กกต.นัดชี้ชะตาธนาธร ลงมติ23เมย.-'พ่อฟ้า'เหาะจากบุรีรัมย์มาเซ็นโอนหุ้น


เพิ่มเพื่อน    

    “ธนาธร” ระทึกประธาน กกต.ถกใกล้จบไม่ต้องให้ “ศรีสุวรรณ” แจง เตรียมชี้ขาดได้ในวันที่ 23 เม.ย. “ปิยบุตร” รี่แจงยิบ ลั่นหุ้นวี-ลัคจบตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.แล้ว ชูชาร์ตพร้อมใบเสร็จอีซีพาสยืนยัน “พ่อฟ้า” นั่งรถเหาะกลับจากบุรีรัมย์มา กทม.ในช่วงบ่ายสามเซ็นโอนหุ้น อัดถ้ามีใจเป็นธรรมไม่มองเป็นปีศาจ กกต.ไม่ควรตั้งกรรมการสอบหรือแจกใบส้ม พร้อมจิกศาลฎีกาตัดสิทธิ์ลูกพรรคโดยไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจง เปิดช่องให้ขาร้องครึกครื้น “ศรีสุวรรณ” ขู่ยังมีสมาชิก อนค.อีก 6-7 รายเข้าข่ายเดียวกับหัวหน้า เตรียมยื่นเช็กบิลอีกรอบ
    เมื่อวันจันทร์ที่ 22 เม.ย. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ​นำโดยนายอิทธิพร​ บุญ​ประคอง ประธาน ​กกต.​เป็นประธานการประชุม​เพื่อพิจารณาพยานหลักฐาน กรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยยื่นร้องขอให้ตรวจสอบนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ในการถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ​ซึ่งใช้เวลาหารือ​ประมาณ​ 2​ ชั่วโมงครึ่ง​ 
    ภายหลังการประชุมผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์​ติดต่อไปยังนายอิทธิพร​ เพื่อสอบถามมติที่ประชุมว่า​ได้ข้อสรุปหรือไม่อย่างไร​ นายอิทธิพร​กล่าวว่า​ ยังมีข้อมูลที่จะต้องพิจารณาต่อในวันที่​ 23​เม.ย.นี้​ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน​ เบื้องต้นคาดว่าจะมีการพิจารณา​และมีมติให้ทำอะไรแค่ไหน​ และคิดว่าไม่จำเป็นต้องสอบหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมจากนายศรีสุวรรณซึ่งเป็นผู้ร้องอีกคนหนึ่งอีก และหากไม่มีข้อผิดพลาดกกต.จะลงมติชี้ขาดในวันที่ 23 เม.ย. ส่วนการจะให้ใบเหลือง​ใบส้ม​หรือไม่​ ยืนยันว่าขณะนี้เรื่องยังไม่ถึงขนาดนั้น​ เพราะทุกอย่างจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน​ ​โดยจะต้องพิจารณา​อย่างรอบคอบ​เนื่องจากเป็นการกระทบสิทธิของบุคคล​อื่น​
    ผู้สื่อข่าว​ราย​งานว่า​ ในการประชุม กกต.วันที่ 23 เม.ย.​ หาก กกต.เห็นว่าพยานหลักฐานมีน้ำหนักเพียงพอให้ฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่อาจขัดต่อกฎหมาย ก็จะมีมติแจ้งข้อกล่าวหานายธนาธรเพื่อให้มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการช่วยตรวจสอบสำนวนต่อไป
    ขณะที่เวลา 10.05 น. นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค.ได้แถลงข่าวข้อเท็จจริงพร้อมสไลด์และชาร์ตประกอบอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ว่าเมื่อมีคนไปแจ้ง กกต. พรรครวมถึงนายธนาธรได้เตรียมหลักฐานเพื่อชี้แจงต่อ กกต.ตามกระบวนการ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจาก กกต. แต่กลับมีการเผยแพร่ข่าวว่าสำนักงาน กกต.อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องนี้อยู่ และมีข่าวว่า กกต.จะมีมติในวันที่ 9 พ.ค. และบางรายงานข่าวยังระบุว่า กกต.จะมีมติในวันที่ 22-23 เม.ย.นี้ ซึ่งพรรคกังวลใจว่าการพิจารณาของ กกต.อาจขัดกฎหมายที่การพิจารณาต้องรับฟังทุกฝ่าย ไม่ใช่พิจารณาเพียงเอกสารคำร้องที่สื่อรายงานอย่างเดียว คงไม่เกิดความเป็นธรรม และก่อนที่นายธนาธรจะเดินทางไปยุโรปได้เตรียมเอกสารและมอบอำนาจให้ตัวแทนทีมกฎหมายของพรรคไปยื่นเอกสารที่ กกต.และขอโอกาสชี้แจงแล้ว 
