ผู้ตรวจการเร่ง คำร้องเรืองไกร 'เลือกตั้งโมฆะ'


เพิ่มเพื่อน    


    ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาคำร้องของ "เรืองไกร" ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหลังจบสงกรานต์เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน อัยการให้ความเห็นเชิงวิชาการชี้ 4 แนวทางหลัง กกต.ส่งให้ศาล รธน.ตีความสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ "ส้มหวาน" เตือนกระทบจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เคลื่อนไหวแน่
    นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งความเห็นให้ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 24 มีนาคมเป็นโมฆะว่า ขณะนี้คำร้องดังกล่าวอยู่ระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมเอกสารและข้อเท็จจริงต่างๆ ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมผู้ตรวจฯ เพื่อพิจารณาว่าอยู่ในอำนาจการพิจารณาหรือไม่ หากอยู่ในอำนาจก็จะสั่งรับไว้พิจารณา 
    เขากล่าวว่าตามกระบวนการและขั้นตอน เมื่อรับเรื่องแล้วก็คงต้องหาพยานหลักฐานหาข้อเท็จจริง  รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการชี้แจงเพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาประกอบการพิจารณาวินิจฉัย  ซึ่งเข้าใจว่าหลังจากเทศกาลสงกรานต์ เจ้าหน้าที่น่าจะเร่งนำคำร้องดังกล่าวเสนอเข้าสู่ที่ประชุมผู้ตรวจฯ  เพื่อพิจารณาเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน
    ด้าน ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่อาจเป็นไปได้ กรณี กกต.ขอให้วินิจฉัยวิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มีเนื้อหาว่า
    "ตามที่ กกต.มีมติเมื่อวันที่ 11 เมษายน ให้ส่งเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าหาก กกต.จะคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 128 (5) ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ ส.ส.พึงมี 1 คน ได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน การดำเนินการดังกล่าวของ กกต.จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่
    ผมขอให้ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการในเรื่องนี้ว่า แนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่อาจจะเป็นไปได้ในกรณีนี้ น่าจะเป็นอย่างไรบ้าง แต่ทั้งนี้เป็นเพียงการให้ความเห็นทางวิชาการในประเด็นข้อกฎหมาย โดยไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะสนับสนุนหรือไม่เห็นด้วยกับพรรคการเมืองหรือฝ่ายการเมืองใดทั้งสิ้น และเป็นการให้ความเห็นโดยอ้างอิงจากมติ กกต.ดังกล่าว โดยที่ยังไม่ทราบถึงเนื้อหาของหนังสือที่ กกต.จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะมีเนื้อหาอย่างไร และประการที่สำคัญ เป็นเพียงการคาดการณ์แนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่อาจเป็นไปได้โดยอ้างอิงบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
 แนวทางพิจารณา
    (การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในกรณีนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.วิ.ศาลรัฐธรรมนูญ) พ.ศ.2561 มาตรา 41 วรรคสอง (4) ประกอบมาตรา 43 กำหนดให้ทำเป็นหนังสือ ไม่ใช่ทำเป็นคำร้องเหมือนกรณีทั่วไป)
    1.แนวทางคำวินิจฉัยที่ 1 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเรื่องไว้พิจารณา ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจดุลพินิจที่จะรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่รับ ตาม พ.ร.ป.วิ.ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่รับเรื่องไว้พิจารณาอาจมี 2 แนว ดังนี้
    แนวที่ 1 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเรื่องไว้พิจารณา โดยอ้าง พ.ร.ป.วิ.ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ที่กำหนดให้การยื่นขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีตาม พ.ร.ป.วิ.ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 (2) อันเป็นคดีเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ จะต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ซึ่งเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น
     แต่กรณีนี้ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต.ยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจาก กกต.ยังไม่ได้มีมติที่แน่นอนชัดเจนว่าจะใช้วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบใด และจำนวนพรรคการเมืองที่จะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อยังไม่แน่ชัดว่าจะมีจำนวนเท่าใด ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียงแค่การแสดงความคิดเห็น การโต้แย้ง และการอภิปรายถกเถียงถึงแนวทางของวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ กกต.จะนำมาใช้เท่านั้น
