ผ่าทางตัน ปลด Deadlock-ตั้งรัฐบาล


เพิ่มเพื่อน    

ทางออก รธน.มาตรา 5

หากตั้ง รบ.ยืดเยื้อ-Deadlock

แม้แกนนำพรรคการเมืองและนักการเมืองจากพรรคต่างๆ จะประสานเสียงไปในทิศทางเดียวกันว่า  ความชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง ต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการให้ครบตามจำนวนที่จะนำไปสู่การเปิดประชุมสภาฯ นัดแรกเสียก่อน จากนั้นเมื่อเห็นเสียง ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว การจับขั้ว-เปิดดีลตั้งรัฐบาลถึงเกิดขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ กกต.บอกไว้ว่าจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวภายในไม่เกิน 9 พ.ค.นี้ กระนั้นในทางการเมืองก็เป็นที่รู้กันดีว่า จริงๆ แล้วการเปิดดีลเจรจาทางการเมืองของ 2 ขั้วพรรคใหญ่คือ เพื่อไทยกับพลังประชารัฐ กับพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อช่วงชิงการตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นมานานแล้วและยังมีต่อเนื่อง แต่ทุกอย่างน่าจะลงตัวในช่วงหลัง 9 พ.ค.นั่นเอง

ทัศนะ-มุมวิเคราะห์ของนักวิชาการสายรัฐศาสตร์ชื่อดัง ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อจากนี้ โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลที่หลายฝ่ายประเมินว่าแนวโน้มอาจจะเกิดรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ อาจมีการชิงเสียง ส.ส.แต่ละพรรคกันอย่างเข้มข้นของขั้วเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ โดยบางฝ่ายก็มองว่าอาจเกิด deadlock ทางการเมือง จนการเมืองไปถึงทางตัน ซึ่งทัศนะของนักวิชาการผู้นี้ก็มองประเด็นเรื่องทางตันการตั้งรัฐบาลไว้เช่นกัน พร้อมกับมองทางออกทางการเมือง ที่อาจนำไปสู่การปลดล็อกการตั้งรัฐบาล

ลำดับแรก ไชยันต์ มองผลการเลือกตั้งที่ออกมาเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ทางการเมืองต่อจากนี้ โดยบอกว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ภาพรวมใหญ่ก็คือ หากผลการเลือกตั้งถ้ามันเทไปให้กับพรรคการเมืองที่เป็นนักการเมือง เช่น พรรคการเมืองต่างๆ ที่ประกาศจะไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะทำให้คะแนนออกไปชัดเจนว่าไม่เอาพลเอกประยุทธ์ ถ้าเทไปเยอะ แล้วพรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.น้อยมาก รวมถึงพรรคอื่นๆ ที่ประกาศชัดเจนว่าหนุน เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทยและพรรคอื่นๆ ทิศทางการเมืองก็คือประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ ก็จะทำให้ทิศทางการเมืองชัดเจน

สูตรสอง คือประชาชนยังกังวลต่อสถานการณ์การเมือง และเห็นว่านักการเมืองจะเข้ามาโดยปราศจากการดูแลโดยพลเอกประยุทธ์ โดยถ้าเสียงเทไปยังพรรคพลังประชารัฐ จำนวนมาก จนทำให้พลังประชารัฐชนะขาด และรวมเสียงต่างๆ อีกไม่มากนักจนเกิน 250 เสียง จัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ชัดเจนว่าเสียงส่วนใหญ่เทไปยังพลเอกประยุทธ์ ก็จะเป็นทิศทางการเมืองที่ชัดเจนโดยมีเสียงประชาชนบอก

แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมาอย่างไม่เป็นทางการก็กลับกลายเป็นว่า มันไม่ใช่ทั้งสูตรแรกและสูตรที่สอง แต่มันกลายเป็นสูตรที่สาม คือเสียงมันก้ำกึ่งระหว่างพลังประชารัฐกับเพื่อไทยและพรรคพันธมิตรฯ ของพรรคเพื่อไทย ก็แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังแบ่งออกเป็นสองข้าง ข้างแรกยังต้องการพลเอกประยุทธ์ แต่อีกข้างต้องการพรรคการเมือง

การที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เข้ามาน้อย แสดงว่าประชาชนยังไม่ไว้ใจให้ ปชป.ขึ้นมาทำงานการเมืองเต็มที่ เพราะแฟนคลับ ปชป.จำนวนหนึ่งก็หันไปเทคะแนนเสียงให้ พปชร. การที่ ปชป.ได้คะแนนน้อย ก็ยังเข้าสูตรที่สามคือ เสียงเทไปยัง พปชร.แทน

ศ.ดร.ไชยันต์ วิเคราะห์ว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองยังแบ่งเป็นสองขั้วอยู่ คือขั้วที่ยังต้องการให้ทหารดูแลบ้านเมืองต่อไป กับอีกขั้วที่ไม่เอาทหาร

...เวลานี้คือช่วงการรอ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ที่จะทำให้ตัวเลข ส.ส.ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อนิ่ง ก็คือช่วงไม่เกิน 9 พ.ค. หลังจากนั้นก็จะมีการเจรจาต่อรอง ระหว่างฝ่ายเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ ที่ก็จะมีการแข่งขันกัน

...อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่ากังวลก็คือ หาก กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งออกมาแล้วไม่เป็นที่ยอมรับ ต้องดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ที่ก็คือหลัง 9 พ.ค. เพราะแม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีการเคลื่อนไหวแสดงออก ประท้วงไม่ยอมรับการทำงานของ กกต.แต่ว่าก็จะยังไม่ส่งผลอะไร แต่จะส่งผลเมื่อ กกต.ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว และพรรคการเมืองต้องนำตัวเลขดังกล่าวไปใช้ในการแข่งขันจัดตั้งรัฐบาล โดยหาก กกต.อธิบายได้ เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ การเมืองไทยก็จะเดินหน้าต่อไป เพราะผลการเลือกตั้งที่เป็นด่านแรกของประชาธิปไตยได้ผ่านมาแล้ว แต่หากเรื่องนี้ไม่ผ่าน ตะแบงไปก็ยุ่งแน่ จะยุ่งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น ที่แอฟริกาที่ไม่ยอมรับผล หรือแบบที่เวเนซุเอลา แน่นอนว่าการจัดตั้งรัฐบาลก็จะเกิดขึ้นได้ลำบาก

