สับเละม.44เอื้อ'นายทุน' ย้อนยุคผูกขาดสัมปทาน


เพิ่มเพื่อน    

    องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจับมือทีดีอาร์ไอตั้งวงชำแหละ ม.44 อุ้มค่ายมือถือ เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ผูกขาดตลาด "สมเกียรติ" ยันการกำกับดูแลการโทรคมนาคมในประเทศย้อนกลับไปอยู่ในยุคสัมปทาน "สารี" อัดยับ เมื่อผู้ประกอบการ 3 รายใหญ่ได้คลื่น 5 จี ถือเป็นการปิดตลาดไปโดยปริยาย 
    นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานเสวนาเรื่อง “ม.44 อุ้มมือถือ ใครได้ใครเสีย และใครเสียท่า” ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันและทีดีอาร์ไอ ว่าอยากให้ประชาชนได้ตระหนักรู้เกี่ยวกับ 7 เรื่องในการออกมาตรา 44 อุ้มค่ายมือถือ โดยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้กับค่ายมือถือครั้งนี้ คือการยกผลประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ ซึ่งค่ายมือถือทั้ง 3 ล้วนค้างชำระหนี้ในการประมูลคลื่นความถี่อยู่ในอัตราหลักหมื่นล้านบาท
    1.การออก ม.44 ที่ผ่านมาได้ไปขยายเวลาการชำระหนี้แบบไม่คิดดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการ ส่งผลให้เงินที่รัฐควรจะได้กลับไม่ได้ และยังเป็นการเสียโอกาสทางการเงินของรัฐอีกด้วย โดย กสทช.พยายามอธิบายว่าการยืดเวลาชำระหนี้ไม่ได้ทำให้รัฐได้เงินน้อยลง แต่ยังได้เท่าเดิม และไม่ได้เอาดอกเบี้ยมาคิดเลย ซึ่งความจริงแล้วควรต้องคิดดอกเบี้ย เพราะเอกชนจะได้โอกาสจากการขยายเวลาแบบเต็มๆ และจากการคำนวณดอกเบี้ยแล้วรัฐจะไม่ได้เงินจากผู้ประกอบการที่ควรจะได้ถึง 19,747 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าการประเมินที่ใกล้เคียงกับตัวเลขจากนักวิเคราะห์ของกสิกรไทย
    2.สิ่งที่รัฐบาลไปบังคับให้เอกชนทำ 5 จี แต่จริงๆ แล้วเป็นการให้อภิสิทธิ์กับผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้ง 3 ราย เนื่องจากมีการให้สิทธิ์คลื่น 900 MHz โดยไม่ต้องไปแข่งประมูลกับใครเลย ซึ่งเป็นการผูกขาด และตลาดก็จะมีผู้ประกอบการเพียง 3 รายเดิมเท่านั้น ถือเป็นการคุ้มค่าของผู้ประกอบการอย่างมาก ขณะที่กสทช.บอกว่ารัฐจะได้เงินจากผู้ประกอบการ 25,000 ล้านบาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ถ้าเอาเงินในอนาคตมาคิดจะเหลือมูลค่าเพียง 17,000 ล้านบาทเท่านั้น สิ่งที่เอกชนได้จากกรณีนี้คือเหมือนซื้อคลื่น 5 จีในราคาประมาณ 8,000 ล้านบาทเท่านั้น
    3.เชื่อจริงหรือว่าผู้ประกอบการจะชำระราคาคลื่น 25,000 ล้านบาทจริงๆ เผลอๆ อาจมีการขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปจากเดิม 10 ปีเป็น 15-20 ปี ก็เป็นได้ เนื่องจาก คสช.ให้อำนาจกับเลขาธิการ กสทช.มากเกินไป
    4.ผู้ได้ประโยชน์มากที่สุดคืออภิมหาเศรษฐีของประเทศไทยและนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย มีผู้ถือหุ้นใหญ่ในประเทศสิงคโปร์, นอร์เวย์ และจีน จึงเป็นคำถามว่าทำไมรัฐบาลไทยจึงต้องไปอุ้มมหาเศรษฐีไทยและนักลงทุนต่างชาติ ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย มีผลประกอบการที่ดีมาโดยตลอด
    5.บริการ 5 จี เป็นบริการแห่งอนาคต และไม่ต้องรีบทำ เนื่องจากเอไอเอสเคยให้ข้อมูลในเดือน กุมภาพันธ์ 2562 ว่ายังไม่เห็นความจำเป็นในแง่ธุรกิจและไม่มีผู้ใช้บริการ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามว่าที่เลขาธิการ กสทช. บอกว่าถ้านำ 5 จี มาใช้จะสร้างมูลค่า 2.3 ล้านล้านบาทให้ประเทศ เป็นเพียงความเพ้อฝัน ซึ่งอุปกรณ์การดำเนินการเรื่อง 5 จี ก็ยังไม่มีการพัฒนามารองรับประเทศไทยจึงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งทำ 5 จี ในปัจจุบัน