    นายปิยบุตรได้ชี้แจงย้ำว่า การโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดียฯ ของนายธนาธร และนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา ให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร เสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.62 ซึ่งมีเอกสาร เช็คขีดคร่อมการชำระค่าหุ้น ใบหุ้น และตราสารโอนหุ้นที่แสดงว่ามีการโอนหุ้นจริง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรค 2 ระบุว่าการโอนหุ้นจะมีผลสมบูรณ์ด้วยการลงรายมือชื่อของผู้โอน ผู้รับโอน และพยาน ซึ่งแสดงว่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว และในมาตรา 1129  วรรค 3 ระบุว่า หากจะให้การโอนหุ้นจะมีต่อบุคคลภายนอกต้องจดแจ้งในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งการดำเนินการโอนหุ้นของนายธนาธรและภรรยาไปยังนางสมพรได้มีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายเรียบร้อยแล้วนับตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. นายธนาธรจึงไม่ได้ถือหุ้นนี้อีกต่อไป
    “กรณีสื่อบางสำนักยังขุดคุ้ยและระบุว่า ในวันที่ 8 ม.ค.นายธนาธรไม่ได้ร่วมประชุมผู้ถือหุ้นนั้น ข้อเท็จจริงคือในช่วงเช้านายธนาธรลงพื้นที่ในจังหวัดบุรีรัมย์ และเดินทางกลับมากรุงเทพฯ ด้วยรถตู้ในช่วงบ่าย และมีหลักฐานใบเสร็จอีซีพาสในการเดินทางช่วงเวลา 15.00 น. และนายธนาธรมีภารกิจเดินทางสนามบินดอนเมืองต่อไปยังนครศรีธรรมราชในวันที่ 9 ม.ค. ซึ่งหลักฐานทั้งหมดนี้แสดงว่าช่วงเช้าปราศรัยและช่วงบ่ายเดินทางกลับมาร่วมประชุม ข้อเท็จจริงนี้หวังว่าสื่อคงมีใจที่เป็นธรรมและกระจ่างชัด  ไม่ควรตั้งข้อสงสัยอีก” นายปิยบุตรแจง
    เลขาธิการพรรค อนค.ยังไล่ลำดับเหตุการณ์ต่อไปว่า จากนั้นในวันที่ 14 ม.ค. นางสมพรได้โอนหุ้นให้นายทวีและนายปิติ (นายเอและนายบี) ซึ่งเป็นหลานชายนางสมพรเพื่อต้องการให้เข้ามาดูแลกิจการ และติดตามหนี้สินจากลูกหนี้ค้างชำระ ตามที่ฝ่ายบัญชีของบริษัท วี-ลัคฯ แนะนำว่าหนี้ค้างชำระน่าจะติดตามทวงคืนได้ ยังไม่ให้ปิดบริษัท ทำให้ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.บริษัท วี-ลัคฯ กลับมามีผู้ถือหุ้น 10 คน  ต่อมาในวันที่ 18 ม.ค. น.ส.รวิพรรณได้ลงนามลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท และให้มีผลในวันที่  19 ม.ค. ซึ่งมีการประชุมผู้ถือหุ้นโดยมีวาระเรื่องแจ้งการลาออกของนายทวีและนายปิติ แจ้งการถือครองหุ้น และมีมติเลิกกิจการบริษัท เนื่องจากฝ่ายบัญชีพบว่าหนี้ที่มีอยู่เป็นหนี้เอ็นพีแอล หรือหนี้เสียกว่า 11  ล้านบาท จึงตัดสินใจมีมติปิดบริษัท จากนั้นในวันที่ 21 ม.ค. นายทวีและนายปิติรวมถึงผู้ถือหุ้นอีก 3  คนได้โอนหุ้นคืนให้นางสมพรให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหาร ทำให้เหลือผู้ถือหุ้นเพียง 5 คน จากนั้นวันที่ 21 มี.ค. บริษัท วี-ลัคฯ ได้นำเอกสารไปยื่นต่อกรมธุรกิจการค้าภายหลังประชุมสามัญในวันที่ 19 มี.ค.