...อย่างไรก็ตาม กกต.ได้แก้ปัญหาโดยการส่งเรื่องการตีความรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสูตรการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร? แต่ผมก็ยังนึกไม่ออกว่า หากคนส่วนใหญ่ไม่พอใจ ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง แล้วจะแก้ไขปัญหานี้กันอย่างไร  

ตั้งรับาลส่อแววยืดเยื้อ

ดร.ไชยันต์ กล่าวต่อไปว่า การตั้งรัฐบาลของขั้วฝ่ายเพื่อไทย หากสุดท้ายประชาชนยอมรับผลการเลือกตั้งที่ กกต.ประกาศรับรองผล โดยฝ่ายเพื่อไทยรวมเสียง ส.ส.กันได้เกิน 250 เสียง เช่น 260 เสียง แต่ตอนโหวตนายกฯ ทาง ส.ว.กลับไม่ออกเสียงให้ ประชาชนที่สนับสนุนเพื่อไทยก็อาจไปล้อมรัฐสภาเพื่อถาม ส.ว.ว่าทำไมไม่ออกเสียงให้กับฝ่ายพรรคการเมืองที่ได้เสียง ส.ส.เกิน 250 เสียง ส.ว.ไม่เคารพเสียงประชาชนที่เป็นเสียงข้างมากในสภาฯ แบบนี้ก็เป็นเรื่องแน่ แม้รัฐธรรมนูญจะให้ทำได้ แต่ความชอบธรรมทางการเมืองมีปัญหา 

...ทว่า หากฝ่ายพลังประชารัฐรวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 250 เสียง เช่นได้ 260 เสียง ผมว่าฝ่ายเพื่อไทยเขาก็คงยอม แต่คำถามคือจะได้เสียงถึงหรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 ฝั่งอาจได้ไม่ถึง 250 เสียงเลยก็ได้ หากมีบางพรรคการเมืองไม่ยอมร่วมกับขั้วไหน

“เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เป็นเวลานานก็มีสูง เพราะรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บัญญัติว่าหลังเปิดประชุมรัฐสภา จะต้องจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน เพราะฉะนั้นโอกาสจะยืดเยื้อจึงสูง

นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ยกตัวอย่างการจัดตั้งรัฐบาลที่ยืดเยื้อในต่างประเทศ มาอธิบายให้เห็นภาพว่า บางประเทศเขากำหนดไว้เลยว่าหลังเปิดประชุมรัฐสภาต้องจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน แต่หากทำไม่ได้ก็จะมีการเขียนไว้ว่าต้องทำอย่างไร แต่ของเราไม่ได้กำหนดเวลา มันก็จะคล้ายๆ ประเทศเบลเยียม ที่ในการเลือกตั้งปี ค.ศ.2010 เนื่องจากเบลเยียมเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติสูง จึงมีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของกลุ่มต่างๆ เยอะ ผลการเลือกตั้งของเบลเยียม ปี ค.ศ 2010 ปรากฏว่าไม่มีพรรคการเมืองใดเลยได้ ส.ส.เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่นั่งในสภาฯ การจัดตั้งรัฐบาลจึงทำได้ยาก และ รธน.ของเบลเยียมก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้ เขาใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาล เจรจาต่างๆ รวมเวลาแล้วเกือบ 600 วัน หรือร่วม 2 ปี เบลเยียมเจอปัญหาแบบนี้บ่อย หรือที่เยอรมัน ก็เคยใช้เวลาร่วม 5 เดือนในการตั้งรัฐบาล และที่อิตาลีก็ใช้เวลาหลายเดือนเช่นกันในการตั้งรัฐบาลเมื่อปีที่ผ่านมา

 ...เพราะฉะนั้น โอกาสที่ประเทศไทยจะเข้าสู่โหมดลักษณะดังกล่าวก็มีอยู่สูง ส่วนจะนานแค่ไหน ถึงจะเรียกว่าเป็นทางตัน ก็ยังไม่ทราบ คงต้องดูกระแสสังคม ระหว่างนั้นรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็ทำงานต่อ ในเมื่อยังไม่มีรัฐบาลใหม่เข้ามา เพราะ รธน.บัญญัติไว้ว่าให้รัฐบาลทำงานต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาจึงส่งผ่าน โดยพลเอกประยุทธ์ก็ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 และอำนาจการออกกฎหมายอะไรต่างๆ ได้อยู่ แต่ก็ไม่ชอบธรรม อีกทั้งก็ต้องดูว่าถึงตอนนั้น หากยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่มีสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารกับสภาฯ ที่มาจากเลือกตั้ง จะทำงานร่วมกันอย่างไร ซึ่งหากตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็จะอยู่กันไปอย่างนี้ ก็คงไม่ได้อีก

...หากเปิดประชุมสภาฯ แล้ว แต่ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. จนเข้าสู่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม-กันยายน ซึ่งพอถึงเดือนตุลาคมจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรอบสอง คือพระราชพิธีขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยในพระราชพิธีช่วง 4-6 พ.ค. สำหรับต่างชาติหมายกำหนดการให้มีแค่ทูตานุทูตและกงสุลที่อยู่ในประเทศไทยมาร่วม แต่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกช่วงเดือนตุลาคม คาดว่าจะต้องเป็นพิธีที่ระดับ Grand มาก จะเป็นงานใหญ่ คาดว่าน่าจะมีพระประมุขและประมุขของรัฐมาร่วมพระราชพิธี ซึ่งช่วงนั้นก็คือเรามีการเลือกตั้งผ่านมาแล้ว ก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยตามเกณฑ์พื้นฐานในระดับหนึ่งแล้ว แต่หากยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็เป็นเรื่องทางเทคนิค

"คุณลองคิดดูว่า หากจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้จริงๆ แล้วจะทำอย่างไร จะยุบสภาหรือ เพราะหากไปยุบสภาช่วงก่อนพระราชพิธีเดือนตุลาคมคงวุ่นวายพิลึก เพราะฉะนั้นหากจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ยังไงก็ต้องปล่อยข้ามพระราชพิธีไปก่อน แล้วหลังเสร็จพระราชพิธีค่อยมาดูว่าจะหาทางออกจาก Deadlock จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ กันอย่างไร" ดร.ไชยันต์ระบุ

