จับตา 250 ส.ว.ลากตั้ง ให้กำเนิด-ตัวฉุดรั้ง “ประยุทธ์”


เพิ่มเพื่อน    

 

       พลันที่มีข่าวว่า มีรัฐมนตรีที่จะลาออกจากตำแหน่งเพื่อเตรียมตัวไปเป็นว่าที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแรกหลังการประชุม ครม. วันที่ 7 พ.ค.เสร็จสิ้นลงก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง

                โดยรัฐมนตรีที่ลาออก ประกอบด้วย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ, พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ และ รมว.ยุติธรรม, พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน, นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ, พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม, พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.การคลัง, นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย, นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ, นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา

                และยังมีชื่อ นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์, นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ, นายอุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ, นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม และนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รมช.การต่างประเทศ เป็นต้น

                โดยก่อนหน้านั้น มีรายงานว่า คสช.ที่เป็นฝ่ายคัดเลือกว่าที่ ส.ว. 194 รายชื่อ ที่ส่งมาจากสำนักงาน กกต.และคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน มีการวางตัวนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เป็นมือกฎหมายร่วมงานกับ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์มาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 และที่ผ่านมาก็ทำงานสอดประสานกับ คสช. และรัฐบาลได้เป็นอย่างดีเป็นประธาน ส.ว.ด้วย โดยนายพรเพชรได้ลาออกจากการเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเตรียมตัวกลับมาเป็น ส.ว. และว่าที่ประธานวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญแล้ว 

                หากย้อนกลับไปดูที่มา สถานะ บทบาท อำนาจและหน้าที่ของ ส.ว. 250 คน ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 และผลกระทบทางการเมืองต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งคาดหมายกันว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตี พบว่า ส.ว.มีทั้งด้านที่ส่งผลการให้กำเนิดและดำรงคงอยู่ อีกด้านคือการเป็นตัวเหนี่ยวรั้ง ฉุดดึงให้ พล.อ.ประยุทธ์ถดถอยจนอาจนำไปสู่จุดจบได้เช่นกัน

                ตามรัฐธรรมนูญ ส.ว. 250 คน มีที่มา 2 วิธี คือวิธีสมัครและเลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ ขึ้นมาถึงระดับจังหวัดและประเทศ คัดไว้ 200 คน ส่งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคาะเหลือ 50 คน และวิธีสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา เสนอชื่อ 400 คน ให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 194 คน และสุดท้ายโดยตำแหน่งจากกองทัพและตำรวจอีก 6 ตำแหน่ง สรุปมี ส.ว.ทั้งสิ้น 250 คน

                รธน.กำหนดให้ ส.ว. 250 คน ประชุมร่วมกับ ส.ส. 500 คน เพื่อโหวตเลือกนายกฯ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะเป็นหัวหน้า คสช. คือผู้เลือก ส.ว. 250 คน ด้วยมือตัวเองย่อมจะได้รับการโหวตจาก ส.ว.ให้เป็นนายกฯ และช่วยประคับประคองให้การพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปผ่านไปได้โดยง่าย เพราะ รธน.กำหนดให้วุฒิสภาประชุมร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร

                การมีผู้บัญชาการทั้ง 3 เหล่าทัพ ทั้งทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศ รวมทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปลัดกระทรวงกลาโหม (กห.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) มานั่งเป็น ส.ว. รวมอยู่ด้วย 6 คน ซึ่งจะช่วยปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ให้อยู่ในตำแหน่งนายกฯ

                แต่ในด้านกลับกัน ส.ว.อาจกลายเป็นเงื่อนไขให้ พล.อ.ประยุทธ์ พบกับ จุดจบ ในการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีเงื่อนไข อาทิ การแต่งตั้งญาติพี่น้อง พวกพ้องในหมู่ทหารเข้ามาเป็น ส.ว.จำนวนมาก เหมือนกับที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยแต่งตั้งพรรคพวกที่เป็นทหารเข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มากกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งทหารเหล่านั้นไม่เคยอภิปราย ไม่กล้าตรวจสอบ เสนอแนะ ทั้งที่ทำหน้าที่แทน ส.ส. ส.ว. ซึ่งเป็นฝ่ายตรวจสอบรัฐบาล