    "เรื่องนี้ควรจบตั้งแต่ 8 ม.ค.ไม่เกี่ยวอะไรกับคุณธนาธรอีกแล้ว แต่ในเมื่อยังสืบสาวราวเรื่องพรรคก็ต้องชี้แจงต่อ และพยานหลักฐานก็ชัดเจนทั้งหมด ประเด็นปัญหาเรื่องนี้ไม่ควรบานปลายขนาดนี้ หากสื่อมวลชนบางสำนักเปิดใจให้กว้าง ดูหลักฐานเอกสารให้ครบถ้วน มีการสืบสาวจนมีการร้องเรียน กกต. เพื่อไม่ให้คุณธนาธรเป็น ส.ส.ไม่ได้เข้าสภา เราจึงรวบรวมหลักฐานเพื่อชี้แจง แต่จนถึงวันนี้เรายังไม่ได้ชี้แจงเลย ซึ่ง กกต.และคณะกรรมการช่วยตรวจสอบของ กกต.จะชี้มูลหรือลงมติจำเป็นต้องฟังความทุกฝ่าย การตัดสินจะไม่มีความยุติธรรมเลยถ้าเอาคำร้องของฝ่ายร้องมาพิจารณาฝ่ายเดียว” นายปิยบุตรกล่าว
ลั่นไม่คิดล้มล้าง
    นายปิยบุตรยังกล่าวอีกว่า ถ้าแบบนี้ต่อไปเหม็นขี้หน้าใคร ไม่ชอบใคร ก็ส่งคนนักร้องเรียนไปร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ดูเฉพาะใบร้องเรียนแล้วจบ โดยไม่เรียกอีกฝ่ายไปเลย อย่างนี้ไม่เรียกยุติธรรมแน่นอน ถ้าสื่อมวลชนที่เผยแพร่ข่าวนี้ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้จะรู้สึกเหมือนกันว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ความยุติธรรมเป็นเรื่องภววิสัย วิธีการที่จะรู้ก็ให้ลองจำลองตัวเองอยู่ในสถานการณ์นั้น แล้วลองตัดสิน สื่อที่    กล่าวหาอยู่ข้างเดียวก็ให้ขอพิจารณาด้วยว่าเป็นธรรมหรือไม่
    “พรรคอนาคตใหม่ตั้งขึ้นมาด้วยความปรารถนาดีกับชาติบ้านเมือง เพื่อหวังออกจากความขัดแย้งแบบเดิม เราไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร หากขัดแย้งเป็นพิเศษก็เป็นกับอำนาจเผด็จการเท่านั้น เราไม่ได้ต้องการล้มนู่นล้างนั่นใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทุกอย่างทำเพราะความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง คนวัยหนุ่มสาวเขาฝันมีอนาคตที่ดีกว่านี้ คนวัยกลางคนและคนสูงอายุก็หวังมอบสังคมที่ดีแก่ลูกหลานของเขาต่อไป  ขอความร่วมมือสื่อมวลชนบางสำนักอย่าวาดภาพนายธนาธร ตัวผม หรือพรรคเป็นปีศาจร้ายของการเมืองไทย ซึ่งวิธีเหล่านี้ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง” นายปิยบุตรระบุ
    เมื่อสอบถามว่าเกรงว่า กกต.จะประวิงเวลาตรวจสอบจนไม่สามารถรับรองสถานะ ส.ส.ของนายธนาธรในวันที่ 9 พ.ค.หรือไม่ นายปิยบุตรตอบว่าหากพิจารณาด้วยจิตใจเป็นธรรม เมื่อเห็นหลักฐานการโอนหุ้นในวันที่ 8 ม.ค.ต้องมีมติทันทีแล้วว่าเรื่องนี้ไม่มีมูล หลักฐานต่างๆ ครบถ้วน และไม่มีเหตุผลอื่นใดเลยที่ต้องตั้งคณะกรรมการช่วยตรวจสอบ นอกจากนี้การที่คณะกรรมการไปขอหลักฐานตามหน่วยงาน แต่ผู้ถูกกล่าวหากลับยังไม่ได้รับโอกาสชี้แจงเลย ทั้งที่เรื่องนี้ควรจบไปตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งเราต้องขอความเป็นธรรมในการนำเอกสารหลักฐานจากทั้ง 2 ฝ่ายเข้ามาพิจารณาด้วย 
