ปิดฉากสงกรานต์ตาย386 ผุดคณะทำงานแก้ระยะยาว


เพิ่มเพื่อน    

    ปิดฉาก 7 วันอันตรายสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุรวม 3,338 ครั้ง เสียชีวิต 386 ราย บาดเจ็บ 3,442 ราย "เชียงใหม่-นครศรีฯ" แชมป์ เมาขับสาเหตุหลักเช่นเดิม "คสช." ยึดรถขี้เมาได้ 7,282 คัน "สตช." เผยสถิติจับผู้กระทำผิดได้กว่า 1.5 ล้านคดี ฟุ้งบังคับใช้ กม.เข้มข้นช่วยตาย-เจ็บลดลงกว่าปีก่อน "ศปถ." เตรียมถอดบทเรียนเสนอรัฐบาลหาแนวทางแก้ไข "ลุงป้อม" ยังไม่พอใจ สั่งตั้งคณะทำงานดูแลลดอุบัติเหตุทางถนนระยะยาว มอบ "ตำรวจ-มหาดไทย" แม่งานหลัก
    เมื่อวันที่ 18 เม.ย. นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานแถลงปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562 พร้อมสรุปผลการดำเนินงานช่วง 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย.2562 ที่ผ่านมาของการรณรงค์ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้แนวคิด “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์
    นายสุธีกล่าวว่า การดำเนินการช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งห่วงใยพี่น้องประชาชน  และมอบหมายรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ร่วมดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัย ซึ่งการดำเนินการทั้ง 7 มาตรการได้ผลเป็นอย่างดี 
    รมช.มหาดไทยกล่าวว่า สำหรับสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วัน เกิดอุบัติเหตุรวม 3,338 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 386 ราย มีผู้บาดเจ็บรวม 3,442 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ พังงา สุโขทัย และอ่างทอง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด มี 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่และนครศรีธรรมราช จังหวัดละ 128 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด มี 2 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี และอุดรธานี จังหวัดละ 15 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 136 ราย 
    "สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 36.61 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 28.31 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.25 รถปิกอัพ ร้อยละ 6.91 ส่วนใหญ่เกิดอุบัติเหตุในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.15 บนถนนทางหลวง ร้อยละ 39.48 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.98 และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.01 น. ร้อยละ 29.09" รมช.มหาดไทยกล่าว 
    นายสุธีกล่าวว่า ในการบังคับใช้กฎหมายมียานพาหนะถูกเรียกตรวจ 6,819,477 คัน และถูกดำเนินคดีตามมาตรการ 10 ข้อหาหลัก จำนวน 1,516,201 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 414,748 ราย คิดเป็นร้อยละ 37.65 และนอกจากนี้ยังได้ดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ที่ 46/2558 อย่างเข้มงวดอีกด้วย
    "ภาพรวมสถิติจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 7.66 รวมถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับลดลงถึงร้อยละ 3.67 มีปัจจัยสำคัญจากความร่วมมือของผู้ใช้รถใช้ถนน การบังคับใช้กฎหมายเพื่อกวดขันวินัยจราจรอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" นายสุธีกล่าว
    อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมสถิติอุบัติเหตุในช่วง 7 วันของการรณรงค์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตยังคงเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ศปถ.ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นอย่างร้ายแรง อาทิ การดื่มแล้วขับ การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การขับย้อนศร รวมทั้งได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ข้อมูลและถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อนำมากำหนดแนวทางการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระยะยาวอย่างยั่งยืนทั้งช่วงปกติและเทศกาลสำคัญ 
7วันตาย-เจ็บลดลง
