ชงรัฐบาลแห่งชาติ 'เทพไท'จุดพลุอยู่2ปี ชู‘พลากร’นั่งนายกฯ


เพิ่มเพื่อน    


    "เทพไท" จุดพลุรัฐบาลแห่ชาติ เผยคุยกับเพื่อนหลายคนเห็นตรงกัน "พลากร สุวรรณรัฐ"  เหมาะเป็นนายกฯ มากที่สุด เพราะเป็นคนกลาง ไม่สืบทอดอำนาจ วาระ 2 ปี แก้รัฐธรรมนูญแล้วคืนอำนาจให้ประชาชน "พุทธิพงษ์" เชื่อหลังวันที่ 9 พ.ค.จัดตั้งรัฐบาลได้แน่ พยายามทุกทางเพื่อให้เสียงเกิน 251 เสียง "จุรินทร์" ยันประชาธิปัตย์ไม่ตาย ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ ส่วนพรรคที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารไม่ยั่งยืน
    เมื่อวันที่ 14 เมษายน นายเทพไท เสนพงศ์ ว่าที่ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองของประเทศ  โดยย้ำว่าจะต้องจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และแก้รัฐธรรมนูญให้มีวาระเพียงแค่ 2 ปี จากนั้นให้คืนอำนาจแก่ประชาชนและจัดการเลือกตั้งใหม่
    นอกจากนี้ นายเทพไทยังกล่าวถึงบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลางของรัฐบาลแห่งชาติ ว่า เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองพร้อมถอยคนละก้าว แต่พรรคที่มีปัญหาและข้อจำกัดมากที่สุดคือ พรรคอนาคตใหม่ เพราะมีจุดยืนชัดเจน คือ 1.ไม่สืบทอดอำนาจ และ 2.ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติตามที่ตนเสนอไม่ขัดกับจุดยืนนี้แน่นอน เนื่องจากมีการตัดตอนสืบทอดอำนาจที่ชัดเจน เพราะนายกฯ คนกลางไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกทั้งรัฐบาลดังกล่าวจะมีภารกิจแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ขัดจุดยืนของอนาคตใหม่ ดังนั้น พรรคอนาคตใหม่จึงสามารถเข้าร่วมได้ 
    เขากล่าวว่า สำหรับนายกฯ คนกลางต้องเป็นคนที่เข้าได้กับทุกฝาย ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง มีอยู่ด้วยกัน 4 คน  โดยสองคนเป็นองคมนตรีที่มีความสามารถเพียงพอ ได้แก่ 1.พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท อดีต ผบ.ทบ. แม้จะเป็นทหาร แต่มีหลักประชาธิปไตยค่อนข้างชัดเจน 2.นายพลากร สุวรรณรัฐ ที่ผ่านมาเป็นข้าราชการฝ่ายปกครอง มีประสบการณ์การปกครองค่อนข้างสูง เชื่อว่าจะนำพาประเทศชาติได้ 3.นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด (UNCTAD) โดยออกจากการเมืองไปแล้ว และมีความรู้ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งตรงกับภารกิจของรัฐบาลแห่งชาติที่ต้องการแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน  และ4.นายชวน หลีกภัย ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และถือเป็นบุคคลที่ทำงานภายในสภามานาน ทุกฝ่ายพอยอมรับได้
    “จากรายชื่อคนที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับการเมืองคือ พล.อ.เฉลิมชัยและท่านพลากร ซึ่งจากการพูดคุยกับเพื่อนๆ หลายคน เขาบอกว่าอยากได้นายกฯ คนกลางที่มาจากพลเรือน แต่ไม่ได้แปลว่ารังเกียจ พล.อ.เฉลิมชัย แต่กังวลถึงภาพลักษณ์ว่าจะเป็นการนำภายใต้ทหารอีกหรือไม่ แต่หากเป็นพลเรือนจะอธิบายกับสังคมและสังคมโลกได้ว่าเป็นรัฐบาลเป็นกลางจริงๆและนำโดยพลเรือน ทำให้ตอนนี้น้ำหนักเอนไปทางท่านพลากรมากที่สุด"
