กกต.โอดมีโกงให้ร้องเรียน 'เทพไท'ชงรัฐบาลแห่งชาติ


เพิ่มเพื่อน    


    “แสวง บุญมี” รองเลขาธิการ กกต.สุดทน โพสต์เฟซบุ๊กระบายที่สุดของการเลือกตั้ง 24  มี.ค. ชี้มีระบบป้องกันโกงดีที่สุดในระดับโลก และยังมีคนจ้องการหย่อนบัตรกว่า 1 ล้าน ข้องใจไม่สุจริตและเที่ยงธรรมแต่มีเรื่องร้องเรียนแค่ระดับร้อย ซ้ำร้ายเอาข่าวโซเชียลมาใส่ร้ายแต่ไม่กล้าบอกชื่อ “อ๋อย”  โผล่ยก 12 เหตุผลไม่ไว้วางใจ กกต. ไล่ตั้งแต่ที่มาจนถึงการค้าความ "สมชัย" โชว์กึ๋นอดีต กกต.บอกมีแค่ 14 พรรคได้ปาร์ตี้ลิสต์ “เทพไท” มาแปลกชงรัฐบาลแห่งชาติ ดันนายหัวชวนคุม ปชป.
    เมื่อวันจันทร์ที่ 8 เม.ย. นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อภาคสอง “ที่สุดแห่งการเลือกตั้ง : กกต.จัดการเลือกตั้งไม่โปร่งใสจริงหรือ” ไล่เป็นข้อๆ  คือ 1.ระบบที่ป้องกันการทุจริตการเลือกตั้งที่ดีที่สุด ตั้งแต่กระบวนการพิมพ์บัตร ขนหีบบัตร การจ่ายบัตร การเก็บรักษาบัตร การลงคะแนน และการนับคะแนน อาจกล่าวได้ว่าระบบการเลือกตั้งของไทยมีความปลอดภัยมากที่สุดในโลกเท่าที่เปรียบเทียบกับประเทศอื่น 2.มีผู้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งมากที่สุด  มีกรรมการเขตทุกเขตเลือกตั้ง 350 เขต มีกรรมการประจำหน่วย กปน.ทุกหน่วยเลือกตั้งกว่า 92,300  หน่วย ยังมีลูกเสืออาสา กกต. ผู้สังเกตการณ์ การเลือกตั้งของผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ผู้สื่อข่าว  องค์กรตรวจสอบการเลือกตั้งทั้งจากในและนอกประเทศรวมกว่า 1 ล้านคน 
3.มีขั้นตอนในการเลือกตั้งที่สลับซับซ้อนที่สุด ต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 350 แบบ 4.ให้เวลาลงคะแนนมากที่สุด โดยให้เพิ่มอีก 2 ชั่วโมงจากเคยปิดหีบเวลา 15.00 น. เป็น 17.00 น. 5.มีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุด คือ 51 ล้านคน มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา 6.มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุด ทั้งในการเลือกตั้งล่วงหน้าและในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 กว่า 79% มากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมานับแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540 7.มีผู้สมัครและพรรคการเมืองส่งผู้สมัครมากที่สุด โดยมี 81  พรรคการเมือง ผู้สมัครกว่า 12,000 คน จากที่เคยส่งผู้สมัคร 2,000-3,000 คน มีพรรคการเมืองส่งแค่  20-30 พรรคการเมืองด้วย
8.มีขั้นตอนการประกาศผลที่มากที่สุด 9.มีการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่สลับซับซ้อนที่สุด เพราะตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดวิธีคำนวณต่างจาก
    กฎหมายฉบับก่อนๆ เป็นอย่างมาก 10.มีจำนวนเรื่องร้องเรียนการทุจริตการเลือกตั้งน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพราะเดิมจะมีเรื่องร้องคัดค้านเป็นหลักพันหรือหลายพันเรื่อง แต่ครั้งนี้มีแค่หลักร้อยเท่านั้นเอง และ 11.มีการกล่าวหา กกต.โดยไม่มีข้อเท็จจริงมากที่สุด 
    “มีการตั้งข้อสงสัย พยายามกล่าวหา กกต.ว่าจัดการเลือกตั้งไม่โปรงใส โดยมีความพยายามทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเลือกตั้ง แต่ กกต.ก็ชี้แจงที่มาที่ไปได้ทุกเรื่อง และส่วนมากการกล่าวหาก็ไม่ปรากฏนามผู้กล่าวหา เป็นการกล่าวหาในโซเชียล และได้นำข้อกล่าวหาตามโซเซียลมาใช้ประโยชน์ในการอื่น  ถ้ามีหลักฐานอยู่บ้างตามที่กล่าวหา กกต.คงอยู่ไม่ได้แล้ว โดยหากมีหลักฐานว่าการเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรมก็ชอบที่จะยื่นเรื่องให้ กกต.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ จะได้ร่วมมือกันทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม แต่ไม่ใช่นำข้อสงสัยดังกล่าวมากล่าวหา กกต.เองทั้งที่ปราศจากมูลความจริง” นายแสวงโพสต์ทิ้งท้าย
ยก 12 เหตุผลไม่ไว้ใจ กกต.
    ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โพสต์เฟซบุ๊กเช่นกันในหัวข้อ "เหตุใด กกต.จึงไม่เป็นที่เชื่อถือของสังคม" โดยได้ยกเป็นข้อๆ เช่นกันว่า 1.กกต.ชุดนี้มีที่มาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่มาโดยการแทรกแซงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2.มักมีข่าวทำนองว่าผู้นำ คสช.และผู้นำรัฐบาลมอบเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ กกต.ไปทำอยู่บ่อยๆ กกต.ก็ไม่เคยทักท้วงว่ามอบไม่ได้ สั่งไม่ได้ เท่ากับยอมรับว่าพร้อมทำตามคำสั่งของ คสช.และรัฐบาล 3.ที่ผ่านมา คสช.ได้ออกคำสั่งที่มีผลแก้กฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง ส.ส.หลายครั้ง ซึ่งบางครั้งก็ให้คุณและโทษแก่พรรคการเมืองอย่างไม่เท่าเทียมกัน แต่ กกต.ไม่เคยทักท้วง
    4.คสช.สั่งให้แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่อย่างกะทันหัน กกต.ก็ดำเนินการตามสั่งไปอย่างไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ 5.กกต.ออกระเบียบว่าด้วยการจัดรายการที่เกี่ยวกับการหาเสียงทางสื่อต่างๆ ที่กลายเป็นข้อจำกัดทำให้สื่อต่างๆ ไม่กล้าจัดรายการกันเสียเป็นส่วนใหญ่ 6.รัฐบาลใช้งบประมาณแจกจ่ายในโครงการต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองอย่างชัดเจน แต่ กกต.ไม่เคยทักท้วง เมื่อมีคนร้องเรียนหรือวิพากษ์วิจารณ์ กกต.ก็ไม่ได้แสดงความกระตือรือร้นตรวจสอบ 7.มีการร้องเรียนให้ตรวจสอบกรณีพรรคการเมืองจัดงานเลี้ยงหาเงินสนับสนุนพรรค โดยมีข้อร้องเรียนว่ามีรัฐวิสาหกิจร่วมบริจาคด้วย ซึ่ง กกต.ตรวจสอบแล้วสรุปว่าไม่ผิด เนื่องจากไม่มีชาวต่างชาติบริจาคซึ่งไม่ตรงประเด็นเลย
    8.ระหว่างหาเสียงมีรองนายกฯ บางคนพูดในที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจ อธิบายถึงความจำเป็นที่นายกฯ ต้องเป็นนายกฯ ต่อไป เท่ากับวางตัวไม่เป็นกลาง กกต.ก็ไม่ได้ตรวจสอบ 9.ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง มีนักการเมืองเสนอนโยบายลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นสิทธิ์โดยชอบ ผู้บัญชาการทหารบกออกมาไล่ให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน ซึ่งเป็นพฤติกรรมไม่เป็นกลางทางการเมือง กกต.ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ 10.กกต.เปิดเผยผลการเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้งล่าช้าผิดปรกติ  จนบัดนี้ กกต.ก็ยังชี้แจงเรื่องนี้ไม่ได้ 11.หลังจากการเลือกตั้งผ่านไปเป็นสัปดาห์แล้ว กกต.ยังไม่สามารถชี้แจงได้ว่าจะคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองด้วยหลักเกณฑ์วิธีการอย่างไร และ 12.กกต.กำลังวางตัวเป็นผู้ที่ใครก็แตะต้องไม่ได้ ทั้งๆ ที่ กกต.เป็นองค์กรของรัฐที่พึงถูกตรวจสอบได้ แต่กลับเที่ยวไล่ดำเนินคดีกับผู้ที่ตำหนิติชมการทำงานของ กกต.
