ำสาครตามฤกษ์

                จากนั้น ปิดฝาขันน้ำสาคร ห่อด้วยผ้าขาว ผูกริบบิ้นสีขาว นำไปเก็บ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญ

                ๒.ที่ตักน้ำ

                เป็นทองเหลืองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ นิ้ว ด้ามจับยาว ๖ นิ้ว

                ๓.คนโทน้ำอภิเษก

                ใช้บรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ผ่านพิธีทำน้ำอภิเษก สามารถบรรจุน้ำได้ ๔.๕ ลิตร

                เป็นคนโทเซรามิก ลวดลายกระจังเป็นลายน้ำทอง เคลือบสีขาวทั้งใบ

                ด้านหน้า มีตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒๕๖๒ ด้านหลัง มีภาพเครื่องหมายราชการแต่ละจังหวัด

                ๔.เทียนชัย ๑ เล่ม

                หนัก ๘๐ บาท ไส้ ๑๐๘ เส้น สูงเท่าความสูงของประธาน

                ๕.เทียนมหามงคล ๑ เล่ม

                หนัก ๑๐ บาท ไส้เกินกว่าอายุประธาน หรือเจ้าภาพ ๑ เส้น สูงเท่าวงรอบศีรษะ

                ๖.เทียนพุทธาภิเษก ๒ เล่ม

                หนักเล่มละ ๓๒ บาท ไส้ ๕๖ เส้น สูงประมาณกึ่งหนึ่งของเทียนชัย

                "โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย" จะถ่ายทอดสด "พิธีพลีกรรม" พร้อมกันทั้ง ๗๖  จังหวัด เริ่มแต่เวลา ๑๑.๕๒-๑๒.๓๘ น.ตามฤกษ์ ตามดูกันได้

                ส่วนที่ "หอศาสตราคม" ในพระบรมมหาราชวัง จะมีวันที่ ๑๒ เม.ย. เวลา ๑๔.๐๙ น.ตามฤกษ์

                เมื่อพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ครบทุกจังหวัดแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ

                -๘ เมษา ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ณ อารามสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศ

                -๑๘ เมษา ทำพิธีเสกน้ำอภิเษกรวมจากกรุงเทพฯ และ ๗๖ จังหวัด ณ วัดสุทัศนเทพวรารามฯ  กทม.

                -๑๙ เมษา แห่เชิญน้ำอภิเษกจากวัดสุทัศนเทพวรารามฯ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว

                ท่านใดจะไปร่วมพิธีตามอารามต่างๆ ก็ไปได้ แต่ควรแต่งกายด้วยเสื้อสีเหลือง

                และ ๔-๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เป็นวันกำหนด "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก"

                "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร" ขึ้นเป็น

                "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" รัชกาล ที่ ๑๐ สมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี

                ในอภิมหามงคลสมัยแห่งชาติ แห่งประชาชนพสกนิกรไทย รวมทั้งชนทั้งหลาย ผู้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

                บัดนี้ เข้าสู่พิธีการศักดิ์สิทธิ์แล้ว

                เมื่อท่านทั้งหลายทราบ มงคลประเสริฐแห่งกาลนี้ ด้วยบริสุทธิจิตแห่งท่าน พลานุภาพสู่ศานติและสุขสำเร็จ จะเป็นผลที่ตามมา.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"