อิหร่านทิ้งดีลนิวเคลียร์บางส่วน ขีดเส้นตายป้องกันแซงก์ชัน


เพิ่มเพื่อน    

อิหร่านประกาศจะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงบางอย่างของความตกลงนิวเคลียร์ที่ทำไว้กับกลุ่มชาติมหาอำนาจเมื่อปี 2558 พร้อมขีดเส้นตาย 60 วันให้ชาติเหล่านี้มีมาตรการปกป้องอิหร่านจากการคว่ำบาตรของสหรัฐ มิเช่นนั้นอิหร่านอาจหวนเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ ซึ่งรวมถึงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม

แฟ้มภาพ ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี (ขวาสุด) ฟังอาลี อักบาร์ ซาเลฮี ผู้อำนวยการองค์การเทคโนโลยีนิวเคลียร์อิหร่าน ในวันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ / Iranian Presidency / AFP

    ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ของอิหร่าน ประกาศกลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ของทางการอิหร่านเมื่อวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2562 ว่าอิหร่านจะไม่ขายยูเรเนียมเสริมสมรรถนะส่วนเกินและน้ำมวลหนักให้แก่ประเทศอื่นอีกต่อไป การดำเนินการนี้ของอิหร่านยังไม่ใช่การทำผิดข้อตกลงปี 2558 แต่โรฮานีกล่าวว่า ในอนาคตยังไม่แน่ว่าอิหร่านจะยังปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ต่อไปหรือไม่
    การขายยูเรเนียมเสริมสมรรถนะและน้ำมวลหนักนี้เป็นมาตรการควบคุมไม่ให้มีปริมาณเกินกว่าที่จำกัดไว้ในความตกลงฉบับนี้ แต่มาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วส่งผลกระทบต่อการส่งออกยูเรเนียมเสริมสมรรถนะและน้ำมวลหนักในสต็อกของอิหร่าน

    โรฮานียังขีดเส้นตาย 60 วันว่า อิหร่านจะรื้อฟื้นการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมให้สูงกว่าขีดจำกัดตามความตกลง เว้นแต่ว่าชาติมหาอำนาจ 5 ชาติที่ลงนามในความตกลงนี้จะหามาตรการปกป้องอุตสาหกรรมน้ำมันและภาคธนาคารของอิหร่านจากการคว่ำบาตรของสหรัฐ

    ความตกลงปี 2558 นั้นเป็นการตกลงระหว่างอิหร่าน กับสหรัฐ, รัสเซีย, จีน, อังกฤษ, ฝรั่งเศส และเยอรมนี โดยอิหร่านยินยอมจำกัดโครงการนิวเคลียร์ของตนเพื่อแลกกับการยกเลิกคว่ำบาตร

    ผู้นำอิหร่านย้ำว่า การยื่นคำขาดของเขานั้นเพื่อต้องการกอบกู้ความตกลงนิวเคลียร์ฉบับนี้ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐถอนตัวเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561

    "เรารู้สึกว่าความตกลงฉบับนี้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด การวางยาสลบมานาน 1 ปีไม่ได้ก่อเกิดผลลัพธ์อันใดเลย การผ่าตัดที่ว่านี้ก็เพื่อรักษาความตกลง ไม่ใช่ทำลายมัน" โรฮานีกล่าว

    บรรดาชาติมหาอำนาจที่ร่วมทำความตกลงนี้ต่างคัดค้านการตัดสินใจของทรัมป์ และพยายามหาหนทางหลบหลีกผลกระทบจากการคว่ำบาตรครั้งใหม่ของสหรัฐ โดยหวังว่าจะเกลี้ยกล่อมให้อิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ต่อไป อย่างไรก็ดี ความพยายามของชาติเหล่านี้ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งของยุโรปเลิกล้มแผนทำธุรกิจกับอิหร่านด้วยความหวั่นเกรงการลงโทษของสหรัฐ

    ฟลอรองซ์ ปาร์ลี รัฐมนตรีกลาโหมของฝรั่งเศส กล่าวกับ BFM TV ว่าฝรั่งเศสต้องการรักษาความตกลงฉบับนี้ไว้ต่อไป และอิหร่านอาจโดนคว่ำบาตรเพิ่มอีก หากไม่ทำตามความตกลงนี้

    ด้านทำเนียบเครมลินของรัสเซีย กล่าวโทษ "การกดดันอย่างไร้เหตุผล" ของสหรัฐ ว่ายั่วยุให้อิหร่านดำเนินการเช่นนี้ ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินกล่าวว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เคยทำนายผลลัพธ์จากการถอนตัวของสหรัฐไว้ก่อนหน้านี้ และตอนนี้สิ่งที่ทำนายไว้ก็เกิดขึ้นแล้ว

    รัฐบาลจีนกล่าวว่า จีนคัดค้านมาตรการคว่ำบาตรโดยฝ่ายเดียวของสหรัฐ จีนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้น, เจรจาอย่างแข็งขันมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการขยายความตึงเครียด

    คำประกาศของอิหร่านมีออกมาหลังจากสหรัฐส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินและเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52 มาวางกำลังที่ภูมิภาคอ่าว โดยอ้างว่าเพื่อป้องปรามภัยคุกคามจากแผนการโจมตีของอิหร่าน แต่อิหร่านชี้่ว่าการกระทำของสหรัฐเป็นสงครามจิตวิทยา และเรือยูเอสเอสอับราฮัมลินคอล์นแค่มาสับเปลี่ยนกำลังแทนเรือบรรทุกเครื่องบินอีกลำ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"