    นายเทพไทกล่าวว่า เรายังมีเวลาอีกพอสมควรให้ถกเถียงจนตกผลึก บ้านเมืองต้องมีทางออก ไม่เจอทางตัน เพราะหากใช้ ม.44 ยกเลิกการเลือกตั้ง หรือศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ จะต้องกลับไปเลือกตั้งใหม่ เมื่อบรรยากาศการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว และเห็นว่าทางออกของบ้านเมืองยังมีทางออกได้ นั่นก็คือเรามาจับมือกันร่วมกันตั้งรัฐบาลแห่งชาติ
ความหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
    ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์ในพรรคที่มีความเห็นต่างในการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่าเป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีความหลากหลายทางความคิด และปรากฏการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดมาหลายครั้งเหมือนกับพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกก็เป็นอย่างนี้ แต่เมื่อถึงเวลาจะมีกลไกตัดสิน ซึ่งพรรคมีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเป็นที่ประชุมเพื่อหาข้อยุติ และเมื่อมีมติเป็นอย่างไร ตนมั่นใจว่าทุกคนในพรรคจะเคารพมตินี้ 
    เขาบอกว่า สำหรับความพยายามที่จะขอเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของโหวตเตอร์ในการเลือกหัวหน้าพรรคและ กก.บห.พรรคในที่ประชุมใหญ่พรรค โดยเสนอให้อดีต ส.ส.ปี 2554 มีสัดส่วนโหวตที่ 70% เท่ากับว่าที่ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เห็นว่าจะต้องมีหารือกับ กก.บห.รักษาการ เพื่อตั้งคณะทำงานหนึ่งชุด เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียดต่างๆ ในการที่จะจัดการเลือก กก.บห. โดยยึดข้อบังคับพรรคเป็นหลัก 
    ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์อะไรหรือไม่ ยังไม่สามารถบอกได้ แต่โดยหลักทุกครั้งพรรคจะมีคณะทำงานตามข้อบังคับพรรคกำหนดว่า จะต้องมีการเลือก กก.บห.ชุดใหม่ภายใน 60 วัน นับจากวันพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคในวันที่ 24 มี.ค. ในการประชุมกก.บห.พรรคครั้งล่าสุด พิจารณาแล้วว่าจะต้องเลือก กก.บห.ชุดใหม่ และหัวหน้าพรรคคนใหม่ ให้เสร็จสิ้นภายในวันสุดท้ายคือ 23 พ.ค.นี้ ตามข้อบังคับพรรค
    ผู้สื่อข่าวถามว่า การประชุมใหญ่สามัญประจำปี ในวันที่ 24 เม.ย.นี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการเสนอเพื่อให้เลือก กก.บห.พรรคชุดใหม่ นายจุรินทร์ตอบว่า  วันที่ 24 เม.ย. จะเป็นการรับรองงบดุลประจำปีของพรรค ที่จำเป็นต้องทำตามกำหนดเวลาและข้อบังคับพรรค ส่วนจะมีใครเสนอวาระอื่นอีกหรือไม่ ตนไม่อยู่ในฐานะที่จะไปคาดการณ์อะไรล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น 
    เขากล่าวว่า การที่นายถาวร เสนเนียม ว่าที่ ส.ส.สงขลา ระบุว่าทุกอย่างควรเสร็จก่อน 9 พ.ค. ขอย้ำว่า เรื่องการเลือก กก.บห.พรรคใหม่เป็นหน้าที่ของคณะทำงาน หากจะมีการเสนอให้พิจารณาวาระเลือกหัวหน้าพรรคในวันที่ 24 เม.ย.นี้เลยหรือไม่ มันไม่ยากที่จะตอบ แต่ถ้าตอบไปแล้วมันกระทบกระทั่งโดยไม่จำเป็น ยังมองในแง่ดีว่าทุกคนในพรรคมีวุฒิภาวะและทราบดีว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพรรค  
