ปลื้มปีติพระบารมี


เพิ่มเพื่อน    


     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ในการพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ เฉลิมพระปรมาภิไธย ร.9 "พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร"   สถาปนา "สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า-สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ" พร้อมเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค พสกนิกรเฝ้าฯ รับเสด็จตลอดเส้นทางเนืองแน่น ต่างเปล่งเสียง "ทรงพระเจริญ" อย่างกึกก้อง
     เมื่อเวลา 09.27 น. วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม  พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทางพระทวารเทวราชมเหศวรในพระบรมมหาราชวัง  ในการพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
     โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ โดยเสด็จประทับรอ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร  รัชกาลที่ 1-9 ประทับพระราชอาสน์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายภูมินทร ปลั่งสมบัติ อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการ เฉลิมพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ความว่า 
     “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร  สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ซึ่งได้ทรงรับพระราชภาระสืบสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ดำรงพระองค์เป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทย ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์แก่อาณาประชาราษฎร์ เป็นที่ประจักษ์แก่ตาแก่ใจของบรรดาพสกนิกร และนานาอารยประเทศจนกระทั่งเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 แม้ระยะเวลาจะล่วงเลยมาจวบจนปัจจุบัน แต่เหล่าพสกนิกรก็ยังคำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณเสมอมาไม่เสื่อมคลาย ในศุภสมัยอันเป็นมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ สมควรจะได้สนองพระเดชพระคุณสนองถวายพระเกียรติยศให้ปรากฏได้แผ่ไพศาลยิ่งขึ้น ด้วยมีพระราชหฤทัยระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมชนกนาถ 
เฉลิมพระปรมาภิไธย'มหาราช'
     จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระปรมาภิไธย พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมชนกนาถตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร 
ขอให้พระเกียรติยศคุณวิบุลยยศปรากฏแผ่ไพศาลไปในสากลจักรวาล จิรัฏฐิติกาลตลอดนิจนิรันดร์ เทอญ ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน”
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยืน เมื่ออาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการจบ  พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร และดุริยางค์ อาลักษณ์เชิญพานพระสุพรรณบัฏไปคอยทูลเกล้าฯ ถวายเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ทรงกราบ
     จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ  พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริด้วยพระราชหฤทัยประกอบด้วยพระกตัญญูกตเวทิตา ระลึกถึงพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมราชชนนี อันได้มีมาเป็นล้นพ้นยิ่งกว่าผู้อื่น และทรงพระราชดำริว่า พระบรมราชชนนีเป็นผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันได้บังเกิดประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองและพสกนิกรเป็นอเนกปริยาย มีพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณาธิคุณ เสด็จออกสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎรทั่วทุกแห่งหนแม้ในพื้นที่ห่างไกลธุรกันดาร ด้วยพระวิริยอุตสาหะอย่างยิ่งยวด โดยทรงดำเนินพระราชจริยวัตรด้วยพระราชปณิธานแห่งธรรมราชินี ในศุภสมัยอันเป็นมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ สมควรจะเฉลิมพระเกียรติยศ สนองพระคุณตามโบราณราชประเพณี อันจะอำนวยสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแด่พระองค์ และสยามรัฐสีมาอาณาจักร 
     จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมราชชนนี ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และถวายเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 
     ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย อำนาจแห่งพระกตัญญูกตเวทิตาธรรม และเทวดาเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงบันดาลอภิบาลรักษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบุลศุภผลมโหฬารธนสารสมบูรณ์ วรเกียรติคุณอดุลยยศ ปรากฏยิ่งยืนนานตลอดจิรัฏฐิติกาล เทอญ 
ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน”
