เที่ยวกุยบุรี ตามรอยพ่อ


เพิ่มเพื่อน    

(บ้านพี่โรจน์ จุดท่องเที่ยวบ้านพุบอน)

    ความต้องการออกไปท่องเที่ยวนั้น แต่ละคนก็มีความต้องการที่แตกต่างกันไป บ้างก็เพื่ออยากออกไปหาธรรมชาติ ภูเขา ทะเล สายหมอก หรือได้ไปทำบุญ กราบพระวัดดังในต่างจังหวัด หรือใครชอบผาดโผนหน่อยก็ไปเดินป่า ปีนเขา ชมนกชมไม้ ยลแสงพระอาทิตย์ ในทริปนี้ถือว่าเป็นทริปพิเศษที่ได้มากับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และภาคีเครือข่าย ในการจัดงานบูรณาการขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านพุบอน, หมู่บ้านย่านซื่อ, หมู่บ้านรวมไทย ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเป็นการท่องเที่ยวตามศาสตร์พระราชา ในรูปแบบ “เอามื้อถือแรงสามัคคี เที่ยวทำดีตามรอยพ่อ” เรียนรู้วิถีการทำเกษตรและการท่องเที่ยวโดยชุมชน

(พี่โรจน์เจ้าบ้าน)

    คณะของเราเดินทางมาถึงที่บ้านนายวิโรจน์ สูงยิ่ง หรือพี่โรจน์ ที่ลาออกจากงานในเมืองกรุงมาทำท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในพื้นที่บ้านพุบอน อำเภอกุยบุรี ช่วงเที่ยงแดดที่นี่ร้อนไม่แพ้กรุงเทพฯ เลย แต่ดีกว่าตรงที่มีลมธรรมชาติพัดมาให้คลายร้อนได้บ้าง ด้านหน้าแค่ข้ามฟากถนนก็ได้เห็นวิวสวยๆ ก็อ่างเก็บน้ำยางชุม พี่โรจน์เจ้าบ้านได้มาพูดคุยกับเราว่า ที่กุยบุรีมีผืนป่าที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงให้อนุรักษ์ช้าง ป่า และคนให้อยู่ร่วมกัน ทำให้ชาวบ้านในละแวกนี้ได้ทำท่องเที่ยว นำเสนอของดีของหมู่บ้าน แต่เมื่อก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ทำเกษตรปลูกสับปะรดโดยใช้สารเคมี เพราะต้องส่งให้โรงงาน แต่ดินเริ่มมีปัญหา จึงได้นำแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการปลูกหญ้าแฝกมาพัฒนาในการทำเกษตร และทำควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว

(วิวอ่างเก็บน้ำยางชุม หน้าบ้านพี่โรจน์)

    พี่โรจน์บอกอีกว่า ที่นี่ก็มีแต่โฮมสเตย์ที่เป็นบ้านตัวเองนี่แหละ และกำลังจะทำเพิ่มอีกหลังด้วย แต่ออกแบบเป็นห้องไว้ให้นักท่องเที่ยวได้นอน ได้ลิ้มรสอาหารท้องถิ่น กินผลไม้ในสวน และก็มีกิจกรรมเรียนทำเกษตร ตอนนี้อยู่ระหว่างกำลังจะปรับพื้นที่ให้เหมาะสม และสามารถปั่นจักรยานรอบอ่างเก็บน้ำยางชุม หรือเหมารถไปชมช้างกับกระทิง เดินป่าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี หรือใครอยากจะล่องเรือตกปลา ช้อนกุ้ง งมหอยในอ่างเก็บน้ำ ก็มีให้เลือกได้ตามสะดวกเลย

(อาหารท้องถิ่น อร่อยถูกปาก)

