‘ศรี’บี้11ลูกพรรคพ่อฟ้าถือหุ้นสื่อ


เพิ่มเพื่อน    

  ปมถือหุ้นสื่อลามหนัก "ศรีสุวรรณ" จ่อยื่น กกต.สอบอีก 11 ว่าที่ ส.ส.อนาคตใหม่ถือหุ้นสื่อเผยมีว่าที่ ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ อีกมากพร้อมร้องต่อไป ซัด "ปิยบุตร" โฆษณาชวนเชื่อ อ้างตรวจคุณสมบัติครบถ้วน "นิพิฏฐ์" ระบุถ้าเพิกถอนชื่อแค่ระบุวัตถุประสงค์บริษัทไว้ตามแบบมาตรฐานฯ จะมีว่าที่ ส.ส.โดนสอยเป็นร้อย "เรืองไกร" ชี้ รธน.มาตรา 98 บัญญัติไว้กว้าง จะมีคนฝ่าฝืนอีกเพียบ "พ่อฟ้า" ท้า "พี่ศรี" เปิดเผยข้อมูลการใช้โทรศัพท์ 8 ม.ค. ย้ำเขย่าการเมืองท้องถิ่นส่งผู้สมัครทุก จว.ทุกระดับ อบรมว่าที่ส.ส.อนค.เข้ม! เตรียมเสนอกฎหมายเปลี่ยนประเทศชุดใหญ่ ยกเลิกกฎหมายยุค คสช. 35 ฉบับ

    เมื่อวันอาทิตย์ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า สมาคมได้รับการแจ้งข้อมูลมาจากประชาชนเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และว่าที่ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ซึ่งเมื่อตรวจสอบยืนยันกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยตรวจสอบหนังสือบริคณห์สนธิ ทะเบียนนิติบุคคล รวมถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว พบว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งและว่าที่ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่จำนวน 11 ราย ปรากฏเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบมาตรา 42 (3) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561
       ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมจำต้องทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานสำหรับนักการเมืองที่จะเข้ามาสู่ระบบการเมืองของไทย ต้องไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัย และอยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมายอย่างเคร่งครัดในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีกำหนดจะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 95% ในวันที่ 9 พ.ค. 2561 นี้ สมาคมจึงจะนำความพร้อมพยานหลักฐานของผู้สมัครรับเลือกตั้งและว่าที่ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ทั้ง 11 คน ไปยื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อระงับการประกาศผลและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งพร้อมลงโทษตาม ม.151 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 
    ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทําหนังสือยินยอม ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปี” ด้วย
          นายศรีสุวรรณบอกว่า สมาคมจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันจันทร์ที่ 29 เม.ย.2561 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงาน กกต. นอกจากนี้ยังมีผู้สมัครและว่าที่ ส.ส.จากพรรคต่างๆ ทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายสืบทอดอำนาจอีกมากที่เข้าข่ายเป็นเจ้าของสื่อ ซึ่งสมาคมจะรวบรวมนำไปร้อง กกต.ในโอกาสต่อไปเร็วๆ นี้
    นายศรีสุวรรณให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า 2 ใน 11 คนที่จะยื่นให้ กกต.ตรวจสอบในวันที่ 29 เม.ย. คือ นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และนายวินท์ สุธีรชัย ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ โดยในวันดังกล่าวจะเปิดเผยรายชื่อทั้งหมด 11 คน ซึ่งตนจะนำหลักฐานจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ระบุไว้ชัดเจนว่าบุคคลเหล่านี้ถือหุ้นสื่อไปมอบให้ กกต.