มาตรา 5 กับทางออกปลดเดดล็อก

ดร.ไชยันต์ กล่าวอีกว่า ในประเทศหลักๆ ที่ใช้ระบอบรัฐสภา หากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็จะมีทางออกที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรบ้าง หรือเป็นจารีตประเพณีการปกครองบ้าง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ของไทยเรา ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าหากตั้งรัฐบาลไม่ได้จะทำอย่างไร เมื่อไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปกติก็ต้องใช้ประเพณีการปกครอง ก็คือ มาตรา 7 ใน รธน.ปี 2540 และปี 2550 แต่ใน รธน.ฉบับปัจจุบันปี 2560 มีการบัญญัติไว้ในมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ

(บทบัญญัติในมาตรา 5 - รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

 เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้น ไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข-กอง บ.ก.)

...สมมุติว่าหากเกิดทางตัน จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ทำงานก็ลำบาก เพราะรัฐบาลมาจากรัฐประหาร แต่สภาฯ ที่เข้าไปแล้วมาจากการเลือกตั้ง แล้วจะทำงานอย่างไร เช่น การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ จะใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายไปเรื่อยๆ ก็ไม่ถูก ก็ต้องไปใช้มาตรา 5 ซึ่งมาตรา 5 ไม่ใช่หมายถึงการไปให้ในหลวงท่านทรงมีพระราชวินิจฉัย ไม่ใช่เช่นนั้น แต่คือในรัฐสภาก็ต้องคุยกัน ฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติต้องคุยกันจะเอาอย่างไร ถึงเวลาหรือยังที่จะหาทางออกตรงนี้

ดร.ไชยันต์ ชี้ประเด็นเรื่องการตั้งรัฐบาลที่อาจเกิดปัญหาในอนาคตไว้ว่า การที่หาทางออกจากการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ตามประเพณีการปกครองของประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา จะมีสองแบบ แบบแรกคือ ยุบสภาฯ เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ แบบที่สองคือไม่มีใครตั้งรัฐบาลได้ เพราะไม่มีฝ่ายไหนได้เสียงเกิน 376 เสียง ซึ่งไม่ต้องถึง 376 เสียงก็ได้ ก็คือเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่ปัญหาคือว่าหากผ่านเดือน มิ.ย.เข้าสู่ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. แล้วเกิดมีคนเสนอทางออกให้ยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งใหม่ คุณคิดว่าพวก ส.ส.ที่เขาเพิ่งเลือกตั้งเข้ามา เขาจะยอมไหม บ้างอาจยอม บ้างอาจไม่ยอม แต่เสียงต้องได้เกินครึ่งถึงจะไปทางใดทางหนึ่ง ก็ต้องถามว่า ครึ่งไหน มี ส.ว.รวมอยู่ไหม หรือนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยุบสภา? แล้วหากเสียงข้างมากของพรรคการเมืองเขาไม่ต้องการให้ยุบ จะทำอย่างไร?

....สอง choice ระหว่างยุบสภาฯ กับการมีรัฐบาลเสียงข้างน้อย ผมคิดว่า ส.ส.ก็คงอยากให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยมากกว่า เพราะไม่อยากให้ยุบสภาฯ คืออาจได้เป็นรัฐบาลไปสักระยะหนึ่ง แม้จะไม่มั่นคง แต่ก็ให้ได้เป็นสักระยะ อาจรอให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณผ่านออกมาก่อน เพราะการยุบสภาฯ ทันทีหลังเลือกตั้งมาไม่กี่เดือนเขาคงไม่ไหว แต่ถามว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อยจะเป็นฝ่ายไหน ระหว่างพลเอกประยุทธ์หรือแคนดิเดตจากเพื่อไทย หรือจะเป็นอนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทย คือมันเป็นไปได้หมด

...แต่หากทั้งสองทางออกคือยุบสภาฯ กับตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่มีใครเอาด้วย ก็ยังมีทางออกที่สาม ที่อาจจะเป็นไปได้ หากทุกฝ่ายในรัฐบาลและสภาเห็นพ้องต้องกัน นั่นก็คือรัฐบาลแห่งชาติ เพราะเมื่อคุยกันไม่รู้เรื่อง ฝ่ายหนึ่งก็ต้องการเป็นรัฐบาล อีกฝ่ายก็ต้องการเช่นกัน ก็ให้เป็นรัฐบาลด้วยกันหมด แต่ต้องมีความชัดเจนว่าจะเป็นแล้วอยู่นานขนาดไหน และเป็นรัฐบาลแห่งชาติเพื่ออะไร จะแก้ปัญหาวิกฤติการเมืองที่คั่งค้างมาเป็นสิบปีได้หรือไม่? ถ้าทุกฝ่ายเห็นด้วยที่จะร่วมมือกันนำพาประเทศออกจากทางตัน ไม่ว่าจะโดยการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันทุกฝ่าย โดยให้เปิดอกคุยกันในเรื่องสำคัญๆ ที่ขัดแย้งกันได้ การมีรัฐบาลแบบนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องดีกว่ายุบสภาฯ แล้วกลับมาวังวนเดิมๆ หรือมีรัฐบาลเสียงข้างน้อยแล้วก็ต้องยุบสภาฯ อยู่ดี วนกลับมาอีก 

ซึ่งหากจะมีรัฐบาลแห่งชาติก็ต้องมีคนมาเป็นนายกฯ ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ที่อาจไม่ใช่ชื่อพลเอกประยุทธ์อีกแล้ว อาจไม่ใช่ชื่อที่เป็นนักการเมืองอีกแล้ว ก็เป็นนายกฯ คนนอกหรืออะไรไป ถ้าไปจุดนั้นแล้ว