    กลิ่นหอมจากในครัวเรียกน้ำย่อยในกระเพาะได้อย่างดี เราพักเบรกด้วยการตั้งวงทานข้าวเที่ยงฝีมือชาวบ้าน อาหารที่ทำมาจากวัตถุดิบในท้องถิ่นมีปลาทอดที่ได้จากเขื่อนตัวขนาดใหญ่ทีเดียว ต้มจืดหน่อไม้ ใบเหลียงผัดไข่ ผัดวุ้นเส้น แกงไก่บ้าน ตบท้ายด้วยลอดช่องน้ำกะทิ อิ่มแปล้กันถ้วนหน้า พร้อมลุยกันแล้ว

(แปลงสับปะรดเกษตรที่กำลังมีการปรับเปลี่ยน)

    เริ่มจากการศึกษาการปรับเปลี่ยนแปลงปลูกสับปะรดของพี่โรจน์ในลักษณะเป็นขั้นบันได และทำเป็นช่องทางให้น้ำไหลผ่าน ซึ่งตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากนัก แต่ในอีก 2-3 เดือนก็น่าเห็นการเปลี่ยนแปลงของแปลงปลูกได้อย่างแน่นอน

(อุทยานแห่งชาติกุยบุรี)

    เราเดินทางต่อไปที่บ้านรวมไทย เพื่อเตรียมตัวไปดูช้างกับกระทิงที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีโดยรถกระบะของชาวบ้าน ให้ข้อมูลนิดหนึ่งว่า อย่ามุ่งตรงไปที่อุทยานเลยทีเดียว แต่ควรลองแวะชมทุ่งเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่ของอุทยานฯ ที่เปิดให้ชาวบ้านนำสัตว์มากินหญ้าได้ หญ้าที่นี่ยังเป็นชนิดพันธุ์แพงโกล่าและลูซี่ ที่นำไปให้พระเศวตสุรคชาธาร ช้างคู่พระบารมีในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้บริโภค

(วัว-แพะกลางทุ่งหญ้าสีเขียว)

    สองข้างทางที่ไปดูช้างมีความร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ริมถนนที่ทอดยาวกว่า 2 กิโลเมตร สีเขียวของหญ้าและภูเขาทำให้เจ้าวัวและแพะสีขาวดูโดดเด่น มองพวกมันกินหญ้าเพลินๆ แต่พอมันเห็นพวกเราแล้วน่าจะไม่ปลื้ม พากันเดินหนีหลบหลีกไปหามุมส่วนตัวกันใหญ่เชียว นักท่องเที่ยวแวะเข้ามาถ่ายรูปได้นะ ช่วงที่ชาวบ้านนำสัตว์ออกมาเลี้ยงก็ประมาณ 07.00-17.00 น. จะได้ภาพสวยเหมือนอยู่ต่างประเทศเลย

(กระทิงในมุมไกลๆ)

    ถึงเวลาต้องไปต่อเพราะเดี๋ยวช้างกับกระทิงจะหนีซะก่อน จากจุดด้านหน้าทางเข้าตรงอุทยานฯ ระยะทางที่นั่งรถกว่า 7 กิโลเมตร ชมป่าข้างทางไปพลางๆ แต่หากเห็นว่าทำไมต้นไม้ที่นี่ล้มเยอะจังก็มาจากฝีมือของช้างและพายุตามธรรมชาติ เป็นสัญญาณที่ดีว่ายังมีช้างอาศัยอยู่ในอุทยานนี้แน่นอน ที่อุทยานฯ มีช้างป่าราวๆ 200 เชือก กระทิงราวๆ 150 ตัว แม้แดดจะร้อนแต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่เหมารถเพื่อมาดูช้างป่า

(ช้างป่ากำลังกินหญ้ากลางหุบเขา)

    พอมาถึงจุดแรกเราได้เห็นช้างคู่หนึ่งที่เพิ่งจะเล่นโคลนเสร็จ มากิน แทะเล็มหญ้าอยู่กลางหุบเขา มองไกลๆ พวกมันช่างดูตัวน้อย แต่พี่คนขับรถบอกว่าตัวมันใหญ่มากนะ เราได้ยืนดูอยู่ในจุดที่กำหนด เข้าไปใกล้มากก็อาจจะอันตรายเกิน และทางที่ดีเงียบๆ ด้วยจะดีกว่า พวกมันจะได้อยู่ให้ดูนานๆ