     “วันก่อนเห็นนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค. ออกรายการทีวีบอกว่าในฐานะประธานฝ่ายกฎหมาย ได้ตรวจสอบข้อมูลผู้สมัครของพรรคครบถ้วนทุกคนแล้วว่าไม่มีใครมีหุ้นสื่อหรือเจ้าของหนังสือพิมพ์ และบอกว่าตรวจสอบหมดแล้วทั้งนายธนาธรและรายอื่นๆ ในพรรค แต่ผมเห็นว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อ เพราะข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น ในมือของผมมีชื่อตั้งเยอแยะ จึงจะไปโชว์ให้ กกต.เห็น” นายศรีสุวรรณระบุ
ว่าที่ ส.ส.โดนสอยนับร้อย
    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุ 1.เวลาไปจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วน บริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เขาจะมีแบบฟอร์มวัตถุประสงค์ของบริษัทไว้เป็นแบบมาตรฐานเหมือนกันหมดรวม 22 ข้อ หมายความว่าใครไปจดทะเบียนบริษัท ก็สามารถทำกิจการตาม 22 ข้อได้เลย 2.ในความเป็นจริงเมื่อเราไปจดทะเบียน เจ้าหน้าที่เขาจะให้เราระบุวัตถุประสงค์เพิ่มเติมเป็นข้อต่อไป เป็นข้อ 23, 24, 25 หรือมากกว่า ก็แล้วแต่ว่าวัตถุประสงค์จริงๆ ที่เราต้องการประกอบกิจการคืออะไร เขาไม่ให้เราจดวัตถุประสงค์เพียง 22 ข้อ ตามแบบมาตรฐานหรอก เช่น เราประกอบกิจการด้านกฎหมาย ในแบบมาตรฐานข้อ 12 ก็ระบุไว้แล้วว่า ประกอบกิจการบริการทางด้านกฎหมาย แต่เมื่อเราต้องการประกอบกิจการด้านนี้เป็นหลัก เราก็ระบุเพิ่มเติมเป็นข้อ 23 ว่า..ประกอบกิจการให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย อย่างนี้เป็นต้น
    3.กรณีที่ศาลฎีกาตามคำพิพากษาที่ 1706/2562 วินิจฉัยไว้ เราไม่มีข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกเพิกถอนชื่อจากการสมัคร ส.ส.ได้ระบุวัตถุประสงค์เพิ่มเติมไว้ต่อจากแบบมาตรฐานเป็นข้อที่ 23 หรือข้อต่อไปหรือไม่ หากระบุไว้ คำวินิจฉัยของศาลฎีกาก็ชอบแล้ว เราอย่าไปวิตกเกินเหตุ สมมุติว่าเราไประบุว่า ประกอบกิจการด้านสื่อ และเข้าไปเป็นหุ้นส่วน แม้ยังไม่ประกอบกิจการเลยก็ผิดแล้ว สมัคร ส.ส.ไม่ได้ 4.แต่หากผู้เพิกถอนชื่อ ระบุวัตถุประสงค์ของห้างฯ หรือบริษัทไว้ตามแบบมาตรฐาน และถูกเพิกถอนชื่อจากการสมัคร ส.ส.อันนี้ จะสร้างปัญหามากจริงๆ อันนี้แหละครับที่อาจจะทำให้ ส.ส หมดไปเป็นร้อย แต่หากเป็นไปตามนี้ก็มีวิธีแก้คือ ขอให้ศาลฎีกาประชุมใหญ่เพื่อกลับคำวินิจฉัยเดิม อย่างนี้ผมว่าศาลฎีกาก็น่าจะรับฟัง และแก้วิกฤติได้
    “ผมว่าศาลฎีกาวินิจฉัยตามข้อ 3 มากกว่า ซึ่งน่าจะถูกต้องแล้ว เราอย่า “ฟังตามเขาว่า” กันเลยครับ บ้านเมืองมีปัญหาเพราะเรา “ฟังตามเขาว่า” กันนี่แหละ ทางที่ดีผมแนะนำให้โฆษกศาลฎีกาออกมาให้รายละเอียดดีกว่าครับ เพราะถ้าโฆษกศาลออกมาแถลงก็ยุติการร้องเรียนกันได้หมดเลย จบข่าว” นายนิพิฏฐ์ระบุ
    ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือ “ท่านใหม่” โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นกรณีการตรวจสอบการโอนหุ้นของนักการเมืองระบุว่า “ทำไม กกต.ไม่ขอดูต้นขั้วเช็ค ใบก่อนหน้า และใบถัดไป (ดูว่าจ่ายเมื่อไหร่) ถ้ามีการจ่ายเช็คค่าหุ้นกันจริง”
    ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. กล่าวว่า จากการติดตามกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูก กกต.ตั้งข้อกล่าวหาว่าถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีวัตถุประสงค์เข้าข่ายต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 98 (3) นั้น มีทั้งการเป็นเจ้าของและการเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งคำว่าเจ้าของกับผู้ถือหุ้นกฎหมายมุ่งประสงค์ให้มีนัยแตกต่างกัน และคำว่าหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนใดๆ ก็มีความหมายต่างกัน หนังสือพิมพ์ เป็นคำเฉพาะ แต่สื่อมวลชนใดๆ เป็นคำทั่วไป ที่มีความหมายกว้างมาก เช่น วิทยุ วิทยุโทรทัศน์ วิทยุชุมชน เว็บไซต์ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม เว็บไซต์ สื่อออนไลน์อื่น วารสารหรือการรับพิมพ์วารสาร ก็ควรอยู่ในความหมายด้วย จากการตรวจสอบคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง พบว่า กกต.เคยยื่นคำร้องหรือถูกร้องคัดค้านมาแล้วอย่างน้อย 11 คดี ที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยความหมายของคำว่า เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว 
    "การที่ กกต.ตั้งข้อกล่าวหานายธนาธร จึงอาจเป็นไปตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา เรื่องนี้ หลายฝ่ายวิตกวิจารณ์ไปต่างๆ นานา โดยไม่ได้ศึกษาแนวคำพิพากษา ทั้งที่ศาลฎีกามีคำสั่งไปหลายคดีแล้ว หรือกระทั่งการถือหุ้นสัมปทานเพียงหุ้นเดียวก็ผิดตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ ดังนั้น ต้นเหตุจึงน่าจะมาจากการที่มาตรา 98 (3) ที่บัญญัติไว้กว้างเกินไป และจะมีผลให้มีคนกระทำการฝ่าฝืนมาตรานี้ตามมาอีกมากมาย"
ท้า"พี่ศรี"เปิดข้อมูลโทรศัพท์
     นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า แต่มีอยู่กรณีหนึ่งที่มีความปรากฏต่อ กกต.แล้ว แต่ กกต.กลับไม่ทำการวินิจฉัย คือกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกกต.สรุปความเห็นไว้ในลักษณะตัดสินแทนศาลว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี เปิดช่องทางการสื่อสารกับสาธารณชนในรูปแบบ เพจเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม (ไอจี) ทวิตเตอร์ รวมถึงเว็บไซต์ส่วนตัว ซึ่งยังไม่อาจถือได้ว่าเข้าข่ายการเป็นเจ้าของกิจการ การสรุปดังกล่าว จึงเหมือนกับการเลือกปฏิบัติ ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกับทุกกรณี ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ เฉพาะกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์กับของนายธนาธร อาจถูกสังคมตั้งคำถามว่า นายกฯ เป็นเจ้าของสื่อไม่ผิด แต่ธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นสื่อกลับผิด ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ 29 เมษายนนี้ เวลา 10.30 น. ตนจะไปยื่นหนังสือเพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบการกระทำของ กกต.ต่อไปโดยเร็ว
    ด้านนายธนาธรกล่าวว่า กรณีการโอนหุ้นสื่อ ซึ่งจะมีการพิจารณาในวันที่ 30 เม.ย.นั้น ไม่ต้องมีการเตรียมตัวอะไรมาก เพราะเราชี้แจงได้ทุกเรื่อง เรามีเอกสารทั้งหมด ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตผ่านการรายงานข่าวต่างๆ นั้น ที่ผ่านมาก็เป็นการพูดด้วยวาจา แต่ไม่เคยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ ถ้ามีหลักฐานก็เอามาดู เอามาสู้กัน ขอย้ำอีกครั้ง หากใครเจอนายศรีสุวรรณ หรือใครก็ตาม ถ้าไปขอข้อมูลจากดีแทค เกี่ยวกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือของตน เพื่อยืนยันแหล่งที่อยู่ของตนเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น ก็ฝากไปกับสื่อมวลชนตอนนี้เลยว่าตนอนุญาต เปิดเผยข้อมูลได้เลย
