เดินหน้าจัดระเบียบชุมชนรุกล้ำคลองเปรมฯ ด้าน พอช.พร้อมหนุนชาวบ้านสร้างบ้านใหม่


เพิ่มเพื่อน    

วัดสีกัน  เขตดอนเมือง / หลายหน่วยงานจับมือเดินหน้าพัฒนาคลองเปรมประชากร   แก้ปัญหาน้ำท่วม  น้ำเน่า  ชุมชนบุกรุกคลอง   โดย กทม.เตรียมก่อสร้างเขื่อนและอุโมงค์ระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เตรียมแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชน  39 ชุมชนริมคลอง  รวม 6,386 ครัวเรือน  และกรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดินสร้างบ้านเปลี่ยนสถานะจากชุมชนบุกรุกริมคลองเป็นผู้เช่าถูกต้องตามกฎหมาย

       

คลองเปรมประชากรเป็นอีกลำคลองหนึ่งที่รัฐบาลมีนโยบายจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลองและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม  หลังจากที่ได้ดำเนินการไปแล้วในคลองลาดพร้าว  โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างเขื่อนและอุโมงค์ระบายน้ำ  ขณะที่ประชาชนที่สร้างบ้านเรือนลุกล้ำคลองจะต้องรื้อย้ายบ้านออกจากคลองและแนวเขื่อน  โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ เตรียมแผนงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยรองรับชาวบ้าน  33 ชุมชนในเขตจตุจักร  หลักสี่  และดอนเมือง  และอีก  6 หมู่บ้านในเขต จ.ปทุมธานี  รวมทั้งหมด 6,386 ครัวเรือน  โดยในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้จัดเวทีประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ไปแล้วหลายครั้ง

ล่าสุดวันนี้ (6 เมษายน)  เวลา 9.00-12.00  น. ที่วัดสีกัน  เขตดอนเมือง  มีการจัดประชุมชาวชุมชนในเขตดอนเมือง  จำนวน  14  ชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลองเปรมประชากร  เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจเรื่องการพัฒนาคลองเปรมฯ   โดยมีประชาชนเข้าร่วมประชุมประมาณ 1,200   คน  มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ร่วมชี้แจง  เช่น  สำนักงานเขตดอนเมือง  กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์   ผู้แทนจากกองทัพภาคที่ 1  กรมธนารักษ์  สำนักการระบายน้ำ กทม. กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  โดยมีนายไมตรี  อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นประธานชี้แจง

นายไมตรี อินทุสุต (ยืน) ประธานบอร์ด พอช.

 

นายไมตรี  อินทุสุต  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า  การพัฒนาคลองเปรมประชากรเป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ  เนื่องจากคลองเปรมฯ เป็นลำคลองสายหลักที่ช่วยระบายน้ำทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ  แต่ปัจจุบันมีการก่อสร้างบ้านเรือนกีดขวางทางเดินน้ำจำนวนมาก  ทำให้น้ำในคลองไหลไม่สะดวก  ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและน้ำเน่าเสีย  รัฐบาลจึงมีแผนงานแก้ไขปัญหา   โดยการสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม  ขุดลอกคลองให้น้ำไหลได้สะดวก  และพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองให้มีความมั่นคง  บ้านเรือนมีความสวยงาม  ลำคลองมีความสะอาด  ลูกหลานก็จะได้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี  เหมือนกับโครงการพัฒนาในคลองลาดพร้าวที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

 

“นอกจาก พอช.จะสนับสนุนการสร้างบ้านใหม่ให้ชุมชนแล้ว ยังเน้นการฟื้นฟูคลองให้ใสสะอาด   โดยมีแผนการพัฒนาครอบคลุมทั้งด้านกายภาพ   ด้านเศรษฐกิจและสังคม  การปรับปรุงภูมิทัศน์  พัฒนาคลองให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น  ถือเป็นความร่วมมือในการผลักดันนโยบายรัฐในเรื่องที่อยู่อาศัย ให้ประชาชนและลูกหลานมีคุณภาพชีวิตที่ดี         มีความสุขอย่างยั่งยืน” นายไมตรีกล่าว