    6.การใช้คำสั่ง ม.44 เป็นการขาดความรับผิดชอบต่ออำนาจและยังอาศัยวันที่ 11 เมษายน 2562 ในการออกคำสั่งซึ่งเป็นช่วงก่อนวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ไม่ตกเป็นข่าวมากนัก นอกจากนี้ คสช.ยังให้อำนาจกับเลขาธิการ กสทช.มากเกินไปดุลพินิจที่สำคัญที่เลขาธิการ กสทช.กำหนดได้คือจะตีมูลค่าความถี่อย่างไร ระยะเวลาในการชำระจะยืดได้เท่าไรก็ได้ โดยไม่มีข้อกำหนดให้แม้กระทั่งรับฟังความเห็นสาธารณะ
    7.ผู้ที่เสียหายครั้งนี้คือประเทศและประชาชน เนื่องจากประชาชนเป็นผู้เสียภาษีในฐานะผู้บริโภคคือเสียโอกาสในการได้รับบริการจากผู้ประกอบการรายใหม่ ในส่วนประเทศ ม.44 ทำให้การกำกับดูแลการโทรคมนาคมในประเทศย้อนกลับไปอยู่ในยุคสัมปทาน ซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดการคาดการณ์และจะสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างเจ้าสัวผู้มีอิทธิพลต่อไป ทั้งนี้ คสช. ควรออก ม.44 แก้ไขการออก ม.44 อุ้มค่ายมือถือที่ได้ทำไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ คสช.มีอำนาจและสามารถทำได้หากต้องการจะทำและหากต้องการจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศเอาไว้
    ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คำสั่ง คสช.ที่ใช้ ม.44 ถือเป็นการลดสิทธิประชาชน ผู้ประกอบการรายเก่าจะได้ขยายเวลาการชำระหนี้ไปอีก 10 ปี และยังได้คลื่น 5 จี ในราคาถูกและไม่ต้องประมูลแข่งขันด้วย เมื่อผู้ประกอบการ 3 รายใหญ่ได้คลื่น 5 จี ถือเป็นการปิดตลาดไปโดยปริยาย 
    ส่วน น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์ผู้บริโภค กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าละอายของคนที่มีอำนาจ เนื่องจากเรามีรัฐธรรมนูญ แต่การออก ม.44 ช่วงใกล้สงกรานต์ก็เพื่อไม่ให้มีคนค้าน ซึ่งการยืดระยะเวลาใช้หนี้ออกไปโดยไม่มีการให้ชำระดอกเบี้ยถือเป็นอันตรายต่อประเทศเป็นอย่างมาก 
    "การออก ม.44 เท่ากับว่าเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญเนื่องจากว่า ม.44 สามารถออกเมื่อไร เรื่องใดก็ได้ และที่ผ่านมา คสช.ก็ออกกฎหมายไม่เห็นหัวประชาชนเลยสักครั้ง ซึ่งคลื่นที่ประมูลกันเป็นของประเทศชาติ ไม่ใช่ของรัฐบาล เพราะฉะนั้นควรจะจัดสรรอย่างเป็นธรรม" น.ส.บุญยืนกล่าว
    ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวทิ้งท้ายว่า กรณีออก ม.44 อุ้มผู้ประกอบการมือถือเป็นเรื่องไม่ปกติอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสร้างปัญหาในระยะยาวให้แก่ส่วนรวม โดยคนที่เป็นเจ้าของความถี่คือประชาชนทั้งประเทศ ที่ควรจะต้องได้รับผลประโยชน์มากกว่าผู้ประกอบการ ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่แบบนี้เป็นที่รู้ดีว่าจะต้องมีการศึกษาแผนธุรกิจเป็นอย่างดี 
    เขากล่าวว่า หากย้อนกลับไปดูผลประกอบการของผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ในช่วง 4 ปีหลัง มีผลประกอบการหลักหมื่นล้านบาทถึงแสนล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการให้ข้อมูลกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าบริษัทมีฐานะทางการเงินดีอยู่ตลอด หากพิจารณาจากรายได้และผลประกอบการในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น จะบอกว่าผู้ประกอบการทั้ง 3 รายเป็นผู้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างไร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องจับตาดูความซื่อสัตย์ของรัฐบาลและภาคเอกชนทั้ง 3 ราย ว่าจะมีความซื่อสัตย์หรือไม่