    และเมื่อ กกต.ยังไม่มีมติที่แน่ชัดว่าจะเลือกใช้วิธีการคำนวณแบบใด จึงยังไม่มีพรรคการเมืองใดหรือบุคคลใดโต้แย้งหรือคัดค้านมติของ กกต.ในเรื่องนี้ตามกระบวนการและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ กรณีนี้จึงยังถือไม่ได้ว่าปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต.ได้เกิดขึ้นแล้ว 
    แนวที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเรื่องไว้พิจารณา โดยอ้าง
    (1) อำนาจของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 224 (1) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 11 (1) และ (2) ว่าเป็นอำนาจของ กกต.ในการจัดให้มีเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตและดำเนินการให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 
    และ (2) อำนาจของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.  มาตรา 128 ในการคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ในการคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ได้ครบจำนวน 150 คน ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณที่รัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดไว้ จึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ กกต.ที่จะต้องพิจารณากำหนดวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด  ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรับไว้พิจารณา
ไม่มีประเด็นปัญหา
    2.แนวทางคำวินิจฉัยที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา และมีคำวินิจฉัยว่าคดีไม่มีประเด็นปัญหาในเรื่องอำนาจหน้าที่ของ กกต. โดยเหตุผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามแนวที่ 1  และ/หรือแนวที่ 2 ดังกล่าวไว้แล้วในแนวทางคำวินิจฉัยที่ 1 
    3.แนวทางคำวินิจฉัยที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา และมีคำวินิจฉัยว่า กกต.มีอำนาจหน้าที่ในการคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณที่รัฐธรรมนูญและ  พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กำหนด โดย กกต.ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมาย แต่ไม่ได้วินิจฉัยรับรองวิธีการคำนวณที่ กกต.จะนำมาใช้ในการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ ส.ส.พึงมี 1 คน ได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ว่าเป็นวิธีการที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ กกต.เป็นการเฉพาะ ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณที่กฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ก้าวล่วงไปวินิจฉัยเพื่อรับรองอำนาจหน้าที่และวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของ กกต.ในกรณีนี้
    4.แนวทางคำวินิจฉัยที่ 4 ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา และมีคำวินิจฉัยในแนวทางว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ได้ครบ 150 คนภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดไว้ พร้อมทั้งมีคำวินิจฉัยรับรองอำนาจหน้าที่และวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ กกต.เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดังกล่าวมา ว่าเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128
     มีข้อสังเกตสำหรับแนวทางคำวินิจฉัยที่ 4 นี้ว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในแนวทางนี้ จะเป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปรับรองความถูกต้องของวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของ กกต. ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ กกต.ที่จะต้องรับผิดชอบการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ถูกต้อง และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณที่กฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว และหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในแนวทางนี้ก็จะทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งต่อๆ ไปด้วย 
    โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในแนวทางที่ 4 นี้จะส่งผลโดยตรงต่อจำนวน ส.ส.ของพรรคการเมืองและทิศทางในการจัดตั้งรัฐบาล และน่าจะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อ กกต.มากที่สุด โดยทำให้ กกต.อยู่ในเขตปลอดภัย หรือ Safety Zone หาก กกต.มีมติเลือกที่จะใช้วิธีการคำนวณจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบที่กล่าวมานี้