เมื่ออาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการจบ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร และดุริยางค์ อาลักษณ์เชิญพานพระสุพรรณบัฏไปคอยทูลเกล้าฯ ถวายเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ถวายพานพระสุพรรณบัฏหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพถวายราชสักการะ ทรงกราบ ทรงประทับพระราชอาสน์ที่เดิม
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ  พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ราชประเพณีซึ่งมีสืบมาแต่โบราณ เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาพระเกียรติยศพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์ มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ ก็ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีด้วยพระวิริยอุตสาหะ เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์อย่างใหญ่หลวง เป็นอเนกประการ ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในหลายวาระ และช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจน้อยใหญ่ที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งรัชสมัยพระบรมชนกนาถ ให้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามฐานะแห่งพระบรมราชวงศ์ 
จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร  มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน  รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 
ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบุลศุภผลธนสารสมบูรณ์ วรเกียรติคุณอดุลยยศ ปรากฏยิ่งยืนนาน ตลอดจิรัฏฐิติกาล เทอญ 
ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน
     สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  เข้าเฝ้าฯ หน้าพระราชอาสน์ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏและเหรียญรัตนาภรณ์ ร.10 ชั้นที่ 1 พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร และดุริยางค์
     ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการประกาศสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี  ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ราชประเพณีซึ่งมีสืบมาแต่โบราณ เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาพระเกียรติยศพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระราชดำริว่า  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็นพระโสทรกนิษฐภคินี อีกพระองค์หนึ่ง ที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแบ่งเบาพระราชภาระของสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี โดยเฉพาะการทรงงานทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และด้านการแพทย์ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ เป็นที่ประจักษ์แก่นานาอารยประเทศ จวบจนรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้ทรงงานอย่างต่อเนื่องด้วยพระวิริยอุตสาหะ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี 
จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 
     ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบุลศุภผล สกลเกียรติยศ ปรากฏยิ่งยืนนาน ตลอดจิรัฏฐิติกาล เทอญ 
ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน”
     สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ เข้าเฝ้าฯ หน้าพระราชอาสน์ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏและเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร และดุริยางค์
สถาปนา'กรมหมื่นสุทธนารีนาถ'
     ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการสถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ราชประเพณีซึ่งมีสืบมาแต่โบราณ เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาพระเกียรติยศพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เป็นพระมารดาผู้ทรงอภิบาล พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ ด้วยพระวิริยอุตสาหะและพระทัยเมตตา จนทรงเจริญพระชนมายุ และทรงปฏิบัติสรรพกรณียกิจอันควรแก่ขัตติยนารี กอปรกับพระเจ้าวรวงศ์เธอผู้พระมารดานั้น ก็ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจน้อยใหญ่ สนองพระเดชพระคุณมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลก่อน สืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ได้ราชการเป็นอันมาก เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี 
     จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี  กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ กับเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 
     ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบุลศุภผล สกลเกียรติยศ ปรากฏยิ่งยืนนาน ตลอดจิรัฏฐิติกาลเทอญ  
ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน”
     พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เข้าเฝ้าฯ หน้าพระราชอาสน์ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร และดุริยางค์
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาและเฉลิมพระนาม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ  พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ราชประเพณีซึ่งมีสืบมาแต่โบราณ เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาพระเกียรติยศพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจด้วยพระวิริยอุตสาหะ และพระกตัญญูกตเวทิตา ฉลองพระเดชพระคุณมาแต่รัชกาลก่อน  สืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ได้แบ่งเบาพระราชภาระเป็นอันมาก จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี 
     จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาและเฉลิมพระนาม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กับพระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์ และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1  
     ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบุลศุภผล สกลเกียรติยศ ปรากฏยิ่งยืนยาน ตลอดจิรัฏฐิติกาล เทอญ 
ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช  2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน” 
     สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี เข้าเฝ้าฯ หน้าพระราชอาสน์ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์ และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร และดุริยางค์
สถาปนา'เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ'
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาและเฉลิมพระนาม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ราชประเพณีซึ่งมีสืบมาแต่โบราณ เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาพระเกียรติยศพระบรมวงศานุวงศ์  ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระองค์รอง ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจด้วยพระวิริยอุตสาหะ และพระกตัญญูกตเวทิตา ฉลองพระเดชพระคุณมาแต่รัชกาลก่อน สืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ช่วยเหลือพระราชกรณียกิจได้เป็นอันมาก เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี 
     จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาและเฉลิมพระนาม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา กับพระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 
     ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบุลศุภผล สกลเกียรติยศ ปรากฏยิ่งยืนนาน ตลอดจิรัฏฐิติกาล เทอญ 
ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช  2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน”
     สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เข้าเฝ้าฯ หน้าพระราชอาสน์ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร และดุริยางค์
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาและเฉลิมพระนาม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ  พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ราชประเพณีซึ่งมีสืบมาแต่โบราณ  เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาพระเกียรติยศ พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ซึ่งเป็นพระราชโอรส ได้ทรงเจริญวัยตั้งพระทัยศึกษา และทรงปฏิบัติสรรพกรณียกิจ อันควรแก่ขัตติยกุมารได้อย่างดียิ่ง เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทุกหมู่เหล่า สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี 
     จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาและเฉลิมพระนาม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร กับพระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 
     ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบุลศุภผล สกลเกียรติยศ ปรากฏยิ่งยืนยาน ตลอดจิรัฏฐิติกาล เทอญ 
ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช  2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน”
     สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เข้าเฝ้าฯ หน้าพระราชอาสน์ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร และดุริยางค์