    "ผมไม่ขอพูดเรื่องตัวบุคคล และไม่ขอพูดเรื่องปรากฏการณ์ใดๆ ในขณะนี้ เพียงแต่ว่ายังมั่นใจว่ามันเป็นขั้นตอนกระบวนของความหลากหลายทางความคิดของพรรค เมื่อถึงเวลากลุ่มที่มีหน้าที่ตามข้อบังคับพรรคได้พิจารณาตัดสินแล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนจะเคารพมติพรรค” 
อุดมการณ์เป็นเรื่องสำคัญ 
    เมื่อถามย้ำว่า ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์กำลังอยู่บนทางสองแพร่ง ระหว่างจะไปร่วมรัฐบาล หนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ หรือจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านอิสระ ต่างฝ่ายต่างอ้างอุดมการณ์พรรค จะบอกสังคมอย่างไร นายจุรินทร์กล่าวว่า อุดมการณ์เป็นเรื่องสำคัญ ตนมั่นใจว่าทุกคนยึดถือและไม่ได้มีข้อสงสัยในเรื่องนี้  
    ซักว่าเป็นหนึ่งในแคนดิเดตหัวหน้าพรรค จะฟื้นความเชื่อมั่นและศรัทธาของสมาชิกพรรคที่เลือกคนของพรรค 3.9 ล้านเสียงให้เพิ่มขึ้นอย่างไร นายจุรินทร์ตอบว่า วันนี้ตนยังไม่ได้เป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค จึงยังไม่ควรจะพูดอะไร และเมื่อถึงเวลา จะพูดแน่นอน ที่สำคัญเชื่อมั่นและมั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถกลับไปนั่งในหัวใจของประชาชนได้อีกครั้งแน่นอน เพราะเรามีจุดแข็งมากมาย ทั้งบุคลากรที่มีศักยภาพ ความหลากหลายทางความคิดสร้างสรรค์  
    เขากล่าวว่า การเป็นพรรคการเมืองที่ประกอบด้วยคนทุกรุ่น โดยเฉพาะเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองชัดเจน ที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปัตย์ ระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีอุดมการณ์การทำหน้าที่เพื่อประชาชนเป็นหลักอย่างมุ่งมั่น ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ที่สำคัญอีกสิ่งคือ เราเป็นพรรคการเมืองที่มีอดีต ปัจจุบัน และมีอนาคต วันเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้ในยามที่เราตกต่ำในบางยุคบางสมัย แต่สุดท้ายเราก็สามารถลุกขึ้นยืนและพลิกฟื้นให้กลับมาเป็นที่ยอมรับ หรือเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจประชาชนได้อีกครั้งหนึ่งในระยะเวลาไม่ไกล
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้เงื่อนไขและปัจจัยทางการเมืองต่างจากอดีต เพราะฐานเสียงของพรรคแตก  ทหารกลับเข้ามาเป็นผู้เล่นเอง จะทำอย่างไรให้สังคมเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์คือทางเลือกหลัก นายจุรินทร์ตอบว่า ขอแยกทหารกับ คสช.ออกจากกันเสียก่อน เพื่อความชัดเจน ถ้าเราย้อนไปดูทั่วโลกหลายประเทศ พรรคการเมืองที่ตั้งมาโดยคณะรัฐประหารแล้ว ลงมาแข่งขันในระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถอยู่ได้ยั่งยืนตลอดไป ตนคิดว่าประเทศไทยก็หนีไม่พ้นบทพิสูจน์นี้ พรรคการเมืองที่จะยืนหยัดได้อย่างยั่งยืนต้องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่รับใช้ประชาชนในทางการเมือง และต้องการพัฒนาตัวเองไปสู่สถาบันทางการเมือง สถาบันหลักในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะอยู่ยั้งยืนยง และทุกพรรคการเมืองในโลกก็มีแพ้มีชนะตามยุคสมัย 
    "เราผ่านการพิสูจน์แล้วว่าประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ เราทำงานรับใช้ประชาชนและประเทศชาติมาต่อเนื่อง มีหัวหน้าพรรคมา 7 คน และยังต้องมีต่อไปอีกในอนาคต โดยยึดเหนี่ยวอุดมการณ์ของพรรค สำคัญที่สุดที่สะท้อนความเป็นเราคือ ไม่ว่าประชาธิปัตย์จะอยู่ในฐานะไหน เราทำหน้าที่ของเราแทนประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความซื่อสัตย์สุจริต" นายจุรินทร์กล่าว
