เลวร้ายกว่ายุค‘ทักษิณ’ อัดม.44อุ้มนายทุนใหญ่


เพิ่มเพื่อน    

  รุมจวกยับมาตรา 44 อุ้ม "มือถือ-ทีวีดิจิทัล" เด็กบิ๊กป้อมสะกิดให้ "ลุงตู่" เร่งหาแผนสำรอง เพราะ ม.44 ในรัฐธรรมนูญไม่คุ้มครอง "ธีระชัย" อัดซ้ำไม่เข้าข่ายความจำเป็นเร่งด่วน บ่อนทำลายเศรษฐกิจ  เตือนซานต้าตู่ทำให้ระบบประมูลในอนาคตใช้เป็นตัวอย่าง “เด็ก ปชป.” จัดหนักเลวร้ายกว่ายุคทักษิณลักหลับอุ้มนายทุน

เมื่อวันศุกร์ที่ 12 เม.ย. ยังคงมีความต่อเนื่องจากการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยนายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ อำนาจ คสช.ที่ต้องสะกิดกัน ระบุว่า อำนาจของ คสช.นั้นไม่เท่ากันใน 3 ช่วงเวลา โดยนับแต่ 22 พ.ค.2557 คสช.เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ออกคำสั่งประการใดมีผลบังคับเด็ดขาด เป็นผลจากอำนาจที่รองรับโดยคำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานไว้ และหลังจากใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว อำนาจ คสช. เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น และการใช้อำนาจก่อนหน้าได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญว่าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
    “หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 อำนาจของ คสช.เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง และต้องใช้ตามเงื่อนไขในมาตรา 44 ด้วย ซึ่งเมื่อมีรัฐธรรมนูญใช้บังคับแล้ว การใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญไม่มีบทนิรโทษกรรม ดังนั้นการใช้อำนาจต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งแม้ใช้อำนาจได้ แต่จะใช้โดยผิดกฎหมาย โดยไม่ชอบหรือโดยไม่สุจริต หรือโดยทุจริตไม่ได้ เทียบได้กับบรรทัดฐานคดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในการแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตเกี่ยวกับค่าสัมปทานมือถือ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา” นายไพศาลโพสต์ไว้
    นายไพศาลโพสต์อีกว่า เมื่อรัฐธรรมนูญรับรองให้ใช้อำนาจได้ แต่ไม่ได้นิรโทษกรรมล่วงหน้าให้ไว้ ดังนั้นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 จึงต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขโดยใช้โดยชอบ โดยสุจริต และต้องไม่ใช้โดยทุจริตด้วย มิฉะนั้นก็อาจถูกศาลเพิกถอน และต้องรับผิดในการใช้อำนาจนั้นตามบรรทัดฐานที่ศาลวินิจฉัยไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้มีผลในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการก็ตาม 
“เหตุที่ต้องสะกิดกันไว้บ้าง เพราะการใช้มาตรา 44 ผ่อนผันค่าสัมปทานมือถือและทีวีนั้น อาจต้องทบทวนว่าทำให้รัฐเสียหายเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ระบุว่ามีความเสียหายนับหมื่นล้านบาท ซึ่งถ้าลองคำนวณแบบมูลค่าในอนาคต และมูลค่าปัจจุบันเทียบเคียงกันดู ก็อาจเห็นความเสียหายถึง 25,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะให้ผู้เชี่ยวชาญคำนวณเรื่องนี้ดู ก็อาจต้องตกใจ และจำเป็นต้องมี Legal Second opinion แล้วล่ะครับ” นายไพศาลโพสต์ทิ้งท้าย
ขณะที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง โพสต์เช่นกันในหัวข้อ “คสช. ควรเล่นเป็นซานตาคลอสด้วยเงินประชาชนหรือไม่?” โดยระบุว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เล่นเป็นซานตาคลอสใช้เงินส่วนรวมทำนโยบายประชานิยมหลายเรื่อง เพื่อแข่งกับรัฐบาลในอดีตถึงแม้มีเสียงวิจารณ์ว่าได้ผลแบบไฟไหม้ฟาง และไม่เกื้อกูลให้ประชาชนพึ่งตนเอง แต่อย่างน้อยผู้ที่ได้รับประโยชน์คือผู้มีรายได้น้อย ถามว่าประชาชนจะคิดอย่างไร ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เล่นเป็นซานตาคลอส แต่เพื่อประโยชน์แก่คนรวย และแก่นักธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะถ้าเบียดบังไปจากประชาชนทั้งประเทศ