     ที่พรรคอนาคตใหม่ มีการจัดกิจกรรม “Future is Now อนาคตใหม่เริ่มได้ทันที! #2 @กรุงเทพ” โดยมีแกนนำและสมาชิกพรรคร่วมกิจกรรม อาทิ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค, น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค และนายวาโย อัศวรุ่งเรือง รองโฆษกพรรค ซึ่งกิจกรรมเริ่มจากการเปิดวิดีโอการเดินทางไปยุโรปของพรรคอนาคตใหม่ จากนั้นได้ร่วมแลกเปลี่ยน และพูดคุยกันถึงอนาคตใหม่ประเทศไทย
    โดยนายธนาธรกล่าวว่า จากการเยี่ยมชมงานที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ฟังแนวคิดนักศึกษาไทยที่เรียนเรื่องการจัดการเมืองและไม่พอใจสภาพปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ได้มีการนำเสนอหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ด้านการออกแบบผังเมือง ที่ในประเทศไทยการออกแบบอะไรก็ตามไม่ได้มีส่วนร่วมจากประชาชน เช่น เลนจักรยาน และถนนหนทางต่างๆ ซึ่งขณะนี้พรรคอนาคตใหม่เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงได้เชิญชวนให้มาช่วยออกแบบการพัฒนาเมืองด้วย
    นายธนาธรกล่าวต่อว่า ขณะที่ในเรื่องการเกษตร จากการไปศึกษาดูงาน ได้การเกษตรในรูปแบบสหกรณ์ที่ประชาชนมีส่วนร่วม ขณะที่รัฐบาลไทยเอาเงินปีละแสนล้านมาสนับสนุนราคาสินค้าการเกษตร พรรคอนาคตใหม่จึงมีแนวคิดว่าควรตัดงบฯ ดังกล่าวมา 10% เพื่อสร้างสหกรณ์ให้เกษตรกรร่วมเป็นเจ้าของได้ ซึ่งจะมีความยั่งยืนกว่าการนำเงินไปให้เปล่า นอกจากนี้ ตนมีแนวคิดที่จะทำงบประมาณแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วม ยกตัวอย่างเช่น เมืองหนึ่งในฝรั่งเศส ที่มีการตัดงบประมาณออกมา 5% แล้วนำเงินดังกล่าวมาถามประชาชนว่าอยากได้โครงการอะไรในพื้นที่ของตัวเองจากนั้นนำโครงการต่างๆ ที่ประชาชนเสนอมาทำประชามติ โดยการใช้งบประมาณเช่นนี้จะทำให้ประชาชนได้ออกแบบเมืองของตัวเอง ตัดช่องทางที่จะเอาเงินงบประมาณดังกล่าวผ่านนักการเมือง เพราะนักการเมืองไม่ต้องคิดให้ แต่ประชาชนเป็นคนคิดเอง ซึ่งถือเป็นประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนจะได้ในสิ่งที่อยากได้จริงๆ เป็นการเอาเงินภาษีมาตอบสนองชีวิตประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งพรรคจะนำโมเดลนี้มาปรับใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ
ย้ำเขย่าท้องถิ่นทุก จว.
    หัวหน้าพรรค อนค.กล่าวอีกว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นายกฯ แทบไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ลองคิดดูว่าคนที่ไม่ได้มาจากประชาชนจะกระจายอำนาจให้ประชาชนหรือไม่ ดูอย่างสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาล คสช.ออกกฎหมาย 3-4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่เป็นการดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งอำนาจแบบนี้ท้องถิ่นจะจัดการตัวเองไม่ได้ ดังนั้นการจะให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ต้องลดบทบาทของกองทัพ เพื่อยุติไม่ให้มีการทำรัฐประหาร เพราะตราบใดที่ลดบทบาทของกองทัพไม่ได้ก็ไม่สามารถกระจายอำนาจได้เลย ตนขอถามว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองของเราเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ทำไมชุมชนที่ท่านมาไม่เคยเปลี่ยนแปลงอะไรเลย นั่นเพราะอำนาจไม่เคยถูกกระจาย แต่กลับอยู่ที่กรุงเทพฯ หนักไปกว่านั้นคือ มีการส่งผู้ว่าฯ ไปอยู่ตามจังหวัดต่างๆ จังหวัดไหนโชคดีหน่อย ผู้ว่าฯ ก็อยู่ 2-3 ปี แต่ส่วนใหญ่เปลี่ยนทุกปี แถมผู้ว่าฯ ไม่ใช่คนในท้องถิ่น แล้วจะเข้าใจปัญหาของท้องถิ่นได้อย่างไร