    วันเดียวกันนี้ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชี้แจงรายละเอียดของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ว่าเป็นการปรับปรุงฉบับที่ 3 ซึ่งมีระยะเวลาห่างจากฉบับที่ 2 เป็นเวลา 2 ปี โดยมีสาเหตุจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญต้องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 
        โดย กสทช.พิจารณาแล้วเห็นว่า มาตราที่มีผลกระทบกับ กสทช.คือมาตรา 60 ที่กำหนดให้รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน รัฐต้องจัดให้มีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะต้องกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำให้ผู้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในภาพรวมคือการให้อำนาจ กสทช.ในการดูแลสิทธิในการดำเนินการเกี่ยวกับดาวเทียมครอบคลุมการให้สิทธิในการดำเนินกิจการดาวเทียม มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลการรักษาสิทธิในวงโคจรดาวเทียม 
          ดังนั้น กสทช.จึงมีหน้าที่ในการจัดทำแผนแม่บทเพื่อการดำเนินงานเกี่ยวกับกิจการดาวเทียม เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญจึงต้องเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กับ กสทช.ในการเป็นผู้รักษาสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียม รวมถึงการออกหลักเกณฑ์วิธีอนุญาตในการใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และมีอำนาจในการออกหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตในการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ (Landing Right)
        "เนื่องจากปัจจุบันกิจการดาวเทียมยังอยู่ในช่วงเวลาสัมปทานของเอกจน กสทช.จึงเขียนไว้ในแผนบริหารสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียม กำหนดให้ผู้ที่ได้รับสัมปทานอยู่ใช้ดาวเทียมต่อไปจนกว่าจะครบอายุสัมปทาน" พล.อ.ท.ธนพันธุ์กล่าว
         รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในส่วน บมจ.ไทยคม (THCOM) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานดาวเทียมไทยคม 4, 5, 6 นั้น กสทช.จะมีบทเฉพาะกาลในประกาศ กสทช.ให้ผู้ที่รับสัมปทานยังคงมีสิทธิใช้วงโคจรดาวเทียมจนถึงวันสิ้นสุดสัญญาสัปทาน ซึ่งดาวเทียมทั้ง 3 ดวงจะครบอายุสัญญาสัมปทานพร้อมกันในปี 64 ส่วนดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ยังอยู่ในขั้นตอนอนุญาโตตุลาการ 
          พล.อ.ท.ธนพันธุ์เผยว่า กสทช.ได้ตั้งคณะทำงานจัดทำแผนและหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตและเงื่อนไขการอนุญาต สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และการใช่ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ โดยจะผลักดันการออกแผนแม่บทการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม, การประกาศหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตและเงื่อนไขการอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และหลักเกณฑ์วิธีอนุญาตและเงื่อนไขการอนุญาตในการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ โดยคาดว่าจะจัดทำได้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้และเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. จากนั้นจะเปิดประชาพิจารณ์ ซึ่งจะใช้ระยะเวลา 45 วัน คาดว่าจะสามารถลงประกาศ กสทช.ในราชกิจจานุเบกษา และสามารถเปิดให้เอกชนเข้ามาขอรับใบอนุญาตได้ประมาณไตรมาส 3/62. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"