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศเฉลิมพระเกียรติยศ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่คำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งใช้มาแต่กาลก่อนนั้น บัดนี้สมควรจะเปลี่ยนแปลงตามรัชกาล ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ซึ่งเป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระโสทรกนิษฐภคินี ได้ทรงเจริญวัยและทรงปฏิบัติสรรพกรณียกิจ อันควรแก่ขัตติยนารี แบ่งเบาพระราชภาระได้เป็นอันมาก จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศให้สมแก่ฐานะในขัตติยวงศ์ 
     จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปลี่ยนคำนำพระนาม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และจารึกลงในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ กับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายใน ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 
ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์ พิพัฒนมงคลทุกประการเทอญ 
ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน”
     พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์  เข้าเฝ้าฯ หน้าพระราชอาสน์ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชอิสริยารณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร และดุริยางค์
เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าวรวงศ์เธอ
     ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการประกาศเฉลิมพระเกียรติยศ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่คำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งใช้มาแต่กาลก่อนนั้น บัดนี้สมควรจะเปลี่ยนแปลงตามรัชกาล ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ซึ่งเป็นพระธิดาพระองค์รองใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระโสทรกนิษฐภคินี ได้ทรงเจริญวัยและทรงปฏิบัติสรรพกรณียกิจ อันควรแก่ขัตติยนารี ช่วยแบ่งเบาพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศให้สมแก่ฐานะในขัตติยวงศ์ 
     จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปลี่ยนคำนำพระนาม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ และจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ กับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายใน ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 
ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลทุกประการเทอญ 
ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน”
     เมื่ออาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ เข้าเฝ้าฯ หน้าพระราชอาสน์ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายใน ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร และดุริยางค์ 
จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับดอกไม้ธูปเทียนแพจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา และ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ประธานข้าราชบริพารในพระองค์ 
     เจ้าหน้าที่กรมการศาสนา อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์ 20 รูป เจริญพระพุทธมนต์ ถวายพรพระ จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงประเคนสำรับภัตตาหารแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ องคมนตรี ประเคนสำรับภัตตาหารแด่พระสงฆ์รูปต่อไปอีกตามลำดับ เมื่อพระสงฆ์ฉันเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนดูหนังสือเทศน์และเครื่องทรงธรรม
     สมเด็จพระสังฆราช ถวายศีล และถวายพรพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 จบแล้ว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ แล้วทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ  ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ออกจากพระที่นั่ง เครื่องนมัสการ เสด็จฯ ไปประทับพักพระราชอิริยาบถ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
    ในเวลา 16.49 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ฉลองพระองค์ครุย สายสะพายมหาจักรี สายสร้อยจุลจอมเกล้า ทรงพระมาลาเส้าสูง และทรงพระแสงขรรค์ชัยศรี เสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทางพระทวารเทวราชมเหศวร เสด็จฯ ไปประทับรถยนต์พระที่นั่งทางพระทวารเทเวศรรักษา ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค  โดยพระราชยานพุดตานทองจากพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร-วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม-วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รวมระยะทาง 7.15 กิโลเมตร บริเวณถนนราชดำเนินกลาง พระบรมวงศานุวงศ์เฝ้าฯ  รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และชื่นชมพระบารมี