ถามอีกว่าได้เผื่อใจไว้หรือไม่ว่านายธนาธรอาจไม่ได้เป็น ส.ส. นายปิยบุตรกล่าวว่าไม่เคยกังวล  หากบ้านเมืองนี้ปกครองกันโดยยึดกฎหมายและความยุติธรรมอย่างแท้จริง หากองค์กรที่ชื่อว่าเป็นองค์กรอิสระเป็นอิสระอย่างแท้จริง มั่นใจว่าเรื่องนี้จะไม่มีทางทำอะไรได้ อย่างไรก็ตกแน่นอน และไม่มีกรณีใบส้มด้วย
    นายปิยบุตรยังกล่าวถึงกรณีมีบุคคลไปยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบผู้สมัคร ส.ส.หรือว่าที่ ส.ส.กว่า  30 คนที่ครอบครองหุ้นสื่อ ว่ารายชื่อที่ยื่นเป็น ส.ส.พรรคการเมืองที่ผนึกกำลังต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.ทั้งสิ้น ซึ่งขอให้พิจารณาว่าผู้ยื่นมีเจตนาแบบใด หากเป็นนักตรวจสอบมืออาชีพทำไมถึงไม่ตรวจสอบพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.ด้วย และข้อกฎหมายที่ไปยื่นกันในมาตรา 98  วรรค 3 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 42 (3) เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามการถือหุ้นสื่อ ข้อความระบุว่าห้ามผู้สมัคร ส.ส.เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นใด หมายถึงประกอบกิจการเหล่านี้จริงๆ แต่ทุกวันนี้ที่มีการตรวจสอบกันคือ ไปเอาหนังสือบริคณห์สนธิที่ผู้สมัคร ส.ส.ไปดู 1 วงเล็บ ว่ามีข้อไหนที่ระบุว่าทำกิจการสื่อมวลชนบ้าง หากมีข้อนั้นก็ไปร้องเรียนทันที
แวะแขวะศาลฎีกา
    “ผมเรียนว่ากฎหมายมาตรานี้ต้องเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อหรือหนังสือพิมพ์จริงๆ จะดูเฉพาะหนังสือบริคณห์สนธิไม่ได้ เพราะหนังสือเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ไปเอาตัวอย่างมาจากแบบฟอร์ม ตามมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งแบบฟอร์มจะเขียนวงเล็บไว้เต็มไปหมด หนึ่งในนั้นคือการทำกิจการเรื่องสื่อด้วย แต่ในทางปฏิบัติบริษัทต่างๆ ก็ไม่ได้ทำธุรกิจสื่อ แต่ในหนังสือเขียนเอาไว้เท่านั้นเอง อย่างกรณีสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ทำบริษัทรับเหมาก่อสร้าง แต่ศาลฎีกาเองก็ตัดสินคดีดังกล่าวโดยไม่ได้เปิดโอกาสให้เข้าไปชี้แจงในศาล แต่เมื่อคำพิพากษาเกิดขึ้นแบบนี้แล้ว จึงเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่ชอบร้องเรียนเข้าไปร้องเรียนกันเต็มไปหมด ซึ่งการตีความกฎหมายมาตรานี้ต้องตีความว่าบริษัทนั้นๆ ทำสื่อจริงๆ” นายปิยบุตรกล่าว