 

นายธนัช  นฤพรพงศ์  ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า  การจัดประชุมในวันนี้เป็นกระบวนการสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชน  เพื่อให้ทราบถึงแนวทางการพัฒนาคลองเปรมประชากรตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลอง ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ (พลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว   โดยมีกรอบแนวคิดในการดำเนินงาน 4 ด้าน  คือ   1.ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมของเมือง   2.ด้านการพัฒนาชุมชนริมคลอง   3.ด้านการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน  และ 4.ด้านกฏหมายและการขับเคลื่อนงาน

ทั้งนี้การจัดทำแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากรในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบวางผังการพัฒนาพื้นที่ริมคลองเปรมประชากร   โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน   แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม  เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ  ลดปัญหาน้ำเน่าเสีย  พร้อมไปกับการปรับปรุงภูมิทัศน์  เพื่อสร้างทัศนวิสัยที่สวยงาม  ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน  

 

“การชี้แจงสร้างความเข้าใจในครั้งนี้เน้นย้ำถึงการพัฒนาชุมชนริมคลอง  ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางบ้านมั่นคงที่มี 9 ขั้นตอนด้วยกัน  คือ  การสร้างการรับรู้และความเข้าใจโครงการ  การทบทวนข้อมูลครัวเรือน

การรับรองสิทธิผู้เข้าร่วมโครงการ  กระบวนการจดแจ้งจัดตั้งสหกรณ์   การรังวัดที่ดินเพื่อเข้าสู่กระบวนการเช่าที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์   การออกแบบวางผังการขออนุมัติโครงการและงบประมาณจาก พอช.  รวมถึงการก่อสร้างบ้านตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคง โดยให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันในรูปแบบของสหกรณ์ เพื่อสร้างบ้านและบริหารโครงการ”  นายธนัชชี้แจงและว่า  จากการลงพื้นที่ชี้แจงโครงการพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเข้าใจและต้องการเข้าร่วมโครงการเพราะชาวบ้านยังสามารถสร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิมได้  และไม่เกิดผลกระทบเรื่องการเดินทางไปทำงานหรือไปโรงเรียนของลูกหลาน

สำหรับแผนงานในการรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชนริมคลองเปรมฯ นั้น  นายธนัชกล่าวว่า  มีชุมชนริมคลองเปรมฯ จำนวน  33 ชุมชน   อยู่ในเขตจตุจักร  หลักสี่  และดอนเมือง  และอีก  6 หมู่บ้านในเขต จ.ปทุมธานี  รวมทั้งหมด 6,386  ครัวเรือน  ซึ่งชุมชนเหล่านี้สามารถอยู่อาศัยในที่ดินเดิมได้ทั้งหมด  แต่จะต้องรื้อบ้านออกจากคลองและแนวก่อสร้างเขื่อนฯ เพื่อปรับผังชุมชนแล้วก่อสร้างบ้านใหม่ทั้งหมด  เพื่อให้ทุกครอบครัวอยู่ในชุมชนเดิมได้และได้รับสิทธิในที่ดินเท่ากัน  โดยเบื้องต้นขนาดบ้านและแบบบ้านจะมีทั้งบ้านชั้นเดียวและสองชั้น  ขนาด 4x7 และ 5x6 ตารางเมตร  ตามขนาดพื้นที่ของชุมชน 

 

ส่วนงบประมาณที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จะสนับสนุนการก่อสร้างบ้านใหม่จะเหมือนกับที่ดำเนินการในชุมชนริมคลองลาดพร้าว-คลองบางซื่อ  โดยแบ่งเป็น 1.การปรับปรุงสาธารณูปโภค  อุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ  ฯลฯ  รวมครัวเรือนละ 147,000 บาท  2.งบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย  วงเงินครัวเรือนละไม่เกิน 360,000 บาท  โดยผ่อนชำระ 15 ปี  อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4%  