    รถยนต์พระที่นั่งเทียบที่ประตูกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เวลา 16.59 น. ประทับพระราชยานพุดตานทอง เสด็จออกจากเกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ชาวพนักงานประโคมมโหระทึก แตร กองทหารเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ ถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ 21 นัด
เสด็จฯ เลียบพระนคร
    เวลา 17.03 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ โดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค ตามโบราณราชประเพณี ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ทรงร่วมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พระดำเนินกระหนาบข้างคู่เคียงพระราชยาน ในฐานะที่ทรงดำรงพระยศเป็นราชองครักษ์ในพระองค์
    มีกองทหารแห่นำริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศออกจากพระบรมมหาราชวัง ทางพิมานไชยศรี วิเศษไชยศรี เลี้ยวขวาถนนหน้าพระลาน เลี้ยวซ้ายไปตามถนนราชดำเนินใน ถนนราชดำเนินกลาง เลี้ยวซ้ายถนนตะนาว เลี้ยวขวาถนนบวรนิเวศ เลี้ยวขวาถนนพระสุเมรุ เทียบพระราชยานพุดตานทองที่เกยหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร เสด็จเข้าพระอุโบสถ พระราชาคณะและพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เสด็จฯ ไปถวายต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน ธูปเทียนแพบูชาพระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งถวายสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และพระอัฐิสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระราชกรรมวาจาจารย์ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระสงฆ์ถวายอดิเรก
    เสด็จออกจากพระอุโบสถประทับพระราชยานพุดตานทองที่เกยหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร ไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยาตราริ้วขบวนไปตามถนนพระสุเมรุ เลี้ยวขวาถนนราชดำเนินกลาง เลี้ยวซ้ายถนนอัษฎางค์ เลี้ยวซ้ายถนนบำรุงเมือง เลี้ยวขวาถนนเฟื่องนคร เทียบพระราชยานพุดตานทองที่เกยข้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เสด็จฯ ไปทรงถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นชานพระอุโบสถ บรรพชิตจีน และญวนถวายพระพร เสด็จเข้าพระอุโบสถ สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะ และพระสงฆ์ เจริญชัยมงคลคาถา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมพระรัศมีทองคำลงยาราชาวดี (ฉัพพรรณรังสี) จากนั้นทรงอัญเชิญพระรัศมีทองคำลงยาราชาวดี สวมที่พระเศียรพระพุทธอังคีรส ถวายต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน ธูปเทียนแพบูชาพระพุทธอังคีรส พระประธานในพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะพระอัฐิสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระราชอุปัธยาจารย์ พระสงฆ์ถวายอดิเรก
    จากนั้น เสด็จออกจากพระอุโบสถ เสด็จฯ ไปยังเกยข้างวัดราชบพิธฯ ประทับพระราชยานพุดตานทอง  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยาตราริ้วขบวนไปตามถนนเฟื่องนคร เลี้ยวขวาไปตามถนนเจริญกรุง เทียบพระราชยานพุดตานทองที่เกยหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เสด็จเข้าพระอุโบสถ พระราชาคณะและพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน ธูปเทียนแพบูชาพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระสงฆ์ถวายอดิเรก เสด็จออกจากกพระอุโบสถ เสด็จฯ ไปยังเกยหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประทับพระราชยานพุดตานทอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยาตราริ้วขบวนไปตามถนนท้ายวัง เลี้ยวขวาไปตามถนนมหาราช เลี้ยวขวาไปตามถนนหน้าพระลาน  เลี้ยวขวาเข้าพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษไชยศรี ประตูพิมานไชยศรี เทียบพระราชยานพุดตานทองที่เกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท
    สำหรับรูปแบบริ้วขบวนนั้น มีระยะทาง 7.15 กม. เป็นการเดินกึ่งสวนสนาม 75 ก้าวต่อนาที เน้นเท้าตามจังหวะดนตรีเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมทั้งสิ้น 6 เพลง ได้แก่ มาร์ชธงชัยเฉลิมพล, มาร์ชราชวัลลภ, เพลงใกล้รุ่ง, เพลงยามเย็น, เพลงสรรเสริญเสือป่า และเพลงสรรเสริญพระนารายณ์ โดยชุดแบกหามพระราชยาน ใช้ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์เป็นเจ้าพนักงานแบกหามพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง  จำนวน 16 นาย จัด 5 ผลัด เปลี่ยนผลัดแบกหามทุก 500-800 เมตร ใช้การเปลี่ยนคนแบกหามขณะเคลื่อนที่ โดยไม่หยุดขบวน และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนผลัดแบกหามก่อนทุกครั้ง