    ต่อมาในเวลา 11.30 น. ที่สำนักงาน กกต. นายวรวุฒิ บัตรมาตร ฝ่ายกฎหมายพรรค อนค.พร้อมทีมทนายความเข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการถือหุ้นในบริษัท วี-ลัคฯ ของนายธนาธร โดยยืนยันว่าการดำเนินการทุกอย่างของนายธนาธรเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ไม่สามารถทำให้ถูกกฎหมายกว่านี้ได้แล้ว ซึ่งในวันนี้ได้นำหลักฐานทั้งตราสารโอนหุ้น เช็คชำระค่าหุ้น และหลักฐานประกอบทางกฎหมายมาให้ข้อมูล 
“ที่ตั้งข้อสังเกตว่าในวันโอนหุ้นเมื่อวันที่ 8 ม.ค.62 นายธนาธรลงพื้นที่บุรีรัมย์นั้น นายธนาธรอยู่ที่บุรีรัมย์จริง แต่อยู่เฉพาะช่วงเช้า จากนั้นได้เดินทางกลับมากรุงเทพฯ เพื่อโอนหุ้นในช่วงเย็น” นายวรวุฒิกล่าว 
    ด้านนายศรีสุวรรณกล่าวว่า เดิมในวันที่ 22 เม.ย. เวลา 10.00 น. กกต.ทำหนังสือเชิญไปให้ถ้อยคำประกอบคำร้องกรณีนายธนาธร แต่ต้องไปขึ้นศาลปกครองจึงต้องรอให้คณะอนุกรรมการไต่สวนทำหนังสือเชิญมาอีกครั้ง ดังนั้นที่มีกระแสข่าวว่า กกต.จะสรุปผลการไต่สวนหุ้นของนายธนาธรในวันที่ 22  เม.ย.จึงยังทำไม่ได้ เพราะยังต้องรอให้ตนเองในฐานะผู้ร้องเข้าให้ถ้อยคำก่อน ส่วนกรณีทนายความของนายธนาธรอ้างว่าในวันที่ 8 ม.ค.นายธนาธรนั่งรถกลับจากบุรีรัมย์มากรุงเทพฯ เพื่อเซ็นโอนหุ้น ก็เป็นข้อเท็จจริงที่นำมากล่าวอ้าง แต่ขึ้นอยู่กับน้ำหนักความน่าเชื่อถือเพราะคำกล่าวอ้างใครๆ ก็สามารถอ้างได้ ประเด็นสำคัญคือเอกสารหลักฐานที่ต้องนำมาสำแดงเพื่อให้ กกต.นำไปตรวจสอบ
    “พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้มีแค่นายธนาธรที่ถูกตรวจสอบเรื่องการถือครองหุ้นสื่อ เพราะเท่าที่ตรวจสอบจากกรมทะเบียนธุรกิจการค้าพบว่ามีว่าที่ ส.ส.ของพรรค 6-7 รายที่ถือครองหุ้นสื่อ ซึ่งกฎหมายได้เขียนเอาไว้ชัด แม้จะเป็นบริษัทที่ไม่เคยประกอบธุรกิจด้านสื่อสารมวลชน แต่หากจดทะเบียนครอบคลุมกิจการด้านสื่อเอาไว้ก็อยู่ในข่ายขาดคุณสมบัติสมัคร ส.ส.ได้ โดยคาดว่าเร็วๆ นี้จะรวบรวมหลักฐานนำมายื่นให้ กกต.พิจารณา” นายศรีสุวรรณกล่าว
    นายศรีสุวรรณยังกล่าวภายหลังเข้าพบเจ้าหน้าที่คณะกรรมการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัย สำนักงาน กกต. กรณีร้องเรียนว่านางเบญญา นันทขว้าง ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รปช. โพสต์ข้อความและปราศรัยหาเสียงว่า ”หากเลือกพรรคตระกูลเพื่อ...ก็จะไปจบที่ราชดำเนิน” ซึ่งสื่อให้เห็นถึงการชุมนุมประท้วง ไม่มีเจตจำนงรักษาระบอบประชาธิปไตย จึงขอให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ หากเข้าข่ายความผิดขอให้ศาลสั่งยุบพรรค รปช.