    ด้าน พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะดูแลงานด้านการอำนวยความสะดวกการจราจร กล่าวว่า จากการเพิ่มความเข้มการบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก รวมทั้งเพิ่มจุดตรวจเพื่อชะลอความเร็ว ทำให้ผลการปฏิบัติ 7 วันอันตราย อุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,338 ครั้ง จากปีที่ 3,724 ครั้ง ลดลง 386 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 3,442 ราย จากปีที่แล้วบาดเจ็บ 3,897 ราย ลดลง 455 ราย เสียชีวิต 386 ราย ลดลงจากปีที่แล้ว 32 ราย
      "เป้าหมายของการทำงานคือลดตัวเลขอุบัติเหตุเป็นไปตามเป้าหมาย และจะนำมาตรการต่างๆ ไปปรับปรุงให้ตัวเลขการเกิดอุบัติให้ลดลงในปีต่อๆ ไป ส่วนที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ให้นโยบายมอบความเข้มในการจับกุม 10 ข้อหาหลัก และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถจับกุมผู้กระทำความผิด 1,516,201 คดี เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะคดีเมาแล้วขับเพิ่มจากปีที่แล้วที่จับได้คือ 25,184 คดี ปีนี้สามารถจับกุมได้ 25,974 คดี เป็นผลจากการเพิ่มความเข้มการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ส่วนโครงการประชารัฐร่วมใจดูแลความปลอดภัยประชาชน (ฝากบ้านกับตำรวจ) ปีนี้มีประชาชนเข้าร่วมโครงการ 9,630 หลัง ทั้งหมดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย" ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าว
    ขณะที่ พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงมาตรการ “ดื่มไม่ขับ จับยึดรถ” ตลอด 7 วัน ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย.2562 พบผู้กระทำผิดในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุโดยประมาทด้วยการดื่มแล้วขับจำนวน 388,854 ครั้ง แยกเป็นรถจักรยานยนต์ 215,973 ครั้ง รถโดยสารสาธารณะ/รถยนต์ 172,881 ครั้ง ซึ่งสถิติลดลงจากปี 61 คิดเป็นร้อยละ 20 
    พ.อ.หญิงศิริจันทร์กล่าวว่า สำหรับการยึดรถที่ฝ่าฝืนมาตรการดื่มไม่ขับจำนวน 7,282 คัน แยกเป็นจักรยานยนต์ 5,297 คัน และรถยนต์ 1,985 คัน ซึ่งสถิติลดลงจากปี 61 คิดเป็นร้อยละ 55 ส่วนการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในปีนี้มีทั้งหมด 271,657 คน แยกเป็นรถจักรยานยนต์ 154,928 คน รถโดยสารสาธารณะ/รถยนต์ส่วนบุคล 116,729 คน ซึ่งสถิติลดลงจากปี 61 คิดเป็นร้อยละ 12
    "มาตรการดื่มไม่ขับ จับยึดรถ เป็นมาตรการที่ช่วยป้องกันและลดความสูญเสียอันเกิดจากอุบัติเหตุที่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ซึ่ง คสช.และรัฐบาลได้ดำรงความต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยประชาชนให้การตอบรับมาตรการนี้เป็นอย่างดี เพราะทำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางของทุกคน รวมทั้งประชาชนได้มีข้อเสนอแนะให้เพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิด และการยืดระยะเวลาการเก็บรักษารถเอาไว้ รวมถึงอยากให้มีการบังคับใช้มาตรการนี้ในทุกวัน เพื่อการป้องกันอุบัติเหตุจากการดื่มสุราแล้วขับรถในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสรุปบทเรียนและผลการปฏิบัติงาน นำไปบูรณาการ แผนการป้องกันอุบัติเหตุ การจราจร มาตรการบังคับใช้กฎหมาย ในการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและลดสูญเสียจากอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลให้ได้มากที่สุด" รองโฆษก คสช.กล่าว
    ส่วนนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงปริมาณคดีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักรจำนวน 232 ศาล ในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ปี 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 27,828 คดี 30,397 ข้อหา จำนวนคดีที่พิจารณาพิพากษาแล้วเสร็จ รวมทั้งสิ้น 27,055 คดี คิดเป็นร้อยละ 97.22 คดีในส่วนที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จเนื่องจากศาลสั่งให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม สืบเสาะและพินิจจำเลยถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิด รวมถึงประวัติของจำเลย เพื่อประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษ จึงต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปก่อน     