กระทบปาร์ตี้ลิสต์ส้มหวาน
    น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการยื่นข้อเสนอ เพราะเรื่องนี้ควรจบที่ กกต. แต่คาดว่าการที่ กกต.ต้องผลักภาระไปยังศาลรัฐธรรมนูญนั้น เกิดจาก กกต.คงเห็นว่าตนเองไม่มีความน่าเชื่อถือแล้ว จึงต้องส่งเรื่องให้ศาลพิจารณา อย่างไรก็ตามก็ขอเรียกร้องให้เรื่องร้องเรียนดังกล่าวได้รับข้อยุติโดยเร็ว เพราะประชาชนได้ไปแสดงเจตจำนงออกเสียงเลือกตั้งเพื่อหวังเห็นการเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ซึ่งผ่านไปจะเกือบเดือนแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อยุติแต่อย่างใด ส่วน อนค.ที่อาจได้รับผลกระทบจากการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์นั้น ก็จะมีการแสดงท่าทีต่อไป
    นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ใช้งบประมาณสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นเงินถึง 5,800 ล้านบาท ขณะนี้เหลือเวลาอีก 24 วันที่ต้องประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว แต่ทุกภาคส่วนกำลังติดตามเรื่องสำคัญที่ยังไม่มีคำตอบคือ
    1.จำนวนบัตรเลือกตั้งที่เคยมีข่าวว่าพิมพ์เกินมาประมาณ 5 ล้านใบนั้น ได้นำไปใช้บ้างหรือไม่ จำนวนเท่าใดและเหลืออยู่เท่าใด โดยเฉพาะที่นำไปใช้นั้นนำไปใช้หน่วยเลือกตั้งใดหรือเขตเลือกตั้งใด เป็นจำนวนเท่าใด
     2.ผลการนับคะแนนเลือกตั้งแต่ละหน่วยเลือกตั้งและแต่ละเขตเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ มีจำนวนเท่าใด ซึ่งในอดีตนั้นจะทราบผลอย่างช้าภายใน 2-3 วันเท่านั้น
      3.การสอบสวนและดำเนินการกับการเลือกตั้งแต่ละเขตที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือที่เรียกว่าโกงเลือกตั้งนั้น มีกี่เขตเลือกตั้งและในข้อหาใดบ้างซึ่งถึงวันนี้ยังเงียบกริบ
      4.จากงบประมาณ 5,800 ล้านบาทนั้น ได้ใช้จ่ายไปทั้งหมดเท่าใด และมีรายการจ่ายอะไรบ้าง
      เขาระบุว่า 4 เรื่องนี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นเรื่องที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะโดยเร็วที่สุด แต่ไฉนเล่าถึงเงียบกริบ ก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น
    วันเดียวกันนี้ นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยผลสถิติการพิจารณาคดีร้องขอให้วินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส.ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.62 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้วินิจฉัยแล้ว ซึ่งมีลักษณะคดีเช่นกรณีผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งขอให้ศาลมีคำสั่งให้รับสมัครหรือเพิ่มชื่อเป็นผู้สมัคร, กรณีผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้รับสมัครหรือเพิ่มชื่อเป็นผู้สมัคร, กรณีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ กกต.ที่ให้ถอนการรับสมัครตามคำร้องของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือผู้สมัครอื่น และกรณีผู้อำนวยการเขตการเลือกตั้งขอให้ถอนชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นต้น
    โดยศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้รายงานผลสรุปคดีวินิจฉัยสิทธิสมัครและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส.ระหว่างวันที่ 4 ก.พ.62 ถึงวันที่ 23 มี.ค.62 ทั้งหมดจำนวน 576 คดี โดยศาลฎีกามีคำสั่งก่อนวันเลือกตั้งทั้งหมดตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
    วันที่ 4 ก.พ. - 8 มี.ค.62 รวมคดีเลือกตั้ง ส.ส.จำนวน 366 เรื่อง แบ่งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 62  เรื่อง, ส.ส.แบบแบ่งเขต 290 เรื่อง และขอถอนชื่อ 14 เรื่อง โดยมีคดีเสร็จไป 366 เรื่อง แบ่งเป็นยกคำร้อง 277 เรื่อง, รับสมัคร/ประกาศรายชื่อ 50 เรื่อง, อนุญาตให้ถอนคำร้องและให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ 25 เรื่อง, ให้ถอนชื่อ 10 เรื่อง และให้เพิ่มชื่อ 4 เรื่อง ส่วนคดีระหว่างวันที่ 9-23 มี.ค.62  รวมคดีถอนชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง 210 เรื่อง แล้วเสร็จทั้งหมด
    โฆษกศาลยุติธรรมยังเผยด้วยว่า ขณะนี้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้ย้ายไปเปิดทำการยังอาคารศาลฎีกาแห่งใหม่ที่สนามหลวงตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย.62 แล้ว ส่วนคดีหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.62 นั้นยังไม่มีการส่งเข้ามายังศาลฎีกา เป็นหน้าที่ของ กกต.ในการพิจารณาวินิจฉัยก่อนหลังประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"