ยื่นสอบ 'เสรีพิศุทธ์'
    วันเดียวกัน นายสุรวัชร สังขฤกษ์ กลุ่มการเมืองภาคประชาชน ยื่นหนังสือถึง กกต.ขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพื่อวินิจฉัยว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 วรรค 8 หรือไม่ เนื่องจากในวันที่ 8 เม.ย.51 นายสมัคร  สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 73/2551 ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ออกจากราชการไว้ก่อน ดังนั้นจึงขอให้ กกต.ส่งคำร้องเรื่องคุณสมบัติ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ไปให้ศาลฎีกาตัดสินว่าขาดคุณสมบัติหรือไม่
    ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวคิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เหตุที่พรรคเห็นความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร มีบทบัญญัติหลายส่วนไม่เป็นประชาธิปไตย สร้างความสับสนให้ประชาชนในการเลือกตั้งเป็นอย่างมาก พรรคจึงมีเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งวิธีการแก้ไขต้องมีผู้เสนอญัตติ แต่ก่อนไปถึงขั้นนั้นต้องทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชนว่าควรแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ และแก้ด้วยวิธีใด ถ้าประชาชนเห็นด้วยก็จะเป็นแนวทางที่จะเดินต่อไป วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น พรรคเห็นควรให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ  (ส.ส.ร.) ซึ่งมีตัวแทนของประชาชนร่วมกับนักวิชาการขึ้นมาดำเนินการ น่าจะเป็นกระบวนการที่ถูกต้องชอบธรรมมากกว่ากระบวนการใดทั้งหมด โดยไม่บอกจะแก้เรื่องอะไร แต่จะถามประชาชนในภาพรวมว่าแก้เรื่องใด แล้วให้ ส.ส.ร.เป็นผู้ดำเนินการ เมื่อทำเสร็จแล้วก็ไปฟังความเห็นจากประชาชนอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อยุติ 
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า วิธีการจะทำอย่างไรต้องไปถามผู้เสนอ แต่เรื่องนี้มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชัดเจน การแก้รัฐธรรมนูญหากจะแก้ทั้งฉบับ เมื่อแก้เสร็จแล้วต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่ในทางปฏิบัติอาจทำประชามติก่อนแก้เสียครั้งหนึ่งก่อน และเมื่อแก้แล้วมาทำประชามติอีกครั้ง
    ด้านกลุ่มรวมพลังพรรคการเมือง ซึ่งประกอบไปด้วยพรรคภาคีเครือข่ายไทย พรรคแผ่นดินธรรม  พรรคพลังไทยดี พรรคพลังแผ่นดินทอง พรรคภราดรภาพ พรรคกรีน และพรรคประชาไทย เข้ายื่นหนังสือถึง กกต.เสนอแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยระบุว่าหลังการเลือกตั้งผ่านมาแล้ว 1 เดือนยังไม่สามารถรู้ได้ว่าพรรคใดจะได้จัดตั้งรัฐบาล แม้มีการเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา แต่ก็มองว่าขัดรัฐธรรมนูญเพราะไม่มีฝ่ายค้าน ดังนั้นกลุ่มรวมพลังฯ ขอเสนอตั้งรัฐบาลสามัคคีสร้างชาติเพื่อยุติความขัดแย้งทั้งหมด โดยพรรคการเมืองใดประสงค์ร่วมรัฐบาลให้ไปลงชื่อร่วมกัน ส่วนพรรคใดที่มีแนวทางไม่ตรงกับกลุ่มร่วมรัฐบาลก็ร่วมเป็นฝ่ายค้านได้ ซึ่งรัฐบาลสามัคคีสร้างชาติเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3, 5, 8 และ 265 นอกจากนี้ยังขอให้ คสช.เสนอรายชื่อผู้ที่ผ่านการสรรหาเพื่อเสนอชื่อเป็น ส.ว. ให้นำรายชื่อทั้งหมดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอพระบารมีโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ส.ว.จำนวน  250 คนตามพระราชอัธยาศัย เพื่อความเป็นกลางในการทำหน้าที่ในการเลือกนายกฯ โดยกลุ่มจะนำแนวคิดรัฐบาลสามัคคีสร้างชาติไปหารือร่วมกับ 20 พรรคการเมืองต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"