ดันตั้งสภากัญชา เกษตรกรปลูกได้ หนุนสูตรอ.เดชา


เพิ่มเพื่อน    

     ประธานสภากัญชาฯ ชงนายกฯ ตั้ง “สภากัญชาแห่งประเทศไทย”ภายใต้กฎหมาย ให้เกษตรกรมีสิทธิร่วมลงทุนหรือปลูกในนามสหกรณ์-วิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านละ 1-3 ไร่ หนุนตั้งศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยกัญชาทุกอำเภอ ขณะที่นักวิชาการร่วมจับมือเดินหน้าวิจัยตำรับกัญชาสูตร "อ.เดชา" หากผ่านการอนุญาตแจกผู้ป่วยทันที พร้อมดันแก้กฎหมายเอื้อผู้ป่วยเข้าถึง
    ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (สำนักงาน ก.พ.) ข้างทำเนียบรัฐบาล วันที่ 18 เมษายน นายวัฒนา โมสิกมาศ ประธานสภากัญชาแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อขอบคุณที่นายกรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่างแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้กัญชาสามารถใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้อง 
    พร้อมยื่นข้อเสนอ 1.ขอรับความสนับสนุนการจัดตั้งสภากัญชาแห่งประเทศไทย โดยให้ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นไปตามกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ 2.ขอให้เกษตรกรและประชาชนมีสิทธิร่วมลงทุนหรือปลูกกัญชาในนามสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนจำนวนหมู่บ้านละ 1-3 ไร่ในปีแรก 3.ขอรับความสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์บำบัดและรักษาผู้ป่วยและผู้ป่วยมะเร็งด้วยกัญชาในทุกอำเภอของประเทศ และ 4.ขอให้จัดตั้งคณะกรรมการกัญชาแห่งชาติ เพื่อควบคุมและดูแลทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
    ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการประชุมร่วมกันระหว่าง 11 องค์กร เพื่อหาแนวทางสนับสนุนการวิจัยน้ำมันกัญชาของนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ประกอบด้วย จุฬาฯ ม.ขอนแก่น ม.รังสิต กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี มูลนิธิข้าวขวัญ และภาคประชาสังคม 
     ภายหลังการหารือ ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ แถลงว่า ทั้งหมดเห็นตรงกันว่าจะร่วมกันขับเคลื่อนโครงการวิจัยน้ำมันกัญชาของ อ.เดชา โดยจะยื่นขออนุมัติโครงการจาก อย.ในช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้ และขออนุมัติคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ช่วงกลาง พ.ค. นอกจากนี้ จะเสนอคณะกรรมการการแพทย์แผนไทย พิจารณาให้น้ำมันกัญชาตำรับ อ.เดชา เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม สำหรับการผลิตน้ำมันกัญชาจะดำเนินการขอของกลางจาก ป.ป.ส. และจะประสานของบสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยความรู้ที่เกิดจากการวิจัยนี้จะมอบให้เป็นสมบัติสาธารณะ ส่วนในอนาคตจะเดินหน้าวิจัยองค์ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของสายพันธุ์กัญชา และสารออกฤทธิ์กัญชา
     นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า มีอีก 3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ อ.เดชา คือ 1.การพิจารณารับรองเป็นหมอพื้นบ้านของ สสจ.สุพรรณบุรี คาดว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์ 2.หลังอ.เดชาเป็นหมอพื้นบ้านจะเข้าอบรมหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์ของกรม วันที่ 29-30 เม.ย.นี้ หากผ่านเกณฑ์การประเมิน ก็จะส่งเรื่องให้ อย.ออกใบอนุญาตเป็นหมอพื้นบ้านที่สั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์ได้ ตรงนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และ 3.หาก อ.เดชาจะใช้น้ำมันกัญชาสูตรของตนเอง ซึ่งนอกเหนือจากที่อนุญาตให้ใช้ 16 ตำรับ ก็ให้เอาสูตรมานำเสนอให้คณะกรรมการกรมการแพทย์แผนไทยฯ พิจารณาว่าเป็นไปตามภูมิปัญญาดั้งเดิมหรือไม่ ซึ่งไม่เกิน 2 สัปดาห์ก็สามารถเอามาขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณกับ อย.ได้
     "หากยื่นตำรับของ อ.เดชา เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม ตามข้อกำหนดองค์การอนามัยโลก กำหนดว่า ภูมิปัญญาดั้งเดิมไม่ต้องผ่านการศึกษาวิจัยในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ว่ามีสารอะไรบ้าง ก็จะเร่งพิจารณาตรงนี้ก่อน จากนั้นเมื่อยื่นคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ก็จะง่ายขึ้น" นพ.ปราโมทย์ กล่าว
    ภก.วชิระ อำพนธ์ ที่ปรึกษา อย. กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้ ทางจุฬาฯ จะเป็นผู้ดำเนินการยื่นวัตถุประสงค์การวิจัยต่อคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ ซึ่งจะมีการประชุมทุกเดือน โดยอาจจะเป็นต้นเดือน พ.ค.นี้ แต่คาดว่าไม่น่ามีปัญหาในการอนุมัติดำเนินการ ส่วนข้อกังวลว่าหลังจากวันที่ 19 พ.ค.นี้ หรือหลังนิรโทษฯ จะมีกัญชาใช้หรือไม่ โครงการศึกษาวิจัยนี้จะตอบโจทย์ 2 ทาง คือ ได้การศึกษาวิจัยด้วย และผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้และมาร่วมโครงการนี้ก็จะสามารถใช้กัญชาบำบัดรักษาตนเองได้
    นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย ม.รังสิต กล่าวว่า ปัจจุบันคนขึ้นทะเบียนครอบครองน้ำมันกัญชากับ อย. ประมาณ 1 พันคน แต่เท่าที่มีโอกาสพูดคุย อาจจะมีคนแอบใช้ 8 แสนคนถึง 2 ล้านคน ดังนั้นที่ขึ้นทะเบียนยังน้อยมาก สะท้อนว่าหากยังปล่อยให้ใช้ และมีขั้นตอนแบบนี้ จะยังมีคนใช้ใต้ดิน ไร้การตรวจสอบคุณภาพ และราคาแพงอีกจำนวนมาก จากการวิเคราะห์สถานการณ์ที่คนมาขึ้นทะเบียนน้อย เพราะไม่แน่ใจสถานภาพหลังพ้นช่วงนิรโทษกรรม 19 พ.ค. ดังนั้นต้องทำกรณี อ.เดชาให้ชัดเรื่องการเข้าสู่กระบวนวิจัย และอีกทางคือรัฐต้องแก้กฎหมายอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยใช้ได้คล่อง ยืดหยุ่น โดยเฉพาะช่วงที่ภาครัฐสามารถอำนวยความสะดวกในการให้ยาผู้ป่วยได้
    ด้านนายเดชากล่าวว่า ความตั้งใจของตนคือให้ผู้ป่วยได้รับยาเร็วที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วย เดิมกว่า 5 พันคนที่กำลังรอยาอยู่ เพราะขาดยามาตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. รวมถึงผู้ป่วยใหม่ ดังนั้นให้ตนเป็นอะไรก็ได้ ให้เป็นหมอ ให้เป็นนักวิจัยก็ทำ ส่วนของกลางที่ ปปส.จับไปนั้น ใช้ไม่ได้ เพราะเป็นต้นกัญชา และน้ำปลา 25 ลิตร ดังนั้นที่จะต้องมาใช้สำหรับการวิจัยจะไปขอคัดของกลางที่ ปปส.จับมา ซึ่งทราบว่ามีหลายเกรด เกรดเป็นยาก็มี แต่เอามาแล้วก็ จะต้องตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย เรื่องการปนเปื้อนอีกครั้ง สำหรับการวิจัยนี้เป็นการให้ยากับผู้ป่วยไปเรื่อยๆ และบันทึกเอาไว้ว่าสามารถรักษาอะไรได้บ้าง ทำไปเรื่อยๆ ผลที่ได้ก็จะยกประโยชน์ให้กับสังคม อย่างไรก็ตาม เมื่อทำเรื่องการให้ยากับผู้ป่วยแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อคือผลักดันกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้กัญชาทางการแพทย์ต่อไป