    “ประชาชนไม่มีอำนาจพัฒนาชุมชนของตัวเองเลยภาษีที่พวกเขาจ่ายถูกส่งเข้ากรุงเทพฯ แล้วกรุงเทพฯ เป็นคนกำหนดว่าให้พัฒนาอะไร นี่คือเหตุผลที่พรรคอนาคตใหม่จะทำการเมืองท้องถิ่น เมื่อใดที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น พรรคจะส่งผู้สมัครลงไปทุกจังหวัด ทั้งระดับ อบต. อบจ. และนายกเทศมนตรี เพื่อเราจะเขย่าการเมืองท้องถิ่น เช่นเดียวกับที่เราได้เขย่าการเมืองระดับประเทศไปแล้ว และผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่ จะเดินไปบอกกับประชาชนว่า แต่ละจังหวัดในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และจะใช้งบฯ หรือจัดสรรงบฯ ที่ได้มาอย่างไร ถ้าเราทำแบบนี้ได้ก็จะสามารถเปลี่ยนการเมืองท้องถิ่นได้ หมดเวลาแล้วกับการเมืองท้องถิ่นที่ไม่ตอบสนองชีวิตของประชาชน ส่วน ส.ส.ของพรรคที่อยู่ในสภา จะเข้าไปผลักดันอำนาจให้กลับคืนไปสู่ท้องถิ่น เราจะทำให้ดูว่าประชาธิปไตยกินได้จริงๆ” นายธนาธรกล่าว
    วันเดียวกัน ที่ จ.ชลบุรี พรรคอนาคตใหม่อบรม 87 ว่าที่ ส.ส.เข้าสู่วันที่สอง โดยในวันนี้การอบรมเป็นไปภายใต้เนื้อหาที่เข้มข้น ครอบคลุมถึงเรื่องอุดมการณ์ของพรรค ความรู้พื้นฐานทางเศรษฐกิจ และกระบวนการผลักดันนโยบายสาธารณะ โดยนายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่ปรึกษานโยบายพรรค อนค. ได้บรรยายในหัวข้อ “แนวคิดหลักและเป้าหมายทางเศรษฐกิจของพรรคอนาคตใหม่” โดยยกตัวอย่างข่าวเศรษฐกิจ และเบื้องหลังวิธีคิดด้านเศรษฐศาสตร์ในการชี้วัดดัชนีทางเศรษฐกิจแบบต่างๆ พร้อมจุดอ่อนและจุดแข็งของแต่ละวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ มาแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกับว่าที่ ส.ส.ของพรรคอย่างเข้มข้น
    นายวีระยุทธกล่าวว่า วิธีคิดที่สังคมไทยใช้มองสภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน อาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือการมองว่าเศรษฐกิจไทย ดีมาก ดีพอใช้ แย่ และแย่มาก ซึ่งในแต่ละมุมมองก็มีกระบวนการวิธีคิดและดัชนีชี้วัดที่แตกต่างกันไป เช่น การนำเอาอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานมาคำนวณความยากลำบากทางเศรษฐกิจ, วิธีคิดแบบธนาคารโลกที่เน้นเปรียบเทียบ GDP แต่ไม่เน้นเศรษฐกิจฐานราก หรือวิธีคิดแบบประชานิยม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์พื้นฐานที่ว่าที่ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ควรมีความรู้เพื่อการอภิปรายในสภาไว้ และหลังจากนี้ตนจะรวบรวมรายชื่อเอกสารและหนังสือเป็น reading list ให้แต่ละคนได้นำไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป
    ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ร่วมบรรยายถึงทฤษฎีเบื้องหลังวิธีคิดของพรรคอนาคตใหม่ โดยกล่าวถึงสถานการณ์และเทรนด์ในทางการเมืองโลกเชื่อมโยงไปสู่การก่อตั้งพรรคการเมืองแนวใหม่ในประเทศต่างๆ ที่มีวิธีคิดในการหลอมรวมความต้องการของประชาชนเข้าด้วยกันมากกว่าการยึดโยงกับอุดมการณ์แบบซ้าย-ขวา
ยกเลิกพรบ.ยุคคสช.35ฉบับ