ดร.ไชยันต์ อ่านสถานการณ์การเมืองต่อจากนี้อีกว่า ยังไงก็ตามก่อนจะถึงมาตรา 5 ถ้าหาคนในมาเป็นนายกฯ ไม่ได้ แต่ปลดล็อกมาเป็นคนนอกก็อาจโอเค แต่หากหาทั้งคนในก็ไม่ได้ คนนอกก็ไม่ได้ ยังไงก็ต้องมาตรา 5 พอเข้ามาตรา 5 แล้วก็มีทางเลือกคือยุบสภาฯ-รัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลแห่งชาติก็น่าจะเป็นอะไรที่ไม่มีใครเสีย และไม่มีใครได้อะไรมาก คือทุกคนได้หมด เพียงแต่จะมีรัฐบาลแห่งชาติได้ก็ต้องมีนายกฯ ที่ทุกคนยอมรับ เพราะฝ่ายเพื่อไทยก็คงไม่ยอมรับพลเอกประยุทธ์เช่นเดียวกันกับฝ่ายพลังประชารัฐ ก็คงไม่ยอมรับคุณหญิงสุดารัตน์ และนายชัยเกษม นิติศิริ หรือไม่เช่นนั้น ไปๆ มาๆ ก็อาจมองไปที่คนอื่น เช่น อนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทย แต่คงไม่มองไปที่หัวหน้าพรรค ปชป. หรือไม่เช่นนั้นก็อาจเป็นคนนอกไปเลย 

ดร.ไชยันต์ กล่าวถึงเรื่อง รัฐบาลแห่งชาติ ต่อไปว่า โดยหลักการ หากถึงวันนั้น ถ้าเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมร่วมรัฐสภาเห็นด้วยว่าจะต้องเกิดรัฐบาลแห่งชาติ ถ้าเป็นแบบนี้จะไปเชิญใครมาเป็นก็ง่ายแล้ว เพราะไม่ได้มาเป็นแล้วต้องเลือกข้าง และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วค่อยไปทูลเกล้าฯ ถวายให้ลงพระปรมาภิไธย ก็คือการใช้พระราชอำนาจตามประเพณี โดยรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนก็เป็นคนไปเสนอ ช่วงนั้นก็คงเป็นอะไรที่ว่าบ้านเมืองก็คงเข้าสู่ทางตันสุดขีดแล้ว แล้วค่อยไปใช้มาตรา 5 ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วไปใช้ แต่ต้องถึงเวลาสุกงอมจริงๆ ซึ่งเมื่อใช้มาตรา 5 แล้ว ถึงวันนั้นไม่ว่าจะออกมาลักษณะไหน ผมคิดว่าสังคมน่าจะยอมรับ เพราะมันถึงทางตันจริงๆ แต่ก็น่าคิดว่า หากมีพรรคการเมืองบางพรรคไม่ยอมรับรัฐบาลแห่งชาติ อย่างเช่น พรรคอนาคตใหม่ มันก็อาจจะไม่ใช่รัฐบาลแห่งชาติที่ปราศจากฝ่ายค้าน แต่มันจะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากแบบพิเศษขึ้นมา แต่ก็มีประเด็นอีกว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลเสียงข้างมากพิเศษ หากคณะรัฐมนตรีมาจากการแบ่งโควตาไปตามพรรคการเมืองต่างๆ ที่ร่วมรัฐบาล ประชาชนจะยอมรับได้แค่ไหน

-ถึงตอนนี้มองโอกาสพลเอกประยุทธ์คัมแบ็กกลับมาเป็นนายกฯ รอบ 2 มีสักกี่เปอร์เซ็นต์ในทางการเมือง?

50 เปอร์เซ็นต์ ก็คือว่าเนื่องจากมี ส.ว. 250 เสียงอยู่ในมือ ผมไม่ได้คิดว่าจะมีโอกาสถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ เพราะแม้จะมี ส.ว. 250 เสียง แต่ว่าความชอบธรรมที่ ส.ว.จะเทไปทางไหน ก็เป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้น อาจเกิดการประท้วงไม่พอใจ 

...สิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้คือ เมื่อ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งออกมาแล้วจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายหรือไม่ หากไม่เป็นที่ยอมรับ ก็อาจมีการออกมา แต่การออกมาก็ต้องอยู่ภายใต้การชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่ยังทำงานอยู่ ก็ต้องฟังเสียงตรงนี้ แต่การที่พลเอกประยุทธ์มีอีกขาหนึ่งอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ หากเกิดกรณีดังกล่าว ก็ทำให้เสียงของพลเอกประยุทธ์อาจไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร หากจะสั่งการอะไร เพราะคนก็จะมองว่ามีผลประโยชน์อยู่ 

 

ปชป.ไม่ควรร่วมตั้งรัฐบาล

ปรากฏการณ์ อนค.-ไม่น่ายืนยาว

หลังส่องกล้องมองการเมืองในภาพใหญ่โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลต่อจากนี้ไปแล้ว เมื่อสอบถามทัศนะมุมวิเคราะห์ถึงผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ในบริบทความสำเร็จและความล้มเหลวของพรรคการเมือง รวมถึงทิศทางและก้าวย่างทางการเมืองของบางพรรค ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ให้ทัศนะความเห็นเชิงวิพากษ์ไว้ดังนี้ เริ่มที่ พรรคอนาคตใหม่  (อนค.) โดย ดร.ไชยันต์ เห็นว่าเป็นพรรคการเมืองใหม่ในการเลือกตั้งที่ได้ ส.ส.มาเป็นอันดับสาม ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เพิ่งตั้งพรรคและลงเลือกตั้งครั้งแรก เป็นคนหน้าใหม่ ไม่มีนักการเมืองรุ่นเก่า พรรค อนค.จึงเป็นดัชนีชี้ว่าคนที่เลือกอาจจะมีความแตกต่างจากคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองพันธมิตรของเพื่อไทย แต่ก็ยังอยู่ในเฉดของเพื่อไทย เป็นจุดยืนที่มีความโดดเด่นชัดเจน ทั้งการไม่เอาพลเอกประยุทธ์ การต้องการลดทอนบทบาทของทหาร และชูประเด็นเรื่องคนรุ่นใหม่ที่ต้องการกำหนดอนาคตของตัวเอง ชูประเด็นนามธรรมซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เช่น เสรีภาพ ความเสมอภาค ซึ่งเรื่องพวกนี้พูดเมื่อใดก็ถูกต้องเสมอเพราะเขาพูดเป็นหลักกว้างๆ