“เมื่อวันที่ 11 เม.ย. คสช.ก็มีประกาศมาตรา 44 อุ้มธุรกิจโทรคมนาคม และมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลควบคู่กันไปด้วย ซึ่งการทำอย่างนี้ทำลายหลักการประมูลแข่งขันโดยตรง เพราะเมื่ออนุญาตใช้สำหรับเรื่องนี้ ในอนาคตจะปฏิเสธสำหรับเรื่องอื่นได้อย่างไร ถ้าผู้ชนะประมูลสามารถเปลี่ยนใจภายหลังได้ สามารถคืนใบอนุญาตได้ โดยได้รับเงินคืน ในการประมูลต่อๆ ไป เอกชนรายใดรายหนึ่งก็จะสามารถเสนอผลตอบแทนสูงเว่อร์ เพื่อชนะได้รับคัดเลือกไปก่อน แล้วถ้าทำไปขาดทุน หรือกำไรน้อย ก็ขอเจรจายกเลิกภายหลัง และการอนุญาตให้ผู้ประกอบการทีวีไม่ต้องจ่ายค่าประมูลทีวีดิจิทัล ใน 2 งวดสุดท้าย ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 13,622 ล้านบาทนั้น เหตุใดจึงไม่มีผู้ต้องรับผิดชอบ? ถ้าหากอ้างว่า รัฐจำเป็นต้องยกประโยชน์ให้แก่เอกชน เกิดจากความผิดของ กสทช. ที่พัฒนาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ล่าช้า รัฐก็จำเป็นต้องลงโทษผู้กระทำผิดทั้งทางแพ่งและอาญา”นายธีระชัยโพสต์ 
อดีต รมว.การคลังยังโพสต์อีกว่า ในเรื่องมาตรา 44 นั้น นายไพศาล นักกฎหมายใหญ่เขียนไว้ชัดเจนว่า อย่าเชื่อใครว่าจะสามารถใช้มาตรา 44 ได้ทุกกรณีเสมอไป ซึ่งการใช้มาตรา 44 ต้องใช้ 1.กรณีจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปด้านต่างๆ 2.กรณีจำเป็นในการส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ และ 3.กรณีจำเป็น เพื่อป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน 
“ควรพิจารณาว่า ประกาศฉบับนี้เข้าเงื่อนไข 3 ข้อดังกล่าวหรือไม่ โดยสำหรับข้อ 3 นั้น ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมเห็นว่าไม่สามารถเข้าข่ายเป็นการจำเป็น เพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศ แม้แต่น้อย” นายธีระชัยระบุ
    นายเชาว์ มีขวด รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กในเรื่องดังกล่าวว่า เป็นการใช้อำนาจที่ชี้ให้เห็นว่าขาดธรรมาภิบาลเอื้อทุนใหญ่ ไม่แตกต่างจากสิ่งที่นายทักษิณเคยกระทำทุจริตเชิงนโยบายจากการแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างพฤติกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์กับนายทักษิณ คือ กรณีทุจริตเชิงนโยบายของนายทักษิณยังมีกลไกตรวจสอบจนนำไปสู่การฟ้องร้องในชั้นศาล แต่การใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 เป็นการมัดมือชกประชาชน ยับยั้งไม่ได้ ฟ้องร้องไม่ได้ ไม่สามารถเรียกคืนความเสียหายที่จะเกิดต่อรัฐกลับมาได้ ตัว พล.อ.ประยุทธ์พ้นความรับผิดโดยสิ้นเชิง กฎหมายเอื้อมไปไม่ถึง จึงถือว่าเลวร้ายกว่ายุคนายทักษิณเสียอีก 
“หาก กสทช.ต้องการช่วยทุนโทรคมนาคม ก็ใช้อำนาจของตัวเองดำเนินการได้ แต่กลับเลือกเสนอให้ใช้อำนาจมาตรา 44 และ พล.อ.ประยุทธ์ก็สนองตอบ จึงมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากต้องการใช้อำนาจพิเศษเพื่อหนีความรับผิดชอบทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พล.อ.ประยุทธ์อาจอ้างว่าตัวเองไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะไม่ใช่เจ้าของกิจการ แต่ท่านต้องตอบคำถามคนไทยให้ได้ว่า เหตุใดต้องยกผลประโยชน์นับหมื่นล้านให้นายทุน 3 ราย คือ เอไอเอส ทรู และดีแทค ทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัททั้งสามแห่งพุ่งสูงขึ้น ไม่แตกต่างจากบริษัทชินคอร์ปของนายทักษิณในอดีต” นายเชาว์กล่าว
    นายเชาว์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีความพยายามดำเนินการเรื่องนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่กระแสสังคมต่อต้าน ประกอบกับ พล.อ.ประยุทธ์มีท่าทีชัดเจนที่จะเข้าสู่สนามการเมือง ทำให้ชะลอไว้ก่อน เมื่อจบการเลือกตั้งค่อยดำเนินการต่อ และยังเลือกทำช่วงใกล้วันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ส่อให้เห็นว่าเป็นการฉกฉวยจังหวะที่ผู้คนกำลังหยุดพักผ่อน ซึ่งไม่เพียงเป็นการลักหลับประชาชนทีเผลอ แต่ยังเป็นพฤติกรรมที่ขาดความรับผิดชอบทางการเมืองด้วย เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจพิเศษเอื้อกลุ่มทุนโทรคมนาคมอย่างโจ่งแจ้งเช่นนี้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง แรงสนับสนุนประชาชนที่ท่านได้อาจแตกต่างไปจากในปัจจุบัน เพราะประชาชนจะทราบความจริงล่วงหน้าว่าความสงบที่ท่านอ้างว่าจะได้นั้นต้องแลกด้วยประโยชน์ที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ไปยกให้กับกลุ่มทุน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"