การเมืองทำลายความสุข พ่วงแก้'ปากท้อง'สะดุด!


เพิ่มเพื่อน    


    โพลชี้ประชาชนถึง 88.8% มองว่าการเมืองทำลายความสุขคนไทย คาดหวังนายกฯ คนใหม่ไม่สร้างความขัดแย้ง “เสี่ยหนู” มาแรงหาก พปชร.เป็นแกนนำเสียงหนุนดีกว่า “บิ๊กตู่” ชาวบ้านส่วนใหญ่เผยทิศทางการเมืองยังไม่ชัดเจน ห่วงกระทบปัญหาปากท้อง
    เมื่อวันอาทิตย์ ได้มีการเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน (โพล) ในเรื่องการเมืองถึง 2 สำนัก โดยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,257 คน ในหัวข้อกระแสการเมืองไทย ณ วันนี้ ซึ่งสอบถามประชาชนในช่วงระหว่างวันที่ 2-6 เม.ย.
    โดยเมื่อสอบถามว่า ประชาชนคิดอย่างไรกับกระแสหรือทิศทางการเมืองไทย ณ วันนี้ พบว่า อันดับหนึ่ง 40.12% ทิศทางการเมืองไม่ชัดเจน เพราะยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ, อันดับสอง 32.86% ยังไม่เป็นประชาธิปไตย มีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น, อันดับสาม 23.49% ยังมีความขัดแย้ง โจมตีกันไปมา สถานการณ์ทางการเมืองร้อนแรงมากขึ้น, อันดับสี่ 15.42% บ้านเมืองไม่เดินหน้า กระทบต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ และอันดับห้า 14.01% หากมีการจัดตั้งรัฐบาลก็น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
    และเมื่อสอบถามประชาชนว่าเป็นห่วงหรือวิตกเกี่ยวกับการเมืองไทย ณ วันนี้ในเรื่องใดบ้าง พบว่า 41.08% สภาพเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น การค้าการลงทุนหยุดชะงัก ค่าครองชีพสูง และมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ฯลฯ,  31.93% ความไม่โปร่งใส ทุจริตและคอร์รัปชัน เพราะการแก่งแย่งอำนาจและผลประโยชน์มีอยู่ทุกที่ มีให้เห็นทุกยุคทุกสมัย ซึ่งสื่อต่างๆ นำเสนอข่าวเป็นระยะๆ ฯลฯ, 26.44% ความขัดแย้ง การเคลื่อนไหวประท้วง     เพราะความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เสียประโยชน์ ไม่ได้รับความเป็นธรรม และถือทิฐิ ต้องการเอาชนะ ฯลฯ, 15% การเลือกตั้ง เพราะคะแนนไม่ชัดเจน มีการเลือกตั้งซ่อม มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล กระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่น ฯลฯ และ 11.71% การบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ/รัฐธรรมนูญ เพราะมีช่องโหว่ ไม่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์ สองมาตรฐาน เป็นสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้ง และผู้ที่ไม่เห็นด้วยเกิดการต่อต้าน ฯลฯ  
    สวนดุสิตโพลยังสอบถามถึงเรื่องประชาชนคิดว่ากระแสความขัดแย้งทางการเมืองไทย ณ วันนี้ มีสาเหตุมาจากอะไร พบว่า 54.23% อำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งแนวทางแก้ไขคือ กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมต้องเข้มแข็ง บทลงโทษรุนแรง มีการตรวจสอบ คานอำนาจ ฯลฯ, 28.10% กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจ/นักการเมือง โดยแนวทางแก้ไขคือ ลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยกันตรวจสอบ ผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ, 16.73% ความคิดเห็น/แนวความคิด/ทัศนคติ ซึ่งแนวทางแก้ไขลดทิฐิ ถอยคนละก้าว รับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน ต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ฯลฯ, 13.25% การแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายแนวทางแก้ไข คือต้องปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกที่ดี จัดกิจกรรมดีๆ ที่เสริมสร้างความปรองดอง มีคนกลางไกล่เกลี่ย ฯลฯ และ 10.62% การกล่าวหา ใส่ร้ายโจมตี โดยแนวทางแก้ไขควรมีหลักฐานอ้างอิง ชัดเจน ตรวจสอบได้ กลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ
    เมื่อถามอีกว่า ประชาชนคิดว่าคนไทยควรทำอย่างไร บ้านเมือง ณ วันนี้จึงจะสงบและก้าวหน้าต่อไปได้ พบว่า อันดับ 1 ทุกคนทุกฝ่ายต้องสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ 51.35%, อันดับ 2 เคารพกฎหมาย ทำตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ 29.38%, อันดับ 3 ลดทิฐิ รับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน 20.31%, อันดับ 4 ยึดหลักคุณธรรม มีจิตสำนึกที่ดี 18.13% และอันดับ 5 ไม่ออกมาเคลื่อนไหว ทะเลาะเบาะแว้ง 14.90%
    “เมื่อถามว่า ณ วันนี้ ประชาชนหวังพึ่งใคร เพื่อให้บ้านเมืองมีความสุขความเจริญ ผลโพลพบว่า 36.55% พึ่งตนเอง, 32.73% ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป, 27.31% นักการเมือง/ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้ง, 19.78% ประชาชนคนไทยทุกคน และ 18.07% บุคคลที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย” สวนดุสิตโพลระบุ    
    ด้าน ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ความสุขของประชาชน กรณีศึกษาประชาชนคนวัยทำงานทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,875 ตัวอย่างระหว่างวันที่  25 มี.ค.ถึง 6 เม.ย. พบประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึงความสุขของประชาชนวันนี้ พบว่า ประชาชนจำนวนมากที่สุด หรือ 46.9% ระบุสุขกับ ทุกข์ กลางๆ แค่ประคองชีวิต ในขณะที่ 27.5% ระบุสุขน้อยถึงไม่มีความสุขเลย ในขณะที่คนส่วนน้อยของสังคมหรือ 25.6% ระบุสุขมากถึงมากที่สุด โดยที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือ 88.8% ระบุการเมืองวันนี้ทำลายความสุขของประชาชน ในขณะที่ 11.2% ระบุไม่ทำลาย 
    เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อคุณสมบัติด้านต่างๆ ของผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ที่จะนำพาประเทศชาติก้าวต่อไปได้ดี พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 96.8% เชื่อมั่นว่าคนที่ไม่ก่อความขัดแย้งในสังคม เก่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จิตใจดี มีคุณธรรม ทันต่อเกมการเมือง และปกป้องเทิดทูนสถาบัน เป็นต้น จะนำพาประเทศชาติก้าวต่อไปได้ดี ในขณะที่มีเพียง 3.2% ไม่เชื่อมั่น
    “ที่น่าสนใจคือ ถ้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใครเหมาะสมเป็นนายกฯ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล ผลสำรวจพบว่า 63.1% ระบุนายอนุทิน ในขณะที่ 36.9% ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ถ้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ผลสำรวจพบว่าสูสี โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้ 39.6%, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ 38.1% และนายอนุทินได้ 22.3% 
    ดร.นพดลกล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ความสุขของประชาชนกำลังถูกลดทอนจากสถานการณ์วุ่นวายทางการเมือง เหตุเพราะความวุ่นวายและความขัดแย้งในสังคมที่นักการเมืองและทุกฝ่ายต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนด้วยการหาคนที่เหมาะสมเป็นนายกฯ ที่มีคุณสมบัติไม่ก่อความขัดแย้งในสังคม เก่งแก้ปัญหาปากท้อง รู้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นอย่างไร เป็นคนดีมีคุณธรรม ปกป้องเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ ออกมาเป็นรูปธรรมปลูกฝังในทัศนคติและพฤติกรรมที่ไม่ก้าวร้าว ไม่ก่อความวุ่นวายในสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูล มีไมตรีจิตต่อกัน อันเป็นลักษณะเด่นที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่อย่างเห็นในตัวผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ คนใหม่ที่ในผลสำรวจพบว่า ถ้าพรรค พปชร.จัดตั้งรัฐบาลนายอนุทินเป็นตัวเลือกสำคัญที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าเหมาะสม แต่ถ้าพรรค พท.จัดตั้งรัฐบาล ก็สูสีกันระหว่างคุณหญิงสุดารัตน์กับนายธนาธร. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"