...หากสถานการณ์ไม่มีพลเอกประยุทธ์ ไม่มีพลังประชารัฐ ซึ่งช่วงห้าปีของ คสช.และความพยายามจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่นำไปหาเสียง เช่นเรื่องเสรีภาพที่ขาดหายไปในช่วงห้าปีของยุค คสช. หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และใช้ช่องว่างระหว่างวัยที่มีทุกยุคสมัยโดยเฉพาะความเห็นต่างระหว่างวัย เลยทำให้จุดติด ไม่ต่างกับเรื่องความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นก็มีอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่จะจุดติดเมื่อใดและด้วยเงื่อนไขอะไร ด้วยเงื่อนไขการเมืองต่างๆ เหล่านี้จึงทำให้พรรค อนค.ดึงคนมาลงคะแนนให้ได้ แต่มันไม่น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่ยืนยาวได้

...ผมมองว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียและการหาเสียงด้วยประเด็นนามธรรมเหล่านั้น หากไม่มีผลงานอะไรออกมาชัดเจนผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ในเวลานี้ก็จะเริ่มเติบโตขึ้นและก็จะเริ่มเปลี่ยนไป พรรคอนาคตใหม่ก็ไม่น่าจะอยู่ได้ยาว

...เพราะคนรุ่นใหม่ตอนนี้ต่อไปเขาก็จะเติบโตขึ้น การที่พรรคอนาคตใหม่เล่นกับกระแสโซเชียลมีเดีย ผมว่าเล่นได้ไม่นานและมันอ่อนไหวง่าย ขึ้นลงได้ตลอด ไม่แน่นอน พรรค อนค.ก็ต้องปรับปรุงจากที่ได้คะแนนเสียงมาเยอะ หากจะรักษาฐานเอาไว้ให้ได้แบบเดิม พรรคก็ต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ ลงไปสร้างฐานมวลชนจริงๆ ตั้งสาขาพรรค มีคนในพื้นที่ซึ่งประชาชนจับต้องได้ ต้องดึงคนที่มีประสบการณ์ความสามารถมากกว่านี้มาเข้าพรรค เพราะอย่างในผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ดูแล้วคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีได้ยังนึกชื่อไม่ออก

ขณะเดียวกันหลังเลือกตั้งมีข่าวออกมาว่า อนาคตใหม่จะสนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าตอนหาเสียงเลือกตั้งนั้น ได้มีการหาเสียงในลักษณะที่จะสนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์ออกมาหรือเปล่า? หรือเป็นเพราะอนาคตใหม่ได้รับการเทเสียงจากทางไทยรักษาชาติ หลังที่ไทยรักษาชาติถูกยุบ และนักการเมืองของไทยรักษาชาติก็ไปอยู่กับเพื่อไทยขณะนี้ มันเป็นดีลตอบแทนทางการเมืองหรือมีเหตุผลทางอุดมการณ์นโยบายอะไร ก็ควรอธิบายให้ชัดเจน มิฉะนั้นมันจะกลายเป็นเรื่องบุญคุณต้องตอบแทน แล้วไอ้ที่หาเสียงว่าจะหาทางล้มระบบอุปถัมภ์ มันก็จะกลายเป็นแค่ลมปากหาเสียงไปเท่านั้น

ถัดมาที่พรรคการเมืองเก่าแก่อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเมื่อถามว่าผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา คนมองว่าที่ ปชป.ไม่ประสบความสำเร็จ แม้แต่ในพื้นที่ซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคคือกรุงเทพฯ และภาคใต้ สาเหตุเป็นเพราะประชาชนมองว่าพรรค ปชป.สู้กับระบอบทักษิณไม่ได้ เลยเทคะแนนให้พลังประชารัฐและพลเอกประยุทธ์ รวมถึงยุทธศาสตร์ผิดพลาดของ ปชป.ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคตอนนั้นออกคลิปประกาศไม่หนุนบิ๊กตู่ ดร.ไชยันต์ กล่าวตอบว่า มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะมีเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนที่เป็นแฟนคลับ ปชป.มาก่อน หรือยังตัดสินใจไม่ได้ระหว่าง ปชป.กับ พปชร. ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ไม่ไปลงให้เพื่อไทยหรืออนาคตใหม่ ซึ่งคนกลุ่มนี้หากไม่มี พปชร.ก็จะโหวตให้ ปชป.เหมือนเดิม  แต่ว่ามาเกิดเงื่อนไขแทรกซ้อนขึ้นมา เช่นกรณีของพรรคไทยรักษาชาติที่ไปเชิญทูลกระหม่อมฯ มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าไทยรักษาชาติและตัวคุณทักษิณ ชินวัตร ใช้วิธีใช้ทูลกระหม่อมฯ แล้วแอบอิงกับสถาบันเพื่อให้ได้คะแนนเสียง ซึ่งคนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ถูกต้อง แม้ว่าในทางกฎหมายจะทำได้ระดับหนึ่ง หากไม่มีพระราชโองการออกมาเมื่อคืนวันที่ 8 ก.พ. คนก็วิตกว่าคุณทักษิณจะกลับมามีอิทธิพลมีบทบาท ซึ่งช่วงดังกล่าวยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง แต่ตอนนั้นก็เป็นเงื่อนไขให้คนคิดว่าน่าจะลงคะแนนไปให้พลเอกประยุทธ์

...ขณะเดียวกันแม้กระทั่งคนที่เคยเป็นแฟนคลับเพื่อไทยมาก่อน ซึ่งไม่แฮปปี้กับการที่ไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมฯ ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่น่าจะมาบริหารประเทศไทยได้และเกิดความรู้สึกปฏิกิริยาเหวี่ยงกลับอย่างรุนแรงว่าทำแบบนี้ไม่ถูก ก็ยังคิดเลยว่าจะไปลงให้ลุงตู่ คิดดูแล้วกันขนาดคนเสื้อแดง

