"๕ จี" กับคำตอบ "ขยายค่างวด"


เพิ่มเพื่อน    

    "คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาฯ กสทช.นี่ ถ้าเป็น กกต.ละก็..........    
    ผมว่า เรี่ยมเลย!
    คือฟังท่านแจงสูตร "ยืดจ่ายค่าคลื่น" เป็น ๑๐ งวด ชนิดมีเงื่อนไขผูกมัด ให้ ๓ ค่ายมือถือฟัง วานซืน (๑๗ เม.ย.๖๒)
    ทำให้อดคิดไม่ได้ ว่า 
    ถ้าท่านเป็น กกต. "สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์" ที่เป็นปัญหาโลกแตกอยู่ตอนนี้
    ไม่เกิดแน่!
    ดูจากเรื่อง "ยืดงวดจ่ายค่าคลื่น" นี้ ผมอ่านคำสั่ง ม.๔๔ หลายตลบ ก็ยากเข้าใจ 
    พอฟังที่ท่าน "แยกธาตุ" ถึงที่มาที่ไปของ "ตัวเลข-หลักคิด-เงื่อนไข" ตามแลงนั้น
    ที่ดูมันซิกแซก ไม่น่าไว้ใจแต่แรก เมื่อนำมา "แจงกันซื่อๆ"
    ก็ง่าย....คลายประเด็นสงสัยได้!
    "ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ประธาน TDRI ท่านฟันธงแต่แรกที่ ม.๔๔ ประกาศออกมา ว่า
    กสทช.ผูกเรื่อง “อุ้ม” ค่ายมือถือเข้ากับการประมูล ๕ จี
    เอื้อประโยชน์ให้ เอไอเอส, ทรู, ดีแทค 
    แต่ละรายได้ผลประโยชน์ประมาณ ๘,๐๐๐ ล้านบาท! 
    สรุปเผินๆ ก็น่าเป็นอย่างนั้น
    แต่เมื่อเลขาฯ กสทช.แจงตัวเลขที่แต่ละค่ายต้องจ่ายค่าคลื่น ๙๐๐ ตามสัญญาเดิม ๒๐๓,๓๑๗ ล้านบาท 
    กับตัวเลข "ขยายงวด" ค่าประมูลออกไป ๑๐ ปี จาก ปี ๒๕๕๙-๒๕๗๐
    ก็ ๒๐๓,๓๑๗ ล้านบาท เท่าเดิม ไม่มีหกตกหล่น!
    แต่การขยายไป ๑๐ ปี กสทช.บอกตรงๆ เป็นเงื่อนไขแลกเปลี่ยนกับ ๓ ค่ายมือถือ
    คือ "ขยาย" แลกกับ "สัญญา"........
    ที่ ๓ ค่ายมือถือ ต้องประมูลคลื่น ๗๐๐ MHz ที่ กสทช.จะเปิดประมูล ในเดือน มิ.ย.นี้
    และอีก ๒ คลื่น ที่ต้องประมูล ตอนปลายปี!
    จะว่าประมูลก็ไม่เชิง ประมูลต้องมีคนได้-คนไม่ได้ แต่กรณีนี้ ตามสเปก ม.๔๔ 
    คลื่น ๗๐๐ ที่มีอยู่ ๔๕ เมกะเฮิรตซ์ (เอาคืนมาจากทีวีดิจิทัลส่วนหนึ่งนั่นแหละ) มาแบ่งเป็น ๓ ใบอนุญาต 
    ๓ ค่าย ต้องเอาไปคนละใบ.......
    ด้วยราคาฐาน ๒๕,๐๐๐ ล้านบาท/ใบ ห้ามเบี้ยว 
    ถ้าใครเบี้ยว ถือว่า "ผิดเงื่อนไข" ขยายงวด ต้องจ่ายตามสัญญาเดิมทันที
    ชัดๆ คือ ขยายงวดให้ ๑๐ ปี 
    แต่ ๓ ค่าย ต้องจ่ายอีก รวม ๗๕,๐๐๐ ล้านให้รัฐ ทำนอง "บังคับ" ซื้อ-ขาย กลายๆ
    สรุปเป็นว่า........