 

ทั้งนี้ภายในเดือนเมษายนนี้ พอช.และกรมส่งเสริมสหกรณ์จะสนับสนุนให้ชุมชนที่ยังไม่มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์จัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้าน  และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลเพื่อบริหารโครงการ  รวมทั้งเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์  เปลี่ยนสถานะจากชุมชนบุกรุกที่ดินริมคลองเป็นเช่าที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (ในอัตราผ่อนปรน 1.50-3 บาท/เดือน/ตารางวา  ระยะเวลาช่วงแรก 30 ปี) และคาดว่าชุมชนที่มีความพร้อมจะสามารถเริ่มรื้อย้ายและสร้างบ้านใหม่ภายในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้

 ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ  เขตสายไหม  เป็น 1 ใน 50   ชุมชนริมคลองลาดพร้าวที่สร้างบ้านและเขื่อนฯ เสร็จแล้ว

 

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างบ้านในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ รวมทั้งหมด 50 ชุมชน  จำนวน  7,069  ครัวเรือน  ขณะนี้ก่อสร้างแล้ว 32 ชุมชน  สร้างบ้านเสร็จแล้ว  จำนวน  2,068  ครัวเรือน ดำเนินการใน  8 เขตริมคลองฯ  คือ  วังทองหลาง  ห้วยขวาง  ลาดพร้าว  จตุจักร  บางเขน  หลักสี่  ดอนเมือง  และสายไหม

 

ส่วนการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตและประตูระบายน้ำในคลองลาดพร้าว-คลองบางซื่อ (คลองบางบัว-คลองถนน-คลองสอง) ระยะทางทั้งสองฝั่ง 45 กิโลเมตรเศษ เริ่มจากบริเวณอุโมงค์เขื่อนพระราม 9 เขตวังทองหลาง ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำลงสู่อุโมงค์คลองบางซื่อ อุโมงค์พระราม 9 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและทะเลต่อไป โดยบริษัทริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ประมูลงานได้ในวงเงิน 1,465 ล้านบาท  เริ่มก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ 2559 - มิถุนายน 2562 ขณะนี้บริษัทก่อสร้างเขื่อนฯ ได้ประมาณ 40 % จากปริมาณงานทั้งหมด

 

ส่วนการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองเปรมตามแผนงานของ กทม.จะมีความยาวประมาณ  17 กิโลเมตร เริ่มจากพื้นที่ริมคลองเปรมฯ เขตจตุจักร-หลักสี่-ดอนเมือง-ปทุมธานี  ขนาดความกว้างเท่ากับคลองลาดพร้าว  คือ 38 เมตร โดยจะเริ่มสร้างเขื่อนฯ นำร่องภายใน 1-2 เดือนนี้  เริ่มจากคลองบ้านใหม่ถึงสะพานข้ามคลองบริเวณหมู่บ้านแกรนดค์าแนล  ระยะทางตามแนวเขื่อนทั้งสองฝั่งรวม 460 เมตร   ส่วนเขื่อนฯ ที่จะสร้างตลอดแนวคลองเปรมฯ  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย  และนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี  หลังจากนั้นจึงจะประกาศจ้างผู้รับเหมา  คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้

 

โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร  จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2562-2566 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท  เป็นการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ  เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำในพื้นที่เขตดอนเมือง  เขตหลักสี่  เขตบางเขน  เขตจตุจักร  ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 109 ตารางกิโลเมตร เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่  รวมถึงยังช่วยรับน้ำฝนที่ระบายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ข้างเคียง คือ  นนทบุรีและปทุมธานี และสามารถสูบน้ำกลับเพื่อเจือจางน้ำเสียในคลองเปรมประชากรได้อีกด้วย

ภาพร่างประตูระบายน้ำคลองเปรม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"