สถานการณ์ยังไม่นิ่ง
    ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ว่าที่ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เรื่องความขัดแย้งและทิศทางของพรรค ตนทราบดีว่ามีสมาชิกออกมาพูดเรื่องนี้เยอะแล้ว จึงไม่อยากพูดอะไรให้เป็นเรื่องสับสนต่อสังคมอีกต่อไป เนื่องจากเวลานี้สถานการณ์ทุกอย่างยังไม่นิ่ง กกต.ก็ยังไม่มีการรับรอง ส.ส. อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องสูตรคำนวณจำนวน ส.ส.ที่ยังวุ่นวาย ถึงขั้นต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ดังนั้นตอนนี้หากพูดอะไรไป คนก็จะสับสนเปล่าๆ ทั้งนี้ ในเวลานี้ยังไม่มีใครทราบชัดเจนว่าฝ่ายใดจะได้จัดตั้งรัฐบาลตนจึงมองว่าต้องรอคะแนนอย่างเป็นทางการเสียก่อน
    เขากล่าวว่า พรรคเพื่อไทยก็อ้างจำนวน ส.ส. เยอะที่สุดส่วนพรรคพลังประชารัฐ ก็อ้างว่ามีคะแนนนิยมเยอะที่สุด ทุกคนพูดได้ แต่สถานการณ์ยังไม่จบ ดังนั้นทุกคนจึงมีสิทธิ แต่ใครจะตั้งรัฐบาลได้ก็ต้องรอความชัดเจน 
    "ผมไม่เห็นด้วยกับการสร้างวาทกรรมในขณะนี้ในเรื่องของคำว่าเผด็จการ หรือประชาธิปไตย ผมอยากบอกว่าคำว่าเผด็จการจบลงแล้วตั้งแต่มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาแล้ว แต่ผมสังเกตเห็นฝ่ายที่สนับสนุนนายทักษิณ ชินวัตร พยายามใช้วาทกรรมเผด็จการเพื่อโจมตีให้คนเข้าใจผิดในกระบวนการต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ จึงอยากบอกว่า ตอนนี้อย่าเพิ่งมองว่าจะเป็นอย่างไร ขอให้รอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน” 
    นายสาทิตย์เผยว่า ทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์   ต้องรอสถานการณ์ในการที่จะให้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เข้ามาตัดสินจนเป็นมติ และสมาชิกทุกคนก็ต้องยอมรับมติของ กก.บห. ตนไม่อยากให้คนมอง ปชป.ว่ามีความขัดแย้งกันในพรรค เพราะเราทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นต่าง เนื่องจากพรรคเราไม่มีใครเป็นเจ้าของ ทุกคนจะมีสิทธิเท่าเทียมกัน 
    "ไม่อยากให้มีคนมาพูดว่าเลือกตั้งแพ้แล้วยังมาทะเลาะกันอีก เพราะเราไม่ได้ทะเลาะกัน เราเป็นเพียงพรรคที่สามารถ หรือต้องการแสดงความเห็นต่างต่อกันได้ทุกเมื่อ ก็เท่านั้นเอง" ว่าที่ ส.ส.ตรังกล่าว
    ด้าน น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ว่าที่ ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ทิศทางของพรรคต้องรอคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ว่าจะเป็นฝ่านค้านอิสระ หรือไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งความเห็นส่วนตัวอยากเห็น ปชป.ร่วมรัฐบาลกับ พปชร. เพราะจะได้ขับเคลื่อนนโยบายให้ประชาชนได้ แต่ทั้งหมดต้องรอมติพรรคเท่านั้น โดยจะมีการประชุม กก.บห.รักษาการอีกครั้งในวันที่ 18 เมษายนนี้ ก็ต้องรอดูความคืบหน้าอีกครั้ง ถ้ามติพรรคออกมาเป็นอย่างไร ก็ต้องว่ากันอีกครั้งหนึ่ง
ทะเลาะกันเป็นเรื่องปกติ