    ขยายงวด ๑๐ ปี จากเดิม รัฐได้ ๒๐๓,๓๑๗ ล้านบาท กลับได้เพิ่มทางเทคนิคอีกกว่า ๓๐% เป็น 
    ๒๐๓,๓๑๗+๗๕,๐๐ = ๒๗๘,๓๑๗ ล้านบาท ตามสูตรคุณฐากร
    แบบนี้ จะว่า "อุ้ม" หรือ "เอื้อ" อย่างที่ ดร.สมเกียรติว่า ก็สุดแต่มุมมอง
    เมื่อตุลา.๖๑ กสทช.เปิดประมูลคลื่น ๙๐๐ 
    สามค่ายเกี่ยงมาครั้งหนึ่ง รัฐต้องขยายงวดให้ ไม่งั้น จะไม่เข้าประมูล
    อ้าง "หมดวงเงินกู้" จากประมูลครั้งก่อนๆ แล้ว ขอบาย
    ก็รอบที่มีเจ้าเดียวเข้าประมูล คือ "ดีแทค" นั่นแหละ
    ตอนนั้น ผมก็ไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องขยายงวดให้ตาม ที่ ๓ ค่าย ตั้งแง่งก
    จะเข้าประมูล-ไม่ประมูล เป็นเรื่องสะสมความแข็งแกร่งทางธุรกิจโทรคมนาคมของพวกคุณ ไม่ถึงจุดที่รัฐจะเดือดร้อน
    แต่ครั้งนี้ คือการประมูลคลื่น ๗๐๐ MHz ในเดือน มิ.ย.
    ถ้า ๓ ค่ายเล่นแง่ ไม่เข้าประมูล
    ๓ ค่าย "ไม่เดือดร้อน"
    เพราะคลื่นที่มีอยู่ในมือแต่ละค่าย รวมแล้วค่ายละกว่า ๑๐๐ MHz 
    ใช้ทำมาค้าคลื่น ๔ จี ในยุค Digital Economy โกยเงินเป็นแสนล้าน ในช่วงเวลาอีก ๑๐ ปี ได้สบายๆ
    ฉะนั้น ๓ ค่าย เขาไม่จำเป็นต้องรีบ!
    แต่ในเวลาเดียวกัน.........
    ภาครัฐต้องรีบ และเดือดร้อนมาก 
    ถ้า ๓ ค่าย ไม่ประมูลเอาคลื่นไปยอด ๔ จี พัฒนาเป็น ๕ จี ตั้งแต่ปีหน้า คือปี ๒๕๖๓ เป็นต้นไป
    ต้องเข้าใจก่อนว่า ทุกวันนี้ แค่ ๔ จี ตอบสนองสังคมในยุค "คลื่นลูกที่ ๓" นี้ ยังได้อยู่
    ความเร็วระดับ โหลดหนังความยาว ๒ ชั่วโมงได้ ภายใน ๖ นาที ก็ยังอยู่ในจุดทุกคนพอใจ 
    เรียกว่า ๔ จี ตอบสนองสื่อสารระหว่างคนกับคน "ได้ลงตัว" ชนิด ยังไม่จำเป็นต้องกระเสือกกระสนให้เหนือไปกว่านี้
    แล้วเรื่องอะไร.........
    ที่เอไอเอส, ทรู, ดีแทค ต้องรีบเสียเงินอีกเป็น "หลายแสนล้าน" ให้จมไปกับ ๕ จี ที่กว่าจะทำเงินได้ 
    ยังต้องใช้เวลาอีกเฉียด ๑๐ ปี?
    ขอย้ำว่า "หลายแสนล้าน" หรือถึงล้านล้าน ไม่ใช่ระดับหมื่น หรือระดับแสนล้านต้นๆ เหมือนคลื่น ๓ จี ๔ จี!
    เพราะเหตุนี้.........
    ถ้าการใช้ ม.๔๔ ขยายงวด เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ ๓ ค่าย ค่ายละกว่า ๘ พันล้าน ตามที่ ดร.สมเกียรติว่าละก็
    ผมว่า "น้อยชิบ..."!
    ค่ายละแสนล้าน ก็ยังจิ๊บๆ 
    เมื่อเทียบกับที่เขาต้องลงทุนอุปกรณ์ ๕ จี ตั้งโครงข่ายใหม่หมด เอาแค่ครอบคลุมซัก ๗๐-๘๐% ของประเทศ ก็ถือว่าดีแล้ว
    อุปกรณ์ ๕ จี แพงมาก
    สังคมโลก ยังอยู่ในช่วง "ผลิต-พัฒนา-ทดลอง" อุปกรณ์ระบบ ๕ จี สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน สเปน เกาหลีใต้ เริ่มใช้แล้ว
    ปี ๒๕๖๓ หรือ 2020 คือปีหน้านี้....
