นักกฎหมายชี้จับกัญชา ผิดหลักการนิรโทษกรรม 90 วันถึง 20 พ.ค.


เพิ่มเพื่อน    

9 เม.ย.62 - นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก Komsarn Pokong เกี่ยวกับข้อสงสัยทางกฎหมายกรณีการครอบครองกัญชาของมูลนิธิข้าวขวัญ โดยมีเนื้อหาบางตอนระบุว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้มีผลใช้บังคับโดยในบทบัญญัติมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดหลักการสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายไว้ในลักษณะของบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดในกฎหมายดังกล่าวเป็นเวลา 90 วัน

นายคมสัน กล่าวว่า บทบัญญัติในมาตรา 22 ระบุว่า ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การใช้รักษาโรคเฉพาะตัว หรือการศึกษาวิจัย อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไม่ต้องรับโทษสำหรับการกระทำนั้น เมื่อดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในกรณีที่เป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 26/5 ให้สามารถครอบครองยาเสพติดให้โทษดังกล่าวได้ต่อไปจนกว่าการพิจารณาอนุญาตจะแล้วเสร็จ

(2) ในกรณีนอกจาก (1) ให้แจ้งการครอบครองต่อเลขาธิการ อย.ภายในกำหนด 90 วัน ทั้งนี้ หากเป็นผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคเฉพาะตัว และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ 

นายคมสัน กล่าวว่า บทเฉพาะกาลดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ครอบครองยาเสพติดประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ ไม่ต้องรับโทษ หากได้ดำเนินการตามที่กำหนดในบทบัญญัติมาตรา 22 ดังกล่าว ภายในช่วงเวลา 90 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ คือ ในช่วงเวลาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ -วันที่ 20 พฤษภาคม 2562

โดยหลักการของบทเฉพาะกาลนี้ เป็นบทกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นการยกเว้นการรับโทษในช่วงกฎหมายใช้บังคับ ซึ่งการมีกฎหมายใหม่จะทำให้ผู้ครอบครองกัญชาไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องได้รับผลกระทบจากการมี พรบ.ฉบับนี้ และจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ซึ่งกระทำการที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดจะได้ปฏิบัติตนให้เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใหม่ทันทีที่กฎหมายใช้บังคับ รวมทั้งจะมีผลทำให้เป็นการลดการกระทำความผิดกฎหมายและได้ผลในการสมัครใจเข้าสู่การดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นการลดการก่ออาชญากรรมในรูปแบบมาตรการทางกฎหมายเชิงบวก 

นายคมสันกล่าวว่า บทบัญญัติมาตรา 22 ดังกล่าว มีลักษณะเดียวกับการกำหนดการนิรโทษกรรมตามบทเฉพาะกาลที่พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง ซึ่งเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายแต่ละครั้ง ก็ได้มีการนิรโทษกรรมเกือบทุกครั้ง

ดังนั้น เมื่อเราพิจารณาเปรียบเทียบบทบัญญัติของการตราบทเฉพาะกาลเพื่อนิรโทษกรรม ให้แก่ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนดังกล่าวข้างต้น กับบทบัญญัติมาตรา 22 แห่งพรบ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7)แล้ว ก็จะพบหลักการสำคัญในการนิรโทษกรรม 

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ กล่าวว่า ด้วยประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจค้นและจับกุมบุคคลในมูลนิธิข้าวขวัญ ว่ามีการผลิต ครอบครอง จำหน่ายจ่ายแจก กัญชา ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 ที่ได้รับการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดในช่วง 90 วัน จึงเป็นการปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักการของกฎหมาย และเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของมาตรา 22 เพราะการมีบทเฉพาะกาลดังกล่าวเป็นไปด้วยเงื่อนไขที่หลายฝ่ายก็เข้าใจอยู่ว่า ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์  -วันที่ 20 พฤษภาคม เป็นช่วงเวลาของการนิรโทษกรรมไม่เอาผิดกับผู้ซึ่งมีไว้ในการครอบครองกัญชาในทุกกรณี ไม่ว่าจะมีไว้ในครอบครองเพื่อผลิต การค้า การจำหน่าย จ่ายแจก หรือกิจกรรมใด ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การใช้รักษาโรคเฉพาะตัว การศึกษาวิจัย หรือเพื่อการใดๆ ซึ่งรวมถึงการมีไว้เพื่อสันทนาการ ก็ตาม ก็ได้รับประโยชน์จากบทนิรโทษกรรมดังกล่าวด้วย

"เมื่อหลักการของกฎหมายเป็นไปดังกล่าว การกระทำของเจ้าหน้าที่ที่เข้าดำเนินการกับมูลนิธิขวัญข้าว จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมายในสาระสำคัญของหลักนิติรัฐ คือหลักกฎหมายว่าด้วยความมาก่อนของกฎหมาย และการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามกฎหมาย

เราไม่รู้ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเกิดจากวัตถุประสงค์ใด แต่หากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อกลั่นแกล้งให้บุคคลใดต้องรับผิดทางอาญา หรือเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆในการมีสิทธิเหนือกัญชา เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งคงต้องเตรียมตัวสำหรับการรับผลจากการกระทำเอาไว้ด้วย”นายคมสัน กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"