     ถามว่าขณะนี้สังคมมองว่า ปชป.พรรคแตก มีทั้งงูเห่าและแบ่งขั้วเป็น 2 ฝ่าย เธอตอบว่า เรื่องนี้จริงๆปชป.ตกลงกันไม่ยาก และอยากบอกว่าคน ปชป.ทะเลาะกันเป็นเรื่องที่ปกติมากๆ เพราะเราเป็นประชาธิปไตย ถ้าสังเกตจะเห็นว่าพรรคเราไม่ว่าจะทำอะไรจะมีเรื่องเสียงแตก เสียงไม่ตรงกันทุกครั้ง แต่เมื่อมติพรรคออกมาแล้วทุกคนต้องปฏิบัติตาม แม้แต่หัวหน้าพรรคก็จะมาชี้นำให้ไปทางไหนก็ไม่ได้
    น.ส.รังสิมากล่าวว่า ตอนนี้ทำได้แค่รอคอย เพราะจะมีเลือกตั้งซ่อมอีก 6 เขต และเชื่อว่าอาจจะต้องมีการแจกใบแดงใบส้มอะไรกันอีก เชื่อว่าทุกอย่างจะชัดเจนหลังวันที่ 9 เมษายน ส่วนเรื่องพรรคเราเถียงกัน เราเถียงกันมาตลอด เช่นตอนที่เรามีมติไม่ส่ง ส.ส.ลงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ร่วมกับพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคชาติไทยและพรรคมหาชน ตอนนั้นเราประชุมถกเถียงกันนาน 3 วัน 3 คืนก็ยังไม่จบ แต่พอทุกอย่างลงตัวแล้วว่าเราจะไม่ส่ง ส.ส.ลงเลือกตั้ง ทุกอย่างก็จบ และทุกคนก็ต้องเคารพมตินี้
    นายวัชระ เพชรทอง สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่เคยได้ยินว่ามีการหารือตั้งรัฐบาล และไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และไม่เชื่อว่าจะเป็นความจริง น่าจะเป็นข่าวปล่อยมากกว่า เพราะนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ย้ำกับสมาชิกพรรคทุกคนให้งดการให้ความเห็นเรื่องการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับฝ่ายใด เพราะต้องรอการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่และมติของพรรค ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งที่จะเป็นผู้ที่ลงมติอย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคต
    เขากล่าวว่า ในฐานะสมาชิกพรรค เมื่อนายชวน ได้บอกกับสมาชิกพรรคแบบนี้แล้ว เราทุกคนก็ต้องปฏิบัติตามอุดมการณ์และมารยาททางการเมือง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีผู้อาวุโสอยู่เป็นจำนวนมาก ผมจึงอยากให้บรรดาคนที่อยากเป็นรัฐมนตรีทั้งหลาย อย่าเพิ่งใจร้อนหรือไปแอบอ้างโมเม นำชื่อพรรคไปต่อรองเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองใดๆ 
    "พระแม่ธรณีซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำพรรค ท่านมีความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดคิดคดทรยศต่อพรรคประชาธิปัตย์ มักจะมีจุดจบทางการเมืองที่ไม่น่าพิสมัย ผมจึงต้องการให้ทุกคนปฏิบัติตามที่นายชวนได้พูดไว้ เพื่อความเป็นเอกภาพและความสามัคคีของสมาชิกพรรค” นายวัชระกล่าว
    ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกระแสข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐสามารถรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วว่า ไม่ทราบว่ากระแสข่าวดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร แต่คงต้องรอ กกต.ประกาศรับรองหลังวันที่ 9 พ.ค.ก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้ 
    ส่วนการเจรจาพูดคุยนั้น เป็นเรื่องปกติที่หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคจะมีการพูดคุยกันบ้างกับพรรคเล็กๆ นั้นตนก็เจอกันบ้าง เพราะส่วนใหญ่ก็รู้จักมักคุ้นกัน มีการแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองกันบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ทำงานต่อ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์เหมาะสมที่สุด
    รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐกล่าวอีกว่า สำหรับกระแสข่าวนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ อยู่ระหว่างเจรจากับพรรคพลังประชารัฐนั้น นายมิ่งขวัญได้ออกแถลงการณ์แล้วว่าไม่เคยเจรจากับพรรคพลังประชารัฐ แต่เป็นเรื่องแปลกว่าคนที่กระสับกระส่ายมากกว่านายมิ่งขวัญ กลับเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่กุลีกุจอออกมาพูดแทนทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคของตัวเองเลย 
    "ไม่เข้าใจว่าคุณหญิงสุดารัตน์ทำไมจึงยังใช้วาทกรรมสืบทอดอำนาจเผด็จการอยู่อีก อย่าพยายามสร้างความขัดแย้งหรือแบ่งข้างประชาชนอีกเลย เมื่อเลือกตั้งจบแล้วก็รอจัดตั้งรัฐบาล ทุกอย่างก็จบ" นายธนกรกล่าว
"พุทธิพงษ์"ยันเกิน 251 เสียง
    นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่มีนายมิ่งขวัญเป็นหัวหน้า จะจับมือร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.หรือไม่ ว่าตนได้ทราบเรื่องนี้จากข่าว แต่ทุกอย่างต้องรอการประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของ กกต. ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ ตอนนี้หลายฝ่ายต่างก็คาดการณ์กันไป ขอให้ใจเย็นๆ เนื่องจากตัวเลขเก้าอี้ ส.ส.บางพรรคอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลง 1-2 ที่นั่ง จึงต้องรอให้ทุกอย่างนิ่งและชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะคุยกันยาก
    "แนวร่วมของพรรคพอมีบ้าง เราพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ ส.ส.เกิน 251 เสียง เพื่อให้สามารถทำงานในสภาได้ เรามั่นใจว่าจะมีเสียงเกินนั้น แต่จะมีใครร่วมงานบ้าง ขอรอความชัดเจนหลังวันที่ 9 พ.ค.นี้ ก่อน" นายพุทธิพงษ์กล่าว
    นายพุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า ที่นายถาวร เสนเนียม ว่าที่ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมนำว่าที่ ส.ส.ของพรรคกว่า 30 คน มาร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.นั้น ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับคนที่มีความชัดเจน แต่เราต้องเคารพและให้เกียรติพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีกระบวนการพิจารณาและตัดสินใจเรื่องดังกล่าว ว่าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค ปชป.จะมีมติอย่างไร
    วันเดียวกันนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ @phumtham ระบุว่า “วันนี้…เราควรจะปล่อยให้พวกนักการเมืองที่ไร้จรรยาบรรณ สร้างวัฒนธรรมทางการเมือง ที่เอาแต่ประโยชน์ตน พยายาม โยนหินถาม เพื่อหว่านล้อมให้ยอมรับการแย่งชิงอำนาจเพื่อยึดครองอำนาจและสืบต่ออำนาจหรือครับ…ใครตระบัดสัตย์ “ครั้งหน้าอย่าเลือก””
    ส่วนความเคลื่อนไหวของ กกต.นั้น นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ​กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ว่ารับทราบ และเคารพในทุกความเห็นของทุกคนอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้เคยพูดถึงความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ ขณะนี้จะพูดถึงความกล้าหาญที่จะถูกตรวจสอบ เราทำงานด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้พิจารณาว่าจะเห็นอย่างไร 