    การจัดริ้วขบวนยึดตามแบบโบราณราชประเพณีและพระราชนิยม ผู้เข้าขบวนส่วนใหญ่แต่งกายตามแบบโบราณ เว้นแต่ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์แซงเสด็จฯ, ทหารรักษาพระองค์ในขบวนทหารเกียรติยศนำและตาม อีกทั้งราชองครักษ์ในพระองค์คู่เคียง ที่แต่งกายชุดเต็มยศทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ โดยริ้วขบวนแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ขบวนหน้าเป็นขบวนนำ ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ หรือขบวนเสด็จฯ เป็นขบวนกลาง และขบวนหลัง เป็นขบวนตาม
    ขบวนหน้า ตำรวจม้านำ จำนวน 2 ม้า พลประจำม้า ม้าละ 3 นาย จำนวน 6 นาย จัดจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, วงดุริยางค์วงนำ จำนวน 107 นาย จัดจากวงดุริยางค์ทหารบก แต่งกายด้วยเครื่องแบบชุดเต็มยศ ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ สังกัดกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภที่ 1 รักษาพระองค์ สวมเสื้อสักหลาดหรือเสิร์จสีแดง กางเกงดำแถบแดง แขนเสื้อปักดิ้นทองเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ วปร. สวมหมวกพู่สีดำ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์, กองบังคับการกองผสม จำนวน 10 นาย จัดจากผู้บังคับหน่วยระดับ ผู้บังคับการกรม จากหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 จำนวน 8 กรม โดยมี พลตรี ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และรองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บังคับกองผสม และตามด้วยนายทหารคนสนิท ซึ่งมีผู้บังคับการกรมทหารรักษาพระองค์ อีก 8 กรม เป็นตัวแทนของหน่วยทหารรักษาพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายทหารประจำกองบังคับการกองผสม, กองพันทหารเกียรติยศนำเสด็จฯ จำนวน 166 นาย จัดจากกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภที่ 1 รักษาพระองค์
    ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ หรือขบวนเสด็จฯ ประกอบด้วย ส่วนนำริ้ว ได้แก่ เจ้าพนักงานพระราชพิธีนำริ้ว, ประตูหน้า ขวาและซ้าย, สารวัตรขบวน จัดจากหน่วยราชการในพระองค์, ถัดมาเป็นธง 3 ชายหักทองขวาง อีก 2 หมู่ธง เชิญอยู่ในริ้วขวาและซ้าย จากนั้นตามมาด้วยตอนเครื่องประโคม เริ่มต้นที่ กลองมโหระทึก 4 กลอง ขวา 2 ซ้าย 3 พนักงานตีประโคมตลอดเส้นทาง มีสารวัตรกลองมโหระทึก เดินอยู่ย่านกลาง ตามมาด้วยริ้วขบวนกลองชนะ จากโรงเรียนเตรียมทหารกลองชนะแดงลายทอง 40 ต่อด้วยกลองชนะทอง อีก 40 เดินอยู่ริ้วทางขวา และมีกลองชนะเขียวลายเงิน 40 และกลองชนะเงิน อีก 40 เดินอยู่ซ้าย มีสารวัตรกลอง 4 นาย เดินอยู่ย่านกลาง มีจ่าปี่ จ่ากลอง คอยประโคมและคุมจังหวะกลองชนะทั้งหลาย โดยเดินฟากละ 2 ซ้าย ขวา 2 สาย ซ้าย 2 สาย รวมเป็น 4 สาย และเครื่องประโคม ประกอบด้วย ริ้วแตรฝรั่ง แตรงอน และสังข์ โดยจัดแตรฝรั่งเดิน 2 ข้าง ซ้ายและขวา โดยเดินข้าง 2 สาย สายละ 5 รวมข้างละ 10 นาย ตามด้วยแตรงอน เดินข้างละ 2 สายสายละ 8 รวมข้างละ 16 และปิดท้ายด้วย สังข์ เดินข้างละ 4 รวมเป็น 8 สังข์
    จากนั้นเป็นตอนผู้อำนวยการริ้วขบวน โดยมีประธานกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกฝ่ายต่างๆ, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.เหล่าทัพ และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมเดินในริ้วขบวน นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และคณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และปิดท้ายด้วยตอนอำนวยการริ้วด้วยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และแม่ทัพภาคที่ 1 
ส่วนพระราชยาน 
    ส่วนพระราชยาน ประกอบด้วย 3 ตอนการเดิน  ได้แก่ ตอนเครื่องสูงหน้า ตอนพระราชยาน ตอนเครื่องสูงหลัง ตอนเครื่องสูงหน้า จัดตอนการเดิน เป็น 3 สาย ได้แก่ ริ้วเครื่องสูงหักทองขวางหน้าขวา ริ้วเครื่องสูงหักทองขวางหน้าซ้าย และริ้วมหาดเล็กเชิญพระแสงหว่างเครื่องหน้า เดินเป็นสายกลาง ระหว่างริ้วขบวนขวาและซ้าย
    จากนั้นก็จะเข้าสู่ตอนพระราชยาน ประกอบด้วยเจ้าพนักงานเชิญฉัตรกรรภิรมย์, กรับสัญญาณ,พราหมณ์เป่าสังข์, ตำรวจหลวงรักษาพระองค์นำเสด็จ 2 สาย สายละ 8 รวมเป็น 16 นาย, นายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัยราชกระบี่ยุทธ และธงชัยพระครุฑพ่าห์, กำกับพระราชยานพุดตานทอง 1, คนคุมเจ้าพนักงานแบกหามพระราชยานพุดตานทอง 1, เจ้าพนักงานแบกหามพระราชยานพุดตานทอง 16 นาย,เจ้าพนักงานถือม้ารองพระราชยานพุดตานทอง 8 นาย, เจ้าพนักงานแบกหามพระราชยานพุดตานทองสำรองผลัดหนุน 16 นาย จากทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์, มหาดเล็กเชิญพระแสงรายตีนตอง 4 นาย เป็นเจ้าพนักงานผู้เชิญ พระแสงศาสตราวุธสำคัญ 4 องค์ ได้แก่ 1.พระแสงดาบคาบค่าย 2.พระแสงดาบใจเพชร 3.พระแสงดาบอัษฏาพานร และ  4.