    “แค่นี้ก็น่าจะพอที่จะแสดงว่า กกต.ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ และ กกต.ควรรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์และรับไปปรับปรุงตนเอง ดีกว่าจะไปเที่ยวดำเนินคดีกับใครๆ และอยากย้ำว่าเนื่องจากกฎกติกาที่เขียนไว้ให้ผู้นำ คสช.ได้เปรียบในการตั้งรัฐบาล แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ออกมาแล้วยังไม่มีความชัดเจนว่าใครสามารถตั้งรัฐบาลได้ บทบาท กกต.จึงเป็นเรื่องสำคัญ สังคมจึงอยากเห็นการทำงานของ กกต.ที่โปร่งใสและเป็นกลาง ซึ่ง กกต.ควรพิสูจน์ตัวเองด้วยการกระทำ” นายจาตุรนต์โพสต์ไว้
    ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.และผู้สมัคร ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  ได้แถลงถึงสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามขั้นตอนของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128  ตั้งแต่ (1) ถึง (7) ว่า การคำนวณต้องยึดกฎหมาย 2 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 ซึ่งสูตรที่คำนวณได้แตกต่างจากผลลัพธ์ที่ กกต.ออกมาชี้แจงก่อนหน้านี้ว่าจะมีพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 25 พรรคได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 
ชี้ 14 พรรคได้ปาร์ตี้ลิสต์
    “สูตรผมจะมีพรรคการเมืองที่มีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 16 พรรค แต่ต้องตัดพรรคเพื่อไทยออก เนื่องจากได้ ส.ส.เขต 137 คน เกินกว่า ส.ส.พึงมี 111 คน และตัดพรรคประชาชาติออก เนื่องจากได้จำนวน ส.ส.พึงมีที่ 6.8316 แต่ได้ ส.ส.เขตมาแล้ว 6 คน จึงเท่ากับเหลือพรรคการเมืองที่จะได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 14 พรรคการเมือง” นายสมชัยกล่าวและว่า เมื่อนำมาปรับสัดส่วน 150 คนแล้ว  14 พรรคจะได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนี้ พรรคพลังประชารัฐ 21 คน, พรรคอนาคตใหม่ 56  คน, พรรคประชาธิปัตย์ 22 คน, พรรคภูมิใจไทย 13 คน, พรรคเสรีรวมไทย 11 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 5 คน, พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน, พรรคเพื่อชาติ 5 คน, พรรครวมพลังประชาชาติไทย 4 คน,  พรรคชาติพัฒนา 2 คน, พรรคพลังท้องถิ่นไท 2 คน, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 1 คน, พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน และพรรคพลังชาติไทย 1 คน
    นายสมชัยกล่าวว่าจะนำสูตรคำนวณนี้จัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรส่งให้ กกต.อย่างเป็นทางการภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลาอีกกว่าหนึ่งเดือนจะถึงวันที่ 9 พ.ค.ที่ กกต.ต้องประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 95% จึงอยากให้ กกต.จัดเวทีรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย ทั้งนักกฎหมาย นักคณิตศาสตร์ หรือจะเชิญมาก็ยินดี และสุดท้ายเมื่อได้รับข้อมูลครบถ้วนค่อยตัดสินใจว่าสูตรที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร
    “ขอให้เอาการติดยึดกับประโยคที่บอกว่าถูกแล้วออกไปจากหัวก่อน ไม่อยากให้ กกต.ติดยึดสิ่งที่เคยเผยแพร่ไป ควรเปิดกว้างรับฟังก่อน ไม่มีใครกดดัน กกต. ท่านต้องตัดสินใจเองว่าจะเลือกใช้สูตรใดและรับผิดชอบต่อการตัดสินใจด้วย เพราะหากคำนวณผิดก็ถือว่าบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ แต่เป็นการบกพร่องที่เจตนาหรือไม่เจตนาต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง หากบกพร่องโดยตั้งใจทั้งๆ ที่สังคมพยายามสะท้อนถึง กกต.แล้วก็ต้องรับผลที่ตามมา” นายสมชัยกล่าวและว่า หากคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อผิดก็ไม่ส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะสามารถแก้ไขผลลัพธ์ให้ถูกต้องได้ ส่วนข้อเสนอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เห็นว่าก่อนวันที่ 9 พ.ค.ไม่มีช่องทางส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ กกต.ต้องตัดสินใจเอง อยากให้ กกต.ยึดหลักไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีหน้าตาที่ต้องเสีย แต่ต้องให้ประเทศชาติเดินต่อไปได้  อย่าติดยึดเรื่องการเสียหน้า เมื่อผิดก็แก้ไข เชื่อว่าสังคมเข้าใจ
    นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า จะนำเรื่องการคำนวณ ส.ส.ของ กกต.ที่ระบุว่าจะมีพรรคอย่างน้อย 25 พรรคได้ปาร์ตี้ลิสต์เข้าสู่ที่ประชุมพรรคในวันที่ 10 เม.ย. เพราะเห็นว่าวิธีการคำนวณของ กกต.น่าจะคลาดเคลื่อนจากรัฐธรรมนูญกำหนด โดยหากที่ประชุมเห็นตรงกันจะทำหนังสือยื่นคัดต้าน กกต.อย่างเป็นทางการ ซึ่งถ้า กกต.ยังฝืนจะทำก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่จะเกิดขึ้น
    ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ทษช.กล่าวว่า ในวันที่ 9 เม.ย. เวลา 11.00 น.จะเข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาและเสนอความเห็นไปยังศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า การเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.62 เป็นโมฆะหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่ามีหลายประแด็นที่ยังสับสนหาข้อยุติไม่ได้ ทั้งเรื่องการนับคะแนน 100% ที่ กกต.ประกาศแต่ละครั้งไม่ตรงกัน, การไม่นำบัตรเลือกตั้งจากประเทศนิวซีแลนด์มานับรวม และการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 
    ส่วนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ยังคงมีกลุ่มนักศึกษา มข.และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ในนามเครือข่ายนักศึกษาติดตามการเลือกตั้ง ร่วมกันอ่านแถลงการณ์และจัดเสวนาในหัวข้อ “บัตรเขย่ง เราขยับ” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางการทำงานของ กกต.ในการจัดการเลือกตั้ง
ชงปลุกนายหัวชวนคัมแบ็ก
    วันเดียวกัน นายเทพไท เสนพงษ์ ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป.ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์ทางการเมืองและทางออกของประเทศว่า วันนี้ยังไม่มีการประชุม ส.ส.เพราะยังไม่มีการรับรอง ส.ส. จึงยังไม่มีมติใดๆ ทั้งนี้มีทางออก 3 ทาง คือ 1.เมื่อสองขั้วการเมือง คือขั้วสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ กับขั้วพรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ในที่สุดจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อความปรองดอง ซึ่งคนที่จะเป็นนายกฯ ไม่ควรเป็น พล.อ.ประยุทธ์เพราะเป็นคู่ขัดแย้ง โดยต้องเป็นคนกลางที่ทุกพรรคทุกฝ่ายยอมรับ โดยนายกฯ เฉพาะกิจมีกำหนดเวลา 2 ปีพร้อมภารกิจว่าต้องทำอะไรบ้างที่เป็นเรื่องเร่งด่วน จากนั้นก็ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนใหม่โดยไปสู่การเลือกตั้งใหม่
    นายเทพไทกล่าวอีกว่า 2.เมื่อสถานการณ์ยืดเยื้อเช่นนี้ ไม่มีทางจัดตั้งรัฐบาลหรือยังหาข้อยุติไม่ได้  คสช.อาจใช้มาตรา 44 ยกเลิกการเลือกตั้งและจัดการเลือกตั้งใหม่ และ 3.ถ้า พล.อ.ประยุทธ์มองว่าการใช้มาตรา 44 ทำให้ คสช.เปลืองตัวหรือมีข้อครหาจากฝ่ายต่างๆ ก็ให้ใครไปร้องศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาการเลือกตั้ง 24 มี.ค.มีเหตุอันควรเป็นโมฆะหรือไม่ 
    “สถานการณ์การเมืองตอนนี้ออกได้ 3 หน้า หาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ จะมีปัญหามาก เพราะแม้เอาพรรค ปชป.ไปร่วมรัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถรวบรวม ส.ส.ได้ครบ 250 เสียงหรือครึ่งหนึ่งของสภาล่าง จะทำให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แม้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้ ขณะที่ขั้วเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาลต้องไปรวบรวม 375 เสียงให้ได้ ซึ่งแม้รวมพรรค ปชป.เสียงก็ปริ่มน้ำทั้งสองข้าง จึงเกิดเดดล็อกหรือทางตันทางการเมือง” นายเทพไทกล่าว
    นายเทพไทยังกล่าวถึงท่าทีหัวหน้าพรรค ปชป.ว่า มีผู้เสนอตัวและผู้ถูกกล่าวถึงอย่างน้อย 3 คน คือ 1.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้า 2.นายกรณ์ จาติกวนิช รักษาการหัวหน้าพรรค และ 3.นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตประธานกรรมการคัดสรรผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งทั้ง 3 คนมีความสามารถคนละรูปแบบ นายจุรินทร์แหลมคมทางการเมือง นายกรณ์มีความรู้ด้านเศรษฐกิจ และนายอภิรักษ์มีประสบการณ์ทางการเมืองสูง จึงขอเสนอให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคมาเป็นหัวหน้าพรรค เพราะสถานการณ์พรรคขณะนี้ไม่ต่างกับสถานการณ์การเมืองของประเทศเช่นเดียวกัน  
    “หลายคนเปรียบเทียบนายชวนกับมหาเธร์ นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียที่มีอายุ 92 ปียังกลับมาเป็นนายกฯ ได้ แต่นายชวนอายุแค่ 82 ปีถือว่าเหมาะสม หากท่านกลับมาจะเรียกศรัทธาทำให้พรรคเข้มแข็งขึ้น เมื่อพรรครวมเป็นหนึ่งเดียวแล้วค่อยหาหัวหน้าพรรคคนใหม่เพื่อต่อสู้ในสนามเลือกตั้งครั้งหน้าต่อไป” นายเทพไทกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"