    ส่วนการที่มีผู้ยื่นถอดถอนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)​ และขู่ว่าจะฟ้องตามมาตรา 157 นั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นไม่ได้การขู่แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของผู้ที่มีความเห็นต่างมีสิทธิตรวจสอบ  อย่างไรก็ตาม พร้อมให้ข้อมูลกับหน่วยงานทุกหน่วยหากเรียก กกต.เข้าชี้แจง ซึ่งผลการพิจารณาขึ้นอยู่กับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
    นายอิทธิพรกล่าวถึงรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุความล่าช้าของการส่งบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากนิวซีแลนด์ที่มาไม่ทันการนับคะแนนว่า ได้รับรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ได้มอบหมายให้สำนักงาน กกต.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากอะไร และมีผู้ใดบ้างที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีนี้ ซึ่งการหาผู้รับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญ และถ้ามีผู้ต้องรับผิดชอบจะต้องดำเนินการอย่างไร 
หาคนรับผิดชอบ
    ทั้งนี้ เบื้องต้นได้รับทราบว่าถุงเมล์ที่บรรจุบัตรเลือกตั้งจากเวลลิงตัน ต้องมาถึงให้ถึงแอร์นิวซีแลนด์ตามกำหนด แต่เกิดเหตุความล่าช้า ขณะเดียวกันเมื่อมาถึงแล้ว มีเหตุอะไรที่ไม่สามารถนำไปส่งทัน ในสถานที่นับคะแนนกลางได้ ซึ่งจะรอความชัดเจนจากการดำเนินงาน ติดตามตรวจสอบจากสำนักงาน กกต. ให้หาข้อเท็จจริงถึงความผิดพลาด ขณะเดียวกันก็เป็นดุลพินิจของสำนักงาน กกต.ว่าหากพบผู้ที่ต้องรับผิดชอบจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ เช่น การเสนอให้องค์กรที่เกี่ยวข้องตั้งกรรมการสอบ
    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายเรื่องการนับคะแนนว่า กกต. ต้องพิจารณาเองก่อนว่าสิ่งที่จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมีความก้ำกึ่ง หรือข้อขัดแย้งในทางกฎหมายจนถึงขั้นที่จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือยัง หรือการที่ กกต.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น เพราะ กกต.ไม่มั่นใจในการตีความ และการทำงานของตนเองถึงส่งและโยนภาระหน้าที่ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ 
    "เพราะสิ่งที่มีปัญหาอยู่ในตอนนี้คือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีสิ่งที่ขัดอยู่กับรัฐธรรมนูญ และถ้าทั้งสองอย่างขัดหรือแย้งกันเราสามารถส่งประเด็นนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่สิ่งที่ กกต.ส่งไปไม่ได้มีการพูดถึงประเด็นความขัดหรือแย้งกันระหว่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญ แต่กลับส่งไปเป็นเรื่องของการนับคะแนนของพรรคการเมืองว่าแบบนี้จะทำได้หรือไม่ ซึ่งในที่สุดแล้วผมก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร แต่จะติดตามประเด็นนี้เพื่อความชัดเจนต่อไป" นายนิพิฏฐ์กล่าว