 ...แต่ต่อมาเมื่อ กกต.ประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรคการเมืองโดยไม่มีชื่อทูลกระหม่อมฯ ความคิดที่จะลงคะแนนให้ลุงตู่ก็สลายไป และเริ่มกลับมานับหนึ่งใหม่ว่าจะลงคะแนนให้ใครดี มีการหาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนต่อมาเมื่อนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรค ปชป.เวลานั้นประกาศไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ และหลังการประกาศดังกล่าว ต่อมาเมื่อมีการจัดงานแต่งงานลูกสาวของทักษิณที่ฮ่องกง ก็มีภาพออกมา คนก็บอกเอาละ คนที่เป็นแฟน ปชป.และรับรู้ว่าอภิสิทธิ์ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ก็ทำให้วิธีคิดแบบเดิมๆ แบบเมื่อ 8 ก.พ.ก็กลับมาอีก ยิ่งเมื่ออภิสิทธิ์ประกาศแบบนั้น คนก็รู้สึกว่าอภิสิทธิ์เอาไม่อยู่ เลยหันไปเทคะแนนให้พลเอกประยุทธ์ ทำให้คะแนนพลังประชารัฐเลยพุ่งขึ้นมา มันก็สะท้อนความขัดแย้งอันนี้

 ...อย่างที่ภาคใต้ ประชาชนเขาอาจอยากลงคะแนนให้ ปชป.หรือพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) แต่เมื่อมองแล้วว่า ปชป.ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ อีกทั้งหากไปลงให้พรรค รปช. คะแนนก็อาจได้ไม่พอ ก็เลยทำให้ประชาชนคิดว่าเทคะแนนให้ พปชร.ดีกว่า เป็นการลงคะแนนให้เพื่อความชัดเจนในเรื่องการต่อสู้ทางการเมือง คือเทคะแนนให้เพื่อ back up ให้กับคนที่คิดว่าจะสามารถไปสู้กับอีกฝ่ายหนึ่งได้ ไม่ได้สู้ในเรื่องเชิงนโยบายแต่สู้ในแง่ของอุดมการณ์ คือความขัดแย้งในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา แทนที่มันจะสลายแต่มันกลับเข้มข้นขึ้นมา คือฝ่ายทักษิณกับฝ่ายที่สู้กับทักษิณได้กลับมาอีกแล้ว

ดร.ไชยันต์ มีความเห็นกรณีที่อภิสิทธิ์ประกาศไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ทำให้ภาพของ ปชป.ชัดเจนก่อนวันเลือกตั้งว่า เขา (อภิสิทธิ์) ไม่ได้แทงกั๊ก ไม่ได้คิดจะรอเพื่อโหนกระแส รอร่วมรัฐบาลกับฝ่ายต่างๆ แต่ชัดเจนว่าเขาไม่เอา และชัดเจนเช่นกันว่าก็ไม่อยู่กับฝ่ายเพื่อไทย จับมือกับเพื่อไทยไม่ได้  โดยตั้งเงื่อนไขว่าเพื่อไทยจะต้องปลอดจากทักษิณ ชินวัตร

...เพราะฉะนั้นแม้พรรค ปชป.จะได้คะแนนเสียงออกมาน้อย คือได้ 3 ล้านกว่าคะแนน แต่บอกได้เลยว่าคะแนนดังกล่าวคือคะแนนพรรคที่มั่นคงมาก มั่นคงในแง่ที่ว่าในสถานการณ์ที่ต้องเลือกข้าง แต่คนที่เลือก ปชป.มั่นคง ยืนหยัดในจุดที่ว่าไม่ได้เลือกข้างคู่ความขัดแย้งแต่เลือกพรรค จากปัจจัยต่างๆ  เช่นชื่อแคนดิเดตนายกฯ-ชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อและพรรค-ชื่อชั้นของ ปชป.ที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน

 การที่อภิสิทธิ์ทำแบบนี้ก็เป็นการกู้ภาพของ ปชป.ที่โดนฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาเสมอว่าชอบไปคบหากับทหาร หากินกับรัฐประหารจนเลิกล้มอุดมการณ์เดิมๆ ที่ยืนหยัดต่อสู้กับเผด็จการ คุณอภิสิทธิ์ก็กู้ภาพกลับมาได้ นั่นหมายถึงแม้คะแนนพรรคจะหายไปในตอนนี้ ผู้สมัคร ส.ส.เขตของพรรคจะแพ้การเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก แต่พรรค ปชป.จะได้ประโยชน์ในระยะยาว เพราะพรรคก็จะได้เครดิตในการมีจุดยืนที่ชัดเจน

ก่อนหน้านี้ ปชป.ก็เคยผ่านเหตุการณ์อะไรแบบนี้มาเยอะ อย่างตอนเลือกตั้งปี 2522 ในพื้นที่ กทม.  ทาง ปชป.ก็แพ้พรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช เหลือแค่ พ.อ.ถนัด คอมันตร์ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป.แค่คนเดียว

เพราะฉะนั้นในท่ามกลางความขัดแย้งสองขั้วในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเดิมทีคือฝ่ายทักษิณกับพรรค ปชป. แต่การที่ ปชป.ดึงตัวเองออกมา จึงกลายเป็นว่าตอนนี้พรรคพลังประชารัฐกับพรรคอื่นๆ ที่จะรวมกันตั้งรัฐบาลก็จะกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับเพื่อไทย ที่ถูกมองว่าอยู่ในร่มเงาของทักษิณอยู่ ทำให้เวลานี้ ปชป.เป็นพรรคขั้วที่สามจริงๆ หลังก่อนหน้านี้เคยประกาศว่าต้องการอยู่ตรงกลาง

ส่วนที่มีคนในพรรค ปชป.บอกว่าต้องการให้พรรคเป็นฝ่ายค้านอิสระ ซึ่งเป็นแนวทางที่สมควรมีในการเมืองทุกประเทศ คือหากรัฐบาลเสนอเรื่องที่ดีก็ไม่ได้ต้องค้านตลอด ก็สนับสนุน แต่หากไม่ดีก็ไม่สนับสนุน อันเป็นแนวทางที่ทำได้ เกิดขึ้นได้ แต่ขึ้นอยู่กับพรรค ปชป.