พระแสงดาบนาคสามเศียร ลายมงคล 8 จัดจาก ข้าราชบริพารในพระองค์ หน่วยราชการในพระองค์,มหาดเล็กในพระองค์คู่เคียงพระราชยาน เดินกระหนาบข้างคู่เคียงพระราชยาน ข้างละสาย สายละ 8 นาย รวมเป็น 16 นาย จากหน่วยราชการในพระองค์, ราชองครักษ์ในพระองค์คู่เคียงพระราชยาน เดินกระหนาบข้างคู่เคียงพระราชยาน ข้างละสาย สายละ 8 นาย รวมเป็น 16 นาย จากสำนักงานฝ่ายเสนาธิการประจำพระองค์ 904, ริ้วเจ้าพนักงานอินทร์เชิญทวนเงินคู่เคียงพระราชยานทางซ้าย 8 นาย มีกำกับอินทร์ เป็นผู้เดินนำ และริ้วเจ้าพนักงานพรหมเชิญทวนทอง คู่เคียงพระราชยานทางด้านขวา 8 นาย มีกำกับพรหม เป็นผู้เดินนำ, ขนาบคู่เคียงพระราชยานวงนอกสุด ได้แก่ แถวทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์แซงเสด็จ ข้างละ 2 สาย สายละ 12 นาย รวมเป็นข้างละ 24 นาย โดยแต่ละข้างจะมีพลแตร 2 นาย และมีนายทหารผู้บังคับบัญชาของแถวแซงเสด็จ ข้างละ 5 นาย โดยแถวแซงเสด็จขวา มี พล.อ.จักรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นนายทหารกำกับแถวแซงเสด็จขวา และ แถวแซงเสด็จซ้าย มี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 เป็นนายทหารกำกับแถวแซงเสด็จซ้าย
    ถัดมาเป็นตอนเครื่องสูงหลังประกอบด้วย ริ้วเครื่องสูงหักทองขวางหลัง ขวาและซ้าย โดยริ้วสายหนึ่ง ประกอบด้วย ฉัตร 7 ชั้น 1 องค์ ฉัตร 5 ชั้น 5 องค์ และมีบังแทรก แทรกอยู่ระหว่างฉัตรแต่ละองค์ จำนวน 3 คัน ทั้ง 2 สาย และมีริ้วมหาดเล็กเชิญพระแสงหว่างเครื่องหน้า ซึ่งมีทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นผู้เชิญพระแสงศาสตราวุธ จำนวน 10 องค์ เชิญมาเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ เดินอยู่สายกลางระหว่างเครื่องสูงหน้าทั้ง 2 สาย โดยพระแสงหว่างเครื่องที่เชิญมา ได้แก่ พระแสงดาบด้ามนาค จำนวน 5 องค์ ตามด้วยพระแสงหอกพระมหากฐินน้อย พระแสงง้าวด้ามไม้มะริดฝักถม พระแสงทวนด้ามทอง พระแสงหอกตรีศูลด้ามยาวและพระแสงง่ามด้ามไม้ต่อทอง
    จากนั้นจะเป็นริ้วมหาดเล็กเชิญพระแสงสำคัญ จำนวน 8 นาย ซึ่งทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นเจ้าพนักงานผู้เชิญพระแสงสำคัญประจำแต่ละรัชกาล จำนวน 8 องค์ 1.พระแสงดาบคาบค่าย (องค์ที่ 2) 2.พระแสงดาบเวียด 3.พระแสงดาบฟันปลา 4.พระแสงดาบแฝด 5.พระแสงดาบฝักมุกทรงเดิม 6.พระแสงดาบฝักทองเกลี้ยง 7.พระแสงขรรค์นวโลหะ และ 8.พระแสงดาบมรกต (ร.7) ตามด้วยริ้วมหาดเล็กเชิญเครื่องตาม เป็นริ้วของมหาดเล็กฝ่ายที่ประทับ เป็นเจ้าพนักงานผู้เชิญเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ราชูปโภค จำนวน 16 รายการ
    ปิดท้ายริ้วขบวนด้วยขบวนหลัง ประกอบด้วยวงดุริยางค์ วงตามจากวงดุริยางค์ทหารบก สนธิกำลังด้วยวงดุริยางค์ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ จำนวน 107 นาย, กองพันทหารเกียรติยศตามเสด็จ จำนวน 166 นาย จัดจากกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภที่ 11 รักษาพระองค์ และมีการจัดขบวนรถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนที่ตามริ้วขบวน  
เปล่งเสียง 'ทรงพระเจริญ'
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าประชาชนจากทั่วสารทิศสวมใส่เสื้อเหลืองเดินทางมารอต่อแถวเข้าขุดคัดกรอง เพื่อเข้าชมขบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ที่เริ่มจากพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) 
    โดยจุดคัดกรองบริเวณถนนข้าวสาร แยกบางลำภู เปิดให้ประชาชนเข้าในเวลา 12.00 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่จิตอาสา ตรวจตราประชาชนอย่างเข้มงวด ตามเส้นทางรั้วกั้นที่กำหนด ซึ่งประชาชนต่างสวมใส่เสื้อเหลืองอย่างพร้อมเพรียง  โดยทุกคนต้องแสดงบัตรประชาชนแก่เจ้าหน้าที่ก่อนเข้าจุดคัดกรอง มีจุดปฐมพยาบาล มีจุดการบริการ น้ำดื่มและอาหาร พร้อมมีการติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำไว้ตามจุดต่างๆ จากสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนจัด ซึ่งเมื่อเข้ามายังพื้นที่ด้านในเจ้าหน้าที่จะพาประชาชนไปจุดรับ-ส่งเสด็จที่มีการเตรียมพื้นที่รับรองไว้แล้ว 
    ร.ท.ณัฐพงศ์ เกียรติบุญวัฒน์ ชาวจังหวัดนครพนม อายุ 28 ปี หนึ่งในประชาชนที่มาร่วมชมพระบารมี กล่าวว่า รู้สึกโชคดีมากที่ได้มีโอกาสมาร่วมงานพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญกับประเทศและคนไทยอย่างมาก ถึงแม้ว่าวันนี้อากาศจะร้อนอบอ้าว แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับประชาชนที่พร้อมมาร่วมชมพระราชพิธีด้วยหัวใจที่เต็มไปด้วยความจงรักภักดี หวังจะชมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 สักครั้งหนึ่งในชีวิตและเป็นงานเฉลิมฉลองของประเทศครั้งยิ่งใหญ่
    จุดคัดกรองที่ 20 หน้า สน.พระราชวัง มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิ จิตอาสาคอยให้บริการ ยิ่งช่วงสายอากาศเริ่มร้อน เจ้าหน้าที่มูลนิธิได้มียาดม ยาลม ยาหอม คอยให้บริการโดยเฉพาะผู้สูงอายุ พร้อมทั้งอุปกรณ์ ฉีดพรมน้ำ เพื่อระบายความร้อนอยู่ตลอดเวลา 