    ด้านนายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า โดยหลักการ ถ้าประเด็นใดเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญในเรื่องของเจตนารมณ์ แนวทาง หากยังมีข้อสงสัยหรือความเห็นต่างกัน ก็เป็นเรื่องดีที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็น จะได้เป็นที่ยอมรับ เพราะในหลักการแล้วคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นผูกพันไปทุกองค์กร แม้จะเป็นอำนาจของ กกต.โดยตรงในการใช้สูตรคำนวณ และสูตรทั้งหลายก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่หากมีข้อสงสัย กังวลใจว่าองค์กรต่างๆ หรือประชาชนจะมองว่า กกต.ไม่เป็นกลาง ตนมองว่าควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นจะเป็นประโยชน์ให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้
ทำไมต้องตีความ
    เขากล่าวว่า ในกฎหมายรัฐธรรมนูญเรื่องการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ คงไม่มีใครไปเขียนรัฐธรรมนูญโดยไม่มีที่มาที่ไป ความชัดเจนมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าวันนี้มันจะเอาความจริงมาพูดกันหรือเปล่าเท่านั้น
    "รัฐธรรมนูญเขียนแล้วทำไมต้องตีความ โดยเฉพาะในเรื่องของสูตรคำนวณการคิดสัดส่วน มันมีความชัดเจนของมันอยู่แล้ว คงไม่มีอะไรที่ต้องไปคิดเป็นอย่างอื่น แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” 
    นายทรงศักดิ์ยังกล่าวว่า การคิดคำนวณ ส.ส.ไม่ให้เกิน ส.ส.พึงมีตามที่กฎหมายกำหนดนั้นมีหลักการอยู่แล้ว ไม่มีอะไรทำให้น่ากังวล แต่เนื่องจากมีความเห็นหลายแนวทาง หลายกลุ่ม หลายความคิด แต่ไม่ใช่คนที่จะชี้ว่าใช่หรือไม่ใช่ เป็นเพียงความเห็นแต่ละท่าน ความเห็นของผู้รู้ ซึ่งมีทั้งที่ถูกและอาจจะคลาดเคลื่อนบ้าง แต่ตนเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญคงไม่ตีความเป็นอย่างอื่น ส่วนจะทันก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พฤษภาคมหรือไม่นั้น เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าใจถึงเงื่อนไขเวลา อะไรที่จำเป็นต้องรีบให้ความเห็นก็ต้องเร่งให้ทันต่อเวลา
    นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ว่าที่ ส.ส.อุดรธานี  พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เกิดเรื่องประหลาดขึ้นในสังคมไทย​ คือรัฐธรรมนูญมาตรา​ 91 และกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. มาตรา​ 128, 129 เขียนถ้อยคำไว้ชัดเจน ไม่มีความซับซ้อน เข้าใจง่าย นักกฎหมายโดยทั่วไปเข้าใจได้​ ประกอบกับ กกต.​ผู้ทรงเกียรติก็ล้วนเป็นนักกฎหมายใหญ่หลายคน 
    แต่แปลกใจทำไมต้องใช้ตรรกะตั้ง 3 แนวทางมาคำนวณ คือ​ ตรรกะคณิตศาสตร์ ตรรกะรัฐศาสตร์ และตรรกะกฎหมาย ทั้งที่เป็นตรรกะกฎหมายล้วนๆ สถานการณ์นี้อาจทำให้ประเทศตกสู่หลุมดำทางการเมืองทางการบริหาร ไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใดเลย คือต้องเอาจำนวนคะแนนทั่วประเทศ​ 35,532,647 คะแนน​หารด้วย 500 เขต ซึ่งก็คือตัวเลขที่จะกำหนด ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค หากพรรคใดมีคะแนนทั้งพรรคไม่ถึงจำนวนนี้ ย่อมไม่ใช่พรรคที่จะมี ส.ส.ได้เล​ย ง่ายๆ อธิบายได้ไม่ซับซ้อน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะพยายามคิดให้ซับซ้อนไปเพื่อเหตุผลใด หรือจะมีวาระซ่อนเร้นประการใดหรือไม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"