ดังนั้นหากสุดท้ายมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ โดยไม่ว่าจะเป็นขั้วไหนระหว่างเพื่อไทยกับพลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาลก็ตามที หากเกิดความขัดแย้งระหว่างขั้วเพื่อไทยกับ พปชร. พรรค ปชป.ก็จะเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในอนาคตได้ หากประคับประคองพรรคให้ดีๆ ในอนาคต หากสุดท้ายมีการยุบสภาเกิดขึ้นไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว โดยที่เงื่อนไขการยุบสภามันเป็นเงื่อนไขอะไร ตรงนั้นจะเป็นผลทำให้ ปชป.ได้คะแนนกลับมามากหรือน้อย

ดร.ไชยันต์ เสนอมุมมองต่อการตัดสินใจของพรรค ปชป.ในการจะร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.หรือไม่ว่า หาก ปชป.ตัดสินใจไปร่วมกับ พปชร.ก็จะทำให้ความเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ ความมีชื่อชั้น ความมีศักดิ์ศรีก็จะหายไป ก็จะแลกกับแค่ว่า ส.ส.ปชป.ได้เข้าสภา โดยมีตำแหน่งได้โควตารัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่นักการเมืองพรรค ปชป.ได้ นักการเมืองที่อยากร่วมรัฐบาลก็มีทั้งที่มีความจริงใจคือเกลียด-กลัวทักษิณ รวมถึงเสียงของประชาชนในพื้นที่เลือกตั้งที่ต้องการให้ ปชป.กลับลำ ไม่ต้องเป็นไปตามที่คุณอภิสิทธิ์พูดไว้ตอนหาเสียง เพราะประชาชนยังอยู่ภายใต้วิธีคิดว่าทักษิณยังเป็นปัญหา ต้องเป็นพลเอกประยุทธ์ถึงจะเอาอยู่ เพราะเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์มีนายทหารในกองทัพสนับสนุน เลยทำให้ประชาชนที่เคยเลือก ปชป.การเลือกตั้งที่ผ่านมาเลยไม่เลือก ปชป. เพราะต้องการส่งเสียงให้ ปชป.ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พปชร.

จุดดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลของนักการเมืองในพรรคที่อ้างว่าควรต้องไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พปชร.    แต่พรรคไม่ได้ ที่มีประชาชนเรียกร้องให้พรรค ปชป.ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พปชร.ก็เพราะวิธีคิดที่อยู่ในคู่ขัดแย้ง กลัวทักษิณ เกลียดทักษิณ จึงต้องการให้ ปชป.ไปเสริมกับ พปชร.เพื่อให้ พปชร.จัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งเป็นการคิดแค่แบบเฉพาะหน้า อีกทั้งหาก ปชป.ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พปชร. ก็ทำให้มีโควตารัฐมนตรี นักการเมืองที่สนับสนุนแนวทางนี้ก็ได้ประโยชน์ ซึ่งด้วยความที่ ปชป.เป็นพรรคใหญ่ บางคนเล่นการเมืองมานานจนอายุมากยังไม่เคยได้เป็นรัฐมนตรี เลยเห็นว่าหากรอบนี้ไม่ไปร่วมตั้งรัฐบาล ต่อไปอาจไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แต่บางคนเช่น พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติมที่สอบตก แต่อายุยังน้อยอนาคตยังอีกยาว ก็เห็นว่าไม่ควรไปร่วมตั้งรัฐบาล

 ทำให้การตัดสินใจของ ปชป.เรื่องนี้ก็มีสองด้าน คือมีทั้งเรื่องเหตุผลและอุดมการณ์ คือต่อสู้กับทักษิณจริงๆ และอีกด้านคือเหตุผลส่วนตัวที่อยากได้ตำแหน่ง และยิ่งมีคู่ขัดแย้งแบบนี้ โดย ปชป.ไปอยู่ในคู่ขัดแย้งกับขั้ว พปชร. ก็ต้องถามว่าแล้วทางเลือกที่สามที่ ปชป.เคยบอกคืออะไร เพราะทางเลือกที่สามทางการเมืองอาจมีพรรคการเมืองอื่นๆ เป็นทางเลือกที่สามได้ แต่ก็ไม่ได้ความเข้มแข็ง มีจุดยืน มีคุณภาพอย่างพรรค ปชป. การให้มีการเมืองสามขั้วในสภาจึงน่าจะดีกว่ามีแค่สองขั้ว

ผมมองว่าหาก ปชป.ตัดสินใจไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พปชร.จึงน่าจะเป็นประโยชน์กับการเมืองไทยโดยรวม และเป็นประโยชน์ต่อพรรค แต่จะไม่เป็นประโยชน์ต่อนักการเมืองในพรรคที่เดินเข้าสภาที่มีแค่ตำแหน่ง ส.ส.กับการเป็นฝ่ายค้านดร.ไชยันต์กล่าวย้ำข้อเสนอดังกล่าว 

เมื่อถามถึงกระแสข่าวหัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่ที่มีข่าวว่ามีแคนดิเดตสองคน คือ กรณ์ จาติกวนิช กับจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เรื่องดังกล่าว ดร.ไชยันต์ มองว่าทั้งสองคนมีชื่อชั้นพอสมควร แต่ทั้งสองคน ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ก็จะต้องทำอย่างไรให้ความเห็นที่แตกต่างของสมาชิกพรรค ประชาชนที่สนับสนุนพรรค ปชป. ในเรื่องการตัดสินใจทางการเมือง เรื่องการร่วมรัฐบาลของพรรคสามารถมีความลงตัว เคลียร์ปัญหานี้ได้ ไม่ทำให้เกิดความแตกแยก ทำให้ทุกคนยังอยู่ในพรรคได้ คือไม่ใช่เคลียร์ไปทางใดทางหนึ่ง แล้วปรากฏว่าตอนโหวตกลับมีการแตกตัวออกไปสนับสนุนพรรค พปชร. ถ้าแบบนั้นก็คงอยู่กันไม่ได้ แม้การโหวตเห็นชอบนายกฯ จะเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ที่สามารถโหวตได้อิสระไม่ต้องขึ้นอยู่กับมติพรรคก็ได้ โดยหากเกิดงูเห่าเกิดขึ้นในพรรคมันก็จะเสียหาย