    นางลัขณา เลิศประเสริฐ อายุ 83 ปี ชาวบ้านเขตราษฎร์บูรณะ กทม. กล่าวว่า มาเพื่อชมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งตนได้อยู่ผืนแผ่นดินไทย 3 รัชกาลแล้ว อาศัยรถประจำทางเดินทางมาคนเดียว มาเข้าแถวรอตั้งแต่เวลา 06.00 น.   ถึงอากาศจะร้อนเพียงใดก็ต้องมา รู้สึกปลาบปลื้มปีติ ที่ได้เดินทางมาวันนี้พร้อมกับคนไทยทั่วประเทศ 
    เช่นเดียวกันกับนางบัวเขียว ศิลป์ไพบูลย์ อายุ 83 ปี ที่เดินทางมาพร้อมกับครอบครัว ก็กล่าวเช่นเดียวกันว่า รู้สึกปลาบปลื้มที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการชมขบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 โดยเดินทางมาถึงบริเวณจุดคัดกรองประมาณ 08.00 น. ถึงแม้อากาศจะร้อนเราก็เตรียมตัวมาพร้อม ทั้งร่ม น้ำ และยารักษาโรค 
    ส่วนบริเวณท้ายวัง หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นถนนอีกเส้นที่ขบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความห่วงใยประชาชนที่จะมานั่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ และชื่นชมขบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร รับสั่งให้จัดเสื่อ เบาะรองนั่ง และหญ้าเทียม แก่ประชาชน และตั้งแต่ช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ได้นำเสื่อมาปูเพื่อรองรับประชาชนที่จะเดินทางกันมาเป็นจำนวนมากทั้ง 2 ฟากฝั่งถนน 
    บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ถนนท้ายวัง ประชาชนเนืองแน่นรอเฝ้าฯ รับเสด็จ โดยนางเนตรนภา นามสะอาด อายุ 58 ปี ชาวจังหวัดสุรินทร์  กล่าวว่า ทำงานที่โรงงานก๊อกน้ำแห่งหนึ่งที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ด้วยความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเนื่องด้วยมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จึงเดินทางมาเข้าเฝ้าฯ ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะเดินทางกลับในช่วงเย็น และวันนี้ได้กลับมาอีก เพื่อชมเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค 
         นายเล็ก วิกิตรกร ชาวนนทบุรี วัย 68 ปี เปิดเผยว่า ตนมีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในอดีตเคยรับราชการทหารเสนารักษ์ เคยไปร่วมรบทั้งสงครามเวียดนามและลาว วันนี้เดินทางออกจากบ้านตั้งแต่ช่วงเช้า พร้อมกับเพื่อนๆ อีก 5-6 คน ตั้งใจมารอรับเสด็จ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี ดีใจที่ได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธี นานๆ ประเทศไทย จะมีพิธีใหญ่ๆ อย่างนี้ รู้สึกปลาบปลื้มที่จะได้มารอรับขบวนเสด็จ นอกจากนี้ยังได้ติดตามข่าวพระบรมราชาภิเษกอย่างต่อเนื่อง ติดตามพระราชกรณียกิจ ได้เห็นถึงความทุ่มเท เสียสละของ ร.10 
    นายบรรจบ โพธิพฤกษ์  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ป่าซาง จ.ลำพูน วัย 54 ปี กล่าวว่า ตนพร้อมคณะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อ.ป่าซาง พร้อมใจเดินทางมาร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี ตนและคณะที่เดินทางมามีความรู้สึกยินดี เพื่อมารอรับขบวนเสด็จฯ บริเวณวัดราชบพิธฯ แม้จะเดินทางมาไกล ไม่มีความรู้สึกเหน็ดเหนื่อย ทั้งนี้ ในวันที่ 6 พ.ค. เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป อ.ป่าซาง และ จ.ลำพูน ได้ร่วมประกอบพิธีสดุดี ร.10 หลังจากเฝ้าฯ รับเสด็จร่วมพิธีที่ กทม.เสร็จ ตนและคณะจะเดินทางกลับทันที เพื่อให้ทันงานในวันที่ 6 พ.ค. แม้จะต้องเดินทางไกล แต่กลับไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด
    คุณยาย มะลิ คำแป้น ประชาชน อายุ 70 ปี จาก จ.ปัตตานี กล่าวว่า สถาบันกษัตริย์ เป็นศูนย์รวมของประชาชนชาวไทย พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนอย่างมากมาย ประชาชนที่ได้เห็นพิธีกับตาตัวเอง นับว่าโชคดีมากที่ช่วงชีวิตหนึ่งได้โอกาสสัมผัสพระบารมีของพระองค์ท่านด้วยตนเอง พระองค์ท่านให้ความสำคัญกับประชาชนทุกศาสนาโดยไม่เลือกปฏิบัติ เป็นแหล่งรวมจิตใจที่ทำให้คนทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
    “พิธีดังกล่าวไม่เกิดขึ้นมาในประเทศไทยแล้ว 70 ปี เท่ากับปีที่ยายเกิด พระราชพิธีนี้เป็นการแสดงออกถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี และความมีอารยธรรมของคนไทย ในขณะที่โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยเทคโนโลยี และก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่โบราณราชพิธีนี้มีความหายต่อความรู้สึกของประชาชน และแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่าวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร”     
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อริ้วขบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคมาถึงจุดใด ประชาชนที่เฝ้ารอรับเสด็จต่างพร้อมใจกันเปล่งเสียง 'ทรงพระเจริญ' กันอย่างกึกก้อง. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"