'หมอ'ชงกัญชา เข้าข่าย30บาท 'เนวิน'จี้ใช้ม.44


เพิ่มเพื่อน    


    "ลุงเนวิน" วอน "ลุงตู่" ใช้ ม.44 “ปลดล็อกกัญชา” คุ้มครองผู้ป่วย-ชูพืชเศรษฐกิจ เชื่อ ปชช.นับล้านแซ่ซ้องกว่าทำบุญมาทั้งชีวิต ก่อนหมดช่วงนิรโทษกรรม 19 พ.ค.นี้  "นพ.สมนึก" เผยถ้าปลดล็อกต้องให้ความรู้ประชาชนด้วย เพราะกัญชามีหลายสายพันธุ์  แทนที่จะได้กิโลละ 2 หมื่น อาจกลายเป็น 3 โล 100   แนะรัฐควรผลักดันให้อยู่ใน 30 บาทรักษาทุกโรค
    นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กล่าวถึงการจดแจ้งการครอบครองกัญชาที่จะหมดเวลาในวันที่ 19 พ.ค.นี้ว่า จะพบว่าขณะนี้ประชาชนไม่ค่อยไปยื่นเรื่องจดแจ้งดังกล่าว เพราะไม่ทราบว่าจะไปยื่นเรื่องที่ส่วนราชการใด และที่สำคัญคือกลัวว่าเมื่อไปจดแจ้งแล้วจะกลายเป็นข้อมูลให้ภาครัฐได้รับรู้ว่ามีการครอบครองกัญชาอยู่ จะกลายเป็นผู้เสพหรือเปล่า ไปติดแบล็กลิสต์หรือไม่ อาจจะมีผลอะไรทางกฎหมายตามหลังมา แต่เมื่อชีวิตสำคัญกว่าก็ยอมจะไม่จดแจ้ง เพื่อสามารถใช้กัญชารักษาตัวเองต่อไป 
    ทั้งนี้ ระยะเวลาในการจดแจ้งการครอบครองกัญชาและสารสกัดจากกัญชา หรือที่เรียกว่าเป็นช่วงนิรโทษกรรมสำหรับผู้ครอบครองกัญชานั้น จะหมดเวลาภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือนแล้ว คำถามก็คือ แล้วพอหลัง 19 พฤษภาคมนี้แล้วจะยังไง เราเห็นว่าคนเรือนหมื่นเรือนแสนมาที่งานพันธุ์บุรีรัมย์ เพื่อต้องการเดินเข้าสู่ระบบ มาจดแจ้งจะได้มีไว้ในครอบครอง เพื่อใช้เพื่อตัวเอง  เขาไม่ได้เอาไปทำการค้า แล้วคนเหล่านี้จะรักษาตัวเองจะทำยังไงต่อไป กระบวนการทางกฎหมายจะทำยังไงต่อไป นี่คือปัญหาใหญ่ 
    นายเนวินกล่าวว่า เมื่อหมดระยะเวลาในการนิรโทษกรรม เพื่อให้จดแจ้งการครอบครองกัญชาแล้วจะยังไงต่อไป ไม่มีใครทราบ แต่ตนเชื่อว่ามีคนหนึ่งทำได้ นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วยการออก ม.44 เพื่อคุ้มครองคนที่จำเป็นต้องใช้ยากัญชาเพื่อรักษาชีวิต อย่ารอให้ถึง 19 พฤษภาคม แล้วไม่มีคำตอบว่าจะเดินหน้าอย่างไร 
    “ผมเชื่อว่ามีคนหนึ่งตอบได้คือลุงตู่ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ใช้ ม.44 ปลดล็อกกัญชาให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อใช้รักษาโรคและเป็นพืชเศรษฐกิจต่อไป ท่านใช้ ม.44 ไปแก้ปัญหาเรื่องเกี่ยวกับดิจิทัลอะไรต่างๆ ผมเชื่อว่าผู้ป่วยที่ใช้กัญชาในการรักษาจะแซ่ซ้องสรรเสริญ เรายกมือท่วมหัวกันทุกคนเลย แต่ถ้าท่านกล้าทำเรื่องนี้เพื่อผู้ป่วย จะเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ มากกว่าที่ท่านได้ทำบุญกฐินทำบุญผ้าป่ามาตลอดชีวิต เพื่อให้คนป่วยสามารถใช้และสามารถเข้าถึงได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย เพราะคนเจ็บป่วยที่ต้องการใช้กัญชาและสารสกัดจากกัญชามีนับล้านคน” นายเนวินกล่าว
    ด้าน นพ.สมนึก ศิริพานทอง กรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทย เปิดเผยว่า ถ้าจะปลดล็อกเสรีกัญชา ประชาชนต้องรู้ว่าปลูกอย่างไร และชนิดไหนให้ประโยชน์ หากปลูกสะเปะสะปะ จากกิโลละ 2 หมื่นบาท อาจกลายเป็น 3 กิโล 100 บาทก็ได้ เพราะกัญชาเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งทั่วประเทศไทยมี 18 จังหวัดที่ปลูกได้ และมีตำรับยากัญชาไทย 16 ตำรับ แต่ไม่ใช่กัญชาทุกแหล่งที่มาจะทำยาได้ทั้งหมด
    โดยสายพันธุ์หางกระรอกภูพาน (sativa) เป็นที่นิยมและให้สารออกฤทธิ์ดีชนิดหนึ่ง ใบเรียวมี 5 แฉก ต้นสูงตรง ปลูกในหุบเขาหนองหาร รับแดดเช้า ห้ามรับแดดเย็น จึงได้ดอกตูมที่เรียกว่าไส้ปลาช่อน รักษาโรคหัวเข่าเสื่อม ส่วนใบครึ่งต้นล่างรักษาโรคเบาหวาน ดอกแก่ปั่นสดใช้หุงกับน้ำมันงารักษามะเร็งตับ ขณะที่รากใช้ทำยาสำหรับเด็ก ซึ่งมีบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ทั้งนี้ ยังมีพันธุ์กัญชาตะนาวศรีก้านแดง เป็นพันธุ์ย่อย หรือรู้จักกันชื่อ กัญชากะเหรี่ยง ที่ จ.เพชรบุรี โดยจะปลูกในหุบเขา จะเจอแสงแดดก็เมื่อเวลา 10.00 น. และกลางคืนน้ำค้างตก 20.00 น. จึงเป็นพันธุ์ที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน
