การเมืองกับเศรษฐกิจ


เพิ่มเพื่อน    


    แม้จะผ่านการเลือกตั้งไปกว่า 2 สัปดาห์แล้ว แต่สถานการณ์การเมืองยังครุกรุ่น คลุมเครือ ยังไม่แน่ชัดว่าใครจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งความไม่แน่นอนเหล่านี้ ส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยาต่อนักลงทุนอย่างมาก
    อย่างที่ทราบกันดี สิ่งที่ภาคเอกชนพูดเป็นเสียงเดียวกัน คือ ใครเป็นรัฐบาลก็ได้ แต่ขอให้การเมืองนิ่งมีเสถียรภาพ และเดินหน้านโยบายที่ทำเอาไว้ ให้ลุยไปข้างหน้าต่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือความคาดหวังของเอกชน
    แต่สุดท้ายการที่ผลการเลือกตั้งที่ออกมามีความก้ำกึ่งสูสี และชวนให้มีความขัดแย้งในสังคม ก็เริ่มสร้างความหวั่นใจให้กับบรรดานักลงทุนไม่ใช่น้อย
    ล่าสุด นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ก็ให้สัมภาษณ์เป็นนัยๆ ว่า เริ่มมีความกังวลสำหรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มชะลอตัวลง จากเรื่องความไม่ชัดเจนในทางการเมือง 
    “เท่าที่ได้มีการพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติ ส่วนใหญ่เริ่มมีการชะลอการลงทุนไว้ประมาณ 1-2 เดือน เพื่อรอดูความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าหากการจัดตั้งรัฐบาลมีความยืดเยื้อออกไปอีกจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากน้อยแค่ไหน” นายอภิศักดิ์กล่าว
    ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร แต่หากเรื่องการเมืองยังไม่ได้ข้อยุติในเร็วๆ วัน การชะลอการลงทุนของต่างชาติ ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งตอนนี้ในมุมมองของนักธุรกิจ ก็ยังมองประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่น่าลงทุน ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจซีอีโอภูมิภาคอาเซียนประจำปี 2562 ในรายงานเครื่องชี้วัดธุรกิจ (Business Barometer : Asean CEO Survey) ของอ๊อกฟอร์ด บิสสิเนส กรุ๊ป (โอบีจี) ระบุชัดเจนว่า นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการทำธุรกิจในไทยสูงสุด จากเต็มร้อยได้ถึง 81% และกว่า  75% ของนักธุรกิจที่ตอบแบบสอบถาม ก็ยืนยันว่าบริษัทของเขามีแนวโน้มมากถึงมากที่สุดที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นมากในช่วง 12 เดือนข้างหน้า 
    จะบอกว่าความเชื่อมั่นแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาง่ายๆ  เพราะมันใช้เวลาสร้างมาอย่างต่อเนื่อง ไทยเองก็ล้มลุกคลุกคลานกับปัญหาการเมืองมาตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นอีก 
    เข้าใจว่าสิ่งที่เอกชนห่วงมากที่สุดในเวลานี้ ก็คือหวั่นการเกิด dead lock หรือภาวะที่ไม่สามารถอนุมัติอะไรได้ เนื่องจากเสียงสองฝั่งมีความใกล้เคียงกัน ซึ่งเคสแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในต่างประเทศ ซึ่งมีผลกระทบต่อการบริหารงานของรัฐบาล เพราะผลักดันกฎหมายไม่ผ่าน ซึ่งแน่นอน โอกาสแบบนี้มันเกิดขึ้นได้ หากการเมืองแต่ละฝ่ายไม่ยอมลดลาวาศอกกัน 
    ถึงเวลานี้อยากให้ทุกฝ่ายการเมืองมองผลประโยชน์ของประเทศชาติ และความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นหลัก เพราะว่าที่ ส.ส.และนักการเมืองทุกคนย่อมมีฐานมาจากประชาชน ฉะนั้นอะไรที่ส่อเค้าว่าจะทำให้ประเทศเกิดความเสียหายก็ไม่ควรทำ และที่สำคัญต้องเคารพในกติกาอย่างเคร่งครัดด้วย
    แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่า การเมืองจะฝ่าทางตันกันอย่างไร แต่ดูเหมือนรัฐบาลปัจจุบันก็พอจะรู้และคาดการณ์สถานการณ์ดังกล่าวไว้บ้างแล้ว จึงได้มีความพยายามในการเตรียมความพร้อมและผลักดันการลงทุน โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้เดินหน้าได้ตามแผน เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทดแทนการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง เพื่อให้เศรษฐกิจยังคงเติบโตต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพและสมดุล 
    อย่างที่ทราบกันดี หากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปรับตัวลดลง มันก็จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลเข้าไปพยุง ซึ่งมันแก้ไขยากกว่าการประคับประคองเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จะใช้งบประมาณน้อยกว่า ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ดี. 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"