 ดังนั้นจะเป็นคุณจุรินทร์หรือกรณ์ก็ต้องเคลียร์ปัญหาให้ได้ และต้องรักษาให้ทุกคนยังอยู่ในพรรคปชป.ได้ และถ้าจะให้ดีที่สุดก็คือระหว่างสองคนนี้ ใครก็ตามที่จะสามารถโน้มน้าว และได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ในพรรคและประชาชนที่เป็นฐานเสียงของ ปชป. ในการที่จะรักษาจุดยืนในการที่จะไม่ไปร่วมรัฐบาลกับ พปชร. อันนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นหัวหน้าพรรคที่ควรจะเป็น

...แต่ล่าสุดที่มีคน ปชป.ออกมาพูดเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ และกล่าวถึงชื่อคนโน้นคนนี้ ผมว่าไม่เป็นผลดีเลย เพราะของแบบนี้มันต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ นั่นคือถ้าตั้งรัฐบาลด้วยกติกาที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญไม่ได้จริงๆ แล้วค่อยว่ากัน ไม่ใช่ว่ายังไม่ทันประกาศผลเลือกตั้ง ยังไม่ทันเปิดประชุมสภา คนของพรรคกลับโดดข้ามช็อตจะมุ่งไปสู่รัฐบาลแห่งชาติ คนที่เขาเลือก ส.ส. เข้าไปเมื่อวันที่ 24 มีนา เขาไม่ได้เลือกไปให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ทำแบบนี้เสียหมด เสียพรรคของตัวเองด้วย กลายเป็นว่าที่ประกาศไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พปชร.หรือเพื่อไทยนี่ ที่แท้จะไปร่วมรัฐบาลแห่งชาติ เพราะคะแนนเสียงตัวเองตกต่ำ ทำแบบนี้แทนที่เมื่อถึงทางตันแล้วจะหาทางออกอะไรได้ กลับจะหาทางออกยากเพราะคนจะต้านว่าเข้าทาง ปชป.ไปเสียนั่น

ปิดท้ายความเห็นที่ พรรคพลังประชารั ซึ่งเราได้ตั้งคำถามว่า พลังประชารัฐถูกเรียกว่าเป็นพรรคทหาร คนวิจารณ์ว่าตั้งมาเพื่อสืบทอดอำนาจ คสช. แต่กลับได้ ส.ส.มาเป็นอันดับสอง มีประชาชนโหวตให้ 8 ล้านกว่าคะแนน สุดท้ายแล้วอนาคตของพลังประชารัฐจะเป็นอย่างไร จะเป็นพรรคเฉพาะกิจหรือไม่ หากสุดท้ายพลเอกประยุทธ์ไม่ลงการเมืองต่อหลังจากนี้ ดร.ไชยันต์-นักรัฐศาสตร์ มองว่า มีความเป็นไปได้สูงเพราะว่า พปชร.ไม่ใช่พรรคที่ทหารเข้าไปคุม ไม่เหมือนก่อนหน้านี้อย่างพรรคสามัคคีธรรมสมัยเลือกตั้งปี 2535 ที่มีคนจากสายทหารไปคุมคือ น.ต.ฐิติ นาครทรรพ แต่ของ พปชร.จะมีความหลากหลายมีทั้งเทคโนแครต อย่างอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค และก็นักการเมืองจากพรรคต่างๆ เช่น ประชาธิปัตย์ ไทยรักไทยเดิม เช่น ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ,  สมศักดิ์ เทพสุทิน, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

...คนเหล่านี้ผมไม่แน่ใจว่าจะกอดพลเอกประยุทธ์ไปได้อีกนานขนาดไหน หลายคนใน พปชร.ก็เคยอยู่กับคุณทักษิณสมัยไทยรักไทยตั้งแต่ตอนก่อนรัฐประหาร คมช.ปี 2549 แล้วคนเหล่านี้ก็มีข่าวเตรียมชิ่งออกจากทักษิณตั้งแต่ตอนนั้น เพราะมองว่าเวลานั้นทักษิณหมดความชอบธรรมแล้ว แต่มาเกิดรัฐประหาร คมช.เมื่อ 19 ก.ย.49 เสียก่อน

 คนเหล่านี้ที่อยู่ใน พปชร. เมื่อดูจากประวัติความเป็นมาก็น่าจะทำให้พรรค พปชร.ไม่น่าจะเป็นพรรคการเมืองระยะยาวได้ น่าจะเป็นพรรคเฉพาะกิจ เพราะเป็นพรรคที่คนที่มาอยู่ไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรเลยที่ทำให้เขามาอยู่ร่วมกันได้ นอกจากแต่ละคนก็มองว่ามาจับมือร่วมกันครั้งนี้ทำให้ได้เป็นฝ่ายรัฐบาลแน่นอน.

 

...สมมุติว่าหากเกิดทางตันจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ทำงานก็ลำบาก...แล้วจะทำงานอย่างไร...ต้องไปใช้มาตรา 5...ก่อนจะถึงมาตรา 5 ถ้าหาคนในมาเป็นนายกฯ ไม่ได้ แต่ปลดล็อกมาเป็นคนนอกก็อาจโอเค  แต่หากหาทั้งคนในก็ไม่ได้คนนอกก็ไม่ได้ ยังไงก็ต้องมาตรา 5 พอเข้ามาตรา 5 แล้วก็มีทางเลือกคือยุบสภา-รัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลแห่งชาติก็น่าจะเป็นอะไรที่ไม่มีใครเสีย และไม่มีใครได้อะไรมาก คือทุกคนได้หมด

 

ในการเลือกตั้งครั้งหน้า การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย และการหาเสียงด้วยประเด็นนามธรรมเหล่านั้น โดยหากไม่มีผลงานอะไรออกมาชัดเจน ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ในเวลานี้ก็จะเริ่มเติบโตขึ้นและก็จะเริ่มเปลี่ยนไป พรรคอนาคตใหม่ก็ไม่น่าจะอยู่ได้ยาว...

 

หาก ปชป.ตัดสินใจไปร่วมกับ พปชร.ก็จะทำให้ความเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ ความมีชื่อชั้น  ความมีศักดิ์ศรีก็จะหายไป...หาก ปชป.ตัดสินใจไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พปชร.จึงน่าจะเป็นประโยชน์กับการเมืองไทยโดยรวมและเป็นประโยชน์ต่อพรรค


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"