    "สากลโลก" กำหนดให้ ๕ จี เทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย ใช้ในเชิงพาณิชย์ 
    โลกสู่คลื่นลูกใหม่ คือ "คลื่นลูกที่ ๔" แล้ว
    เป็น ๕ จี ยุค "บิ๊ก ดาต้า"
    เศรษฐกิจ-อุตสาหกรรม จะขับเคลื่อนทุกสิ่งทั้งคน-ทั้งวัตถุ ด้วย "มนุษย์เทียม" สายพันธุ์ AI ประกอบด้วย บิ๊ก ดาต้า, คลาวด์ และ IOT 
    พูดแล้วมันยาว เอาเป็นว่า ปีหน้า สังคมโลก ใช้ ๕ จี ทางพาณิชย์กันแล้ว
    ยุทธศาสตร์ ๔.๐ ของไทย อีอีซี หรือโครงการต่างๆ ล้วนมุ่งทิศทางต้องใช้เทคโนโลยี ๕ จี ทั้งสิ้น
    ๕ จี เป็นหัวใจพัฒนาประเทศสู่ศตวรรษที่ ๒๑ เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมโดยตรง
    และปี ๖๓ ยังไงๆ ๕ จี ในเมืองไทย "ต้องเกิด" เป็นฐานรองรับเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมใหม่ทั้งหมด
    ถ้า ๕ จีไม่เกิด อีอีซีทั้งหมด...แท้ง!
    เครื่องจักรทุกชิ้นต่อจากนี้ จะเชื่อมเข้ากับระบบ IOT บิ๊กดาต้า OT และ AI เป็นหุ่นยนต์ทำงานแทนคน 
    พูดกันง่ายๆ ยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี ประเทศไทยจะไปรุ่งหรือร่วง อยู่ที่ ๕ จี
    แต่ ๕ จี ต้องลงทุนอุปกรณ์และโครงข่ายระดับหลายแสนล้าน จนถึงล้านล้าน
    ๕ จี คนละระบบและคนละคลื่นกับ ๔ จี 
    ฉะนั้น ต้องเข้าใจ ใช้ด้วยกันไม่ได้ มือถือต้องคนละเครื่อง ประเด็นนี้ ต้องคุยกันวันหลัง
    เพราะอย่างนี้ ภาคเอกชน คือ ๓ ค่าย ลึกๆ แล้ว เขาไม่รีบลงทุนหรอก 
    เพราะลงทุนสูง 
    กว่าจะเสถียรและมีผลตอบแทนทางธุรกิจ อีกนาน มันไม่คุ้มกัน นอนกินกับคลื่น ๔ จีไปสบายกว่า
    บางประเทศ เช่น จีน คลื่น ๕ จี เขาไม่ต้องประมูล รัฐบาลวางโครงข่ายให้เอง
    จูงใจให้ค่ายโทรคมนาคมสานต่อ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรวมของประเทศ
    ดังนั้น ที่ไทยเรา ใช้ ม.๔๔ ขยายงวดจ่ายค่าคลื่น ๑๐ ปี แลกกับพ่อค้าประมูลคลื่นไปต่อยอด ๕ จี 
    ผมว่า ต้องชม ๓ ค่ายเขาด้วยซ้ำ!
    ถ้าเขาไม่ลงทุนตรงนี้.........
    เขาไม่ตาย
    แต่ประเทศ ตายทางแผนยุทธศาสตร์ ๔.๐ 
    ประเทศถอยไปต่อตูดอินโดฯ, เวียดนามในอีก ๒๐ ปีข้างหน้าทางเทคโนโลยี ล้านเปอร์เซ็นต์!
    เรื่อง ๕ จี เป็นทั้งเรื่องใหม่และเรื่องใหญ่บ่งบอกอนาคตชาติ แต่การให้ความรู้จากทางภาครัฐ ยังน้อยมาก
    เมื่อคนไม่เข้าใจ ก็ว่าใครไม่ได้ ที่เขาจะใช้แค่ "ความรู้สึก" ตอบสนองว่า
    ยืดค่างวดเอื้อนายทุน!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"