                มิหนำซ้ำยังแต่งตั้งญาติพี่น้องมาเสวยสุขให้กินเงินเดือน 2 ทาง แถมยังโดดร่มไม่เข้าประชุม สนช. ซึ่งการประชุม สนช.แต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมและลงมติต่างๆ ด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งมาเล็กน้อย ส.ว.ไม่มีความรู้ความสามารถกระจายไปตามกลุ่มอาชีพต่างๆ อย่างทั่วถึง

                ส.ว.ถูกยื่นคำร้องและกล่าวหาโจมตีว่าเข้าลักษณะต้องห้ามซึ่งขัดต่อ รธน. เช่น การถือหุ้นสื่อ การไม่ลาออกจากตำแหน่งเดิม ฯลฯ กระบวนการสรรหาไม่โปร่งใส ไร้ซึ่งธรรมาภิบาล ขาดหลักเกณฑ์และวิธีการที่สังคมยอมรับ ขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชน แทนที่จะเป็น “ตัวแทนปวงชนชาวไทย” ที่สง่างาม กลับกลายเป็นข้อครหา เป็นขี้ปากชาวบ้าน และถูกฝ่ายการเมืองตรงข้ามโจมตีประณามว่า ส.ว.ลากตั้ง ทำหน้าที่เป็นแค่ ตัวแทน เพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์

                ดังนั้น ยิ่ง ส.ว.ออกมาปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์มากเท่าไร ก็ยิ่งทำลายความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์มากขึ้นเท่านั้น

                การทำหน้าที่ติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูป ดังที่ รธน.กำหนดให้เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาในระยะ 5 ปีตามบทเฉพาะกาล ก็ยากที่จะสร้างผลงาน เพราะการปฏิรูปในยุค คสช. ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ประสบความล้มเหลว

                วุฒิสภาได้ชื่อว่าเป็นสภาสูง แม้จะคอยประคับประคองสถานการณ์การเมืองและขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า แต่ในเมื่อกระบวนการสรรหาไม่ตรงไปตรงมา และได้เลือกคนที่ไม่เหมาะสม ไม่คู่ควรให้มาดำรงตำแหน่ง ส.ว. นอกจากจะกระทบกับ พล.อ.ประยุทธ์ทั้งทางบวกและทางลบโดยตรงแล้ว ยังกระเทือนไปถึง รธน.ที่ถูกออกแบบจะกลายเป็นตัวเร่งอุณหภูมิให้เกิดกระแสกดดันให้มีการแก้ไขหรือยกเลิก รธน.เร็วขึ้น

                ในสภาผู้แทนราษฎรพิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า รธน.ออกแบบให้เลือก ส.ส.ด้วยบัตรใบเดียว และนำมาซึ่งการคำนวณสูตรปาร์ตี้ลิสต์โดย กกต. ให้พรรคเล็กพรรคจิ๋วได้ ส.ส.พรรคละ 1 คน กระนั้นพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เพราะได้ ส.ส.เกินครึ่งไปเพียงเล็กน้อย ฉะนั้น โอกาสจะแพ้มติ ล้มคว่ำมีอยู่ตลอดเวลา

                นี่ยังไม่พูดถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะแบ่งสรรปันส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีให้แต่ละพรรคลงตัวหรือไม่ และที่สำคัญจะได้คนที่มีฝีมือมาบริหารงานในกระทรวงต่างๆ สักกี่คน

                ถ้าได้แต่ห่วยๆ เข้ามาเหมือนกับที่เห็นๆ กันอยู่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ต่อให้มี ส.ว. 500 คน หรือ 1,000 คน ที่สรรหากันแบบนี้ ก็ไม่สามารถช่วยพยุง พล.อ.ประยุทธ์ให้อยู่รอดได้!!.

////////////////

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"