ตั้งทีมลดอุบัติเหตุถาวร 
    นายสุริยัณห์กล่าวว่า จังหวัดที่มีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 1,558 คดี, จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,457 คดี, กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,286 คดี, จังหวัดชลบุรี จำนวน 1,128 คดี, จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 974 คดี โดยข้อหาที่มีการกระทำความผิดสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 26,875 ข้อหา, ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต จำนวน 3,021 ข้อหา, ขับรถขณะเสพยาเสพติด จำนวน 439 ข้อหา จำเลยที่ขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษา รวมทั้งสิ้น 29,845 คน แบ่งเป็น จำเลยที่มีสัญชาติไทย 28,139 คน และสัญชาติอื่น 1,706 คน
    โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับสถิติในช่วงสงกรานต์ปี 2561 ปีนี้ถือว่ามีปริมาณคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมเพิ่มขึ้นจาก 22,381 ข้อหา เป็น 30,397 ข้อหา ซึ่งมากกว่าสถิติคดีตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ในช่วงเวลาปกติถึงกว่าเท่าตัว ข้อหาที่มีการกระทำความผิดสูงสุดยังคงเป็น ขับรถขณะเมาสุราเช่นเดิม โดยในปี 2561 มีการฟ้องเข้ามาจำนวน 21,139 ข้อหา ปีนี้ฟ้องเข้ามา 26,875 ข้อหา จึงมีสถิติที่เพิ่มขึ้นถึง 5,736 ข้อหา
    "จากสถิติที่รวบรวมแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงการละเลยไม่เคารพกฎหมายของผู้กระทำผิดที่มีจำนวนมากเช่นกัน จึงฝากพี่น้องประชาชน การบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเคารพกฎหมาย" โฆษกศาลยุติธรรมกล่าว
    นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติในระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. มี 12,597 คดี แบ่งเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 12,192 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.79, คดีขับเสพ 386 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.06, คดีขับรถประมาท 19  คดี คิดเป็นร้อยละ 0.15 โดยจังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 727 คดี, จ.มหาสารคาม 714 คดี และ จ.นครพนม 533 คดี 
    อธิบดีกรมคุมประพฤติกล่าวว่า นอกจากนี้ ศาลยังมีคำสั่งใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (กำไล EM) ในคดีขับรถขณะเมาสุรา 91 ราย ส่วนยอดสะสมกรณีที่ศาลสั่งใช้กำไล EM ตั้งแต่วันที่ 11-17 เม.ย. มี 480 ราย แบ่งเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 478 ราย คดีขับเสพ 2 ราย
    "ในช่วงวันที่ 17 เม.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่มีการควบคุมเข้มงวดในช่วงเทศกาลสงกรานต์มี 3,693 คดี แบ่งเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 3,454 คดี คิดเป็นร้อยละ 93.53, คดีขับเสพ 231 คดี คิดเป็นร้อยละ 6.25,  คดีขับรถประมาท 8 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.22" อธิบดีกรมคุมประพฤติกล่าว 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม(รมว.กลาโหม) กล่าวว่า ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในการดูแลรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตำรวจ ทหาร ที่อดหลับอดนอนในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้ปลอดภัยมากขึ้น แต่ก็ยังทำไม่ได้ดี 
    "ถ้าถามว่าผมพอใจหรือไม่ ก็ตอบได้ว่ายังไม่พอใจ จึงได้ตั้งคณะทำงาน ในการพิจารณาว่าจะทำอย่างไรในการลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในการใช้รถใช้ถนน ซึ่งการตั้งคณะทำงานดังกล่าวก็จะเป็นการทำงานในระยะยาวถึงปีหน้า โดยจะมีการตั้งคณะทำงานในเร็วๆ นี้ เพื่อจะต้องรู้ว่าทำอะไรบ้างในการสร้างความปลอดภัย โดยพิจารณาหามาตรการที่เป็นผล" พล.อ.ประวิตรกล่าว     
    ถามว่าจะมอบหมายใครในการเป็นผู้รับผิดชอบ รองนายกฯ กล่าวว่า อยู่ระหว่างการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายรักษาความปลอดภัยของกระทรวงมหาดไทยร่วมมือกันทำงาน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"