    นายปิยบุตรกล่าวว่า ในส่วนของการเมืองไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ก็ถูกผูกติดไว้กับการแบ่งขั้วแบบเหลือง-แดง ซึ่งลดทอนความสำคัญของประเด็นปัญหาที่แท้จริงที่มีร่วมกันของประชาชน กลายเป็นการถกเถียงทะเลาะกันโดยไม่ไปแตะที่โครงสร้างของปัญหา ทำให้โครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจแบบเผด็จการและทุนผูกขาดยังคงอยู่ได้อย่างมั่นคง ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรทั่วประเทศ ล้วนแต่เผชิญปัญหาเดียวกัน แต่พอเป็นเกษตรกรที่มาจากภาคใต้ ก็มีคนบางกลุ่มไปตราหน้าว่าเป็นเสื้อเหลือง ส่วนเกษตรกรที่มาจากภาคอีสานกับภาคเหนือ ก็โดนตราหน้าว่าเป็นเสื้อแดง หรือกลุ่มแรงงานที่มีปัญหาร่วมกันคือเรื่องค่าแรง หรือข้าราชการชั้นผู้น้อยก็มีปัญหาร่วมกันคือเรื่องระบบเส้นสายการวิ่งเต้น เมื่อถูกตราหน้าว่าเป็นคนละสี กลับต้องมาใส่นวมชกกันแทน ดังนั้นพรรคอนาคตใหม่จึงมีวิธีคิดว่าจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง นั่นคือการหลอมรวมประเด็นปัญหาของประชาชนที่มีเป็นตัวตั้ง ไม่ใช้การใช้สีเสื้อเป็นตัวตั้ง ที่ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการแก้ปัญหาของประชาชนมามากแล้ว
    “สิ่งที่การเมืองไทยเป็นมาคือการ polarization นั่นคือเมื่อประชาชนมีปัญหาร่วมกันขึ้นมาเรื่องหนึ่ง แต่พอคนเสนอปัญหาถูกตราหน้าด้วยสีเสื้อแล้ว การถกเถียงกลายเป็นเรื่องอื่นไปแทน สิ่งที่เป็นปัญหาถูกมองข้ามไป ไม่ถูกพูดถึงต่อ ฝ่ายพวกเดียวกันทำอะไรก็ถูก ฝ่ายตรงข้ามทำอะไรก็ผิด เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดให้พ้นจากตรงนี้ ไม่ใช่การ exclude เอาคนออกไป แต่ต้องหลอมรวมคนเข้ามาด้วยประเด็นปัญหาที่มีร่วมกัน ไม่ได้แปลว่าเราจะสลายเสื้อสี แต่มันจะต้องไม่ใช่ตัวตั้งที่มีความสำคัญเหนือปัญหาของประชาชนอีกต่อไป” นายปิยบุตรกล่าว
     ส่วน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพรรค อนค. บรรยายหัวข้อ “กระบวนการนโยบายพรรคอนาคตใหม่” โดยกล่าวถึงวิธีคิดในการออกนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ที่ผ่านมา พร้อมเน้นขอให้ว่าที่ ส.ส.ทุกคนได้ทำงานสื่อสารกับประชาชนให้มากขึ้น เพื่อนำมาสู่กระบวนการจัดทำนโยบายเพิ่มเติมหลังจากนี้ผ่านคณะกรรมการนโยบายของพรรค ทั้งนี้ ภารกิจที่ว่าที่ ส.ส.ของพรรคจะต้องเข้าไปทำในสภา คือการเสนอชุดกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนและผลักดันนโยบายของพรรค โดยกฎหมายที่จะต้องเสนอแก้ไขหรือยกเลิก โดยด่วน คือ บรรดากฎหมายที่ออกโดย คสช.ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเอื้อประโยชน์ตอบแทนให้พวกพ้องกันเอง ส่วนในด้านเศรษฐกิจคือกฎหมายที่จะขจัดการผูกขาดโดยกลุ่มทุนผูกขาด และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้ามาทำธุรกิจได้มากขึ้น
    “ตัวอย่างของร่าง พ.ร.บ.และประเด็นที่จะมีการผลักดันในสภาโดยพรรคอนาคตใหม่นั้น จะประกอบไปด้วยการเสนอยกเลิก พ.ร.บ.ที่ออกในยุค คสช. 35 ฉบับ รวมถึงคำสั่ง คสช.ที่ให้ประชาชนขึ้นศาลทหาร, การทบทวนสัมปทานรถไฟไทย-จีน, ทบทวนสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน, ทบทวนการยืดหนี้ 4 จี, การแก้ไข พ.ร.บ.สรรพสามิต เพื่อปลดล็อกเรื่องคราฟต์เบียร์, กฎหมายบังคับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐและรัฐสภา, แก้ไขกฎหมายสวัสดิการแรงงาน, ปฏิรูประบบ BOI และกฎหมายอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งก็ขอให้ว่าที่ ส.ส.ทุกคนร่วมกันไปทำการบ้านมาให้เต็มที่” น.ส.ศิริกัญญากล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"