(จุดชมวิวมุมสูงที่จะได้เห็นช้างและกระทิง)

    ยังไม่หนำใจ เราเดินทางต่อไปยังจุดที่สอง จุดนี้เป็นมุมสูงกว่าจุดแรก ใกล้ชิดช้างสุดๆ แต่เราเข้าใกล้มันมากไม่ได้ ใครเอากล้องส่องทางไกลมาจะดีมากจะได้เห็นกระทิงที่อยู่บนเขาอีกลูกหนึ่งด้วย ถึงจะไม่ได้เห็นในจุดนี้ แต่ในระหว่างทางกลับเหมือนเจ้าป่าเจ้าเขาจะเห็นใจ เราได้เห็นช้างแบบใกล้ชิด มันกำลังกินหญ้า สะบัดหูไปมาแบบสบายอารมณ์ ทุกคนแม้แต่ชาวบ้านที่ขับรถก็รออย่างใจจดจ่อ เพื่อไม่ให้เข้าใกล้มันมากเกินไป เพราะเราอาจจะทำให้มันหงุดหงิดได้ จึงต้องใช้เวลาพอสมควรในการรอให้มันเดินข้ามถนนเข้าป่าไปเสียก่อน
    ขับมาได้อีกสักพักก็เจอกระทิงถึง 2 ตัว กำลังสำราญกับการหาอาหารกิน เลยได้เห็นเขาสีเหลืองทองและลำตัวสีดำตัวใหญ่ ไกด์บอกว่ามันมีน้ำหนักถึง 900 กิโลกรัม-1 ตัน แต่เสียดายมันขี้อายไปหน่อย เลยได้เห็นแต่ลำตัว เขาและก้นมันแทน แต่ถ้ามีโอกาสได้กลับมาอีกก็อยากจะสบตามองหน้ามันชัดๆ เหมือนกัน ที่นี่เขามีข้อห้ามในการเข้าชมด้วยนะ คือ เสื้อผ้าให้สวมใส่สีสันไม่ฉูดฉาดเพื่อความกลมกลืนกับธรรมชาติ และไม่ทิ้งขยะ เพราะสัตว์อาจจะกินและเป็นอันตรายกับพวกมันได้ 

(ตอไม้จันทน์หอมที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร)

    ก่อนกลับ ปิดท้ายทริปด้วยการเดินป่าศึกษาธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ป่าที่นี่เป็นป่าดิบแล้ง แต่มาเดินในช่วงเช้าก็จะไม่ร้อนมากนัก จุดมุ่งหมายในการมาเดินป่ากว่า 2 กิโลเมตรครั้งนี้ของเราคือ การได้ชมตอไม้จันทน์หอมที่ได้นำไปใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะถือได้ว่าเป็นไม้มงคลชั้นสูง ซึ่งไม้จันทน์หอมของที่นี่ได้นำไปใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 
    แต่ละจุดก็อยู่ไกลกันพอสมควร แต่หากเดินชมไปเรื่อยๆ จะพบว่าป่าไม้ของที่นี่ยังอุดมสมบูรณ์ ปรากฏร่องรอยของช้างป่าให้เห็น ได้ยินเสียงนกร้องตามทางแพล็บเดียวก็ถึงทางออกแล้ว การมาเที่ยวครั้งนี้แม้จะต่างออกไปแต่ก็ได้สัมผัสถึงสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำเพื่อคนไทย ที่คงน้อยกว่าภาพที่เราได้เห็นในทริปนี้ ใครสนใจมาเที่ยวตามรอยพ่อก็สามารถติดต่อมาได้ที่ นางสาวศิลปาญ มั่นธนกิจ หรือพี่จิ๊บ คณะทำงานด้านการท่องเที่ยว กลุ่มท่องเที่ยวตามศาสตร์พระราชา โทร. 08-6918-9897 ที่อาจจะได้ครบทุกรสชาติกว่านี้แน่นอน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"