    ส่วน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หลังพ้นวันนิรโทษฯ คือวันที่ 19 พ.ค. ปัญหาคือผู้ป่วยที่ใช้ยาที่มีส่วนประกอบของกัญชาจะทำอย่างไร เมื่อไม่พอใช้ หรือหาไม่ได้ เพราะเชื่อว่ารัฐไม่สามารถตอบสนองตรงจุดนี้ได้เพียงพอ เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ ทางผู้ป่วยทุกคนต้องช่วยกันออกมาเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงการรักษา ขณะเดียวกันต้องเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ใต้ดิน หรือผู้ที่มีความรู้ในการใช้กัญชารักษาโรคที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาบนดิน เพื่อให้มาช่วยเหลือในการใช้กัญชารักษาโรค เพราะเขามีองค์ความรู้ เพื่อมาช่วยหรือเสริมแพทย์แผนปัจจุบันที่จะอบรมการใช้กัญชารักษาโรคจำนวน 200 คน ซึ่งไม่มีทางพอ และไม่อาจยังไม่มั่นใจกับการใช้กัญชา 
    "เท่าที่หารือเสนอว่าจะมีสถาบันหนึ่งเป็นองค์กรกลาง ประสานกลุ่มคนใต้ดินเหล่านี้ขึ้นมา ให้มั่นใจว่าจะไม่มีโทษ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาด้วยกัญชาให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการใช้แบบแอบๆ ซ่อนๆ เช่นเดิม จึงต้องรีบเตรียมพร้อมก่อนจะพ้นกำหนด 90 วันนิรโทษฯ ครอบครองกัญชา" ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว
    ที่ จ.บุรีรัมย์ เจ้าหน้าที่และทีมงานจากหลายภาคส่วนได้เร่งจัดเตรียมสถานที่ในการจัดงาน “พันธุ์บุรีรัมย์” มหกรรมความรู้เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์และความบันเทิงที่ยิ่งใหญ่ ในระหว่างวันที่ 19-21 เม.ย.นี้ ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ต.อิสาณ อ.เมืองฯ จ.บุรีรัมย์ เพื่อหวังสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ที่แท้จริงของกัญชาให้ประชาชนรับทราบอย่างถูกต้อง
    โดยภายในงานจะมีการจัดเสวนาจากแพทย์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ นักกฎหมายระดับประเทศ ถ่ายทอดความรู้การนำกัญชาไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน นิทรรศการการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย, จำลองการปลูกจนถึงกระบวนการสกัดเป็นน้ำมันกัญชา, ชมกัญชาสายพันธุ์ต่างๆ, กิจกรรมเวิร์กช็อปวิธีปลูกและแปรรูปนิทรรศการอาหารจากกัญชารักษาโรค, บูธขายสินค้าสมุนไพรไทยและสุขภาพ, กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้กัญชา
     รวมถึงเปิดให้จดแจ้งครอบครองกัญชาแก่ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีใบรับรองแพทย์ เปิดลงทะเบียนและรับรักษาผู้ป่วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มหกรรมอาหารร้านอร่อยจากภาคอีสาน และคอนเสิร์ตศิลปินฮิปฮอป-เร็กเก้-อิเล็กทรอนิกส์ ชื่อดังกว่า 70 วงด้วย ซึ่งคาดว่าตลอดการจัดงานทั้ง 3 วัน จะมีประชาชนทั้งในจังหวัดบุรีรัมย์ นักท่องเที่ยวจากหลายจังหวัด รวมถึงชาวต่างชาติ เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 100,000 คน.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"