    นพ.สมนึกเสนอว่า หากไทยจะเป็นประเทศที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย 1.รัฐบาลควรประกาศให้กัญชาอยู่ในโครงการ 30 บาท โดยใช้อำนาจรัฐมนตรี สธ. บรรจุกัญชาเป็นยาสามัญประจำบ้าน เช่น ฟ้าทะลายโจร ซึ่งคนไทยต้องซื้อกัญชาได้ซีซีละ 60 บาท 2.ปลัดกระทรวงกลาโหม สั่งการให้ศูนย์วิจัยของโรงพยาบาลในค่ายทหารทั่วประเทศ ศึกษาและทำงานได้อย่างเป็นเอกภาพ เพราะไม่มีอะไรแอบแฝง 3.ใช้อำนาจข้อที่ 7 ของรัฐมนตรี โดยทำประชาพิจารณ์ก่อนประกาศให้ทุกจังหวัด จัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมกัญชา และ 4.สร้างโรงพยาบาลกัญชาเป็นโมเดลแห่งแรกใน จ.บุรีรัมย์
    ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์กล่าวว่า หลังครบกำหนดนิรโทษครอบครองกัญชาวันที่ 19 พ.ค.นี้ หากใครมีไว้ในครอบครองจะถือว่าผิดกฎหมาย แม้จะเปิดช่องให้ผู้ป่วยที่มาแจ้งก่อนวันที่ 19 พ.ค. ให้ถือครองได้ยาวนานไปจนถึง 6 เดือน แต่ถามว่าสุดท้ายก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี 
    เขากล่าวว่า แม้ขณะนี้ทั้งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และมหาวิทยาลัยรังสิต จะเดินหน้าทำโครงการวิจัยผลิตภัณฑ์กัญชารักษาโรค แต่ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องการใช้อยู่ และหากจะไปใช้ของผู้ผลิตที่เป็นจิตอาสาหรือชมรมใต้ดินก็เสี่ยง เพราะถ้าถูกจับได้ก็ผิดกฎหมายอีก
    ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า ประเด็นคือ ไม่มีการเปิดทางให้กับผู้ผลิตที่เป็นกลุ่มจิตอาสาใต้ดินเลย เพราะหากพวกเขามาแจ้งการขึ้นทะเบียน ของกลางต่างๆ ก็จะถูกยึดอยู่ดี และกว่าจะอนุญาตให้ทำก็ต้องไปร่วมกับองค์กรภาครัฐ มหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งความเป็นจริงค่อนข้างยาก เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตส่วนบุคคล การจะให้พวกเขาต้องไปร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ต้องร่วมกับมหาวิทยาลัย ทำเป็นโครงการวิจัย จึงขัดกับบริบทความเป็นจริง ดังนั้นการที่กฎหมายระบุเช่นนี้ก็จะส่งผลต่อผู้ป่วยแน่นอน ที่สำคัญแพทย์แผนปัจจุบันและหมอพื้นบ้านที่จะสามารถสั่งจ่ายยาผสมกัญชา จะมีการอบรมในวันที่ 29-30 เม.ย.นี้ รวมแล้วไม่ถึง 500 คน ก็ไม่เพียงพอ
    "ผมกับเครือข่ายต่างๆ จะมีการหารือกันในสัปดาห์หน้าถึงทางออก ด้วยการตั้งองค์กรกลางขึ้น เพื่อประสานทั้งชมรมใต้ดินให้ขึ้นมาอยู่บนดิน และให้ทำงานร่วมกันระหว่างใต้ดินและบนดินอย่างไม่ผิดกฎหมาย โดยจะหารือว่าองค์กรกลางที่ตั้งขึ้นจะออกมาในรูปแบบใด เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยมากที่สุด แต่ขณะนี้คงไม่สามารถบอกได้ว่าองค์กรกลางจะเป็นหน่วยงานใด ขอเวลาในการหารือก่อน" ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว
    นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า วันที่ 26 เม.ย.นี้ อย.ได้ประสานกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และเครือข่ายกัญชาทางการแพทย์ จะมีการประชุมจับคู่ระหว่างชมรมจิตอาสาต่างๆ ร่วมกับมหาวิทยาลัยที่สนใจในการทำกัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือขึ้นในลักษณะโครงการวิจัย ซึ่งจะออกมาในรูปแบบกรณีของนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ที่เกิดเป็นความร่วมมือดีๆ ขึ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"